เผยแพร่ |
---|
ในช่วงหลายปีนี้มักมีคำพูดเสมอว่าวงการภาพยนตร์ไทยเข้าสู่ยุคมืดหรือตกต่ำ นอกนากจะประสบปัญหาสำคัญด้านรายได้แล้ว เสียงสะท้อนจากผู้กำกับภาพยนตร์มะลิลาอย่าง อนุชา บุญยวรรธนะ กล่าวในงานประกาศรางวัลสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 28 พ.ศ. 2562 ว่าวงการภาพยนตร์ไทยขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งยิ่งทำให้อนาคตของภาพยนตร์ไทยมืดมนยิ่งกว่าเดิม
ในกิจกรรมศิลป์สโมสรเสวนา “มาตรการส่งเสริมหนังไทยยังไงดี ?” วันศุกร์ที่ 13 กันยายน 2562 ณ ห้องมินิเธียเตอร์ ไทยพีบีเอส คุณพันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยอย่าง จักรยานสีแดง (2540) และไอฟัก (2547) ชี้ให้เห็นว่าตัวเลขรายได้ของภาพยนตร์ไทยในแต่ละปีเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดที่สะท้อนว่าภาพยนตร์ไทยเข้าสู่ยุคตกต่ำ โดยให้ข้อมูลว่าภาพยนตร์ที่ได้รายได้เกิน 10 ล้านมีเพียงไม่กี่เรื่อง เฉลี่ยแล้วอาจมีภาพยนตร์คุ้มทุนแค่ 3 เรื่องต่อปี นับเป็นยุคที่ตกต่ำที่สุดในช่วง 20 ปี นอกจากด้านรายได้จะตกต่ำมากแล้ว การนำภาพยนตร์ไทยไปขายยังต่างประเทศก็ตกต่ำเช่นกัน คุณพันธุ์ธัมม์ ระบุว่า แม้รายได้ของภาพยนตร์ไทยจะตกต่ำแต่คุณภาพนั้นไม่ได้ตกต่ำเลย ผลงานหลาย ๆ เรื่องยังมีมาตราฐาน เพียงแต่ประสบปัญหาทางธุรกิจมากกว่า
คุณพิมพกา โตวิระ ผู้กำกับภาพยนตร์และผู้สร้างภาพยนตร์อิสระ กล่าวเสริมว่า สถานการณ์ภาพยนตร์ไทยที่กำลังตกต่ำนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้องเผชิญกับยุคดิจิทัล ที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คน ซึ่งความบันเทิงในรูปแบบของออนไลน์สตรีมสามารถตอบโจทย์ชีวิตในยุคสมัยที่เปลี่ยนไปได้มากกว่า ซึ่งประสบปัญหากันทั้งโลก ไม่เฉพาะแค่ในประเทศไทย คุณพิมพการะบุว่า สถานการณ์ตอนนี้ไม่ได้แย่มากหรือดีมาก แต่อนนี้ที่ดูแย่ขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีหลายปัจจัยส่งผลโดยเฉพาะเรื่องเงินทุนและช่องทางในการจัดจำหน่ายภาพยนตร์
คุณภาณุ อารี ในฐานะของนักวิจารณ์ภาพยนตร์และผู้นำเข้าภาพยนต์ต่างประเทศในไทย กล่าวถึงกรณียุคตกต่ำของวงการภาพยนตร์ไทยว่า ภาพยนตร์ไทยจะประสบความสำเร็จนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละเรื่อง เช่น องค์บาก (2546) หรือชัตเตอร์ กดจิดวิญญาณ (2547) เป็นภาพยนตร์ที่นำไปขายในต่างประเทศได้ดี แม้จะตกต่ำลงมาในบางช่วง แต่ล่าสุดอย่าง ฉลาดเกมโกง (2560) ก็สร้างกระแสและเป็นที่นิยมทั้งในไทยและต่างประเทศสูง คุณภาณุกล่าวว่า ในภาพรวมแล้วปัญหาของภาพยนตร์ไทยนั้นอาจต้องเผชิญความยากลำบากมากขึ้น แต่หากพิจารณาเป็นรายเรื่องไปก็ขึ้นอยู่กับจังหวะด้วย
คุณภาณุ สะท้อนว่าในวงการภาพยนตร์ไทยมีช่องว่างสูงมากของผู้ผลิตภาพยนตร์ จนถึงกับมีคำกล่าวว่า
“หนังไทยทุกวันนี้แบ่งออกเป็นสองประเภท คือหนัง GDH กับหนังไทยโดยทั่วไป”
หากมองในแง่ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยแล้ว ภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่องมักประสบผลสำเร็จและโดดเด่นอยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง จนส่งผลให้ผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ ดำเนินรอยตามจนกลายเป็น “สูตรสำเร็จ” ที่ทำให้วงการภาพยนตร์ไทยไม่พัฒนาไปไหน แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้ว คุณภาณุ กล่าวว่าจะมี “ฮีโร่” เป็นผู้บุกเบิกยุคใหม่อย่าง นนทรีย์ นิมิบุตร, เป็นเอก รัตนเรือง, ปรัชญา ปิ่นแก้ว และบรรจง ปิสัญธนะกูล ที่ทำให้ภาพยนตร์ไทยกลับมารุ่งเรืองอีกครั้งในช่วงทศวรรษ 2540
แต่ในปัจจุบัน ปัญหาสำคัญคือสภาพเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคว่าจำต้องเลือกอย่างถ้วนถี่ในการเลือกชมภาพยนตร์เรื่อง ๆ หนึ่ง คุณภาณุ ยังให้ข้อมูลว่าประเทศไทยติดอันดับตั๋วภาพยนตร์แพงเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการจะเลือกชมภาพยนตร์เรื่อง ๆ หนึ่งเป็นเรื่องลำบาก หากเป็นค่ายภาพยนตร์ที่ผู้ชมมีความภักดีสูงอย่าง GHD อาจไม่เจอปัญหานี้มาก เพราะคนพร้อมที่จะจ่ายเงินเพื่อขมภาพยนตร์ของค่ายนี้ แต่สำหรับค่ายภาพยนตร์อื่น ๆ นั้นอาจต้องเผชิญความลำบากส่วนนี้มากกว่า
คุณพันธุ์ธัมม์ กล่าวว่าผู้ผลิตภาพยนตร์ไม่สามารถรักษา “ศรัทธา” ของผู้ชมภาพยนตร์ไทยได้ สะท้อนให้เห็นจากช่วงทศวรรษ 2540 ที่ผู้ผลิตภาพยนตร์ไทยเดินทางไปร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ สามารถนำ “โปสเตอร์” แค่แผ่นเดียวไปเสนอขายให้กับผู้จัดจำหน่ายต่างประเทศได้อย่างง่ายดายแต่ต่อมาภาพยนตร์ไทยไม่สามารถรักษาศรัทธาตรงนั้นได้ ไม่สามารถผลิตภาพยนตร์ที่หลากหลายและแปลกใหม่อย่างในทศวรรษ 2540 เมื่อศรัทธาเริ่มลดลงจึงส่งผลต่อการขายภาพยนตร์ คุณพันธุ์ธัมม์ กล่าวว่าในยุคต่อมาต้องมีทั้งโปสเตอร์ ตัวอย่างภาพยนตร์ หรือแม้กระทั่งภาพยนตร์เต็มเรื่องให้ผู้จัดจำหน่ายต่างประเทศพิจารณา บางเรื่องแม้ได้ชมภาพยนตร์เต็ม ๆ แล้วแต่ไม่ซื้อก็มี
สำหรับด้านการสนับสนุนจากภาครัฐนั้น ในประเทศไทยมีนโยบายที่เด่นชัดที่สุดคือ “ไทยเข็มแข็ง” ที่มีเงินทุนราว 250-300 ล้านบาท หลังจากนั้นนโยบายจากภาครัฐก็มีให้เพียงปีละ 10-15 ล้านบาทต่อปี คุณพันธุ์ธัมม์ ให้ข้อมูลว่ากระทรวงวัฒนธรรมจัดทำยุทธศาสตร์ส่งเสริมอุตสาหกรรมไทยมาหลายฉบับแล้ว โดยนำนโยบายการส่งเสริมภาพยนตร์ของหลาย ๆ ประเทศมาปรับใช้ แต่ในทางปฏิบัตินั้นไม่มีเลย ไม่มีการทำอะไรที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน คุณพันธุ์ธัมม์สะท้อนปัญหาตรงนี้ว่าเพราะไม่มีใครที่มีจิตสำนึกที่จะผลักดันนโยบายส่วนนี้
สำหรับ “ยุทธศาสตร์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์” ของกระทรวงวัฒนธรรมมีมาหลายระยะ คือ ระยะที่ 1 พ.ศ. 2552–2554 ระยะที่ 2 พ.ศ. 2555–2559 และระยะที่ 3 พ.ศ. 2560–2564 และตามเว็บไซต์ของกระทรวงวัฒนธรรมระบุว่า “เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ และผลักดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไทยให้เป็นอุตสาหกรรมหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ” แต่จากเสียงสะท้อนของคนในวงการภาพยนตร์ นโยบายนี้อาจอยู่แค่ในกระดาษหรือไม่?
คุณพันธุ์ธัมม์ เปรียบเทียบว่า “ชาวภาพยนตร์” ไม่ได้ถูกจัดลำดับความสำคัญในการให้ความช่วยเหลือหรือการดำเนินนโยบายใด ๆ จากภาครัฐ ลำดับความสำคัญของภาครัฐคือ ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวนยาง ที่ล้วนแต่เป็นเกษตรกร ซึ่งเป็นบุคคลกลุ่มใหญ่ที่ภาครัฐต้องช่วยเหลือเพราะเกี่ยวข้องกันทางการเมืองอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ต้องมีใครสักคนหนึ่งที่มาผลักดันนโยบายภาพยนตร์ไทย ในลักษณะที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง เป็นผู้ผลักดัน และต้องมีอำนาจ ยุทธศาสตร์ของกระทรวงวัฒนธรรมนั้นพร้อมอยู่แล้ว แต่ขาดคนที่จะทำให้นโยบายเดินไปได้จริง ปฏิบัติได้จริง
ในการเสวนาได้หยิบยกนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของประเทศเกาหลีและฝรั่งเศส ที่ทั้งสองประเทศให้เงินสนับสนุนภาพยนตร์ของประเทศตัวเองอย่างเต็มที่ไม่เฉพาะแค่ขั้นตอนการผลิตอย่างเดียว ในประเทศฝรั่งเศสจะเก็บภาษีจากตั๋วภาพยนตร์และภาษีจากบริษัทที่ผลิตสื่อบันเทิง ภาษีส่วนนี้จะนำมาเป็นเงินสนับสนุนให้กับ CNC (Centre national du cinéma et de l’image animée) ที่ไม่เฉพาะแต่สนับสนุนภาพยนตร์ในประเทศเท่านั้น หากภาพยนตร์เรื่องใดที่มีเงินทุนใช้จ่ายในฝรั่งเศสเกิน 50% ก็เข้าข่ายในการพิจารณาให้เงินทุนช่วยเหลือ หรือหากมีขั้นตอนการผลิต เช่นว่าจ้างช่างกล้องชาวฝรั่งเศส หรือกระบวนการตัดต่อที่ใช้วัตถุดิบในฝรั่งเศส ก็เข้าข่ายที่จะได้รับเงินทุนเช่นกัน
คุณพิมพกา อธิบายว่าประเทศในอาเซียนหลายประเทศอย่างสิงคโปร์และฟิลิปปินส์ได้มีการส่งเสริมภาพยนตร์ในประเทศอย่างจริงจัง ไม่เพียงแต่การให้เงินสนับสนุนผู้สร้างภาพยนตร์อย่างเดียวเท่านั้น สิ่งที่พวกเขาทำคือ การสร้างคนรุ่นใหม่และส่งเสริมคนมีความสามารถได้มีโอกาสในวงการภาพยนตร์ คุณพิมพการะบุว่าการสร้างภาพยนตร์มันคือวัฒนธรรม ไม่ใช่แค่ผลิตออกมาขายเพียงอย่างเดียว และการส่งเสริมในลักษณะที่ไม่ได้ให้เงินทุนโดยตรงเพื่อนำไปสร้างภาพยนตร์นี้ แม้ไม่ได้เห็นชัดว่าจะช่วยให้สามารถนำภาพยนตร์ไปขายได้ แต่มันช่วยพัฒนาและส่งเสริมภาพยนตร์ในภาพรวม
คุณภาณุ มองว่าปัจจุบันนี้ได้ใช้งบในการโฆษณาน้อยลง เพราะภาพยนตร์บางเรื่องสามารถผลักดันไปได้ด้วยตัวของมันเอง นั่นคือการทำให้เกิด “กระแส” แล้วอะไรทำให้เกิดกระแส ก็ย้อนกลับมาที่ตัวภาพยนตร์เองว่ามันมีอะไรที่น่าสนใจหรือไม่ คุณภาณุ แสดงทรรศนะว่าในปัจจุบันผู้ชมภาพยนตร์เสมือนเป็น PR ให้กับภาพยนตร์ นำไปสู่ระบบ “ปากต่อปาก” อย่างเช่นเรื่อง ชนชั้นปรสิตหรือ Parasite (2562) คุณภาณุเชื่อว่ายังมีผู้สร้างภาพยนตร์ชาวไทยที่มีประเด็นแหลมคมเช่นภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่และสามารถนำออกมาสร้างเป็นภาพยนตร์ได้ นี่จึงเป็นต้นแบบอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นโจทย์สำหรับผู้สร้างภาพยนตร์ที่ต้องทำให้เกิดกระแส เช่นนั้นแล้วภาพยนตร์ถึงจะสามารถประสบผลสำเร็จได้
ช่วงท้ายคุณพันธุ์ธัมม์เสนอแนวทางให้ภาครัฐให้เงินสนับสนุนโรงภาพยนตร์ในการ “ยืนโรง” ให้ภาพยนตร์ไทยฉายในระยะเวลาที่นานขึ้น เพราะภาพยนตร์ไทยเมื่อเข้าฉายแล้วมักจะประสบปัญหาคนดูน้อยในวันแรก ๆ ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจของโรงภาพยนตร์ที่เมื่อคนดูน้อยก็จำต้องลดรอบลดโรงฉายลง บางเรื่องเข้าฉายไม่ถึงสองสัปดาห์ก็มี
แต่ประเด็นนี้หากจะโทษโรงภาพยนตร์ก็ไม่ได้ เพราะโรงภาพยนตร์จำต้องปรับรอบฉายให้สอดคล้องกับความต้องการของคนดู แต่นั่นก็ไม่ใช่การผลักภาระไปสู่คนดูว่า ต้องเปิดใจหรือเปิดรับให้มาชมภาพยนตร์ไทยให้มากขึ้นเพื่อส่งเสริมวงการภาพยนตร์ไทย เพราะจะย้อนกลับไปที่ตัวภาพยนตร์เองว่าได้สร้างออกมาแล้วดึงดูดได้มากน้อยแค่ไหน เนื้อเรื่องน่าสนใจมากเท่าใด แต่นั่นก็จะย้อนไปที่เรื่องของ “ต้นทุน” และการสนับสนุนจากภาครัฐว่าสามารถสนับสนุนการสร้างภาพยนตร์ที่ดีออกมาได้มากน้อยขนาดไหน ดังนั้นแล้วการจะพัฒนาวงการภาพยนตร์ไทยไม่ใช่แค่คนไม่กี่คนช่วยกัน แต่ต้องทำเป็นระบบด้วยการผลักดันและสนับสนุนจากทุกฝ่าย
ช่วงท้ายได้ตั้งคำถามกับผู้ร่วมเสวนาและผู้ชมทางบ้าน มีประเด็นที่น่าสนใจคือ คิดเห็นอย่างไรหากภาครัฐดำเนินการเก็บภาษีหรือหักเงินจากตั๋วภาพยนตร์เพื่อนำมาเข้ากองทุนสนับสนุนภาพยนตร์ ในข้อแม้ที่ว่าราคาตั๋วเท่าเดิม ซึ่งเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่นั่นก็ย้อนกลับมาถึงสิ่งที่คุณพันธุ์ธัมม์ย้ำมาตลอดคือ ใครจะเป็นผู้ผลักดัน ใครที่เป็นคนที่มีจิตสำนึกและมีอำนาจที่จะทำการสนับสนุนวงการภาพยนตร์ไทยให้เป็นประจักษ์ ที่ไม่ใช่มีแต่เพียงยุทธศาสตร์บนกระดาษไม่กี่แผ่นเท่านั้น