ราคาข้าวตกต่ำ ชาวนาญี่ปุ่นหันมาปลูก “ข้าวบาเลย์” หลังเหล้าญี่ปุ่นมาแรงในตลาดโลก

(แฟ้มภาพ) ชาวนาญี่ปุ่นขณะดำนาในทุ่งนาแห่งหนึ่งในชิซึโอกะ (Shizuoka) ภาพถ่ายเมื่อ 23 พฤษภาคม 2007 (AFP)

จากรายงานของบลูมเบิร์ก เหล้าญี่ปุ่นกำลังเป็นที่นิยมในตลาดโลก แต่ผู้ผลิตยังคงต้องพึ่งพามอลต์จากต่างประเทศเป็นหลัก ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นผู้นำเข้ามอลต์มากเป็นอันดับ 2 ของโลก ชาวนาที่ประสบกับปัญหาราคาข้าวตกต่ำจึงหันมาปลูกข้าวบาเลย์แทน

ปัจจุบันการบริโภคข้าวภายในประเทศของญี่ปุ่นกำลังลดลงตามโครงสร้างประชากรที่หดัว ส่งผลต่อเนื่องถึงราคาข้าว ตรงกันข้ามกับตลาดเหล้าโลก ที่เหล้าญี่ปุ่นกำลังเป็นที่ต้องการหลังผู้ผลิตหลายรายสร้างชื่อในระดับนานาชาติมาอย่างต่อเนื่องหลายปี จนทำให้เหล้าญี่ปุ่นมีราคาแพงมากที่สุดในโลก และกำไรจากโรงกลั่นเริ่มกระจายไปยังเกษตรกรที่หันมาปลูกข้าวบาเลย์สนองความต้องการของตลาด

Advertisement

“ผมไม่เคยคิดว่าวิสกีญี่ปุ่นจะเป็นที่นิยมขนาดนี้ในต่างประเทศ” อิจิโร อะคุโตะ (Ichiro Akuto) วัย 50 ปี เจ้าของเหล้าซิงเกิลมอลต์ที่ขายในราคาขวดละ 1 แสนเยน (ราว 3.2 หมื่นบาท) กล่าว “เวนเจอร์วิสกี จำกัด” (Venture Whiskey Ltd.) โรงกลั่นของเขาในชิชิบุ (Chichibu) จังหวัดไซตามะ ได้ร่วมมือกับชาวนาท้องถิ่นในการสร้างห่วงโซ่อุปทานให้กับโรงผลิตมอลต์ (มอลต์คือเมล็ดพันธุ์ที่เริ่มแตกหน่อแต่ถูกทำให้หยุดการเจริญเติบโตด้วยการทำอบแห้ง) ที่เขาสร้างขึ้นในปี 2013

“ผมอยากผลิตวิสกีด้วยกลิ่นไอของชิชิบุ ซึ่งผมเชื่อว่ามันจะได้รับการชื่นชมจากทั่วโลก” ผู้ผลิตวิสกีที่ได้รับรางวัลทุกปีตั้งแต่ปี 2007 ถึง 2012 กล่าว

ในปี 2015 “วิสกีไบเบิล” ของจิม เมอร์เรย์ นักวิจารณ์วิสกีชื่อดังชาวอังกฤษได้ยกให้ ยามาซากิ เชอร์รี คาส์ก 2013 (Yamazaki Sherry Cask 2013) วิสกีซิงเกิลมอลต์ของซันโตรี เป็นวิสกีแห่งปีของโลก ขณะที่ นิกกา ทาเคะซึรุ 17 ปี (Nikka Takesturu 17 Years) ของอาซาฮี ได้รับรางวัลเหล้ามอลต์ผสมที่ดีที่สุดในโลก จากงานประกาศรางวัลเวิลด์วิสกีอวอร์ด ปีเดียวกัน สร้างชื่อเสียงและเสริมความนิยมให้กับเหล้าญี่ปุ่นจนทำให้เกิดภาวะขาดตลาด พร้อมกับราคาที่ถีบตัวสูงขึ้น

“ผมเป็นคนที่มีความสุขที่สุดในโลกเลย เพราะวิสกีของผมไม่เพียงแต่สร้างความสุขสมให้ผู้คน มันยังสร้างอุตสาหกรรมใหม่ขึ้นที่นี่ ทำให้ไร่นามีความสดใสขึ้นอีกครั้ง” อะคุโตะกล่าว