“ระเบิดในลาว” มรดกบาปของสงคราม สู่งานศิลปะที่เล่าถึงความโหดร้ายและสูญเสีย

บุนโปน โพทิสาน ศิลปินลาว กับ ผลงาน Story from Plateau เรื่องเล่าจากที่ราบสูง งานศิลปะ จาก ระเบิดในลาว จัดแสดง ที่ เวนิส The Spirits of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร ในมหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 60
บุนโปน โพธิสาน กับ Story from Plateau งานศิลปะจากปลอกระเบิด จัดแสดงใน The Spirits of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร มหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 60 (ภาพจาก เพจ The Spirits of Maritime Crossing)

“สงคราม แม้จะจบไปแล้ว แต่ยังฝากบาดแผลอันใหญ่หลวงต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน” บุนโปน โพทิสาน เล่าถึงสิ่งที่พยายามสื่อสารใน “Story from Plateau” ผลงานศิลปะจาก “ปลอกระเบิด” ของระเบิดในลาว ที่ร่วมจัดแสดงใน The Spirits of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร มหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 60 ระหว่างวันที่ 20 เมษายน – 24 พฤศจิกายน 2567

Story from Plateau หรือ “เรื่องเล่าจากที่ราบสูง” ผลงานของ อ.บุนโปน ศิลปินชาวลาว ผู้มีโอกาสเข้าร่วมแสดงผลงานใน มหกรรมกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 60 (The 60th International Art Exhibition, La Biennale di Venezia) ที่จัดภายใน Palazzo Smith Mangilli Valmarana อาคารเก่าแก่ซึ่งมีอายุตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 ณ นครเวนิส ประเทศอิตาลี

Advertisement
Story from Plateau ผลงาน บุนโปน โพทิสาน จาก ระเบิดในลาว
Story from Plateau “เรื่องเล่าจากที่ราบสูง” งานศิลปะจากปลอกระเบิด

ภายในงานยังมีผลงานของศิลปินแนวหน้าจากทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ร่วมบอกเล่าเรื่องราวภายในหัวข้อการย้ายถิ่นฐาน การพลัดถิ่น และการล่าอาณานิคมข้ามทะเล โดยมี ศ. ดร. อภินันท์ โปษยานนท์ ผู้อำนวยการศิลป์ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ เป็นภัณฑารักษ์

The Spirits of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร ในมหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 60 นี้ เป็นผลจากความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ กับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) รวมถึงภาครัฐ เอกชน และเครือข่ายพันธมิตร ทุกภาคส่วน

“Story from Plateau” งานศิลปะจากปลอกระเบิด

เรื่องราวเบื้องหลังผลงานชุด “Story from Plateau : เรื่องเล่าจากที่ราบสูง” อ.บุนโปน เล่าว่า ได้ทำงานศิลปะที่สื่อสารด้านสิ่งแวดล้อม มลพิษ มลภาวะต่าง ๆ อยู่แล้ว งานชุดนี้ทำขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2558-2559 มีแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ในวัยเด็กเกี่ยวกับระเบิดในลาว คือเรื่องราวของเพื่อนบ้านผู้เก็บลูกระเบิดมาเล่นแล้วเกิดระเบิดจนเป็นเหตุให้พิการ กลายเป็นความทรงจำฝังใจมาตั้งแต่นั้น

อีกแรงบันดาลใจที่ อ.บุนโปน ถ่ายทอดให้ฟังคือ “ผมได้อ่านคอลัมน์หนึ่งในหนังสือพิมพ์ลาว เล่าเรื่องของ ‘สาวครู’ คนหนึ่งที่มาเรียนอยู่เวียงจันทน์ เธอเป็นคนเก่งครับ มหาวิทยาลัยเลยอยากให้เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่นั่น แต่เพราะความรักท้องถิ่น เธอขอกลับไปสอนอยู่ที่เซียงขวง (เชียงขวาง) หลังจากนั้น เธอทำอาหาร ก่อเตากับพื้น ระเบิดที่อยู่ด้านล่างมันระเบิด ทำให้พิการ”

เซียงขวงคือแขวง (จังหวัด) หนึ่งของลาว เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ที่เรียกว่า “เส้นทางโฮจิมินห์” (Ho Chi Minh Trail) แนวชายแดนระหว่างลาวกับเวียดนาม ที่ลากยาวจากตอนเหนือของประเทศลงมาถึงตอนใต้ ได้แก่ บอลิคำไซ สะหวันนะเขต สาละวัน อัตตะปือ เซกอง ฯลฯ

พื้นที่เหล่านี้คือบริเวณที่ถูกเครื่องบินอเมริกันทิ้งระเบิดจำนวนหลายล้านตันในยุคสงครามเวียดนาม

จากการศึกษาข้อมูล อ.บุนโปน เล่าว่า ระเบิดที่ตกค้างในลาวเรียกว่า “ระเบิดคลัสเตอร์” (Cluster Bomb) หรือระเบิดลูกปลาย กฎการทำงานของมันคือจะต้องหมุนครบรอบในจังหวะที่ถูกหย่อนทิ้งจากเครื่องบิน หากหมุนไม่ครบจะไม่ทำงาน เว้นแต่มีใครหรืออะไรก็ตามไปพลิก เคลื่อนย้าย หรือทำให้ลูกระเบิดหมุนครบรอบ มันจะทำงานทันที

อ.บุนโปน เล่าว่า “สิ่งที่ประสบมาตั้งแต่เด็ก กับเรื่องราวของครูคนนี้ ผมในฐานะศิลปินควรจะพูดอะไรสักอย่างเกี่ยวกับผลกระทบนี้ แต่ละปีสถิติของคนประสบอุบัติเหตุเกี่ยวกับระเบิดในลาวมีเยอะมาก มีทั้งพิการและเสียชีวิต บางคนเป็นเสาหลักของครอบครัว ทำให้ครอบครัวที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัวไม่มีเสาหลักในการดำรงชีวิต เป็นผลกระทบที่ต่อเนื่องหลังจากสงคราม

ผมเลยเอาปลอกระเบิดมาทำงานชุดนี้ แกะสลักเป็นเรื่องเล่าของแต่ละคนที่ไปสัมภาษณ์ หาข้อมูลว่าชีวิตของเขาเป็นยังไง ทั้งช่วงสงครามกับหลังจากสงคราม แล้วแกะสลักเป็นรูปทรงเหมือนภาพฝาผนังตามผนังวัด อยากให้คนรู้ว่า คนที่ได้รับผลกระทบเขาต้องเจออะไรบ้าง บางคนแขนขาด ขาขาด ที่เสียชีวิตก็เยอะ แต่เราไม่รู้ประวัติเขา ไม่สามารถเล่าในส่วนนั้นได้”

เป็นที่มาของ Story from Plateau : เรื่องเล่าจากที่ราบสูง ผลงานที่ อ.บุนโปน เลือกเอาปลอกระเบิดในลาว ตัวการความสูญเสียของเรื่องราวทั้งหมดมาเป็นสื่อกลาง นำเสนอเป็นงานแกะสลักลวดลายศิลปะดั้งเดิมที่พบได้ตาม “ฮูปแต้ม” ทั้งคอลเลกชันมี 17 ลูก สื่อถึงการเป็นตัวแทนของ 17 แขวงในลาว

Story from Plateau ผลงาน บุนโปน โพทิสาน จาก ระเบิดในลาว

Story from Plateau ผลงาน บุนโปน โพทิสาน จาก ระเบิดในลาว

กัมปนาทแห่ง “เซียงขวง” ดังไกลถึงเวนิส

บุนโปน โพธิสาน เกิดที่เมืองจำปาศักดิ์ สปป.ลาว จบสถาบันวิจิตรศิลป์แห่งชาติ ใน สปป.ลาว และปริญญาโทสาขาทัศนศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในประเทศไทย เป็นศิลปินร่วมสมัยผู้เชี่ยวชาญการนำเสนอแนวคิดผ่านศิลปะในรูปแบบภูมิศิลป์ (Land Art) ศิลปะจัดวาง (Installation) รวมถึงวิดีโออาร์ต

อ.บุนโปน เล่าถึงการเข้าร่วมมหกรรมศิลปะนานาชาติครั้งนี้ว่า เป็นความใฝ่ฝันและเป็นเป้าหมายของการทำงานมานาน “เวนิส เบียนนาเล่ เป็นเหมือนเวทีที่ห่างไกลมากสำหรับผมครับ ประเทศที่จะไปจัดแสดงที่นั่นต้องมีพาวิลเลียนอยู่ (สปป.ลาวยังไม่มี) มันเหมือนความฝันของคนทำงานศิลปะที่อยากไปร่วมแสดงงานในเวทีที่เก่าแก่และยิ่งใหญ่

วันหนึ่ง อาจารย์อภินันท์ ติดต่อผมมา ชวนไปแสดงผลงานด้วย ผมเลยบอกว่า ‘ยินดีเลยครับ’ มันเหมือนความฝัน เหมือนเป้าหมายของการทำงาน เทียบกับการเรียนคือเหมือนเราไปถึงระดับศาสตราจารย์ ถ้าคนทำงานศิลปะก็เหมือนคุณทำถึงในสิ่งที่อยากทำที่สุดแล้ว

เวนิส เบียนนาเล่ เป็นเวทีที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่มาก การได้เข้าร่วมก็เหมือนประสบความสำเร็จในเป้าหมายของชีวิต ผมอยากขอบคุณท่านอาจารย์อภินันท์ และทีมงานบางกอก เบียนนาเล่ ที่สนับสนุนงาน ให้โอกาสกลุ่มศิลปินอาเซียนได้เข้าร่วมงานด้วย ไม่เช่นนั้นคงเป็นอะไรที่ห่างไกลมากครับ”

อ.บุนโปน ยังให้ความเห็นด้วยว่า แม้ศิลปินแต่ละประเทศจะมีวิธีการทำงานแตกต่างกันตามวัฒนธรรมของตน แต่ไม่ปฏิเสธที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ลักษณะร่วมอย่างหนึ่งที่ตนเห็นว่าประเทศไหน ๆ ก็มีเหมือนกันคือ หากเป็นผลงานที่บอกเล่าเกี่ยวกับสงคราม ศิลปินมักจะสร้างสรรค์ให้ “ปะทะ” ความรู้สึก  “กระแทก” มโนสำนึก พยายามเป็นเสียงสะท้อนว่า “สงครามมันโหดร้าย”

มหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 60 จึงเป็นโอกาสอันดีที่เสียงระเบิด เสียงของความโหดร้ายและความสูญเสียบนเส้นทางโฮจิมินห์ จะดังไปถึงเวนิส ผ่านงานของ อ.ปุนโปน

บุนโปน โพทิสาน มติชน
บุนโปน โพทิสาน ศิลปินชาวลาว (ภาพจาก มติชนออนไลน์)

“ระเบิดในลาว” ประจักษ์พยานแห่งความโหดร้าย

ปัญหาระเบิดที่ตกค้างอยู่ในประเทศลาวถือเป็นเรื่องใหญ่ คือปัญหาเรื้อรังที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิต คุกคามชีวิตและทรัพย์สินชาวลาวในพื้นที่มาอย่างเนิ่นนาน และเป็น “มรดก” จากสงครามที่ยากจะลบล้างให้หายไปในเร็ววัน

“ลาวมีสำนักงานใหญ่ของศูนย์เก็บกู้ระเบิดอยู่เวียงจันทน์ จากข้อมูลสถิติตอนนี้คือ เขาเพิ่งเก็บได้ 1.24% ยังไม่ถึง 2% ด้วยซ้ำ เพราะตัว (ระเบิด) คลัสเตอร์มันกระจายเป็นวงกว้าง ปัญหาคือความลึกของมันด้วยครับ ปัจจุบันเครื่องตรวจหาระเบิดตรวจจับได้แค่ระดับความลึก 1-2 เมตร เพราะเวลาผ่านไป ดินจะสไลด์มาทับถมเรื่อย ๆ จนจมอยู่ลึกเกิน 2 เมตร เครื่องตรวจจับก็หาไม่เจอแล้ว” อ.ปุนโปน กล่าว

“ดีที่เรายังพอรู้ตำแหน่งจุดทิ้งระเบิดอยู่บ้าง องค์กรเก็บกู้ระเบิดได้ข้อมูลมาจากฝั่งอเมริกันมา เพราะเขามีข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับการทิ้งระเบิดแต่ละจุด ๆ ในลาว

แต่จากตัวเลขไม่ถึง 2% นี้ การประเมินคืออีกร้อยกว่าปีก็น่าจะเก็บไม่หมด ที่สำคัญคือมันมีผลกระทบทุกปี ทำให้คนเจ็บและเสียชีวิตทุกปี ผมว่าต้องมีคนพูดอะไรสักอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ เลยทำเป็นงานศิลปะไปเลยครับ”

เมื่อถามถึงความคาดหวังจากการเข้าร่วมมหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 60 อ.บุนโปน เน้นย้ำว่า ไม่ได้พยายามตอกย้ำความเคียดแค้น เพียงจะสื่อสารว่า “สงคราม” ทำลายผู้คนอย่างไรบ้าง เพราะความสูญเสียไม่เพียงเกิดขึ้นแต่ในห้วงสงคราม ยังฝากร่องรอย สิ่งตกค้าง เป็นบาดแผลประทับไว้ยาวนานกว่าที่ทุกคนคิด

“สงครามในลาวผ่านมาเกือบ 50-60 ปีแล้ว แต่บาดแผลเหมือนจะหายก็ไม่หาย มีหนังสือพิมพ์จากฝรั่งเศสสัมภาษณ์ผม บอกว่าที่ประเทศเขาก็ยังขุดพบระเบิดจากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เจอเศษซากจากสงครามในอดีตเรื่อย ๆ

ประเด็นที่ผมอยากพูดคือ สงครามมันโหดร้ายแค่ไหน มันไม่ใช่แค่เกิดขึ้นแล้วจบลง สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ยังคงอยู่ไปเรื่อย ๆ ยังฝังอยู่ในความคิดความรู้สึกของคนอีกยาวนานมาก…

ขอบเขตที่ผมจะพูดไม่ใช่ภายในประเทศลาวเท่านั้นนะครับ แต่คือทั้งโลก จากสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนที่ประสบเหตุ ไม่ใช่แค่คนคนเดียวที่สูญสิ้นไป แต่คนในครอบครัว คนรอบ ๆ ตัวเขา ทั้งหมดล้วนได้รับผลกระทบ”

อ.ปุนโปน กล่าวทิ้งท้ายว่า “สงคราม พอเกิดขึ้นแล้ว มันไม่เคยฝากเรื่องดี ๆ ให้ผู้คนหรอกครับ”

Story from Plateau ผลงาน บุนโปน โพทิสาน จาก ระเบิดในลาว

ทัพศิลปินอาเซียน ใน “The Spirits of Maritime Crossing”

ในนิทรรศการ The Spirits of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร นอกจากผลงานของ อ.บุนโปน แล้ว ยังมีผลงานที่ของศิลปินอีก 14 คนจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ กัมพูชา, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, เมียนมาร์, เวียดนาม, สิงคโปร์  รวมถึงไทย ตั้งแต่ศิลปินชื่อดังไปจนถึงศิลปินหน้าใหม่มากพรสวรรค์ ได้แก่

มารีน่า อบราโมวิช (เซอร์เบีย-สหรัฐอเมริกา), พิเชษฐ กลั่นชื่น (ไทย), ปรียากีธา ดีอา (สิงคโปร์), จิตติ เกษมกิจวัฒนา (ไทย), นักรบ มูลมานัส (ไทย), จอมเปท คุสวิดานันโต (อินโดนีเซีย), อัลวิน รีอามิลโล (ฟิลิปปินส์), คไว สัมนาง (กัมพูชา), โม สัท (เมียนมา-เนเธอร์แลนด์), จักกาย ศิริบุตร (ไทย), เจือง กง ตึง (เวียดนาม), นที อุตฤทธิ์ (ไทย), กวิตา วัฒนะชยังกูร (ไทย), หยี่ อิ-ลาน (มาเลเซีย)

ศิลปินเหล่านี้นำเสนอความเป็นจริงที่ซับซ้อน เรื่องราวทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อันหลากหลายของภูมิภาคนี้ ณ เมืองเวนิส สถานจัดงานที่มีมิติทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแตกต่างออกไป แถมอยู่ไกลคนละซีกโลก

ที่มาของชื่อ The Spirits of Maritime Crossing “วิญญาณข้ามมหาสมุทร” จึงมาจากการเดินทางจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ข้ามน้ำข้ามทะเลไปถึงเวนิสนั่นเอง

งานนี้มีเป้าหมายเพื่อบอกเล่าประสบการณ์ทางวัฒนธรรม การพลัดถิ่นในมุมมองของผู้อยู่ห่างไกลทั้งกายและใจจากบ้านเกิดของตน ศิลปินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความคล้ายคลึงกันหลายประการ ท่ามกลางความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ศาสนา และภาษา ที่สร้างความรู้สึกแปลกแยก ถึงอย่างนั้น เรายังมีสิ่งที่เรียกว่า “วัฒนธรรมลูกผสม” (ไม่ว่าจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม) จากพลวัตที่เรียกว่า ผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ หรือแม้แต่คนไร้สัญชาติ นั่นเอง

The Spirits of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันนี้ – 24 พฤศจิกายน 2567 ที่ Palazzo Smith Mangilli Valmarana ณ นครเวนิส สาธารณรัฐอิตาลี หรือหากไม่อยากไปถึงเวนิส อ.บุนโปน ให้ข้อมูลฝากไว้ด้วยว่า ผลงานบางส่วนจากชุด “Story from Platea” จะถูกนำมาจัดแสดงที่ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ในเร็ว ๆ นี้ สามารถไปชมได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กรกฎาคม 2567