ทำไมพระที่นั่งและตั่งไม้ที่ประทับของพระมหากษัตริย์ต้องสร้างด้วย “ไม้มะเดื่อ” ?

พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562

การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีคติว่าพระมหากษัตริย์จะได้รับการแต่งตั้งโดยการรดน้ำศักดิ์สิทธิ์ตามคติพราหมรณ์และเปลี่ยนสถานภาพเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ นั่นทำให้ “พิธีสรงพระมุรธาภิเษก” มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยตั่งไม้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประทับเพื่อสรงพระมุรธาภิเษก จนถึงพระมณฑป พระที่นั่งอัฐทิศ และพระที่นั่งภัทรบิฐ ล้วนทำจากไม้มะเดื่อ

ณัฏภัทร จันทวิช ผู้เขียนหนังสือ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” บรรยายที่มาที่ไปของการสร้างด้วยไม้มะเดื่อ (บางทีเรียกว่าไม้มะเดื่อชุมพร หรือมะเดื่อทุมพร) ว่า น่าจะได้รับความเชื่อมาจากพราหมณ์ ซึ่งกล่าวว่า ไม้มะเดื่อเป็นที่ประทับของเทพเจ้าตรีมูรติ อันเป็นเทพซึ่งรวมเทพเจ้าที่สำคัญทั้งสามองค์ของฮินดู นั่นคือพระพรหม พระศิวะ และพระวิษณุ เป็นองค์เดียวกัน การนำไม้มะเดื่อมาสร้างเป็นพระที่นั่งสำหรับพระมหากษัตริย์นั้น จึงสันนิษฐานได้ส่วนหนึ่งว่ามาจากความเชื่อเรื่องพระองค์ทรงเป็นสมมติเทพ

ไม้มะเดื่อยังปรากฏในตำนานของพระพุทธศาสนาที่ว่ากันว่า ต้นมะเดื่อเป็นต้นไม้ที่พระโกนาคมพุทธเจ้าซึ่งเป็นอดีตพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งทรงตรัสรู้ใต้ต้นไม้ชนิดนี้

ดังที่กล่าวไปแล้ว ทำให้เห็นว่าไม้มะเดื่อมีความสำคัญทั้งจากคติของพราหมณ์และพุทธ และยังถือว่าเป็นไม้เฉพาะผู้เป็นพระมหากษัตริย์เท่านั้น


อ้างอิง:

ณัฏภัทร จันทวิช. พระราชพิธีบรมราชาภิเษก. จัดพิมพ์โดยกรมศิลปากร ในมหาวโรกาสพระราชพิธีมงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 5 ธันวาคม 2530