ผู้เขียน | อัศวัตถามา |
---|---|
เผยแพร่ |
ชื่อของ มิเชล เดอ นอสเทอร์ดาม หรือชื่อคุ้นหูอย่าง “นอสตราดามุส” (Nostradamus) คงวนเวียนอยู่ตามหน้าสื่อมาพักใหญ่แล้วตั้งแต่ปลายปี 2565 จนเริ่มปี 2566 ในฐานะโหราพยากรณ์ชื่อดังแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 16 ฝากชื่อเสียงไว้จากคำทำนายเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมายผ่านโคลงประพันธ์ของเขา หลายส่วนถูกนำมาตีความถอดความหมายเชื่อมโยงเรื่องราวและเกิดความแม่นยำอย่างน่าประหลาดใจ บางส่วนถูกจับและผิดตีแผ่ความจริงที่เชื่อได้ว่าถูกปรุงแต่งจากเหล่าสาวกของเขาเอง
ถึงอย่างนั้น ด้วยชื่อเสียงที่ขจรไกลของนอสตราดามุสกับธรรมชาติของมนุษย์ที่มัก (เลือก) เชื่อในศาสตร์เหนือธรรมชาติ ตลอดจนวิตกกังวลต่อสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ในปี 2023 หรือพุทธศักราช 2566 นี้ก็เป็นอีกครั้งที่คำพยากรณ์ของเขาแพร่กระจายสู่สาธารณชน โดยเหล่าสาวกนักถอดคำและตีความโคลงประพันธ์ที่แฝงเร้นความหมายของนอสตราดามุส
มาดูกันว่าสำหรับปี 2023 โหราพยากรณ์ชาวฝรั่งเศสผู้นี้ทำนายทายทักไว้อย่างไรบ้าง มีผู้ตีความสรุปเนื้อหาเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นไว้ ดังนี้
“สงครามครั้งใหญ่ยาวนาน 7 เดือน ผู้คนล้มตายเพราะความชั่วร้าย”
“การขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง ข้าวสาลีจะราคาพุ่งสูงขึ้น จนมนุษย์ต้องกินกันเอง”
“40 ปี จะไม่มีรุ้งกินน้ำ 40 ปี จะเห็นรุ้งกินน้ำทุกวัน แผ่นดินที่แห้งแล้งจะยิ่งแห้งแล้ง และเกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อเกิดรุ้งกินน้ำ”
“ไม่ช้าก็เร็ว จะเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้น ความสยดสยอง และการล้างแค้นที่น่าหวาดกลัว”
“แสงสว่างแห่งดาวอังคารจะดับลง”
หากวิเคราะห์และเชื่อมโยงคำพยากรณ์เหล่านี้กับสถานการณ์โลกปัจจุบัน “สงครามใหญ่” น่าจะหมายถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยืดเยื้อมานานเกือบขวบปีและยังไม่มีวี่แววจะยุติ การกล่าวถึงปัญหาความแร้นแค้น การขาดแคลนอาหาร ภัยธรรมชาติ รวมถึง “การล้างแค้น” ที่วิเคราะห์ได้ว่าเป็นผลจากสถานการณ์อันบีบคั้นต่าง ๆ ที่ดำเนินอยู่ นั่นคือการลุกฮือของมวลชนเพื่อปลดปล่อยตนเองจากความยากลำบากและต่อต้านผู้กดขี่
ส่วน “แสงแห่งดาวอังคาร” น่าจะเชื่อมโยงได้กับการลงทุนในโครงการ Space X ของอีลอน มัสก์ นักธุรกิจระดับโลก ผู้ต้องการพาเหล่าอภิมหาเศรษฐีทั่วโลกไปท่องอวกาศโดยมีจุดหมายปลายทางที่ดาวอังคารภายในปี 2026 หรือคำทำนายนี้กำลังบอกใบ้ว่าเขาจะไม่บรรลุเป้าหมายนั้น?
อย่างไรก็ตามจะเห็นว่าข้อความเหล่านี้ล้วนเป็นการกล่าวภาพกว้าง ๆ ไม่ชี้เฉพาะเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง หรือระบุอย่างตรงไปตรงมาว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร และอย่าลืมว่ามันเกิดจากการตีความบทประพันธ์ในโคลงปฏิทินพยากรณ์ของนอสตราดามุสอีกที นั่นหมายความว่าต้นฉบับอาจมีความคลุมเครือกว่านี้ และเมื่อเพ่งพินิจถึงเนื้อความอีกครั้ง ปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องที่โลกเราเผชิญมาตลอดทุกยุคทุกสมัย ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด
เรากำลังโดนนักถอดคำพยากรณ์ปั่นหัวกันอยู่หรือเปล่า?
กรณีตัวอย่างการ “บิด” คำพยากรณ์ของนอสตราดามุสที่โด่งดังที่สุด ถูกการวิเคราะห์และตีแผ่เมื่อนานมาแล้ว คือการพยากรณ์ถึง “ฮิตเลอร์” อย่างแม่นยำน่าเหลือเชื่อ แถมยังชัดเจนถึงขั้นเอ่ยนามของจอมเผด็จการแห่งนาซีเยอรมันตรง ๆ ไว้ในคำทำนาย ทั้งที่พวกเขาทั้งคู่มีช่วงชีวิตห่างกันหลายร้อยปี เรื่องนี้เป็นไปได้จริงหรือ?
คำทำนายของนอสตราดามุส (ภาษาฝรั่งเศส) ที่มีผู้อ้างว่า นี่คือคำพยากรณ์ถึงฮิตเลอร์ คือ
“Bestes farouches de faim fleuves tranner
Plus part du champ encore Hister sera
En caige de fer le grand sera traisner
Quand rien enfant de Germain observa”
คำแปลโดยผู้ศรัทธานอสตราดามุส เรียกว่าคำแปล “ฉบับซีแธม” ดังนี้
สัตว์ร้ายกระหายหิวลิ่วข้ามแม่น้ำหลายสาย
สมรภูมิใหญ่ยิ่งกว่าอยู่ตรงข้าม ‘ฮิตเลอร์’
เขาทำให้ผู้ยิ่งใหญ่ถูกลากเข้ากรงเหล็ก
ขณะที่บุตรแห่ง ‘เยอรมัน’ ไม่ยอมรับกฎใด ๆ
โคลงภาษาฝรั่งเศสต้นฉบับข้างต้นคือคำพยากรณ์ของนอสตราดามุสที่มีชื่อเสียงมาก ผู้ยกย่องนอสตราดามุสมักใช้สรรเสริญเยินยอความแม่นยำของโหราพยากรณ์ผู้ยิ่งใหญ่ ที่สามารถทำนายอุบัติการณ์ของจอมเผด็จการอย่างถูกต้องแม่นยำ แต่เมื่อดูคำแปลอีกเวอร์ชัน คือ “ฉบับแรนดิ” กลับไม่พบคำว่า “ฮิตเลอร์” เลย ดังนี้
สัตว์ร้ายคลั่งเพราะความหิวว่ายข้ามแม่น้ำหลายสาย
กองทัพส่วนใหญ่จะต่อต้านดานูปตอนล่าง
ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งจะถูกลากเข้ากรงเหล็ก
ขณะที่น้องคนเล็กจะไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ใด ๆ
โคลงทำนายจากต้นฉบับบทเดียวกัน แต่ฉบับหนึ่งพูดถึงฮิตเลอร์อย่างโจ่งแจ้ง ขณะที่อีกฉบับไม่มีคำไหนใกล้เคียงเลย เกิดอะไรขึ้นกันแน่?
หากย้อนดูต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสอีกครั้งจะพบคำว่า Hister ซึ่งเชื่อได้ว่าเป็นคำที่ผู้แปลถอดความหมายว่าเป็น ฮิตเลอร์ แม้จะผิดเพี้ยนจากคำสะกดที่ถูกต้องอย่าง “Hitler” แต่ถ้าเชื่อตามซีแธมก็ถือว่าใกล้เคียงอย่างยิ่ง เรื่องนี้ สรจักร ศิริบริรักษ์ เคยวิพากษ์ไว้ในหนังสือ “จับโกหก นอสตราดามุส” (มติชน, 2541) ดังนี้ [จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]
ถ้าเราสังเกตต้นฉบับทีละบรรทัด คำว่าฮิตเลอร์มาจากไหน ซีแธมบอกว่า ฮิตเลอร์มาจากคำว่า ฮิสเตอร์ (Histar ออกเสียงแบบอังกฤษ) ซึ่งนอสตราดามุสเขียนผิดหรืออาจจะแกล้งเขียนผิด เป็นไปตามลักษณะวิธีการเขียนของนอสตราดามุส ซึ่งบรรดาผู้ที่เลื่อมใสและศรัทธานอสตราดามุสทั้งหลายมักจะพูดว่า “เขาแกล้งเขียนผิด” หรือจงใจ หรือเขาเอาจะมองเห็นอนาคตช่วงนี้ไม่ชัดเพียงพอ จึงทำให้เขาสะกดผิด
แต่ว่าในโคลงบทนี้เขาสะกดคำว่าฮิตเลอร์ผิดจริงหรือ? ดูคำแปลสองฉบับเปรียบเทียบกัน จะเห็นว่า
Hister แปลโดยซีแธม = ฮิตเลอร์
Hister แปลโดยแรนดิ = ดานูบตอนล่าง
Germain แปลโดยซีแธม = เยอรมัน
Germain แปลโดยแรนดิ = น้องคนเล็ก
คำว่า Hister คืออะไร? มาจากการสะกดชื่อฮิตเลอร์ผิดจริงหรือ? นักภาษาศาสตร์หลายท่านยืนยันว่าคำว่า “ฮิสเตอร์” นี้เป็นภาษาเก่าซึ่งชาวฝรั่งเศสใช้เรียกดินแดนดานูบตอนล่าง
คำว่า Hister ปรากฏกระจายอยู่ 3 แห่ง เซ็นจูรีส์ 940 บท (โคลงปฏิทินพยากรณ์ของนอสตราดามุส – ผู้เขียน) และถ้าเอาความหมายดานูบตอนล่างมาใช้ จะเห็นว่าเนื้อหาสอดคล้องกลมกลืนดี แต่ถ้าแปลฮิสเตอร์ว่าฮิตเลอร์ (โดยตั้งสมมติฐานเองว่านอสตราดามุสเป็นอนาคตไม่ชัด) ไวยากรณ์ การใช้ภาษา และความหมายจะผิดพลาดในโคลงอีกสองบท
และมีความจริงอยู่อย่างหนึ่งคือว่า นอสตราดามุสเขียนไปเรื่อย ๆ โดยไม่เคยระบุว่าโคลงใดทายเรื่องใด ลักษณะคำทำนายคล้ายใบเซียมซี คือพูดกว้าง ๆ คลุมเครือ ไม่ชัดเจน ไม่ได้บอกเวลา สถานที่เกิด
แต่หลังจากที่เขาตายไป คนก็เอาบทโคลงเหล่านี้มาจับเข้ากับเหตุการณ์ต่าง ๆ พยายามหาคำที่คล้ายคลึงกัน มีการตัดตัวอักษรทิ้งบ้าง เติมตัวอักษรเพิ่มบ้าง เอาสัญลักษณต่าง ๆ มาใช้ประกอบอ้างอิง…
จนเละไปหมด
ส่วนในบรรทัดสุดท้ายจะมีอีกคำหนึ่งคือคำว่า Germain ซึ่ง de Germain เป็นศัพท์โบราณ ใช้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 ถึงศตวรรษที่ 16 แปลว่าญาติพี่น้อง น้อง หรือญาติใกล้ชิด ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีความหมายอะไรอื่นอีกเลย และคำ Germain นี้ฝรั่งเศสเพิ่มนำมาใช้แทนประเทศเยอรมนีเมื่อหลังสงครามโลกนี้เอง เพราะฉะนั้น การที่จะทึกทักเอาว่า de Germain คือประเทศเยอรมนีก็นับว่าเหลวไหลเต็มที ผู้แปลไม่ได้มีความรู้ด้านภาษาศาสตร์ฝรั่งเศสโบราณเสียเลย
แต่พอดีในโคลงบทนี้มีคำว่า Hister และคำว่า Germain อยู่ด้วยกัน ทำให้หลาย ๆ คนรีบแปลว่าฮิตเลอร์และเยอรมันทันที คนที่แปลส่วนใหญ่ก็เป็นคนอังกฤษหรืออเมริกันที่ทำมาหากินโดยเขียนหนังสือขาย
เพราะฉะนั้น ถ้าแปลอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่พยายามที่จะมีใจเอนเอียงเพื่อให้เข้ากับประวัติศาสตร์ใด ๆ แล้ว ก็จะต้องแปลดังฉบับที่แรนดิแปลไว้ครับ
นอกจากในโคลงฉบับนี้แล้ว คำว่าฮิตเตอร์ยังปรากฏอยู่ในโคลงบทอื่น จะเห็นว่ามีที่มาที่ไปและการใช้ประโยชน์ใส่ความหมายว่าดานูบตอนล่างจริง ๆ เช่น ในโคลงบทที่ 4 โคลงที่ 68 ซึ่งมีคำว่า “ฮิสเตอร์” ปรากฏอยู่ในบรรทัดที่ 3 (De yn & Hister)
ถ้าแปลตรงตัวว่า “จากแม่น้ำไรน์และที่ราบลุ่มตอนล่างของดานูป” ก็เข้ากันดี ไม่มีความจำเป็นต้องไปนึกว่าเป็นชื่อฮิตเลอร์ที่เขียนผิด
…ทั้งหมดล้วนแต่เป็นสิ่งที่เกิดจากการพยายามตีความเพื่อให้เข้ากับประวัติศาสตร์โดยการแผลงคำเปลี่ยนคำ เท่านั้นเอง…
อ้างอิง :
มติชนออนไลน์ (วันที่ 2 มกราคม 2566) : เปิดคำทำนาย ‘นอสตราดามุส’ ปี 2023 เกิดมหาสงคราม-ข้าวยากหมากแพง-ปชช.ลุกฮือ-อากาศวิกฤต. (ออนไลน์)
สรจักร ศิริบริรักษ์. (2541). จับโกหกนอสตราดามุส. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ : มติชน
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 มกราคม 2566