เผยแพร่ |
---|
3 กันยายน 2564 ครบรอบ 20 ปี การจากไปของ “จรัล มโนเพ็ชร” ราชาโฟล์คซองคำเมือง ผู้ปลุกกระแสเพลงและวัฒนธรรมล้านนาให้เป็นที่เลื่องชื่อไปทั่วประเทศ
วานนี้ Thai PBS จัดกิจกรรมเสวนา ศิลป์สโมสรเสวนาออนไลน์ “สองทศวรรษ-รำลึกตำนานโฟล์คล้านนา จรัล มโนเพ็ชร” ในโอกาสครบรอบ 20 ปี การจากไปของ จรัล มโนเพ็ชร ซึ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2544 ผ่านมุมมองวิทยากรที่ผูกพันกับ “อ้ายจรัล” ได้แก่ ศ.เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง, คุณบฤงคพ วรอุไร อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยพายัพ, คุณสายกลาง จินดาสุ นักดนตรี, คุณสมฤทธิ์ ลือชัย และคุณกิจจา มโนเพ็ชร น้องชายของ จรัล มโนเพ็ชร
จรัล มโนเพ็ชร เติบโตมาในครอบครัวนักดนตรีล้านนา ซึบซับการเล่น “ซึง” เครื่องดนตรีประเภทดีดของล้านนา มาจากบิดา ขณะที่ญาติฝ่ายมารดา ซึ่งสืบเชื้อสายจากตระกูล ณ เชียงใหม่ ก็ทำวงดนตรีพื้นบ้าน ทำให้ จรัล มโนเพ็ชร รับอิทธิพลดนตรีล้านนาจากครอบครัวมาอย่างเต็มเปี่ยม
คุณกิจจา บอกเล่าว่า ในวัยเด็ก พ่อจะสอนลูก ๆ ด้วยการเขียนคำสอนไว้บนกระดาน เป็นกลอนคำสอนของล้านนา ตนและพี่ชายซึ่งเล่นซึงอยู่แล้วจึงนำคำกลอนของพ่อมาแต่งเป็นเพลง เพลงนั้นมีชื่อว่าเพลง “กำบ่เก่า” เป็นเพลงในยุคแรก ๆ ที่นำมาแต่งเข้ากำทำนองซอพม่า
จรัล มโนเพ็ชร ออกอัลบัมแรกเมื่อ พ.ศ. 2519 แต่อัลบัมชุดที่ 2 ในปีถัดมานั้นดังเป็นพลุแตก เพราะมีการนำเพลงพื้นบ้านล้านนาอย่างเพลง “น้อยใจยา” มาเล่นด้วยเครื่องดนตรีตะวันตกอย่างกีตาร์ นี่ทำให้ชื่อของ จรัล มโนเพ็ชร ดังข้ามคืน ขณะที่ ศ.เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ เล่าว่า เพลงของ จรัล มโนเพ็ชร ในอัลบัมนี้ดังไกลจนมาถึงหูคนไทยในต่างประเทศ “อ้ายคนนี้สุดยอดนะครับ เพลงก็เพราะ เนื้อหาก็ดี…ส่งเพลงกำเมืองข้ามฟ้ามาถึงนิวยอร์ก”
อย่างไรก็ตาม จรัล มโนเพ็ชร ไม่ได้เป็นคนแรกที่คิดทำโฟล์คล้านนาขึ้นมา ในยุคนั้นมีวงดนตรีหรือนักดนตรีเพลงลูกทุ่งคำเมืองและโฟล์คซองล้านนาเป็นที่นิยมอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ จรัล มโนเพ็ชร มีความแตกต่างคือ การนำเพลงพื้นเมืองล้านนามาทำเป็นเพลงโฟล์คซอง
“ลูกทุ่งคำเมือง หรือโฟล์คซองคำเมืองอื่น อาจจะได้รับความนิยมอยู่ในเชียงใหม่หรือในภาคเหนือ เพราะว่า จรัล มโนเพ็ชร สิ่งที่ต่างก็คือมีการเอาเนื้อหาสาระที่ไม่ใช่เรื่องของเชียงใหม่เสียทีเดียว เป็นเรื่องของความเป็นมนุษย์ใส่เข้าไปด้วย ขณะเดียวกันก็มีการสื่อสารภาษาที่เป็นภาษากลาง สื่อสารภาษาที่ไปได้ไกลกว่าภาคเหนือ” คุณบฤงคพ กล่าว
สำหรับเบื้องหลังการแต่งเพลงของ จรัล มโนเพ็ชร นั้น เนื่องจากเป็นคนชอบเขียนไดอารีหรือจดบันทึกเรื่องราวรอบตัว จึงได้นำมาเป็นแรงบันดาลใจในการแต่งเพลงต่าง ๆ อย่างเพลง “อุ้ยคำ” ซึ่งเรื่องราวของอุ้ยคำเป็นเรื่องจริงของหญิงชราอาศัยอยู่บริเวณหนองเจ็ดลิน (บริเวณวัดเจ็ดลิน) ซึ่งไม่มีลูกหลานคอยดูแล ถูกสังคมมองว่าเป็นแม่มด แต่ จรัล มโนเพ็ชร ไม่รู้สึกหวาดกลัว กลับศรัทธาว่าหญิงชราสามารถทำมาหาเลี้ยงชีพได้ด้วยการเก็บผักบุ้งขาย และไปวัดทำบุญได้ด้วยตนเอง จึงนำมาแต่งเป็นเพลง เป็นการสะท้อนความเป็นวัฏจักรของชีวิต
หรืออย่างเพลง “ลุงต๋าคำ” ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากวณิพกตาบอดคนหนึ่งดีดซึงอยู่บริเวณประตูเชียงใหม่ และเพลง “พี่สาวครับ” ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากช่วงชีวิตของ จรัล มโนเพ็ชร ขณะศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิค
ศ.เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ กล่าวสรุปเกี่ยวกับ เพลงและตัวตนของ จรัล มโนเพ็ชร ไว้ว่า 1. เพลงมีความไพเราะมาก เป็นบทกวี ให้อารมณ์หลากหลาย 2. เพลงสะท้อนความลุ่มลึกทางดนตรี มีความหลากหลาย เป็นแหล่งความรู้ด้านดนตรีอย่างยอดเยี่ยม 3. เพลงปลุกเร้าให้คนเมืองภาคภูมิใจในความเป็นคนเมือง สนใจในศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น 4. เพลงอธิบายภาพสังคม ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลง 5. เพลงมีหลายมุมมอง ทั้งประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ เศรษฐกิจ ฯลฯ ให้ทั้งความบันเทิง สาระ ความรู้ 6. เพลงมีความเห็นอกเห็นใจคนทุกข์คนยาก เรียกร้องผลักดันให้เกิดการปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงสังคม 7. ตัวตนของ จรัล มโนเพ็ชร เป็นแบบอย่างที่ดี ขยัน อ่อนน้อม ทำงานช่วยเหลือสังคม ฯลฯ 8. เพลงนำเสนอให้คนมีความฝันและความหวัง
คุณสมฤทธิ์ กล่าวว่า “ในสายตาผม ผมคิดว่าอ้ายจรัลเป็นนักต่อสู้ แต่ใช้การต่อสู้ทางวัฒนธรรม อ้ายจรัลซ่อนอะไรบางอย่าง เนื้อหาบางประเด็นอยู่ในบทเพลง…อ้ายจรัลใช้วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ อย่างน้อยที่สุดทำให้คนล้านนามีความภาคภูมิใจในตัวเอง…”
ศ.เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ ยกย่องว่า จรัล มโนเพ็ชร เป็นศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของล้านนาในรอบ 1 ศตวรรษ
ชมเสวนาย้อนหลัง คลิก
อ่านเพิ่มเติม : 3 กันยายน 2544 จรัล มโนเพ็ชร เสียชีวิตกะทันหัน ฝากโฟล์คซองคำเมืองไว้ในใจ