บางกอก คุนส์ฮาเลอ ชวนสัมผัสประสบการณ์ศิลปะใน “nostalgia for unity” เพ่งพิศพื้นที่เว้นว่าง ผลงาน กรกฤต อรุณานนท์ชัย

บางกอก คุนส์ฮาเลอ nostalgia for unity พื้นที่เว้นว่าง ผลงาน กรกฤต อรุณานนท์ชัย

“นกฟีนิกซ์เหมือนผี ไม่มีวันตาย มันสื่อได้ถึงวัฏจักรของธรรมชาติ วัฏจักรของความคิด วัฏจักรของคน” นี่คือไอเดียเบื้องหลังผลงานชิ้นล่าสุดของ กรกฤต อรุณานนท์ชัย ศิลปินร่วมสมัยชาวไทยที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ กับผลงานที่จะเปิดประสบการณ์ใหม่ให้ผู้สนใจงานศิลปะ ในนิทรรศการ “nostalgia for unity”

นิทรรศการนี้คือโอกาสอันดีสำหรับผู้ชื่นชอบงานศิลปะ ในการซึมซับประสบการณ์แสนวิเศษของโลกศิลปะร่วมสมัย ที่เรียกว่า ศิลปะการจัดวางสื่อผสม (Mixed Media Installation) จัดแสดงที่ บางกอก คุนส์ฮาเลอ (Bangkok Kunsthalle) พื้นที่จัดแสดงงานศิลปะแห่งใหม่ย่านเยาวราช กรุงเทพมหานคร ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนมาสัมผัสประสบการณ์ด้วยตนเอง โดยมี คุณสเตฟาโน ราโบลลี แพนเซรา, คุณชวิศ เจียรวนนท์ และ คุณเจมมิกา สินธวาลัย ร่วมเป็นภัณฑารักษ์

Advertisement

“บางกอก คุนส์ฮาเลอ” กำเนิดใหม่จากเถ้าธุลี

บางกอก คุนส์ฮาเลอ อาร์ตสเปซแห่งใหม่ บนพื้นที่ประวัติศาสตร์ของเยาวราช ใจกลางกรุงเทพฯ สถานที่ซึ่งเปี่ยมด้วยพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ ก่อตั้งโดย คุณมาริษา เจียรวนนท์ เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อต้นปี 2567 แต่เดิมอาคารแห่งนี้คือโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช ซึ่งถูกทิ้งร้างไปหลังเหตุเพลิงไหม้เมื่อปี 2543

คุณมาริษาถือเป็นนักสะสมผลงานศิลปะ ผู้มีใจรักในการอุปถัมภ์และส่งเสริมวัฒนธรรมไทยสู่สากล มีบทบาทในการก่อตั้งโปรเจกต์ ไทย อาร์ต อินิชิเอทีฟ (Thai Art Initiative) เมื่อปี 2565 และยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้เชี่ยวชาญอาวุโสโดยกระทรวงวัฒนธรรม และสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้คำปรึกษาและดูแลการพัฒนาศิลปะร่วมสมัย

การก่อตั้งบางกอก คุนส์ฮาเลอ ในปี 2567 เป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจที่มุ่งมั่นผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางของศิลปะร่วมสมัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คุณมาริษาเห็นถึงคุณค่าของอาคาร และศักยภาพของพื้นที่ จึงเข้ามาปรับปรุงอาคารเก่าแห่งนี้ เพื่อเปิดกว้างสำหรับผลงานศิลปะทุกแขนง ทั้ง ภาพยนตร์ ดนตรี วิทยาศาสตร์ การแสดง วรรณกรรม สถาปัตยกรรม รวมถึงงานสร้างสรรค์อื่น ๆ อาทิ จัดเวิร์กช็อป กิจกรรมอ่านหนังสือ การฉายภาพยนตร์ ตลอดจนจัดงานเสวนาโดยศิลปินรุ่นใหม่และศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับโลก เป็นเวทีแลกเปลี่ยนมุมมองทางศิลปวัฒนธรรม ระหว่างผู้คนในวงการศิลปะร่วมสมัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คุณมาริษาเล่าว่า อาคารไทยวัฒนาพานิชมีความสำคัญและอยู่ในความทรงจำของคนจำนวนมาก เพราะเป็นโรงพิมพ์หนังสือเรียน แต่ต้องยุติกิจการไปหลังเหตุเพลิงไหม้ ทั้งนี้ตัวอาคารไม่ได้หายไปไหน ยังอยู่ที่เดิม เมื่อคุณมาริษาเข้ามา “rebuild” จึงไม่ต่างอะไรกับการทำให้ที่นี่เกิดใหม่ สะท้อนวัฏจักรแห่งชีวิต (Circle of Life) และจิตวิญญาณ (spirit) ของอาคารที่ไม่เคยดับสลาย

นี่ยังเป็นที่มาของไอเดียเบื้องหลังผลงานใน นิทรรศการ “nostalgia for unity” โดย กรกฤต อรุณานนท์ชัย นำเสนอการเกิดใหม่และวัฏจักรของสรรพสิ่งผ่าน “พื้นที่ว่างเว้น” (Negative Space) ได้อย่างสร้างสรรค์ ลุ่มลึก และสะกดผู้ชมได้ กระตุ้นเร้าให้สัมผัสถึงการไม่มีอยู่ ศิลปินมองว่า “สิ่งไร้ตัวตน” ที่ซ่อนอยู่ในผลงานของเขาคือ “นกฟีนิกซ์” สัตว์ในเทพนิยายที่สามารถฟื้นคืนชีพจากเถ้าถ่านร่างเก่าที่มอดไหม้ไป

เหมือนอาคารไทยวัฒนาพานิช ที่บัดนี้กลายเป็น “บางกอก คุนส์ฮาเลอ” อาร์ตสเปซแห่งใหม่ที่กำเนิดจากเถ้าธุลี

กรกฤต อรุณานนท์ชัย กับความคิดเรื่อง “สิ่งที่มองไม่เห็น”

คุณกรกฤต อรุณานนท์ชัย เป็นศิลปินไทยผู้เป็นที่รู้จักในหลายประเทศ ทำงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ ได้เข้าร่วมแสดงมหกรรมศิลปะร่วมสมัยล่าสุดที่ Thailand Biennale จังหวัดเชียงราย (พ.ศ. 2566) เขามักสร้างสรรค์ผลงานจากการสำรวจประเด็นที่เคลื่อนไหวอยู่รอบตัวในสังคม ทั้งประเด็นด้านความเชื่อ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ปรัชญาเกี่ยวกับเวลาและชีวิต เขายังพัฒนาผลงานศิลปะที่หลากหลาย เช่น งานจิตรกรรม ภาพเคลื่อนไหว ศิลปะภาพถ่าย และศิลปะกาารแสดง (Performance Art)

กรกฤต อรุณานนท์ชัย ศิลปินร่วมสมัย ชาวไทย มีชื่อเสียง ระดับ นานาชาติ
กรกฤต อรุณานนท์ชัย ศิลปินร่วมสมัยชาวไทยที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ

คุณกรกฤตเล่าว่า เมื่อเราหวนคำนึงถึงความฝัน ความทรงจำ และภาพยนตร์ จะเห็นได้ว่า ประสบการณ์เหล่านี้มีความคล้ายคลึงกันมาก ส่วนเหลื่อมซ้อนกันตรงนี้เองคือเหตุผลที่ทำให้เขาสนใจสร้างภาพเคลื่อนไหว บันทึกประสบการณ์ชีวิตที่หลากหลายมาเชื่อมโยงกัน เพื่อให้ความสัมพันธ์เหล่านั้นสามารถไปได้ไกลกว่าสิ่งที่เป็นอยู่

คุณกรกฤตมองว่า บทภาพยนตร์ทำหน้าที่เป็นเส้นกั้นระหว่าง “สิ่งที่ได้รับการยินยอม” กับ “สิ่งที่มิอาจกล่าวถึง” ระหว่างหลายเส้นเวลาที่ต่างกัน ระหว่างผู้คนกับ “สิ่งที่มองไม่เห็น”

นิทรรศการนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่การเชื่อมสัมผัสเครือข่ายของสิ่งที่ “จับต้องไม่ได้” และ “มองไม่เห็น” ความว่างเปล่าที่ว่านี้ถูกแทนที่ด้วยตัวละครหลักที่ขาดหายไป คือ “นกฟีนิกซ์” ที่รวบรวมเถ้าถ่านของตัวมันเองพร้อมกองเถ้าของบรรพบุรุษ ปะทุเป็นไฟลุกโชน ส่องประกายเป็นเปลวเพลิงจากพื้นดินขึ้นสู่ท้องฟ้า สว่างไสวแล้วมอดไหม้ การเกิดขึ้นและร่วงโรยเป็นคำสัญญาของการเกิดใหม่ที่อยู่เหนือจุดจบและความตาย คำสัญญาหลังความตายว่าจะกลับชาติมาเกิด

“นกฟีนิกซ์จึงอาจสื่อถึงความตาย แต่ก็สื่อถึงการเกิดใหม่ในวัฏจักรอันเป็นนิรันดร์ เพราะเหตุนี้ เถ้าธุลีของนกฟินิกซ์จึงเป็นทั้งสัญลักษณ์ของสิ่งที่ล่วงลับ กับอนาคตที่เราคาดหวัง ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ก็เป็นสิ่งที่มองไม่เห็นเช่นกัน” คุณกรกฤต อธิบาย

อีกไอเดียที่เกี่ยวข้องกับผลงานคือ “บทสวด” ที่ก็จัดเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น ศิลปินเชื่อว่าบางทีสิ่งที่มนุษย์ต้องการอาจไม่ใช่เสียงตอบรับจากเบื้องบน แต่เป็นโอกาสที่จะเชื่อในคำอธิษฐานนั้น คำอธิษฐานที่ยังไม่ได้รับการตอบรับจะประกอบสร้างพื้นที่เว้นว่าง ก่อให้เกิดสภาพความเป็นไปได้ และบางทีเมื่อสิ่งที่เราต้องการเป็นไปไม่ได้ ทำให้จิตวิญญาณและความเชื่อของเราก่อร่างขึ้นมา

ในนิทรรศการนี้ ศิลปินได้ชวนย้อนกลับมาสำรวจแกนความคิดเดิมในงานของเขา เช่น การทับซ้อนกันของจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด ความเสื่อมสลายและการเกิดใหม่ ความเชื่อมโยงระหว่างการรู้แจ้งของปัจเจกบุคคล และจิตวิญญาณร่วมทางสังคม นำความสัมพันธ์ของวิญญาณนิยมและคุณลักษณะของโบสถ์ มาสร้างพื้นที่การอยู่ร่วมกันขององค์ประกอบในการอธิษฐาน เจตนา และพิธีกรรม ซึ่งทั้งหมดนี้จะเชื่อมโยงกันผ่านบรรดาร่างผู้ชมที่เคลื่อนผ่านพื้นที่ของ nostalgia for unity

นิทรรศการ nostalgia for unity พื้นที่เว้นว่าง ที่ บางกอก คุนส์ฮาเลอ

“nostalgia for unity” ดื่มด่ำศิลปะ สัมผัส “พื้นที่เว้นว่าง”

คุณสเตฟาโน ราโบลลี แพนเซรา ภัณฑารักษ์ประจำนิทรรศการเล่าว่า เมื่อเทียบกับชื่อชั้นของตัวศิลปิน “งานนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของคุณกรกฤต เพราะถือว่ามีความ ‘มินิมอล’ มาก แต่ตรงวัตถุประสงค์ของบางกอก คุนส์ฮาเลอ และโปรเจกต์ของเรา ที่ต้องการนำเสนอเพื่อผลักดันขอบเขตของงานศิลปะสมัยใหม่”

nostalgia for unity จึงเป็นนิทรรศการที่เผยจุดเปลี่ยนของแนวทางการสร้างสรรค์ผลงานของ “กรกฤต อรุณานนท์ชัย” ดังจะเห็นว่า ศิลปินเลือกใช้พื้นที่เว้นว่างเป็นสื่อสำคัญของการจัดนิทรรศการในครั้งนี้ ด้วยการนำเสนอให้เป็นทั้งงานจิตรกรรม ภาพยนตร์ เวที และบทหนัง ที่ขาดไม่ได้คือ “สิ่งไร้ตัวตน” ที่สิงอยู่ในผลงานของเขา นั่นคือ “นกฟีนิกซ์”

คุณกรกฤต เล่าเพิ่มเติมว่า “ ‘nostalgia for unity’ สร้างขึ้นมาให้เป็นภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง เป็นหนังที่เกี่ยวกับตึกนี้ เกี่ยวกับยักษ์ เกี่ยวกับฟีนิกซ์ ไอเดียจากตำนานของนกฟีนิกซ์คือ ไม่มีวันตาย เหมือนผี พอไหม้เป็นเถ้าถ่าน ลงไปอยู่กับพื้น สักพักก็จะรวมร่างจากเถ้าถ่านขึ้นมาใหม่แล้วบินสู่ท้องฟ้า พอหมดพลังก็กลับมาอีก ฟีนิกซ์เลยสื่อได้ทั้งการเป็นวัฏจักรของธรรมชาติ วัฏจักรของความคิด วัฏจักรของคน”

ศิลปินให้ตัวสถาปัตยกรรมหรืออาคารเปรียบเสมือน “ยักษ์” เป็นร่างยักษ์ที่กำลังสลายไปตามกาลเวลา ส่วนผลงานของเขาคือการประกอบสร้าง “หัวใจ” ของร่างยักษ์ขึ้นมาใหม่ ด้วยการใช้เถ้าถ่านที่หลงเหลืออยู่ในตัวอาคาร มาก่อเป็นมวลแล้วปูเป็นพื้น เหมือนเป็นเวทีจัดแสดง แต่พื้นผิวเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานด้วย และรายล้อมด้วยข้อความเชิงปรัชญาเหมือน “บทสวด” ซึ่งปั้นนูนขึ้นจากพื้นอีกที

ศิลปินไทยที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติอย่างคุณกรกฤต ขยายความส่วนนี้ว่า “ถ้าเราตาย เราก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของผืนดินเหมือนกัน เหมือน ‘พื้น’ ที่มาจากส่วนหนึ่งของตึกที่ไหม้ไป เราใช้ตรงนี้ทำเป็นเวที ส่วนตัวอักษรเป็นบทหนัง”

บทสวด บทหนัง ตัวอักษร nostalgia for unity พื้นที่เว้นว่าง ที่ บางกอก คุนส์ฮาเลอ

ภายในห้องจัดแสดงยังมีการจัด “แสง” ให้แสงจากภายนอกถูกกรองผ่านกระจกสี รวมถึงการใส่หมอกควันเข้ามาในพื้นที่ทั้งหมด มี “มวล” และ “สี” ที่ชวนให้นึกถึงมลพิษในอากาศจากนิยายวิทยาศาสตร์ หรือแม้แต่ฝุ่นมลพิษที่เราเผชิญปัญหากันอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีการใส่ “เสียง” ที่แบ่งพื้นที่ทั้งหมดออกเป็นสามส่วนอย่างชัดเจน ได้แก่ ยมโลก สวรรค์ และโลกมนุษย์

“พื้นที่” ส่วนใหญ่ของงานศิลปะชิ้นนี้ จึงเป็น “พื้นที่เว้นว่าง” แต่ความยอดเยี่ยมคือองค์ประกอบต่าง ๆ สามารถทำงานของตนเองได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งพื้นผิวที่แตกระแหง หมอกควันที่อบอวลไปทั่ว เสียงที่กังวานกึกก้อง และแสงที่ลอดผ่านลงมา ล้วนเชิญชวนให้ผู้ชมดำดิ่งอยู่กับห้วงอารมณ์ที่แตกต่างหลากหลายอย่างเสรี เพราะสามารถสัมผัสได้ถึงมวลพลังงานที่ศิลปินจงใจใส่เข้ามาได้จริง ๆ

เราจึงไม่เพียงได้ชมผลงานด้วยตา แต่ประหนึ่งถูก “อาบ” ด้วยประสบการณ์สุนทรียศาสตร์ที่ฟุ้งไปทั่วห้องจัดแสดง และเรากลายเป็นส่วนหนึ่งของ “พื้นที่เว้นว่าง” นี้โดยไม่รู้ตัว

กล่าวได้ว่า “กรกฤต อรุณานนท์ชัย” ได้มอบหมายให้นักแสดงล่องหนทำงานร่วมกันและสร้างพลังงานความร้อนให้ “นกฟีนิกซ์” คืนชีพขึ้นมาจากเถ้าถ่าน ในผลงานชิ้นนี้ของเขา

“ผลงานชิ้นนี้ไม่ได้ต้องการเปิดพื้นที่ของความเป็นไปได้ แต่เป็นเรื่องของความเป็นไปไม่ได้ เราพยายามสร้างภาพหนึ่งขึ้นมาท่ามกลางความเป็นไปไม่ได้นี้ การเกิดใหม่ไม่ใช่วิถีที่ราบเรียบ แต่มันดังกึกก้องและแตกกระจาย”

คุณมาริษา ผู้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อนิทรรศการและการ “เกิดใหม่” ครั้งนี้ยังบอกด้วยว่า “ความพิเศษของนิทรรศการนี้คือ แต่ละคนที่ได้ชมผลงานจะได้รับประสบการณ์หรือความรู้สึกที่แตกต่างกัน แม้แต่คนคนเดียวกันก็อาจรู้สึกต่างกัน หากได้มาชมในช่วงเวลาต่างกัน นี่คือความ ‘creative’ จากศิลปินอย่างแท้จริง”

นิทรรศการ nostalgia for unity พื้นที่เว้นว่าง ที่ บางกอก คุนส์ฮาเลอ

นิทรรศการ “nostalgia for unity” เปิดให้เข้าชมฟรี (ไม่มีค่าใช้จ่าย) ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม – 31 ตุลาคม 2567 เวลา 14.00 – 20.00 น. (ปิดทุกวันจันทร์และวันอังคาร) ที่ บางกอก คุนส์ฮาเลอ 599 ถนนไมตรีจิตต์ แขวงป้อมปราบ กรุงเทพฯ ติดตามข่าวสารและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : BangkokKunsthalle และ Instagram : bangkok_kunsthalle