นักโบราณฯ อิหร่านเชื่อพบภาพสลักอายุกว่า 4 หมื่นปี หนึ่งในศิลปะเก่าแก่ที่สุดในโลก

ภาพสลักแพะภูเขา บริเวณเนินเขาใกล้กับเมืองโคเมน ประเทศอิหร่าน ภาพถ่ายเมื่อเดือนตุลาคม 2016 (AFP PHOTO / ATTA KENARE)

ดร.โมฮัมเมด นาเซริฟาร์ด (Mohammed Naserifard) ใช้เวลานานหลายปีในการสำรวจเนินเขาและทุ่งทะเลทรายในเขตโคเมน (Khomein) ภาคกลางของประเทศอิหร่าน เพื่อทำการศึกษาภาพสลักโบราณอายุหลายพันปีในแถบนี้แทบทั้งหมดด้วยตัวคนเดียว

AFP PHOTO / ATTA KENARE
AFP PHOTO / ATTA KENARE

ภาพที่พบมีทั้งภาพของนายพราน การเต้นระบำ ภูติผีปีศาจ และสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะภาพแพะภูเขา โดยส่วนใหญ่ภาพเหล่านี้มีอายุหลายพันปี นอกจากนี้ยังมีภาพเขียนเป็นรูปวงกลมจำนวนมาก ซึ่งน่าจะเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนาที่คาดว่าน่าจะมีอายุเก่าแก่มากถึง 4 หมื่นปี และเป็นหนึ่งในงานศิลปะบนก้อนหินที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

อย่างไรก็ดี การระบุอายุที่ชัดเจนของมันสำหรับนักโบราณคดีชาวอิหร่านถือเป็นเรื่องลำบาก เนื่องจากพวกเขาไม่อาจเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้วยเหตุผลทางการเมือง

AFP PHOTO / ATTA KENARE
AFP PHOTO / ATTA KENARE

“การคว่ำบาตรทำให้เราขาดเทคโนโลยี” นาเซริฟาร์ดกล่าว “เราหวังว่าการที่สถานการณ์เริ่มดีขึ้น เราจะสามารถนำเข้าเทคโนโลยีพวกนี้มายังอิหร่าน ซึ่งจะช่วยให้เราได้รับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่มีความแม่นยำมากขึ้นจากภาพสลักพวกนี้”

รายงานของ The Independent กล่าวว่า ผลจากการคว่ำบาตรโดยสหรัฐฯ ทำให้นักวิทยาศาสตร์อิหร่านไม่อาจใช้เครื่องมือวิเคราะห์ด้วยยูเรเนียม ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะสามารถใช้ในการวิเคราะห์อายุวัตถุโบราณได้อย่างแม่นยำได้

ไม่เพียงเท่านั้น รายงานของ AFP กล่าวว่า การคว่ำบาตรจากนานาชาติทำให้นักวิจัยอิหร่านไม่อาจได้รับความร่วมมือจากนักวิจัยในต่างแดน ขาดแคลนเครื่องมือที่มีวิทยาการล้ำหน้า ไม่อาจเข้าถึงงานวิจัยที่ทันสมัย และยังขาดเงินทุนสำหรับการดำเนินการอีกด้วย

แต่หลังการทำข้อตกลงนิวเคลียร์เมื่อปีที่แล้ว ตอนนี้องค์กรต่างชาติเริ่มให้ความสนใจในงานของ นาเซริฟาร์ด กองทุนจากสวิสได้เข้ามาสนับสนุนงานของเขา และช่วยดึงความสนใจจากนานาชาติได้มากขึ้น

ด้าน เกเนวีเวอ ฟอน เพตซิงเกอร์ (Genevieve von Petzinger) ผู้เชี่ยวชาญด้านงานศิลปะบนผนังถ้ำจากแคนาดาบอกว่า งานของ นาเซริฟาร์ด มีความสำคัญมาก และเป็นหลักฐานช่วยยืนยันทฤษฎีที่ว่า มนุษย์เริ่มพัฒนางานศิลปะบนฐานเดียวกันก่อนอพยพจากแอฟริกา และอิหร่านก็เป็นเหมือนชุมทางที่มนุษย์เดินทางผ่านก่อนแยกย้ายไปตามทิศต่างๆ ทั่วโลก