ที่มา | เฟซบุ๊ก : สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี |
---|---|
เผยแพร่ |
เฟซบุ๊กสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี แจ้งการขุดค้นพบศิลาจารึกโบราณอายุราวพันปี ระบุข้อความ “ทวารวตีวิภูติ” ร่องรอยอารยธรรมสมัยทวารวดี ในนครปฐม
สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี ดำเนินงานโครงการอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานที่วัดพระงาม ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม และได้ขุดค้นโดยรอบเนินโบราณสถานซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นสถูปสมัยทวารวดี
โดยก่อนหน้านี้ได้ขุดค้นพบ “ประติมากรรมดินเผารูปอสูร” เมื่อ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2562 (เผยภาพ “ประติมากรรมดินเผารูปอสูร” สมัยทวารวดี กรมศิลปากรขุดพบที่นครปฐม)
กระทั่งเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2562 บริเวณการขุดด้านทิศเหนือของเนินโบราณสถานวัดพระงาม ได้พบศิลาจารึกสมัยทวารวดี จำนวน 1 หลัก วางตามยาว หงายด้านหน้าที่มีตัวอักษรขึ้น ลักษณะเป็นแท่งรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทำด้วยหินสีเทาซึ่งต้องรอการตรวจสอบประเภทของหินอีกครั้ง ขนาดกว้าง 50 เซนติเมตร ยาว 96 เซนติเมตร หนา 14.50 เซนติเมตร พื้นผิวด้านหน้าบางส่วนแตกหลุดร่อนหลายชิ้น ส่วนที่เหลือยังคงปรากฏรูปรอยอักษรบนผิวด้านของจารึก
เฟซบุ๊กสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี ยังระบุเพิ่มเติมว่า
“ในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2562 สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี ได้เชิญนักอักษรศาสตร์ทรงคุณวุฒิ (ภาษา เอกสาร และหนังสือ) นางสาวพิมพ์พรรณ ไพบูลย์หวังเจริญ จากกรมศิลปากร และผู้อำนวยการกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นายเสน่ห์ มหาผล มาตรวจสอบศิลาจารึกดังกล่าว
พบว่า ศิลาจารึกมีจารึกเพียงหนึ่งด้าน จำนวน 6 แถว ซึ่งเป็นอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 11–12 มีข้อความบางส่วนที่สามารถอ่านได้อย่างชัดเจน กล่าวถึงคำว่า “ทวารวตีวิภูติ” เป็นเบื้องต้น จึงนับว่าเป็นจารึกที่เป็นข้อมูลใหม่ เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจที่สุดในจังหวัดนครปฐมในปัจจุบัน ศิลาจารึกดังกล่าวอยู่ในระหว่างรอการอนุรักษ์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้อ่านข้อความได้อย่างสมบูรณ์โดยได้เคลื่อนย้ายไปเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม”
สำหรับเนินโบราณสถานแห่งเคยมีการพบพระพุทธรูปสำริด กวางหมอบ ธรรมจักร พระพิมพ์ดินเผา และเศียรพระพุทธรูปดินเผา โดยเฉพาะเศียรพระพุทธรูปดินเผามีพุทธลักษณะงดงามเป็นอย่างมาก สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่าจึงเป็นเหตุในการเรียกชื่อวัดแห่งนี้ว่า “วัดพระงาม”
ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี กรมศิลปากร