ชม “สุสานโปรเตสแตนต์” มองประวัติศาสตร์ พินิจคุณค่าการตอบแทนคุณแผ่นดิน กับ We are CP

เมื่ออดีตคือรากเหง้าสำคัญของปัจจุบัน We are CP จึงได้จัดกิจกรรมสำรวจประวัติศาสตร์แบบฉบับใหม่ ภายใต้ชื่องาน Untold Story#1 Protestant Cemetery เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2566  ชักชวนพนักงานบ. เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และบริษัทในเครือ ร่วมชมประติมากรรมยุโรป ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ณ สุสานโปรเตสแตนต์ หรือ “สุสานฝรั่ง” สถานพำนักแห่งสุดท้ายของผู้วายชนม์ โดยเฉพาะชาวยุโรป และผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ ที่มีอายุเก่าแก่ย้อนกลับไปในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 

Untold Story#1 Protestant Cemetery พาทุกคนไปสำรวจสุสานโปรเตสแตนต์ แลนด์มาร์คสำคัญอีกจุดหนึ่งของเขตบางคอแหลม ซึ่งสามารถพัฒนาต่อยอดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์อย่างยั่งยืนได้ โดยเฉพาะการปลูกจิตสำนึกเรื่องความกตัญญูและการตอบแทนคุณแผ่นดิน

โดย คุณธาดา เศวตศิลา ที่ปรึกษาประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะประธานมูลนิธิสุสานโปรเตสแตนต์ ได้ให้เกียรตินำชม และชวนเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ทำความรู้จักบุคคลสำคัญชาวตะวันตกผู้เข้ามาอยู่อาศัยบนผืนแผ่นดินไทย ก่อนจะสร้างคุณประโยชน์ไว้อย่างมากมายให้คนรุ่นหลัง หลายคนเป็นบุคคลมีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ และมีคุณูปการต่อชาติบ้านเมืองไม่น้อย แม้ประเทศไทยจะไม่ใช่บ้านเกิดเมืองนอนแต่เดิมของพวกเขาก็ตาม

นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจาก คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำคณะเข้าร่วมทริปด้วย เนื่องจากเป็น 1 ในกิจกรรม One Day Trip ย่ำเท้าเล่าเรื่อง ถิ่นเก่าเจริญกรุง ซึ่งคุณชัชชาติมีความเห็นถึงการพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน และอยากพัฒนาทางเดินริมน้ำในย่านดังกล่าวให้เชื่อมโยงถึงกัน ซึ่งสอดคล้องกับความตั้งใจของคุณธาดาที่ต้องการส่งเสริมให้สุสานฝรั่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวในย่านเจริญกรุง เพื่อช่วยปลูกฝังเรื่องการตอบแทนคุณแผ่นดินและความกตัญญู เป็นแหล่งเรียนรู้ของโรงเรียนใน กทม. สะท้อนคุณค่าประวัติศาสตร์ความกตัญญู และอยากให้คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสเข้ามาเยี่ยมชม

คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ขณะชม สุสานโปรเตสแตนต์ นำชม และ บรรยายโดย ศาสตราจารย์ ดร. ชำนาญ แสงฉาย ผู้เชี่ยวชาญ ด้าน ประวัติศาสตร์ หมอบรัดเลย์
คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ขณะชมสุสานโปรเตสแตนต์ นำชมและบรรยายโดย ศาสตราจารย์ ดร. ชำนาญ แสงฉาย ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์หมอบรัดเลย์

สุสานโปรเตสแตนต์ที่เต็มไปด้วยสงบและร่มรื่นแห่งนี้ ตั้งอยู่ถัดจากโรงงานยาสูบ 1 ซอยเจริญกรุง 72/5 ถนนเจริญกรุง เขตบางคอแหลม อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา บนพื้นที่ประมาณ 7 ไร่ ในอดีตฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาคือด้านหน้าสุสาน แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนมาเป็นด้านถนนเจริญกรุงตามสังคมเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2396 เพื่อใช้เป็นที่ฝังศพของชาวคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ในสยามขณะนั้น ภายในสุสานยังแบ่งเป็นสุสานของชาวยิวอีกประมาณ 2 ไร่

พูดคุยกับ “ธาดา เศวตศิลา” ประธานมูลนิธิสุสานโปรเตสแตนต์

คุณธาดา เศวตศิลา ที่ปรึกษาประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ นั้น นอกจากจะเป็นประธานมูลนิธิสุสานโปรเตสเแตนต์ เป็น “เหลน” ของเฮนรี อาลาบาศเตอร์ หนึ่งในร่างที่ทอดกายอยู่ใต้ชั้นดินสุสานแห่งนี้ คุณธาดายังเป็นพุทธศาสนิกชนเพียงคนเดียวในคณะกรรมการมูลนิธิสุสานโปรเตสแตนต์ เพราะที่เหลือคือชาวคริสต์โปรเตสแตนต์ทั้งหมด

คุณธาดาเล่าว่า สุสานโปรเตสแตนต์มีความเก่าแก่ เพราะสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 งานสถาปัตยกรรมและประติมากรรมต่าง ๆ ล้วนมีกลิ่นอายความเป็น “ฝรั่ง” หรือแบบตะวันตก ที่ดินบริเวณนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากรัชกาลที่ 4 ซึ่งพระราชทานที่ดินราว 7 ไร่ เพื่อเป็นสถานที่ฝังศพและประกอบพิธีทางศาสนาคริสต์ ในห้วงเวลาที่สยามเปิดประตูรับผู้คนและวิทยาการจากตะวันตก ซึ่งมีชาวตะวันตกหลายประเทศ เช่น โปรตุเกส อังกฤษ เข้ามามากมาย

คุณธาดากล่าวว่า “ถ้านับจากรัชสมัยรัชกาลที่ 4 มาจนปีนี้ก็ราว 170 ปีแล้ว… ตอนนั้นราชการไทย-คนไทย ไม่รู้พิธีเกี่ยวกับคริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ จึงให้สถานทูตอังกฤษดูแล สถานทูตอังกฤษก็ดูแลมาประมาณร้อยปี พอถึงจุดหนึ่งจึงบอกว่า น่าจะเป็นเรื่องของชุมชนทางนี้ดูแลต่อ” 

ขณะนี้ “สุสานโปรเตสแตนต์” มีผู้วายชนม์ฝังอยู่มากกว่า 1,500 หลุม ในอดีตดูแลด้วยระบบขายเช่าที่ดิน เป็นชุมชนของชาวต่างชาติดูแลร่วมกัน แต่เนื่องจากว่าพื้นที่เหลือน้อยลงทุกที จึงมีกรรมการคนหนึ่งเชิญชวนให้คุณธาดา ซึ่งเป็นเหลนของ “เฮนรี อาลาบาศเตอร์” มาเป็นกรรมการสุสาน เพื่อดูแลและบริหารจัดการให้ดียิ่งขึ้นในลักษณะของการเป็นมูลนิธิ มีการเก็บค่าเช่าบำรุง และการทำระบบบัญชีที่มีประสิทธิภาพ ตรวจสอบได้

“ผมรับผิดชอบดูแลมูลนิธิสุสานโปรเตสแตนต์มาเป็นปีที่ 7 แล้วครับ ภารกิจที่จะต้องทำคือ การดูแลเรื่องน้ำท่วม เพราะที่นี่อยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา และเขื่อนก็ทรุดโทรม ดังนั้นในปี 2559-2560 จึงได้ประสานไปยังสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ให้ช่วยเข้ามาดูแล ซึ่งสำนักการระบายน้ำได้มาช่วยสร้างเขื่อนใหม่ต่อท่อไป”

คุณธาดายังเล่าถึงเหตุการณ์ประทับใจที่ทำให้มุ่งมั่นดูแลสุสานโปรเตสแตนต์แห่งนี้อย่างดีที่สุดว่า เป็นเพราะได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเคยเสด็จมา ณ ที่แห่งนี้ เมื่อครั้งพระองค์ทรงเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า 

ท่านรับสั่งกับผมตอนงานพระราชทานเพลิงศพคุณพ่อผม (คุณสิทธิ เศวตศิลา) เมื่อปี 2558 ว่า ‘ช่วยดูแลหน่อย หลุมศพพวกนี้น่าสงสาร เพราะน้ำท่วมทุกปี’ ผมจึงนำกระแสพระราชดำรัสและคำแนะนำของพระองค์มาบูรณาการ เป็นชาวพุทธคนเดียวที่เป็นคณะกรรมการดูแลสุสานโปรเตสแตนต์ ที่เหลือเป็นโปรเตสแตนต์หมดเลยนะครับ ก็ได้รับความช่วยเหลือจากสภาคริสตจักรประเทศไทยมากพอสมควร” คุณธาดากล่าว

เรื่องการดูแลและพัฒนานั้น คุณธาดาให้ข้อมูลว่า หลังจากสุสานโปรเตสแตนต์ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานสังกัดกรุงเทพมหานครเป็นอย่างดีแล้ว ปัจจุบันได้เปิดให้มีการใช้พื้นที่สำหรับถ่ายทำภาพยนตร์และละคร จึงมีศักยภาพพอที่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ สำนักงานเขตบางคอแหลมก็เล็งเห็นว่า ที่นี่เหมาะที่จะทำเป็น One Day Trip ร่วมกับคณะของผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งทางคุณธาดามองว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี จึงตอบรับ

“ผมอยากจะเผยแพร่คอมมูนิตี้ตรงนี้ไปสู่กระแสของความนิยมชมชอบประวัติศาสตร์ไทย อยากจะให้เกิดคอนเทนต์ประวัติศาสตร์กับพื้นที่ตรงนี้ อยากให้คนรุ่นใหม่เข้ามาเยี่ยมชม มาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณค่าของการตอบแทนบุญคุณของคนต่างชาติ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่เกี่ยวข้องกับคนไทย”

ใครอยู่ใน “สุสานโปรเตสแตนต์” ?

จากการพูดคุยกับคุณธาดา เราได้รายชื่อคนสำคัญ ๆ ที่หลับใหลอยู่ ณ สุสานแห่งนี้หลายคนด้วยกัน แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นคือคุณทวดของคุณธาดาคือ เฮนรี อาลาบาศเตอร์ (Henry Alabaster) ต้นสกุล “เศวตศิลา”

มิสเตอร์เฮนรี อาลาบาศเตอร์ ทำหน้าที่รักษาการกงศุลใหญ่ประเทศอังกฤษประจำประเทศไทย ในช่วงเวลาที่สยามในสมัยรัชกาลที่ 4 ทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษ ทั้งเป็นสักขีพยานในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ เมื่อรัชกาลที่ 4 เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง ณ หาดหว้ากอ ประจวบคีรีขันธ์ ท่านยังเป็นราชเลขานุการด้านการต่างประเทศในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 อีกด้วย

หลุมศพ เฮนรี อาลาบาศเตอร์ ต้นสกุล เศวตศิลา คุณทวด ของ ธาดา เศวตศิลา
หลุมศพเฮนรี อาลาบาศเตอร์ ต้นสกุลเศวตศิลา คุณทวดของคุณธาดา เศวตศิลา
อนุสรณ์สถาน มิสเตอร์ เฮนรี อลาบาศเตอร์
อนุสรณ์สถาน มิสเตอร์ เฮนรี อลาบาศเตอร์

มิสเตอร์เฮนรี อาลาบาศเตอร์ ยังสร้างคุณประโยชน์อีกมากมาย มีส่วนสำคัญในการวางแนวถนนสายสำคัญสายแรก ๆ ของประเทศ ทั้ง ถนนเจริญกรุง ถนนบำรุงเมือง ถนนเฟื่องนคร ฯลฯ ที่สำคัญคือ ท่านเป็นผู้นำลอตเตอรี่เข้ามาในประเทศไทยเป็นคนแรก

คนต่อมาเชื่อว่าคนไทยน่าจะคุ้นชื่อของท่านอยู่แต่เดิมคือ “หมอบรัดเลย์” หรือ แดน บีช แบรดลีย์ (Dan Beach Bradley) นายแพทย์ชาวอเมริกันที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้ทำการ “ผ่าตัดใหญ่” ด้วยวิทยาการการแพทย์แบบตะวันตกครั้งแรกในสยาม และเป็นผู้ออกหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์ดเดอร์ หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของสยามนั่นเอง

อนุสรณ์ เหนือหลุมฝังศพ หมอบรัดเลย์
อนุสรณ์เหนือหลุมฝังศพหมอบรัดเลย์

คนต่อมาคือ ยอร์ช บี. แมคฟาร์แลนด์ (George B. McFarland) หรือ “หมอแมคฟาร์แลนด์” อีกหนึ่งบุคลากรทางการแพทย์คนสำคัญของไทย ท่านเป็นบุรุษผู้มีสมญานามว่าเป็น “อิฐก้อนแรกของโรงเรียนแพทย์” หรือ “อิฐก้อนแรกของศิริราช” ซึ่งภายหลังท่านได้รับยศเป็น อำมาตย์เอก พระอาจวิทยาคม

“แหม่มโคล” แห่งโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง หรือ เอ็ดนา ซารา โคล (Edna Sarah Cole) เป็นอีกท่านหนึ่งที่อยู่ที่นี่ ท่านเป็นครูฝรั่งผู้มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานให้แก่โรงเรียน “วัฒนาวิทยาลัย” หรือโรงเรียนมิชชันนารีหญิงแห่งแรกของสยาม

อนุสรณ์ เหนือหลุมฝังศพ “แหม่มโคล”
อนุสรณ์เหนือหลุมฝังศพ “แหม่มโคล”

อีกคนคือ “กัปตันบุช” หรือ จอห์น บุช (John Bush) บ้างรู้จักในนาม “พระยาวิสูตรสาครดิฐ” เป็นเจ้าของอู่ต่อเรือชาวอังกฤษผู้รับราชการในสยาม และกรมเจ้าท่าในสมัยรัชกาลที่ 5

นอกจาก 5 ท่านข้างต้นแล้ว เรายังพบหลุมศพบุคคลผู้มีชื่อเสียงท่านอื่น ๆ เช่น แซมมวล เจ. สมิธ (Samuel J. Smith) เจ้าของโรงพิมพ์หมอสมิธ จอร์จ ดูปองท์ (George Dupont) หรือ “ยอด” ชายชาวสยามคนเดียวที่ได้เข้าร่วมรบในสงครามกลางเมืองอเมริกา ผู้เข้าร่วมกับฝ่ายสหภาพ และเชื่อว่าคงมีอีกหลายท่านที่ฝากเกียรติประวัติไว้บนผืนแผ่นดินไทย หลับใหลอยู่ในสุสานแห่งนี้เช่นกัน

ในกิจกรรมที่เปี่ยมด้วยความรู้ประวัติศาสตร์เช่นนี้ ผู้ว่าฯ กทม. ได้กล่าวถึงความสำคัญของเขตบางคอแหลมในฐานะการเป็นศูนย์รวมทางวัฒนธรรม เพราะมีทั้ง วัด โบสถ์ มัสยิด รวมถึงการมีอยู่ของสุสานโปรเตสแตนต์ ที่ภาครัฐควรต้องให้ความสำคัญและบูรณาการร่วมกันอย่างยั่งยืน

ด้านคุณธาดาได้กล่าวทิ้งท้าย เชิญชวนให้ทุกคนมาเยี่ยมชมสุสานโปรเตสแตนต์ โดยแนะนำให้มาช่วงเย็นซึ่งบรรยากาศดี มีลมแม่น้ำพัดมาเป็นระยะ สร้างความผ่อนคลายสบายใจ ภายในสุสานมีเจ้าหน้าที่ดูแล สามารถติดต่อสอบถามได้ คุณธาดายังบอกด้วยว่า นอกจากสถาปัตยกรรมตะวันตกที่น่าชมภายในสุสานแล้ว หากผู้เข้าชมได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของบุคคลสำคัญที่อยู่ในสุสานแห่งนี้ ที่ล้วนมีส่วนพัฒนาชาติบ้านเมือง ก็จะทราบว่าพวกเขาล้วนเป็นคนต่างชาติที่รักแผ่นดินไทยทั้งสิ้น 

“Untold Story#1 Protestant Cemetery” ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมดี ๆ จาก We are CP และนับเป็นหมุดหมายสำคัญของการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และการอนุรักษ์มรดกความทรงจำของชุมชน ที่สามารถชูคุณค่าเรื่องความรักชาติ และต่อยอดไปสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับคนทุกกลุ่ม ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ได้อย่างยั่งยืน