“บ้านปลายเนิน ศาสตร์ ศิลป์ สืบสาน” การเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย

“บ้านปลายเนิน" เมื่อพลบค่ำยามเย็น

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา ทายาทในราชสกุลจิตรพงศ์ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งเป็นผู้ดูแล “บ้านปลายเนิน” หรือ “วังคลองเตย” ที่ประทับสุดท้ายของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ที่รู้จักกันในพระสมัญญานามว่า “นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม” หรือ “สมเด็จครู” ได้จัดงาน “ศาสตร์ ศิลป์ สืบสาน ณ บ้านปลายเนิน” บรรยายหัวข้อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของบ้านปลายเนิน พร้อมนำชมสถาปัตยกรรมสำคัญในพื้นที่ บริเวณตำหนักไทย เรือนคุณย่า ตำหนักตึก และเรือนละคร

ตำหนักไทย กำลังบูรณะซ่อมแซม
ตำหนักตึก ที่ประทับสุดท้ายแห่ง “สมเด็จครู” ภายในบ้านปลายเนิน

ปัจจุบัน บ้านปลายเนินเป็นที่อยู่อาศัยของทายาทในราชสกุลจิตรพงศ์ และยังเป็นสถานที่ตั้งมูลนิธินริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อมอบรางวัลนริศรานุวัดติวงศ์ หรือรางวัลนริศ ในวันที่ 29 เมษายนของทุกปีจะเปิดตำหนักไทยให้ประชาชนเข้าชม ภายในงานทายาทรุ่นที่ 4 ของสมเด็จครูได้กล่าวถึงแผนพัฒนาปรับปรุงบ้านปลายเนินครั้งสำคัญ โดยการบูรณะซ่อมแซมตำหนักไทยเพื่อให้รองรับการเข้าชมและเพื่อจัดแสดงศิลปวัตถุได้ดียิ่งขึ้นอย่างเหมาะสม

หม่อมหลวงจิตตวดี จิตรพงศ์

เริ่มสืบค้นสิ่งของและเรื่องราวในตำหนักตึก คัดเลือกสิ่งของที่ค้นพบใหม่มาจัดแสดง ในอนาคตจะจัดทำทะเบียนภาพแบบร่างฝีพระหัตถ์ของสมเด็จครู และวางแผนการบูรณะซ่อมแซมอนุรักษ์ตำหนักตึก เพื่อเปิดบ้านปลายเนินเป็นพิพิธภัณฑ์และศูนย์การเรียนรู้การศึกษาสมบัติของชาติในวันข้างหน้าสืบไป

อนึ่ง ภายในงาน หม่อมหลวงจิตตวดี จิตรพงศ์ ทายาทรุ่นที่ 4 ได้เปิดเผยถึงความกังวลใจของทายาทในราชสกุลจิตรพงศ์ เมื่อบ้านปลายเนินอาจได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างคอนโดมิเนียมที่จะมีการก่อสร้างห่างออกไปจากตำหนักตึกเพียง 17 เมตรเท่านั้น ถ้าหากมีการตอกเสาเข็มเกิดขึ้นจริง ทายาทต้องขนย้ายโบราณวัตถุออกจากตำหนักตึก ซึ่งอาจส่งผลให้สูญเสียร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญไป เนื่องจากงานอนุรักษ์เป็นงานที่ละเอียดอ่อน ถ้าไม่มีการเก็บข้อมูลไว้อย่างละเอียดอาจจะทำให้ประวัติศาสตร์ในส่วนนี้สูญเสียไป

“หัวโขน” ที่ค้นพบใหม่ภายในตำหนักตึก ยังมีโบราณวัตถุอีกจำนวนมากรอการศึกษาเก็บข้อมูล