วิถี “ตลาด(นัด)” สมัยสุโขทัย ถึงเปิดท้ายขายของ สู่ “มาร์เก็ตเพลส” ยุคกลุ่มฝากร้าน

ภาพถ่ายมุมสูง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ภาพจากหอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
"เมืองมหาวิทยาลัย" จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ภาพจากหอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

‘ตลาด’ มีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ตลาดน้ำ ตลาดบก ตลาดสด หาบเร่แผงลอย และโดยเฉพาะ ‘ตลาดนัด’ ซึ่งอาจไม่แตกต่างกับตลาดทั่วไป แต่มีความพิเศษอยู่ที่การกำหนด ‘เวลา’ ในการ ‘นัด’ การซื้อขาย ตามที่ราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของตลาดนัดไว้ว่า “ที่ชุมนุมเพื่อซื้อขายของต่าง ๆ ซึ่งมิได้ตั้งอยู่ประจำ จัดให้มีขึ้นเฉพาะในวันหรือสถานที่ที่กำหนดเท่านั้น”

ก่อนกรุงรัตนโกสินทร์

สำหรับเส้นทางของตลาด บทความ ““ตลาดนัด” มาจากไหน? ย้อนรอยตลาดนัดในกรุงเทพฯ ถึงตำนานตลาดนัดสนามหลวง” ในเว็บไซต์ ศิลปวัฒนธรรม บรรยายไว้ว่า สมัยสุโขทัย สันนิษฐานว่า ‘ตลาดปสาน’ อาจเป็นหนึ่งในตลาดนัดสมัยนั้น สมัยอุยธยาก็มีตลาดนัดทั้งบกและน้ำ รวมถึง ‘ตลาดป่า’ ที่เรียกตลาดป่าเพราะคนป่าคนเขา เวลาเข้ามาค้าขายในเมืองก็จะนำสินค้ามาวางขาย เหมือนนัดหมายกันที่ตลาดแห่งนี้ ขายตอนเช้าครั้งหนึ่ง ตอนเย็นอีกครั้งหนึ่ง

ตลาดนัดสมัยธนบุรีก็มีลักษณะเช่นเดียวกับสมัยอยุธยา แต่จะมีขนาดเล็กกว่า เป็นตลาดที่เรียกกันว่า ‘ตลาดสายหยุด’ เปิดขายตั้งแต่เช้า ถึงช่วงสายก็เลิกขาย แล้วกลับมาเปิดใหม่ตอนบ่ายถึงเย็น

สมัยรัตนโกสินทร์ก็มีตลาดนัดกระจายทั่วไป เช่น ตลาดนัดบริเวณปากคลองตลาดรวมถึงท่าเตียน สินค้าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ สำหรับบรรดาข้าราชสำนักโดยเฉพาะ บริเวณอื่น ๆ ก็มีตลาดนัด เช่น ตลาดนัดของคนจีนแถวตลาดน้อย สำเพ็ง ตลาดนัดของคนเขมร คนญวนแถวคลองผดุงกรุงเกษม และตลาดนัดของพวกฝรั่งแถวบางรัก บางคอแหลม

“ตลาดนัด” มาจากไหน? ย้อนรอยตลาดนัดในกรุงเทพฯ ถึงตำนานตลาดนัดสนามหลวง

“ตลาดนัด” อันโด่งดังยุคแรก

เมื่อสงครามโลกครั้งที 2 ปะทุ เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ประชาชนหาซื้อข้าวของเครื่องใช้กันลำบาก รวมถึงเกษตรกรก็เดือดร้อน จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีจึงจัดให้มีตลาดนัดส่งเสริมอาชีพกสิกรรมและเกษตรกรรม จัดขึ้นที่ ‘ศาลาเทศบาลนครกรุงเทพ’ แต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยม ประชาชนมาจับจ่ายกันในช่วงเช้า สายถึงบ่ายก็ไม่มีคนแล้ว สินค้าซื้อขายในช่วงแรกยังไม่มีสินค้าจากต่างจังหวัดและจากสวนใกล้เคียง มักจะเป็นของกินเล่น

ต่อมาตลาดนัดนี้จึงค่อย ๆ นิยมเพิ่มขึ้น มีสินค้าหลากหลายมาขายเพิ่มขึ้น สถานที่เริ่มคับแคบจึงย้ายไปที่สนามหลวง จนกลายเป็นตลาดนัดที่หลาย ๆ คนรู้จักคือ ‘ตลาดนัดสนามหลวง’

ตลาดนัดสนามหลวงเปิดครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2491 ขณะที่จอมพล ป. พิบูลสงครามยังให้เปิดตลาดนัดขึ้นแทบทุกจังหวัด ปีต่อมาทางการต้องใช้พื้นที่สนามหลวงจึงย้ายตลาดนัดไปอยู่ในพระราชอุทยานสราญรมย์ ปรากฏว่าตลาดนัดยิ่งได้รับความนิยมสูงมาก ต่อมากระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเดิมทำการอยู่ที่พระราชวังสราญรมย์ ร้องเรียนกลิ่นปลาเค็ม หอยดอง ปลาร้า ปลาเจ้า กะปิ น้ำปลา สารพัดกลิ่นส่งไปถึงกระทรวง รวมถึงพันธ์ุไม้ก็เฉาตายไปมากเพราะการจัดการไม่ถูกสุขลักษณะ ราดน้ำร้อนบ้าง น้ำก๋วยเตี๋ยวบ้าง น้ำล้างหม้อบ้าง

ในที่สุด พ.ศ. 2500 จึงย้ายออกจากพระราชอุทยานสราญรมย์มาด้านนอก ด้านถนนราชินี บริเวณคลองหลอด แต่ปรากฏว่าได้ปลูกเพิงสร้างแคร่จนเป็นภาพไม่งดงาม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี จึงให้ย้ายตลาดนัดนี้กลับไปยังสยามหลวงตามเดิมใน พ.ศ. 2501 โดยในระยะนั้นมีผู้ค้าประมาณ 300-400 ราย ต่อมาจึงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ปรับตัวหลังวิกฤตเศรษฐกิจ

ตลาดนัดอีกรูปแบบหนึ่งที่ปรากฏขึ้นหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 คือ ‘เปิดท้ายขายของ’ เป็นตลาดนัดที่นำสินค้ามือสองสภาพดีมาขายจนเป็นที่นิยม ใช้ท้ายรถเป็นร้านค้าวางสินค้า แต่ต่อมาก็ได้นำสินค้าใหม่มาขายด้วย และเลิกใช้ท้ายรถมาใช้แผงหรือราวแขวนอย่างเป็นกิจจะลักษณะ

ตลาดนัดในช่วงหลังนี้ได้รับความนิยมและขยายจำนวนมากขึ้น ปรากฏตลาดนัดอยู่ทั่วทุกมุมเมือง โดยเฉพาะในย่านธุรกิจหรือใกล้สถานที่ราชการ เช่น ตลาดนัดข้างกระทรวงศึกษาธิการ ตลาดหลังสำนักงานการบินไทย ตลาดหลังตึกปตท. ตลาดซอยละลายทรัพย์ ตลาดข้างตึกเมืองไทยประกันชีวิต ฯลฯ ผู้ค้าอาจหมุนเวียนเปลี่ยนตลาดนัดไปเรื่อย ๆ อาจประจำอยู่ที่ตลาดนัดนี้แค่วันนี้ วันอื่นไปตลาดนัดที่อื่น

ต่อมาก็ปรากฏรูปแบบของตลาดนัดแบบใหม่ คือการจัดแสดงสินค้าขนาดใหญ่ เช่น อิมแพคเมืองทองธานี ไบเทคบางนา หรือศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ อีกรูปแบบหนึ่งก็คือ ‘ถนนคนเดิน’ หรือ Walking Street ที่ผสมผสานตลาดนัดเข้ากับการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม เช่น งาน สามแพร่ง Facestreet หรืองาน Bangkok Design Week เป็นตลาดนัดศิลปะและวัฒนธรรม

โควิด-19

ตลาดนัดได้ปรับเปลี่ยนไปตามวิถีชีวิตของคน ตามกาลสมัย ในปัจจุบันก็มีรูปแบบตลาดนัดออนไลน์ ซื้อขายสินค้ากันผ่านระบบอินเทอร์เน็ตหรือโซเชียลเน็ตเวิร์ก หรือเมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็มีการสร้างกลุ่มในเฟซบุ๊ก เพื่อเสนอขายสินค้านานาชนิด ท่ามกลางวิกฤตการณ์ ‘โควิด-19’ ที่ทำให้ตลาดนัดหยุดชะงัก แต่ตลาดนัดออนไลน์ได้ถือกำเนิดขึ้นมาแทนที่เรียบร้อย (นาน) แล้ว

ภายใต้สถานการณ์ชัตดาวน์ของประเทศไทยเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19 ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้ทำมาค้าขายต่างได้รับความเดือดร้อน ถ้าไม่เป็นผู้ประกอบการค้าขายอาหารก็จะต้องปิดให้บริการร้านอย่างไม่มีกำหนด หรือแม้แต่ผู้ประกอบการค้าขายอาหารก็รายได้ตก

เหล่าสมาคมนิสิตและนักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงเปิดคอมมูนิตี้ออนไลน์ใหม่ให้สมาชิกทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน รวมถึงบุคลากร มาฝากร้าน ฝากกิจการ กันในกลุ่ม Facebook ในชื่อ จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส และ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เเละการฝากร้าน”

ในส่วนของ จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส ก่อนจะโพสขายของหรือฝากร้าน กลุ่ม มีกฎและกติกาดังนี้

Q : กฎของการโพสต์ขายของมีอะไรบ้าง
A : – แนะนำตัวเองชื่อเล่น รหัสนิสิต (ตอนเข้า Ex. 51,52) ชื่อคณะ/เอกที่เรียน (ขอเป็นภาษาไทย)
– รายละเอียดของสินค้าและบริการ (รูป/ข้อความ ในการนำเสนอ)
– ราคาของสินค้าและบริการของตัวเอง
– ทำเล/โซน/ที่อยู่ ของร้านค้า/ผู้ขาย
– ลักษณะของการส่ง (Grab, line man, Kerry)
– ไป setting Topic เพื่อให้ง่ายต่อการค้นหาของสมาชิกในกลุ่ม (วิธีการ setting post Topic มีแนะนำหน้ากลุ่ม) การ setting อาจมีปัญหาหากทำในโทรศัพท์มือถือ แนะนำให้ใช้คอมพิวเตอร์ในการตั้งค่า
**หากรายละเอียดของ Post ไม่ครบอาจถูกสมาชิกในกลุ่ม report ได้

Q : สิ่งที่ขอความร่วมมือสมาชิกผู้ขายทุกท่านไม่จำหน่ายสินค้าดังต่อไปนี้
A : – สินค้าที่ผิดลิขสิทธิ์ทุกประเภท – สินค้าประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (จนกว่าจะหมดประกาศของรัฐบาล)

Q : ผู้ขายจำเป็นต้องเป็น CU ไหม
A : ขอสงวนสิทธิ์ของผู้ขายไว้สำหรับประชาคม CU (นิสิต, ศิษย์เก่า, คณะอาจารย์ หรือเจ้าหน้าที่)

Q : แล้วผู้ซื้อละ สามารถเป็นใครได้บ้าง
A : สำหรับผู้ซื้อจะเป็นใครก็ได้ ที่สนใจในสินค้าและบริการที่ผู้ขายโพสต์ในกลุ่ม

Q : สามารถมี Function สำหรับให้รุ่นพี่/น้อง หางานได้ไหม
A : เป็นไอเดียที่น่าสนใจสำหรับอนาคต

Q : ในกรณีต้องการโพสต์หาคู่ / นำเสนอตัวเอง
A : อยากให้เนื้อหาของกลุ่มในตอนนี้ focus ไปที่การสนับสนุนการซื้อ-ขายสินค้าของเพื่อน ๆ สมาชิกก่อน ในอนาคตใน Fuction หาคู่อาจจะเกิดขึ้นได้

Q : สามารถโพสต์ได้บ่อยแค่ไหน สำหรับสินค้า /บริการ หนึ่งๆ
A : ไม่ได้ระบุไว้ว่าจะสามารถโพสต์บ่อยแค่ไหน อยากให้ผู้ขายทุกท่านดูตามความเหมาะสม โพสต์เยอะอาจจะเป็นการกระจายจำนวน engage ของสมาชิกในกลุ่ม ยกเว้นผู้ขายที่มีสินค้าและบริการหลายประเภทก็สามารถโพสต์แยกกันได้

Q : โพสต์เกี่ยวกับการเมืองสามารถโพสต์ได้ไหม
A : ขออนุญาตสมาชิกไม่โพสต์ หรือ แสดงทัศนคติทางการเมือง ในกลุ่มนี้เพราะเราอยากให้เน้นไปที่การขายสินค้าและบริการมากกว่า

อย่าลืมเข้าไปฝากร้านกันเยอะๆ นะจ้า ที่ จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส



เรียบเรียงเนื้อหาโดยใช้ข้อมูลจาก

เพจ: ประชาสัมพันธ์ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“‘ตลาดนัด’ มาจากไหน? ย้อนรอยตลาดนัดในกรุงเทพฯ ถึงตำนานตลาดนัดสนามหลวง”. ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. เผยแพร่เมื่อ 14 เมษายน 2563. เข้าถึงเมื่อ 17 เมษายน 2563. <https://www.silpa-mag.com/history/article_48458>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 เมษายน 2563