ผู้เขียน | ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ในช่วงก่อนสงครามมหาเอเชียบูรพา รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีนโยบายที่จะขยายเส้นทางคมนาคมทางบกขึ้นมาทดแทนการคมนาคมทางน้ำและทางรถไฟ โดยมีจุดประสงค์ทางความมั่นคงเป็นหลัก และเพื่อเป็นการเชื่อมโยงเส้นทางระหว่างภูมิภาคภายในประเทศให้ทั่วถึงกัน ใน พ.ศ. ๒๔๘๑ จึงได้มีการสร้างถนนพหลโยธิน (เดิมชื่อ ถนนประชาธิปัตย์) เพื่อให้เป็นถนนสายหลักจากกรุงเทพฯขึ้นสู่ภาคเหนือไปจนถึงจังหวัดนครสวรรค์ จึงได้มีโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณจังหวัดนครสวรรค์
กรมทางหลวงเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการก่อสร้างสะพานดังกล่าวโดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๘๕ แต่ด้วยอยู่ในสภาวะสงครามโลกครั้งที่ ๒ การก่อสร้างจึงเป็นไปด้วยความล่าช้า เมื่อสงครามโลกเสร็จสิ้นลง (พ.ศ.๒๔๘๘) กรมทางหลวงจึงดำเนินการจนแล้วเสร็จ เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ยาว ๔๐๔.๕ เมตร กว้าง ๖.๕๐ เมตร ทางเท้าข้างสะพาน ๑ เมตร และได้กระทำพิธีเปิดสะพาน เมื่อวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๓ โดยมีนายปฐม โพธิ์แก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้นเป็นประธานในพิธีเปิด และเพื่อเป็นเกียรติแก่หม่อมหลวงกรี เดชาติวงศ์ อดีตอธิบดีกรมทางหลวงผู้ล่วงลับ ซึ่งเป็นผู้ที่รับผิดชอบในการจัดสร้างสะพานแห่งนี้ รัฐบาลจึงนำนามสกุล “เดชาติวงศ์” มาเป็นชื่อสะพาน
ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์
๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๙