เผยแพร่ |
---|
วิหารนอเทรอดามที่สร้างขึ้นระหว่างศตวรรษที่ 12-13 เสียหายครั้งใหญ่จากเหตุเพลิงไหม้ช็อกโลกเมื่อวันที่ 15 เมษายน (ตามเวลาท้องถิ่น) ภาพหลังคายอดแหลมของวิหารพังถล่มลงมาทำให้คนทั่วโลกแทบหัวใจสลาย แต่สิ่งมีค่าไม่ได้มีเพียงแค่ตัวสิ่งก่อสร้างเท่านั้น ภายในวิหารยังมีวัตถุโบราณและของมีค่าหลายอย่างที่มีความเป็นมาซึ่งรายงานจากสื่อต่างประเทศหลายแห่งต่างบ่งชี้ว่าวัตถุเหล่านี้ส่วนใหญ่ปลอดภัยดี
ภายหลังจากเจ้าหน้าที่ควบคุมเพลิงไว้ได้แล้ว ทางการฝรั่งเศสออกแถลงว่าโครงสร้างพื้นที่โบสถ์ของวิหารยังปลอดภัย แต่ส่วนเพดานโค้งได้รับความเสียหายเป็นรูโหว่ 3 แห่ง ส่วนสาเหตุของเพลิงไหม้ยังอยู่ระหว่างการสืบสวน รายงานข่าวจากนิวยอร์กไทม์ส (New York Times) มีข้อมูลเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่มุ่งเป้าไปที่คนงานกลุ่มซึ่งทำงานบนนั่งร้านในจุดที่การบูรณะเกือบเสร็จสมบูรณ์แล้ว
องค์ประกอบด้านอาคารของวิหารนอเทรอดามไม่ได้เป็นสิ่งเดียวที่หลายฝ่ายวิตกกังวลเรื่องความเสียหายจากเพลิงไหม้ครั้งนี้ แต่ยังมีคำถามถึงวัตถุโบราณและของมีค่าต่างๆ ด้วย ซึ่งรายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศส่วนใหญ่เผยแพร่ในทิศทางเดียวกันว่า ของเหล่านี้ส่วนใหญ่ปลอดภัยดี เช่นเดียวกับหน่วยดับเพลิงแห่งปารีสซึ่งทวีตข้อความว่า ชิ้นงานด้านศิลปะที่สำคัญส่วนใหญ่ถูกนำออกจากวิหารและอยู่ในสภาพปลอดภัยดี
ขณะที่ฟรองก์ รีสเตอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมของฝรั่งเศสก็โพสต์ภาพถ่ายการเคลื่อนย้ายของมีค่าระหว่างที่ถูกขนออกมา พร้อมคำอธิบายว่า เจ้าหน้าที่ของกระทรวงร่วมมือกับคนของอาร์ชบิชอป หน่วยดับเพลิงปารีส และหน่วยงานรักษาความมั่นคง ช่วยกันเคลื่อนย้ายวัตถุของมีค่าในโบสถ์ออกมา
Les agents du @MinistereCC, épaulés par les équipes de l’archevêché, les @PompiersParis et les forces de sécurité, évacuent les œuvres se trouvant à l’intérieur de la cathédrale. Elles sont progressivement mises en sécurité. #NotreDame pic.twitter.com/iINHyUqJME
— Franck Riester (@franckriester) April 15, 2019
ฌอง ฟรองซัว มาร์ตินส์ (Jean-Francois Martins) รักษาการนายกเทศมนตรีการท่องเที่ยวและกีฬา ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีบีเอส (CBS) เผยว่า เจ้าหน้าที่ในเหตุการณ์จัดตั้งรูปขบวน “โซ่มนุษย์” (น่าจะหมายถึงตั้งเรียงแถวเพื่อรับส่งของต่อกัน) เพื่อขนย้ายวัตถุออกมาให้รวดเร็วที่สุด ในส่วนนี้มีชื่อบาทหลวง ฌอง-มาร์ก ฟูร์นิเยร์ (Jean-Marc Fournier) อนุศาสนาจารย์ที่สื่อต่างๆ รายงานว่า ท่านเป็นคนที่วิ่งเข้าไปในอาคารเพื่อนำวัตถุโบราณที่เชื่อว่ามีคุณค่ามากที่สุดในอาคารอย่าง มงกุฎหนาม (The Crown of Thorns) ซึ่งเชื่อกันว่า สวมอยู่บนศีรษะพระเยซูขณะที่ถูกตรึงกางเขน และเครื่องหมายสำหรับพิธีบูชาที่เรียกกันว่า Blessed Sacrament อย่างไรก็ตาม ชิ้นส่วนหนึ่งที่เชื่อว่ามาจากมงกุฎหนามได้รับความเสียหาย
นอกเหนือจากมงกุฏแล้ว ตะปูที่เชื่อว่าใช้ตรึงร่างและถูกมองว่าเป็นชิ้นส่วนหนึ่งของกางเขนก็ถูกเคลื่อนย้ายออกจากโบสถ์เช่นเดียวกับเสื้อคลุมที่เชื่อว่าเป็นของพระเจ้าหลุยส์ที่ 9 กษัตริย์ฝรั่งเศสพระองค์เดียวที่ถูกยกย่องโดยโบสถ์โรมันคาทอลิกก็ถูกเคลื่อนย้ายออกมาด้วย
อีกหนึ่งของมีค่าที่เป็นองค์ประกอบหนึ่งของตัวอาคารคือกระจกสีที่สร้างสีสันให้กับโบสถ์ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมฝรั่งเศสเผยระหว่างการแถลงข่าวว่า กระจกเหล่านี้ไม่ได้รับความเสียหายร้ายแรงนัก และจากภาพหลังเกิดเหตุแสดงให้เห็นว่า ม้านั่งส่วนหนึ่งในโบสถ์ไม่ได้รับความเสียหาย แต่มีบางส่วนที่ถูกเศษซากของหลังคาและยอดของวิหารที่พังถล่มลงมาทับ ขณะที่แท่นบูชาที่มีไม้กางเขนประดับอยู่ก็ยังเห็นว่าไม้กางเขนยังคงแขวนอยู่ในสภาพเดิม
ในบรรดางานศิลปะที่มีค่าในวิหารแห่งนี้ ยังมีรูปปั้น 12 อัครทูตในศาสนาคริสต์ และ 4 ศาสดาพยากรณ์ตามพันธสัญญาใหม่อยู่ด้วย แต่รูปปั้นกลุ่มนี้กล่าวได้ว่า โชคดีที่ถูกเคลื่อนย้ายออกจากส่วนบนของวิหารไม่กี่วันก่อนที่จะเกิดเหตุเพลิงไหม้ โดยรูปปั้นเหล่านี้ถูกเก็บรักษาในโกดังแห่งหนึ่งในฝรั่งเศสเพื่อเตรียมบูรณะ
ที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญต่างแสดงความกังวลเรื่องความปลอดภัยของรูปปั้นเหล่านี้อาจร่วงหล่นลงมาจากส่วนบนของวิหารที่สร้างต่อเติมในศตวรรษที่ 19 กระทั่งเจ้าหน้าที่เคลื่อนย้ายรูปปั้นด้วยเครนไม่กี่วันก่อนเกิดเหตุ
ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ วินาทีชี้เป็นชี้ตายในการช่วยปกป้องเคลื่อนย้ายวัตถุมีค่าในวิหารครั้งนี้ รายงานข่าวจากบีบีซี อ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของโลร็องต์ นูเนซ รักษาการรัฐมนตรีกิจการภายในฝรั่งเศสซึ่งอธิบายว่า เจ้าหน้าที่มีช่วงเวลาสำคัญที่ชี้เป็นชี้ตายอยู่ประมาณ 15-30 นาทีเท่านั้น นูเนซ ยังสดุดีเจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่เสี่ยงชีวิตของตัวเองเพื่อเก็บกู้หินที่เป็นโครงสร้างของอาคารและหอคอยทั้งสอง
แต่มีงานศิลป์บางส่วนที่ไม่ได้โชคดีเหมือนกับกลุ่มข้างต้น พิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน (Smithsonian) รายงานว่า ภาพไก่ที่เหมือนเป็นสัญลักษณ์ของประเทศฝรั่งเศส(อย่างไม่เป็นทางการ)ซึ่งตั้งอยู่ที่ส่วนบนของวิหารได้รับความเสียหายมาก อีกหนึ่งของมีค่าในนั้นคือออร์แกนขนาดใหญ่ (Pipe Organ) มีแถวของท่อเรียงรายจำนวนมากและถือว่าเป็นออร์แกนที่มีชื่อเสียงระดับโลกได้รับความเสียหาย แม้จะไม่ถูกเพลิงไหม้ แต่เครื่องดนตรีในโบสถ์ชิ้นนี้ได้รับความเสียหายจากน้ำ และยังไม่ทราบแน่ชัดว่าความเสียหายนี้จะทำให้มันกลับมาใช้งานได้ปกติหรือไม่
สำหรับการปกป้องออร์แกนในโบสถ์ของวิหาร ผู้เชี่ยวชาญยกเครดิตส่วนหนึ่งให้กับหุ่นยนต์ชื่อโคลอสซัส (Colussus) ที่ผลิตโดยบริษัทชาร์ก โรบอติกส์ (Shark Robotics) ซึ่งเจ้าหน้าที่ใช้ฉีดน้ำช่วยลดอุณหภูมิในทางเดินยาวของโบสถ์
กลุ่มต่อมาคือภาพเขียนขนาดใหญ่จากศตวรรษที่ 17 และ 18 ภาพวาดของศาสดาพยากรณ์ก็ได้รับความเสียหายส่วนหนึ่ง
แม้มีรายงานสภาพความเป็นไปของวัตถุมีค่าออกมาบ้าง แต่หลายส่วนก็ยังไม่รู้สภาพอย่างชัดเจน รายงานข่าวสำนักข่าวเอพี (Associated Press) ระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐยังต้องรออีก 48 ชั่วโมงถึงจะเข้าไปตรวจสอบสภาพโบสถ์และงานศิลปะที่อยู่ภายใน ส่วนวัตถุมีค่าที่เคลื่อนย้ายออกมาแล้วจะถูกนำไปเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ และศาลาว่าการเมืองปารีสเพื่อรักษาความปลอดภัย
อ่านเพิ่มเติม : กำเนิดวิหารนอเทรอดาม 850 ปีตัวแทนความงามของปารีสที่ถูกไฟไหม้ ยอดแหลมสูงพังในไม่กี่นาที
อ้างอิง:
Katz, Brigit. “What Happened to Notre-Dame’s Precious Art and Artifacts?”. Smithsonian. Online. Access 17 April 2019. <https://www.smithsonianmag.com/smart-news/what-happened-notre>
Grinberg, Emanuella. “Rose windows of Notre Dame are safe but fate of other treasures is unclear”. CNN. Online. Access 17 April 2019. <https://edition.cnn.com/2019/04/15/europe/notre-dame-artifacts/index.html>
“A brave chaplain and a human chain saved holy relics from Notre Dame Cathedral fire
“. CBS News. Access 17 April 2019. <https://www.cbsnews.com/news/notre-dame-cathedral-fire-heroes-human-chain-crown-of-thorns-blessed-sacrament/>
Carvajal, Doreen. “The Notre-Dame Rooster and Other Statues That Escaped the Fire
“. New York Times. Access 17 April 2019. <https://www.nytimes.com/2019/04/16/arts/notre-dame-statues.html>
“Notre-Dame fire: Cathedral saved within crucial half hour”. BBC. Access 17 April 2019. <https://www.bbc.com/news/world-europe-47953795>