บางปู ที่ท่องเที่ยวใกล้กทม. ที่พจมาน-บ้านทรายทองไปเต้นรำ

สะพานสุขตา บางปู
สะพานสุขตา บางปู (ภาพจาก ห้องสมุดภาพมติชน)

บางปู คือ ที่ท่องเที่ยวยอดฮิตใกล้กรุงเทพฯ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-เมษายน ของทุกปี เพื่อไปดูนกนางนวล เพราะจะมีนกนางนวลนับหมื่นตัวอพยพลงชั่วคราวมาปักหลักที่นี้ให้ชมที่บางปู

บางปู หรือชื่อทางการว่า สถานตากอากาศบางปู ตั้งอยู่ตำบลบางปู อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ริมถนนสุขุมวิทกิโลเมตรที่ 37 มีเนื้อที่ 639 ไร่ เกิดขึ้นจากความคิดริเริ่มของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ที่ต้องการสร้างเป็นสถานที่พักผ่อนสำหรับประชาชนทั่วไป โดยเลือกพื้นที่บางปูเนื่องจากเป็นพื้นที่ติดชายทะเล และระยะทางไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร

พ.ศ. 2480 จึงให้กระทรวงมหาดไทยติดต่อซื้อที่ดินในบริเวณดังกล่าว และดำเนินการก่อสร้าง โดยใช้งบประมาณจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

พ.ศ. 2482 ดำเนินการสร้างสะพานสุขตา และแล้วเสร็จเปิดให้บริการแก่ประชาชน และเรียกชื่อว่า “สถานตากอากาศชายทะเลบางปู”

พ.ศ. 2484นวันที่ 8 ธันวาคม กองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกที่บริเวณสะพานสุขตา สถานตาอากาศ บางปู เพื่อใช้เป็นเส้นทางผ่านไปสู้รบกับฝ่ายสัมพันธมิตร พร้อมๆ กับยกพลขึ้นบกที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สงขลา และปัตตานี “บางปู” จึงต้องหยุดดำเนินการในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

พ.ศ. 2490 กิจการของสถานตากอากาศบางปูได้อยู่ในความดูแลของกองทัพบก และได้เปิดให้บริการขายอาหารและเครื่องดื่ม จัดแสดงดนตรีและลีลาศรวมทั้งมีที่พักบริการ

พ.ศ. 2491 วันที่ 4 พฤษภาคม บางปูเปิดให้บริการอีกครั้ง หลังจากที่ต้องหยุดลงเพราะเกิดสงครามโลก และได้โอนให้กรมพลาธิการ

พ.ศ. 2493 บางปูในฐานะสถานที่เต้นลีลาศของไฮโซไทยน่าจะเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ฉากหนึ่งในนิยายเรื่อง “บ้านทรายทอง” ของ ก.สุรางคนางค์ (กัณหา เคียงศิริ) ตีพิมพ์ครั้งแรกในปิยมิตร-นิตยสารรายปักษ์ พ.ศ. 2493 จึงกล่าวถึงพจมาน สว่างวงค์ นางเอกของเรื่องและบรรดาสาวสังคมมีชื่อเสียงมายังสถานตากอากาศบางปูเป็นประจำ

พ.ศ. 2501 กรมพลาธิการทหารบก เป็นผู้รับผิดชอบ เปิดบริการขายอาหารและเครื่องดื่ม ที่บริเวณปลายสะพานสุขตา มีร้านศาลาสุขใจ ในเวลา 06.00-20.00 น. และจัดให้มีดนตรีลีลาศวันอาทิตย์ตั้งแต่ 12.00-18.00 น. และให้บริการบ้านพักแก่ข้าราชการและบุคคลทั่วไป

พ.ศ. 2505 กองทัพบกได้จัดตั้งสถานตากอากาศบางปูให้เป็นสถานพักฟื้นและสถานตากอากาศ สำหรับทหารที่บาดเจ็บจากการสู้รบ

พ.ศ. 2512 ได้ดำเนินกิจการสถานพักฟื้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยจัดให้มีการรักษาพยาบาล และฟื้นฟูสภาพร่างกาย และจิตใจ บำรุงขวัญให้แก่ทหารที่บาดเจ็บจากการสู้รบ ซึ่งรับจากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าฯ ในชื่อเรียก “สถานพักฟื้นและพักผ่อนกรมพลาธิการทหารบก”

พ.ศ. 2533 เปิดอนุสรณ์สถานสงครามมหาเอเชียบูรพา ที่ระลึกถึงเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก ณ สถานตากอากาศบางปู

พ.ศ. 2536-2537 ร้านอาหารที่ปลายสะพานสุขตาปิดปรังปรุง เนื่องจากฐานรากโครงสร้างอาคารทรุดโทรม และเปิดก่อสร้างอาคารชั่วคราว บริเวณด้านทิศตะวันออก สำหรับบริการอาหารและเครื่องดื่ม

พ.ศ. 2542 การสู้ตามแนวชายแดนลดลงกองทัพบกจึงยุบสถานพักฟื้นฯ เหลือไว้เพียงสถานพักผ่อน ปัจจุบันสถานตากอากาศบางปู ยังเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับป่าชายเลนและสัตว์น้ำให้แก่สถานศึกษาและประชาชนทั่วไป โดยแบ่งพื้นที่ให้ออกเป็น 2 ส่วนคือ เขตสงวนธรรมชาติ และเขตบริการ (สถานตากอากาศ, พักผ่อน)

ปัจจุบัน “บางปู” เปนแหลงทองเที่ยวเชิงอนุรักษที่มีทรัพยากรทางดานปาชายเลนที่สมบูรณ์ของจังหวัดสมุทรปราการ โดยเป็นหน่วยงานสังกัดกับกรมพลาธิการทหารบก ที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปเที่ยวชมและใช้บริการ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ถนอมจิตต์ รื่นเริง. พัฒนาการการท่องเที่ยวในจังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ. 2489-2549, สารนิพนธ์ หลักสูตรปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, เมษายน 2550.

จตุรเทพ ผ่อนจรุง. แนวทางการพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สถานตากอากาศบางปู, วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาคุรุศาสตร์อุตสาหกรรมมหาบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, พ.ศ. 2550


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 มกราคม 2566