สืบหาตำแหน่ง “เกาะหน้าวัดอรุณฯ” อยู่ตรงไหน?

เกาะหน้าวัดอรุณฯ
เกาะหน้าวัดอรุณฯ

สืบหาตำแหน่ง “เกาะหน้าวัดอรุณฯ” อยู่ตรงไหน?

ภาพอัดจากกระจกหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หีบฝีมือหลวงอัคนีนฤมิตร (จิตร จิตราคนี) ไม่มีรายละเอียด เป็นภาพเกาะขนาดจิ๋วในแม่น้ำ บนเกาะมีศาลา 4 เสา ปลูกอยู่ระหว่างต้นอินทผลัมกับต้นไทร ข้างเกาะมีเรือเทียบอยู่หนึ่งลำ มีเด็กนั่งบนเรือหนึ่งคน ตรงหัวเรือมีชายคนหนึ่งกําลังยืนอยู่ในน้ำ อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำแลเห็นอาคารขนาดใหญ่กลุ่มหนึ่งกําลังอยู่ในระหว่างก่อสร้าง

ผู้เขียนติดใจเรื่องเกาะหน้าวัดอรุณฯ มานาน ที่ติดใจก็เพราะเห็นเป็นของแปลก คิดว่าเป็นเกาะเล็กที่สุดที่เกิดในแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งเกาะนี้สูญหายไปเสียนานแล้ว ถามใคร ๆ ว่าหายไปตั้งแต่เมื่อใดก็ไม่มีใครทราบ บางท่านว่ากองทัพเรือซึ่งมีที่อยู่ติดกับวัดอรุณฯ ขุดทิ้ง เพราะเกะกะทางเรือ แต่ก็หาหลักฐานแน่ชัดไม่ได้ ตําแหน่งของเกาะอยู่ซีกไหนของวัดก็ไม่เคยมีใครชําระไว้ แม้คนที่เขียนถึงเกาะก็เห็นมีแต่นายกุหลาบรายเดียวเท่านั้น

นิราศยี่สาร ประพันธ์โดย ก.ศ.ร. กุหลาบ ในช่วงที่กล่าวถึงเกาะหน้าวัดอรุณฯ

พ.ศ. 2529 คุณสวนีย์ วิเศษสินธุ์ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ได้ให้ผู้เขียนดูกระจกภาพของหลวงอัคนีนฤมิตร พบว่ามีกระจกเกาะวัดอรุณฯ ปะปนอยู่ด้วย แต่ถึงกระนั้นก็ยังบรรยายอะไรได้ไม่เต็มปากนัก เพราะยังหาภาพดี ๆ มาช่วยยืนยันที่ตั้งเกาะน้อยว่าอยู่ซีกไหนของวัดไม่ได้ (หลายภาพถ่ายในมุมเฉียงทําให้กะ บริเวณยาก) ต้องค่อย ๆ สะสมภาพหน้าวัดอรุณฯ เอาไว้ ลืมบ้าง เบื่อจะเขียนบ้าง จนเวลาผ่านไปเป็นสิบปี

วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 (วันลอยกระทง) ผู้เขียนหยิบรูปเกาะหน้าวัดอรุณฯ และรูปบริวารมาพิจารณาอีก ตั้งใจจะเขียนเอาจริงเอาจังเสียที ที่สุดก็พบว่ารูปถ่ายฝีมือฝรั่งชาวดัตช์หรือชาวฮอลันดา ชื่อแวน คินสเบอร์เกน (van Kinsbergen) ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2405 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 สามารถบอกตําแหน่งเกาะน้อยนี้ได้

รูปดังกล่าวสยามสมาคมนํามาพิมพ์ซ้ำเมื่อ พ.ศ. 2530 เพื่อประดับหนังสือชื่อ King Maha Mongkut of Siam ของ John Blofeld จําหน่ายราคาเล่มละ 180-220 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับภาพถ่ายและแผนผังวัดในหนังสือ “ประวัติวัดอรุณราชวราราม” ของกรมศิลปากร ฉบับ พ.ศ. 2511 จะเห็นว่า ศาลาหลังคา แหลมกับต้นอินทผลัมตั้งอยู่แถว ๆ หน้าศาลาท่าน้ำซีก “วิหารน้อย-โบสถ์น้อย” หรือเกือบ ๆ ตรงหน้าองค์พระปรางค์พอดี การอ่านตําแหน่งนี้ ขอให้ท่านที่สนใจลองสอบสวนดูอีกครั้ง

ได้เสนอตําแหน่งเกาะน้อยแล้ว จะกล่าวถึงรายละเอียดอื่น ๆ ต่อไปอีก อาคารฝั่งกรุงเทพฯ ที่กําลังก่อสร้างควรเป็นอาคารอะไร ต้องเอาแผนที่เก่ามาพิจารณา แผนที่ฉบับนายวอน นายสอน ทําเมื่อ ร.ศ. 115 พ.ศ. 2439 กรมแผนที่จัดพิมพ์ระบุว่าบริเวณนั้นเป็น “ศาลต่างประเทศ” อยู่หน้าวัดโพธิ์ ลองหา หนังสือ “พระราชวังและวังในกรุงเทพฯ” ของ ม.ร.ว.แน่งน้อย ศักดิ์ศรี-อ.ณพิศร กฤตติกากุล และ อ.ดรุณี แก้วม่วง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2525 มาดู

ทราบจากหน้า 210-211 ว่าที่บริเวณนี้ เดิมเป็นวังของกรมหมื่นสุรินทรรักษ์ ภายหลังไฟไหม้วังหมด กลายเป็น “ท่าเตียน” แล้ว ร.4 ทรงสร้างอาคารขึ้น เป็นตึกหลายหลังสําหรับเป็นกรมท่ารับกงสุลต่างประเทศ เป็นตึกรับรองแขกเมือง เป็นที่อยู่ของชาวต่างประเทศที่มารับราชการในไทย

ต่อมาอาคารหลังหนึ่งได้ใช้เป็น “ศาลต่างประเทศ” ด้วย ปัจจุบันที่ตรงนั้นกลายเป็นตลาดท่าเตียนและตึกแถวรอบ ๆ ตลาด ส่วนในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 25 กล่าวว่า ร.4 ทรงสร้างตึก 4 หลัง แต่มิได้ระบุปีสร้างหรือปีรื้อ กล่าวกว้าง ๆ แต่ว่ารื้อสมัย ร.5

ถ้าตึกในภาพกําลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ภาพนี้ก็ควรถ่ายในสมัย ร.4 หรือก่อน พ.ศ. 2411 ถ้าถ่ายในสมัย ร.5 ก็คงถ่ายช่วงต้น ๆ รัชกาล ขออนุมานไว้กว้าง ๆ เพียงเท่านี้

เกาะหน้าวัดอรุณฯ
เกาะหน้าวัดอรุณฯ
เกาะหน้าวัดอรุณฯ

สุดท้ายจะกล่าวถึงการพิมพ์นิราศยี่สาร นิราศยี่สารนี้นายกุหลาบเขียนเมื่อ พ.ศ. 2422 คราวพาลูก 4 คนไปเที่ยววัดยี่สาร จ. สมุทรสงคราม ผู้เขียนเคยพบตีพิมพ์ในหนังสือจดหมายเหตุสยามไสมยปีที่ 3 เดือน 4 จ.ศ. 1246 หรือราว พ.ศ. 2427 อยู่ไม่กี่หน้า (หมอสมิธตัดมาลงเพียงบางส่วน)

เมื่อ ส.พลายน้อยนํามาเขียนถึงก็ตัดลงเพียงเล็กน้อยอีก จนเมื่อไม่นานมานี้คุณอาจิณ จันทรัมพร นักต่ออายุวรรณกรรมอาวุโสแห่งสํานักพิมพ์ดอกหญ้าบังเอิญได้นิราศยี่สารมาเป็นของตนเอง จึงนํามาตีพิมพ์เผยแพร่ให้คนทั่วไปได้อ่านอย่างเต็มฉบับใน “สวนหนังสือ” เล่มที่ 22 เดือนกันยายน พ.ศ. 2539 (ราคาเล่มละ 110 บาท) คุณอาจิณยังใจดีส่งให้ผู้เขียนหนึ่งเล่มด้วย ผู้เขียนดีใจมากเพราะได้ความรู้อื่น ๆ จากนิราศเล่มนี้อีกมาก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 ธันวาคม 2562