ตะลุย “พิพิธภัณฑ์ครุฑ” แหล่งศึกษาครุฑแห่งแรกและแห่งเดียวในอาเซียน

พิพิธภัณฑ์ครุฑ รอบข้าง มีสวน พญาครุฑ อาคาร
พิพิธภัณฑ์ครุฑ โดยทีเอ็มบีธนชาต

“ทราบหรือไม่ว่าแม้แต่ตอนเกิดองค์ครุฑก็บินมาส่งเราด้วย ดังที่เห็นได้จากใบสูติบัตรของเรา พอโตขึ้นมาหน่อยอยากมีสิ่งต่าง ๆ มีข้าวของเครื่องใช้ องค์ครุฑก็ต้องประทานมาให้ ในธนบัตร หรือเหรียญ พอโตขึ้นมาหน่อย อยากมีสามี ภรรยา ครอบครัว ครุฑก็มาเป็นสักขีพยาน แม้กระทั่งวาระสุดท้ายที่เราจากโลกนี้ไป ครุฑก็ต้องบินไปส่ง ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าครุฑอยู่ในชีวิตประจำวันของเราอย่างเลี่ยงไม่ได้…” เป็นมุมมองของ ส.อ. อุตมะ ปภาภูธนะนันต์ ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์ครุฑ โดยธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb) ขณะพาชม “พิพิธภัณฑ์ครุฑ”

“ศิลปวัฒนธรรมออนไลน์” มีโอกาสเยี่ยมชม “พิพิธภัณฑ์ครุฑ” แหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับครุฑแห่งแรกและแห่งเดียวของอาเซียน โดยธนาคารทหารไทยธนชาต ที่เปิดมานานกว่า 10 ปี ที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัด สมุทรปราการ ด้านในของพิพิธภัณฑ์เต็มไปด้วยความสวยงาม บรรยากาศชวนหวนเข้าไปสู่โลกวรรณกรรม ป่าหิมพานต์และอีกมากมาย ซึ่งทำให้เรารู้จัก “ครุฑ” มากกว่าเดิม

พิพิธภัณฑ์ครุฑ กำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2554 จากการก่อตั้งของ ธนาคารธนชาต ที่ควบรวมกิจการกับ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ทั้งสองธนาคารได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของ “ครุฑ” เนื่องจากมองว่าครุฑมีคุณค่าและความสำคัญต่อประเทศชาติ รวมถึงธนาคารนครหลวงไทยได้รับพระราชทานเครื่องหมายครุฑพ่าห์ หรือตราครุฑพระราชทาน จึงอัญเชิญเครื่องหมายดังกล่าวมาจัดแสดงให้คนไทยได้รู้จักครุฑมากยิ่งขึ้น

โถงต้อนรับ พิพิธภัณฑ์ครุฑ
โซนที่ 1 โถงต้อนรับ

เพียงเดินเข้าไปในตัวอาคารก็จะพบรูปภาพบนผนัง ป่าหิมพานต์ที่ใครหลายคนเคยได้ยินชื่อ รวมทั้งรูปปั้นพญาครุฑน้อยใหญ่ ซึ่ง ส.อ. อุตมะ บอกว่า พื้นที่นี้คือ โซนแรก หรือ โถงต้อนรับ และอธิบายคร่าว ๆ ว่า

“รอบข้างของเราคือป่าหิมพานต์…ซึ่งไฮไลต์ของโถงต้อนรับนี้คือ ‘ภาพวิจิตรหิมพานต์’ ซึ่งเป็นงานจิตรกรรมที่แสดงให้เห็นถึงจักรวาลวิทยาในเตภูมิกถา หรือไตรภูมิพระร่วง เชื่อกันว่าจุดศูนย์กลางโลกคือเขาพระสุเมรุ และมีความเชื่อเรื่องป่าหิมพานต์ และมหานทีสีทันดร…

สิ่งสำคัญในภาพนี้คือ ‘ครุฑ’ ซึ่งปรากฏอยู่ 2 องค์ สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างของศาสนา เพราะทางศาสนาพราหมณ์จะมีองค์ครุฑได้เพียงองค์เดียว แต่ถ้าพุทธจะมีได้หลากหลายองค์ แยกตามลักษณะ โดยองค์ครุฑจะจุติที่วิมานฉิมพลี หรือต้นงิ้ว”

เมื่อเล่าแล้ว ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์ได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมได้ดื่มด่ำกับภาพอันวิจิตรอย่างจุใจ ทั้งยังแนะนำกิจกรรมร่วมสนุก นั่นคือผู้เข้าชมสามารถใช้สมาร์ทโฟนสแกนผ่านเทคโนโลยีเสมือนจริง หรือ “AR” ซึ่งจะพาเราเข้าไปยังป่าหิมพานต์ได้ด้วยตัวเอง

สระน้ำอโนดาต ป่าหิมพานต์ ต้นไม้ ก้อนหิน สัตว์
โซนที่ 2 ครุฑพิมาน

จากนั้นพากันโยกย้ายไปชั้นที่ 2 หรือโซน “ครุฑพิมาน” รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับการกำเนิดโลก และจักรวาล ไม่ว่าจะเป็น สระอโนดาต สระที่ไม่ได้รับแสงแดดให้เกิดความร้อน รวมถึงเป็น 1 ใน 7 สระในป่าหิมพานต์ ที่มีเขารายล้อมอยู่ 5 เขา ได้แก่ ยอดเขาสุทัสสนะ ยอดเขาจิตตะ ยอดเขากาฬะ ยอดเขาคันธมาทน์ และยอดเขาไกรลาส ไหนจะรูปปั้นสัตว์มงคลประจำสระดังกล่าว 4 ทิศ ที่ประดับประดาไว้รอบ ๆ ปากสระ ได้แก่ โค ม้า ช้าง ราชสีห์ รวมถึงสัตว์ป่าหิมพานต์มากมายที่อาศัยในดินแดนหิมพานต์ และจำลองต้นมักกะลีผลให้เราได้รับชมอีกด้วย 

พญานาค ใน เมือง บาดาล พญาครุฑ ใน พิพิธภัณฑ์ครุฑ
โซนที่ 3 นครนาคราช

โซนต่อมา “นครนาคราช” นำเสนอเรื่องราวความเชื่อระหว่างนาคกับครุฑ ซึ่งใครที่ชื่นชอบเรื่องราวเกี่ยวกับสัตว์ทั้งสองชนิดที่มีตำนานกล่าวขานมานานต้องไม่พลาดเด็ดขาด โดยเฉพาะเรื่อง “ครุฑยุดนาค” ซึ่งหลายคนน่าจะพอทราบ ดังที่ผู้นำชมเล่าให้ฟังว่า 

“ครุฑกับนาคเดิมทีนั้นเป็นพี่น้องกัน ครุฑเป็นลูกนางวินตา ส่วนพญานาคเป็นลูกนางกัทรุ แต่เนื่องจากนางวินตาริษยานางกัทรุ จึงขอพรต่อพระกัศยปให้ลูกของตนเองสามารถกินนาคได้ และได้รับพรดั่งหวัง ต่อมานาคจึงเป็นอาหารของครุฑ

ทว่าวันหนึ่ง นาคกลับคิดกลอุบายเพื่อหาทางไม่ให้ครุฑโฉบลงมากินพวกเขา จึงกินก้อนหินไว้ให้ตัวหนัก ครุฑจึงไม่สามารถนำนาคมาเป็นอาหารได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ครุฑจึงได้ประชุมคิดหาทางแก้ แล้วก็ได้บทสรุปว่าควรไปล้วงความลับจากอาจารย์ที่เหล่านาคให้ความเคารพ เซ้าซี้กันอยู่พักใหญ่ท้ายที่สุดก็ได้คำตอบ เนื่องจากอาจารย์ไปล่อลวงถามนาคองค์หนึ่งให้เฉลยความลับ ทำให้ครุฑจับนาคกินได้สำเร็จดังเดิม

เรื่องราวดังกล่าวยังมีต่อ แต่หลายคนน่าจะไม่ทราบมาก่อน โดยผู้จัดการพิพิธภัณฑ์ได้เล่าต่อว่า

“หลังจากครุฑจับนาคได้สำเร็จ นาคราชองค์นั้นเกิดอุทานด้วยความตกใจเป็นอรรถกถาว่า เราไม่น่าบอกสิ่งที่ไม่ควรบอกกับบุคคลที่ไม่ควรบอกเลย ภัยที่เกิดจากมิตร ย่อมร้ายกว่าภัยที่เกิดจากศัตรู เมื่อองค์พญาครุฑได้ทราบดังกล่าวจึงได้อุทานว่า ถ้าอย่างนั้น เท่ากับเราเป็นคนมีกลอุบาย งั้นเรากินท่านไม่ได้ เช่นนั้นเจ้าจงมาเป็นลูกของเราเถิด ลูกมี 3 ลักษณะ คือ ลูกบุญธรรม, ลูกในท้อง, ลูกศิษย์ ท่านมาเป็นลูกศิษย์เราเถิด แล้วเราจะดูแลปกปักคุ้มครองรักษาท่าน นับแต่นั้นเป็นต้นมาที่ครุฑกับนาคได้กล่าวอรรถกถาเคารพธรรมซึ่งกันและกัน เรื่องราวก็ได้ยุติลง”

พิพิธภัณฑ์ครุฑ
โซนที่ 4 อมตะจ้าวเวหา

โซนที่ 4 หรือ “อมตะจ้าวเวหา” เป็นสถานที่ที่แตกต่างจาก 3 โซน เพราะภายในห้องคล้ายกับโรงหนังย่อม ๆ ที่ตกแต่งด้วยครุฑจากทุกแห่งหนถึง 24 องค์ รวมถึงเรื่องราวของครุฑที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์และชีวิตของคนไทย 

“องค์ครุฑมีความสำคัญต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์อย่างมาก อย่าง ศาสนา เห็นได้จากวัดวาอารามต่าง ๆ งานสถาปัตยกรรม ส่วนสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามคติเทวราชาเชื่อว่าครุฑนั้นเป็นเหมือนพาหนะของพระนารายณ์ ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์สมมติเทพของพระนารายณ์ อวตารลงมาปราบทุกข์เข็ญในโลกมนุษย์…ยิ่งไปกว่านั้น ครุฑยังปรากฏเป็นส่วนหนึ่งในพระราชสัญลักษณ์ของรัชกาลที่ 2 และเป็นตราแผ่นดินไทย” อุตมะกล่าว

พิพิธภัณฑ์ครุฑ
โซนที่ 5 ล้นเกล้าจอมราชัน

ก่อนจะเดินเพียงไม่กี่ก้าวมายังส่วนที่ 5 “ล้นเกล้าจอมราชัน” บอกเล่าพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรไว้มากมาย ไม่ว่าจะเศรษฐกิจพอเพียง ฝนหลวง ฯลฯ ซึ่งยังประโยชน์แก่ปวงชนชาวไทย 

ห้องจัดแสดง ครุฑ ใน พิพิธภัณฑ์ครุฑ
โซนที่ 6 ห้องจัดแสดงครุฑ

อีกหนึ่งไฮไลต์ของพิพิธภัณฑ์ครุฑ ที่ใครแวะมาเยี่ยมเยียนไม่ควรพลาดคือ “ห้องจัดแสดงครุฑ” เพราะปกติแล้วเรามักจะเห็นองค์ครุฑตั้งตระง่านที่ตึกสูง แต่ที่นี่กลับนำมาไว้ให้เราได้เห็นใกล้ ๆ ความพิเศษของครุฑในห้องจัดแสดงนี้ก็มีมากมาย เช่น ครุฑ จาก ttb สาขาราชดำเนิน ซึ่งเป็นสาขาแรกที่มีการนำครุฑประดิษฐานไว้ที่ตึกของธนาคาร, ครุฑ จาก ttb สาขาเยาวราช ที่แตกต่างจากครุฑองค์อื่น ๆ เพราะกายกำยำไปด้วยมัดกล้ามเนื้อ และเอวคอดกิ่ว เนื่องจากแสดงให้เห็นถึงความยากลำบากของกุลีในเยาวราช ขณะเดียวกันก็มีเหนียง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ 

ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์ให้ความรู้เสริมอีกว่า แต่เดิมครุฑเป็นการแกะสลักจากไม้ทั้งหมด แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป การแกะสลักด้วยไม้นั้นยากขึ้นกว่าเดิม ด้วยช่างเองที่ค่อย ๆ ลดลงอย่างน่าใจหาย และครุฑที่แกะสลักจากไม้ชำรุดได้ง่าย ต่อมาจึงนิยมทำจากไฟเบอร์กลาส หรือพลาสติกชนิดหนึ่ง ดังนั้นจึงเป็นการดีที่ธนาคารทหารไทยธนชาติได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ดี ๆ แห่งนี้ขึ้นมาด้วย

ชมความงดงามของ “พิพิธภัณฑ์ครุฑ” โดยธนาคารทหารไทยธนชาต ได้ที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู ซอย A9 จังหวัด สมุทรปราการ เปิดบริการทุกวันศุกร์และเสาร์ วันละ 3 รอบ คือ 10.00 น., 13.00 น. และ 15.00 น. เข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 09 8882 3900

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 เมษายน 2566