ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือที่เรียกและรู้จักกันทั่วไปว่า พระบรมรูปทรงม้า รัชกาลที่ 5 นอกจากเป็นพระบรมรูปที่มีความงามในด้านศิลปกรรม, เป็นการเฉลิมฉลองการครองราชย์ครอบ 40 ปี ของพระองค์ แล้วยังเป็นการเลิกขนบและความเชื่อเดิม ที่ไม่สร้างรูปเหมือน (หมายรวมถึงรูปถ่าย, รูปแกะสลัก, รูปปั้น ฯลฯ) หากบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่ เพราะจะเป็นการลดทอนอายุขัย ฯลฯ
หากในบทความเรื่อง “ค้นกรุงปารีส ตามล่าหาความจริง King Chulalongkorn รัชกาลที่ 5 กับประธานาธิบดีฝรั่งเศส” ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2546 โดยไกรฤกษ์ นานา ยังได้กล่าวถึงข้อมูลอื่นเกี่ยวกับพระบรมรูปทรงม้า เช่น การที่รัชกาลที่ 5 ทรงเลือกโรงหล่อฝรั่งเศสเป็นผู้ผลิต ทั้งที่ทรงโปรดฝีมือช่างอิตาลี, การเสด็จประทับเป็นแบบให้นายช่าง ฯลฯ เพื่อหาคำตอบเหล่านี้ ไกรฤกษ์ นานา ค้นคว้า และลงพื้นที่จริงตามรอยเสด็จพระราชดำเนินสถานที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเรียบเรียงคำอธิบายไว้ดังนี้ (ใส่หัวข้อย่อย จัดย่อหน้าใหม่ และเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม เพื่อความสะดวกในการอ่าน)
พระบรมรูปทรงม้าที่อิตาลี
รัชกาลที่ 5 ตรัสสดุดียกย่องกระบวนช่างอิตาเลียนไว้ตั้งแต่เสด็จประพาสอิตาลีครั้งแรกใน พ.ศ. 2440 ว่า…
“ด้วยฉันมาอยู่ที่นี่เกือบจะเรียกว่าพบปะแต่ช่างปั้น ช่างเขียน ช่างแกะ ช่างสลักวันยังค่ำ ด้วยการช่างเช่นนี้ย่อมเป็นที่พอใจลุ่มหลงของฉันแต่เดิมมาแล้ว” ทรงพรรณนาถึงความมีชื่อเสียงโด่งดังของช่างอิตาเลียนเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก “ถึงว่าเมืองอื่นๆ จะทำได้ก็ไม่มีเสมอเหมือนเมืองนี้ เจ้าแผ่นดินและผู้มีบันดาศักดิ์เมืองอื่นย่อมมาทำของที่ดีในประเทศนี้โดยมาก ชาติชาวอิตาเลียนย่อมเป็นช่างมาแต่โบราณ มีสิ่งซึ่งเป็นฝีมือดี ทำแล้วตั้งพันปีสำหรับอวดได้”
และ ณ กรุงโรมนั้นเอง ที่ทรงตกลงให้ปั้นพระบรมรูปขึ้นครั้งแรกเป็นประวัติการณ์ ในวันที่ 1 มิถุนายน 2440 โดยเสด็จไปประทับเป็นแบบ เป็นการยอมรับอย่างพอพระทัยทันทีที่เสด็จถึงทวีปยุโรป ถึงแม้จะเป็นเพียงประเทศแรกที่ทรงพบเห็นโดยไม่ลังเลพระทัย “การทำรูปของฉันที่ทำอยู่เดี๋ยวนี้คือรูปศิลาครึ่งตัวที่เมืองโรม ได้ไปนั่งแต่วันเดียว พรุ่งนี้เขาจะเอาหุ่นดินมาสอบ ได้เริ่มทำรูปศิลาครึ่งซีกซึ่งเรียกว่าบาส์รีลีฟ เมื่อวานนี้ดูมันตั้งท่าเหลวๆ แต่วันนี้ออกเชื่อ”
ด้วยความเชี่ยวชาญในฝีมือปั้นแกะสลักชาวโรม เพียง 2 วันพระบรมรูปดังกล่าวก็เสร็จสมบูรณ์ ทรงเตรียมการจัดส่งกลับไปพระราชทานพระราชินีทอดพระเนตรทันที “ส่วนฉันนั้นได้รูปศิลาที่ช่างผู้วิเศษทำโตกว่าเก่าและเหมือนมากทั้งสององค์ จะส่งตรงไปบางกอก ฉันเห็นว่าควรที่จะส่งเข้าไปที่เดียวจะได้ทันใจ”
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงนิพนธ์ “ประวัติของพระบรมราชวงศ์จักรี” ไว้ใน พ.ศ. 2503 โดยแทรกเกร็ดสาเหตุของการสร้างพระบรมรูปทรงม้า ร.5 ไว้โดยย่อแต่น่าทึ่งว่า
“ใน พ.ศ. 2451 พระเจ้าอยู่หัวได้ครองราชย์มาเป็นเวลา 40 ปีเต็ม จึงมีการฉลองกันอย่างใหญ่หลวงทั้งประเทศ ประชาชนแสดงความจงรักภักดีเลื่อมใสในพระองค์อย่างวิเศษยิ่ง โดยสละเงินตามมากและน้อยได้เงินเป็นอันมากเพื่อจะสร้างอนุสาวรีย์ ความอันเป็นของที่ไม่เคยมีใครทำมาแต่ก่อนมี ข่าวว่าประชาชนอยากจะสร้างอนุสาวรีย์ให้ใหญ่มหึมา เช่น อนุสาวรีย์พระเจ้าวิกเตอเอมมานูเอลที่ 2 แห่งอิตาลีที่กรุงโรม แต่ทรงห้ามเสีย โปรดให้สร้างแต่พระบรมรูปทรงม้าอันไม่หรูหราอะไรนัก”
ผู้เขียนจึงได้ทดลองสืบจากทฤษฎีของพระองค์จุลฯ เป็นเกณฑ์ในการค้นคว้า ได้เดินทางไปดูหลักฐานที่น่าเชื่อถือด้วยตนเองถึงอนุสาวรีย์ใหญ่ของพระเจ้าวิกเตอเอมมานูเอลที่ 2 ที่ ร.5 ตรัสถึง และได้เสด็จไปทอดพระเนตรมาแล้วอย่างละเอียด ทั้งในกรุงโรม เวนิส และมิลาน
ได้บทสรุปเป็นที่พอใจ มีเหตุผลให้เชื่อได้ว่า พระบรมรูปทรงม้าของพระเจ้ากรุงอิตาลีที่ไม่มีใครเคยได้ยินชื่อนี้ มีความงามสง่าน่าพิศวงเพียงมองด้วยตาเปล่า ยิ่งเมื่อกลับไปอ่านพระราชหัตถเลขาคราวเสด็จประพาสยุโรปทั้ง 2 ครั้ง ซึ่งห่างกันอยู่ 10 ปี ก็พบว่าทรงให้ความสนพระทัยอย่างจริงจังกับอนุสรณ์สถานทั้ง 3 แห่งนั้น เสด็จเยือนซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างกระตือรือร้น คล้ายจะบอกว่าทรงโปรดเป็นพิเศษ
ลายพระหัตถ์ในบางฉบับ ทรงตั้งข้อสังเกตไว้ลึกซึ้งแฝงความนัยไว้น่าฉงน เช่นครั้งหนึ่งที่มิลาน ตรัสว่า “มีรูปกิงวิกเตออิแมนวลขี่ม้าชักดาบหันหน้าเข้าไปข้างโบสถ์ งามยิ่งนัก”
ผู้เขียนพบพระบรมรูปทรงม้าของวิกเตอเอมมานูเอลอีกองค์หนึ่ง ที่เวนิสบนเส้นทางเสด็จ ในความรู้สึกส่วนตัวเห็นว่า เป็นอนุสาวรีย์ที่งามสง่าที่สุด หล่อแบบที่ฐานโดยรอบเป็นเรื่องราวของการรวมชาติอิตาลีเข้าด้วยกัน มีรูปเทพยดาองค์ใหญ่ เสริมบารมีอยู่ด้านล่าง ไม่เคยเห็นพระบรมรูปทรงม้าที่ไหนในยุโรปวิจิตรพิสดารเท่าที่นี่ พระจุลจอมเกล้าฯ ทรงบันทึกไว้ในเวนิสว่า “ของที่เป็นงานฝีมือช่างสําหรับเมืองนี้มีหลายอย่าง ซึ่งถูกตาถูกใจเรา”
ร.5 ทรงตั้งพระทัยเสด็จไปทอดพระเนตรพระบรมรูปวิกเตอเอมมานูเอลที่ 2 ในกรุงโรมอีกครั้ง หลังจากเคยทอดพระเนตรการก่อสร้างเมื่อเริ่มต้นมาแล้วครั้งหนึ่งใน พ.ศ. 2440 (ในเวลาต่อมาเป็นอนุสาวรีย์ที่ใหญ่โตที่สุดในยุโรป-ผู้เขียน) ครั้น พ.ศ. 2450 ตรัสไว้ว่า “ไปดูอนุสาวรีย์กิงวิกเตออิแมนวลที่ 2 พึ่งทำที่เขาแคปิโตล เป็นรูปเสาเรียงด้านหลังเป็นฉาก ด้านน่าจะตั้งรูปกิงวิกเตออีแมนวลขี่ม้า แต่ดูงานยังมากเต็มที่ สิบปีไม่เห็นร่วมเข้าไปได้เท่าไร”
ทำไมกรุงอิตาลีจึงเต็มไปด้วยพระบรมรูปของกษัตริย์พระองค์นี้?
คำถามดังกล่าวพอจะตอบได้ว่า พระเจ้าวิกเตอเอมมานูเอลที่ 2 (พ.ศ. 2362-2420) เป็นกษัตริย์ที่มีวีรกรรมโชกโชนในประวัติศาสตร์อิตาลี เป็นนักรบผู้กล้าในสมรภูมิ เป็นวีรบุรุษผู้สามารถรวมอาณาจักรอันแข็งกร้าวทั้งหลายเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้สำเร็จ เป็นที่ยอมรับของประชาชนอย่างกว้างขวาง อนุสาวรีย์ของพระองค์ในที่ต่างๆ เป็นสัญลักษณ์ของลัทธิชาตินิยมอันยิ่งใหญ่ในอิตาลี นับตั้งแต่จักรพรรดิซีซาร์ได้เคยสร้างความนิยมไว้ในโรมนานมาแล้ว ที่สำคัญคือพระราชานุสาวรีย์ของพระองค์โดยมากสร้างแบบพระบรมรูปทรงม้าอันโดดเด่นสะดุดตา
หลังจากเสด็จประพาสยุโรปครั้งหลังแล้ว ร.5 ทรงตั้งพระทัยที่จะนำแบบฉบับอิตาเลียน พร้อมทั้งนายช่างชาวโรมชุดใหญ่ 3 คนกลับไปสยามด้วย เพื่อสร้างสถาปัตยกรรมสไตล์อิตาเลียนเรเนสซองส์ในกรุงเทพฯ ภายหลังเป็นอาคารรัฐสภาที่งดงามที่สุดในทวีปเอเชีย หรือที่เราเรียก พระที่นั่งอนันตสมาคมในทุกวันนี้
ในระหว่างเดินทางไปค้นหาพระบรมรูปทรงม้า ณ สถานที่จริงในยุโรป ที่เคยเสด็จไปทอดพระเนตรเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้วบนเส้นทางมิลาน-โรม บังเอิญรถขับผ่านไปทางคาราร่า (ทางหลวงสาย E80 แยกออกไปคาราร่าก่อนถึงเมืองมาสซ่า-ผู้เขียน) ทำให้มีโอกาสเห็นโรงโม่หินขนาดใหญ่ 2-3 แห่ง ตีนเขาหินอ่อนของเมืองคาราร่ามีก้อนหินสีขาวนวลขนาดใหญ่นับร้อยก้อนวางเรียงเป็นระเบียบอยู่ตลอดแนวถนน สามารถบอกได้อย่างแน่ใจว่าต้องเป็นแหล่งหินอ่อนชั้นดีที่ ร.5 เสด็จไปคัดเลือกด้วยพระองค์เอง เพื่อจัดส่งกลับมาสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคมในคราวนั้นอย่างไม่ต้องสงสัย
อิตาลีในทุกวันนี้เปรียบเสมือนพิพิธภัณฑ์เปิดที่เชื่อมโยงเหตุการณ์ในอดีตเข้าเป็นรูปภาพใหญ่ที่สมบูรณ์ได้อย่างเหลือเชื่อ
ฝรั่งเศส สถานที่กำเนิดพระบรมรูปทรงม้า รัชกาลที่ 5
พระราชดำริในอันที่จะสร้างปฐมบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ท่านเองได้ก่อตัวขึ้นอย่างเงียบๆ แล้ววันหนึ่งจึงถูกเปิดเผยขึ้นมาอย่างกะทันหันในระหว่างการเสด็จประพาสยุโรปนั่นเอง ไม่ใช่ในกรุงโรม แต่กลายเป็นกรุงปารีส ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นที่หล่อพระบรมรูปทรงม้า ร.5 อย่างเป็นทางการ พลิกความคาดหมายอีกครั้งอย่างถล่มทลาย มิใช่เพราะฝีมือช่างโรมันจะด้อยไปกว่าฝรั่งเศส แต่ด้วยข้อเสนอที่ย่อมเยาในราคา และที่สำคัญสามารถเสร็จทันเปิดในงานพระราชพิธีอันสำคัญยิ่งพิธีหนึ่ง ซึ่งใกล้จะมีขึ้นในกรุงสยาม
นับเวลาใกล้หนึ่งพันปีตั้งแต่เมืองไทยก่อตั้งขึ้นมาในสุวรรณภูมินี้ ที่พระมหากษัตริย์ไทยในอดีตไม่เคยเสด็จออกนอกพระราชอาณาเขตมาก่อน ทั้งยังปรากฏว่า กษัตริย์ไทยไม่โปรดให้มีการหล่อพระรูปเหมือนของพระองค์เองในขณะดำรงพระชนมชีพอยู่ เพราะมิใช่ธรรมเนียมปฏิบัติ การสร้างรูปเหมือนทุกประเภท ไม่ว่ารูปแกะสลัก รูปถ่าย หรือรูปปั้นนั้นถือกันว่า เป็นการตัดทอนอายุผู้สร้าง จวบจนปี พ.ศ. 2450 พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยกเลิกความเชื่อในประเพณีโบราณที่ล้าสมัยนั้นทั้งหมด
เรื่องของพระบรมรูปทรงม้า ร.5 มีข้อมูลเบื้องต้นพบในพื้นที่ปรากฏอยู่บนคำจารึกที่ฐานของพระบรมราชานุสาวรีย์ดังกล่าว คนส่วนใหญ่จึงใช้เวลาอยู่ที่เบื้องพระพักตร์ด้านหน้า ตำนานพระบรมรูปทรงม้าในเมืองไทยจึงขาดความสมบูรณ์ และมักจบลงดื้อๆ โดยไม่มีอะไรให้ค้นคว้าต่อไปได้อีกจากตรงนั้น
ปริศนาสองข้อที่ฝังใจผู้เขียนมาตลอดคือ หนึ่ง สาเหตุแห่งแรงบันดาลใจในการสร้าง และสอง คำจารึกที่ฐานพระบรมรูปใต้เท้าม้าหลังนั้นมีภาษาฝรั่งเศสเป็นลักษณะโค้ดลับสลักไว้ว่า “SUSSE Fres Fondeurs PARIS” แปลตรงตัวได้คือ “พี่น้องตระกูลซูส ปารีส” ตรงนี้แหละที่พอจะบอกเบาะแสว่าอยู่ในฝรั่งเศส แต่ทุกคนก็ลืมเรื่องนี้ไปหมด จนเวลาผ่านเลยไปเกือบหนึ่งศตวรรษ
คำถามอันน่าพิศวงต่อไปคือ ทำไมจึงเป็นพระบรมรูปทรงม้า? และเหตุใดจึงมาประดิษฐานอยู่ ณ ลานหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมอันภูมิฐานนี้?
คำตอบที่ละเอียดที่สุดพบในเมืองไทยอยู่ที่ “คำถวายพระบรมรูปทรงม้า” ในจดหมายเหตุพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ร.ศ. 127 ซึ่งเน้นไปที่พระราชพิธีเปิดเท่านั้น ความสนุกและสีสันของเบื้องหลังการสร้างทั้งหมดจะมีอยู่ใน “ไกลบ้าน” อันเป็นพระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ 5 มีถึงสมเด็จเจ้าฟ้านิภานภดล พระราชธิดา ในขณะที่เสด็จประพาสยุโรป ครั้งหลังเท่านั้น หนังสือไกลบ้านเป็นคู่มือให้ผู้เขียนเดินทางไปค้นหาต้นกำเนิดของการสร้างถึงในทวีปยุโรป ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้เพียงแห่งเดียว
สมเด็จพระปิยมหาราช เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกในปี พ.ศ. 2440 เพื่อทรงตรวจแบบแผนราชการบ้านเมือง และหาทางสนับสนุนทางการเมืองจากมหาอำนาจในยุโรป จวบจน พ.ศ. 2450 จึงเสด็จยุโรปอีกเป็นครั้งที่ 2 เหตุผลก็เพื่อรักษาพระโรคซึ่งเกิดขึ้นจากการทรงงาน
เหตุการณ์สำคัญที่จะตามมาหลังจากเสด็จกลับแล้วก็คือที่กรุงเทพฯ กำหนดจะมีสมโภชใหญ่ในงานพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก เป็นงานเฉลิมฉลองการที่พระพุทธเจ้าหลวงทรงครองราชย์มาบรรจบครบ 40 ปี เป็นรัชสมัยที่ยาวนานที่สุด สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธทรงเป็นแม่งานทั้งหมด ได้ทรงปรึกษาในที่ประชุมเสนาบดี ในอันที่จะสร้างถาวรวัตถุเป็นที่ระลึกถวายแด่พระปิยมหาราช เพื่อเป็นการถวายความจงรักภักดี ได้เห็นพ้องที่จะบอกบุญต่อสาธารณชนให้พสกนิกรทุกหมู่เหล่าได้มีส่วนร่วมด้วยในการบริจาคเงินเพื่อสร้างอนุสรณ์สถานนั้น เงินบริจาคที่ได้รับเป็นจำนวนมากถึงล้านกว่าบาท เกินกว่าราคาค่าใช้จ่ายจริงถึงห้าเท่า!
เป็นที่รู้กันอยู่ในระหว่างผู้ตามเสด็จประพาสยุโรปในครั้งนั้น ทรงปรารภว่า ถ้าได้มีพระบรมรูปของพระองค์ตั้งไว้ในสนามหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมที่กำลังก่อสร้างนั้นก็จะเป็นสง่างามดี คณะกรรมการจึงได้ประชุมปรึกษากันที่จะตอบสนองพระราชประสงค์ดังกล่าว โดยให้มีการสรรหาโรงหล่อที่มีชื่อเสียงสักแห่งหนึ่งในทวีปยุโรป เพื่อสร้างพระบรมรูปให้ทันการ
แรงบันดาลใจได้ก่อเกิดขึ้นอย่างน่าติดตามในอิตาลี แต่ในเวลาต่อมามีการตกลงที่จะสร้างขึ้นในกรุงปารีสแทน โดยโรงหล่อซูสแฟร์ได้รับเลือกเป็นเอกฉันท์ด้วยราคาที่กะทัดรัดเป็นเงิน 45,820 ฟรังก์ และที่สำคัญสามารถสร้างให้แล้วเสร็จทันใจ ในเวลาเพียงสิบสองเดือนกับอีกสองสัปดาห์เท่านั้น
วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2450 สมเด็จพระปิยมหาราชเสด็จเป็นการส่วนพระองค์ไปที่โรงหล่อซูสแฟร์ ตรัสถึงบ้านช่างหล่อปารีสว่า
“บ่าย 5 โมงถึงได้ออกจากเรือนไปดูรูปที่ช่างปั้นจะทำรูป ทางอยู่ข้างจะไกลไปด้วยรถมอเตอร์คาร์ ทางแขวงมองต์ปาร์นัสส์ ซึ่งเป็นตอนคนจนอยู่ ที่ซึ่งช่างปั้นอยู่นั้นเขาเรียกว่าถนนช่าง มีช่างเขียน ช่างปั้นอยู่แถบนั้นโดยมาเป็นที่เงียบ”
ตามหาโรงหล่อซูสแฟร์
การค้นหาตำแหน่งของสถานที่จริงล้มเหลวลงในครั้งแรก แผนที่นำทางตามพระราชนิพนธ์ขาดตอนกะทันหัน เมื่อแขวงมองต์ปาร์นัสส์ที่ตั้งอยู่เดี๋ยวนี้ ได้แปรสภาพเป็นเมืองคนละแบบกันกับในปี 2450 มีตึกระฟ้า “มองต์ปาร์นัสส์พาร์ค” สูง 75 ชั้นขึ้นมาแทนที่ ประเพณีการสร้างอนุสาวรีย์ของกษัตริย์ผู้โด่งดังลดความนิยมลงจนหมดสิ้น โรงหล่อระดับแนวหน้าแทบทั้งหมดปิดตัวลงอย่างไร้ร่องรอย ความผันผวนทางการเมือง การสละราชสมบัติของราชวงศ์ในยุโรป และพิษเศรษฐกิจหลังมหาสงครามโลกเปลี่ยนแปลงค่านิยมของคนในสมัยหนึ่งไปสู่รสนิยมแบบจืดชืดของคนอีกสมัยหนังอย่างน่าเสียดาย
อนุสาวรีย์กษัตริย์ชาลเลอมาญจ์ หลุยส์ที่ 14 นักบุญชองดาร์ค หรือนโปเลียนบนหลังม้าพระที่นั่งในปารีส น่าจะบอกอะไรบางอย่างถึงความนิยมศิลปะแบบนี้สืบเนื่องมานานของชาวปารีเซียน การสำรวจจึงดำเนินต่อไปอีก คราวนี้ทดลองใช้แนวทางใหม่โดยสืบจากประติมากรรมรุ่นหลังๆ ประเภทรูปปั้นนักการเมือง แม่ทัพ และนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งพอจะสื่อกันได้บ้างกับความเป็นไปในสมัยปัจจุบัน
วิธีนี้ดูจะได้ผล ช่างฝีมือที่ยังประกอบอาชีพอยู่ชี้ทางสาวขึ้นไปถึงย่านใหม่ชานกรุงปารีส ในตำบลที่มีชื่อว่า “อาคเคย” ณ ที่นี่เป็นที่ตั้งแห่งใหม่ของโรงหล่อเจ้าของตำนานเดิม โดยยังสามารถอนุรักษ์ยี่ห้อเก่าที่ชื่อ “โรงหล่อพี่น้องตระกูลซูสแฟร์” ทุกตัวอักษร บทพิสูจน์ปริศนาสองข้อจึงจบลงอย่างปาฏิหาริย์ เป็นเรื่องเหลือเชื่อที่โค้ดลับไม่กี่คำจะบอกลายแทงนําไปพบขุมทรัพย์ทางโบราณคดี ที่ซุกซ่อนอยู่ในมหานครที่ทันสมัยที่สุดในยุโรปได้ แล้ววันสำคัญก็มาถึง
ผู้เขียนยืนถือจดหมายตอบรับการเข้าพบเจ้าหน้าที่ซูสแฟร์หน้าโรงหล่ออย่างสั่นเทา ตอนนั้นไม่แน่ใจว่าสั่นเพราะลมเย็นเฉียบที่พัดมา หรือเกรงว่าจะไม่ได้เข้าไป สั่นกระดิ่งสักพัก คุณแอ็กเนส (Agnes Haligon) เลขานุการ ออกมารับ แล้วนำไปพบคุณเอริค (Eric L. Gibbard) ผู้จัดการอาวุโสของที่นี่ และสิ่งที่ท่านวางเตรียมไว้ให้ชมทันทีคือ หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส ฉบับหนึ่งชื่ออิลลุสตรา ซีอง ค.ศ. 1908 ฉบับลงข่าวการที่ ร.5 มีพระราชดำริให้หล่อพระบรมรูปของพระองค์ขึ้นที่ปารีส พร้อมผนวกสาระอื่นๆ อาทิ ความนิยมและชื่อเสียงของปฏิมากรปารีเซียน ผู้หล่อรูปเหมือนของบุคคลสำคัญในโลก รวมถึงกษัตริย์แห่งสยามจากแดนไกล หมายถึงว่าการหล่อแบบพระบรมรูปผู้มีชื่อเสียงครั้งนี้ก็เป็นข่าวดังไปทั่วยุโรปด้วย
คุณเอริคเล่าว่า ซูสแฟร์ดำเนินกิจการมากว่า 180 ปีแล้ว และย้ายที่ตั้งมาสามครั้ง จนมาอยู่ที่นี่ อันเนื่องจากการเวนคืนที่ดิน เพื่อพัฒนาเมืองหลวงในหลายสมัยที่ผ่านมา ซูสแฟร์เป็นชื่อของตระกูลช่างหล่อเก่าแก่ที่สุดในเมืองนี้ ที่ยืนหยัดฝ่าคลื่นลมแห่งความเปลี่ยนแปลงมานาน แม้แต่แบบแผนของศิลปกรรมก็เปลี่ยนตามไปด้วย ค่านิยมในสรีรวิทยาที่คนเคยสนใจแปรผัน เป็นความนิยมในศิลปะแบบแอ๊บสแทร็กต์ที่เข้าใจได้ยากกว่า ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าใจ แต่ทางโรงหล่อก็จำต้องรับงานใหม่ๆ เหล่านี้ นอกเหนือไปจากซ่อมแซมงานคลาสสิครุ่นเก่าที่ทยอยส่งคืนมาซ่อมไม่ขาดระยะ เป็นหนทางอยู่รอดของโรงหล่อในวันนี้
ยังมีเกร็ดพงศาวดารที่น่ารู้เกี่ยวกับการเสด็จเยือนของ ร.5 ที่โรงหล่อแห่งนี้คือ ในชั้นแรกต้องเสด็จมาฉายพระรูปพระพักตร์ตรงและข้างทั้งสี่ด้าน เพื่อนายช่างจะได้นำแบบเหล่านี้ไปทดลองปั้นก่อน พระรูปมุมแปลกทั้งสี่แผ่นนี้ผู้เขียนได้มีโอกาสเห็นที่นี่ด้วย วันที่เสด็จไปฉายพระรูป พระราชทานเล่าติดตลกว่า
“บ่ายสี่โมงจึงได้ออกจากสถานทูตไปถ่ายรูปก่อน การถ่ายรูปนี้เพื่อทำสเตชู (statue แปลว่ารูปปั้น) เขาขอให้ถ่ายสี่ด้านแลอยากจะให้แต่งยูนิฟอม แต่เผอินไม่อยู่ เขาเอาไปทำตัวอย่างตัดยูนิฟอมใหม่ ที่ซึ่งถ่ายรูปนี้มันขึ้นไปอยู่ถึงชั้นที่ 7 นับแต่พื้นดินขึ้นไปเป็นชั้นหลังคา ถ้าไม่ขึ้นไปอยู่เช่นนั้นไม่มีแดด แต่รอดตัวที่มีลิฟต์ ตุ๊กกับจรูญไปด้วย ถูกขึ้นกระไดเกือบตาย”
ธรรมเนียมการสร้างพระบรมรูปทรงม้านั้น มักจะทำกันก็ต่อเมื่อกษัตริย์พระองค์นั้นเสด็จสวรรคตแล้ว มีแบบแผนเป็นที่รู้กันว่า หากสวรรคตในสมรภูมิหรือเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในการรบ แบบของม้าจะยกเท้าหน้าให้แลดูผาดโผนโจนทะยาน แต่ในกรณีของ ร.5 เป็นการสร้างในขณะที่ทรงพระชนมชีพอยู่ จึงปั้นให้ม้าพระที่นั่งยืนนิ่งไม่ยกขา เช่นเดียวกับกษัตริย์แห่งสเปน ลูกค้าคนดังพระองค์หนึ่งของซูสแฟร์
ทรงเล่าถึงเทคนิคการปั้นอย่างละเอียดว่า “โรงที่ปั้นนั้น เขาปั้นงาม แต่รูปข้างบนนั้นใช้ไม่ได้ ผอมโซ ด้วยเอารูปกิงออฟสเปนมาเป็นตัวอย่าง เรื่องปั้นรูปนี้จะทำตามรูปถ่ายอย่างเดียวไม่ได้ เพราะรูปมันนูนขึ้นมาไม่พอ แต่ช่างปั้นมันดีเสียจริงๆ พอพ่อลงไปนั่ง มันฉวยดินปั๊ปก็แตะหัวก่อน แก้หัวเสร็จ แล้วจึงมาแก้ที่หน้า ถมแก้มที่ลึกให้ตื่น เมื่อแรกพ่อออกจะฉุนๆ ว่าต้องไปนั่งแต่พอเห็นมันแตะสองสามแตะ รู้ทีเดียวว่า มันดีเลยหายฉุน นั่งดูเสียเพลิน เขาขอชั่วโมงเดียวพ่อนั่งให้กว่าสองชั่วโมง พ่อออกจะยอมเสียแล้วว่าฝีมือฝรั่งเศสมันดี”
จากลายพระหัตถ์ข้างบนนี้พอสรุปได้ว่า แรงบันดาลใจในแบบพระบรมรูปทรงม้านี้ถึงมีจริงมาตั้งแต่อิตาลี เรื่อยมาจนถึงที่ทรงพบในฝรั่งเศสตอนหลัง แต่ท้ายที่สุดพอจะปั้นเข้าจริงๆ ช่างปั้นกลับเสนอให้ใช้แบบของกษัตริย์สเปนเป็นตัวอย่างแทน ทรงผิดหวังอยู่ไม่น้อย เพราะผลออกมาไม่ถูกพระทัย แต่ภายหลังก็ถูกแก้ไขจนเป็นที่เรียบร้อย
ประติมากรรมชั้นยอดที่ ร.5 ดำรัสชมว่า “พอเห็นมันแตะเข้าสองสามแตะ รู้ทีเดียวว่ามันดี” นั้นเป็นฝีมือของนายยอร์จ เซาโล ผู้ถวายการปั้นเฉพาะพระบรมรูปจนดูเหมือนจริง ส่วนม้าพระที่นั่งที่ดูมีชีวิตนั้นเป็นฝีมือของนายช่างชื่อโคลวิส มาสซอง ทรงออกพระโอษฐ์ชมว่า “นั่งดูเพลิน เขาขอชั่วโมงเดียวพ่อนั่งให้กว่าสองชั่วโมง”
เมื่อการสนทนาใกล้ยุตินั้น ผู้เขียนนำไปรษณียบัตรเก่าฉบับหนึ่งที่ค้นเจอในยุโรปเมื่อหลายเดือนก่อน และตั้งใจนำมาให้ทางนี้ชม เป็นภาพ ร. 5 ทรงเปิดแพรคลุมอนุสาวรีย์ที่ทางซูสแฟร์ ปารีสเพิ่งจัดส่งมาถึง ท่ามกลางคลื่นมหาชนนับแสนที่มาชุมนุมกัน เพื่อเป็นสักขีพยานในสัญลักษณ์ใหม่แห่งความเลื่อมใสศรัทธา
11 พฤศจิกายน 2451 สมเด็จพระปิยมหาราชเสด็จในพระราชพิธีเปิดพระบรมรูปทรงม้าอย่างเป็นทางการ ณ ลานพระราชวังดุสิต
อ่านเพิ่มเติม :
- หลักฐานใหม่แย้งข้อมูลเก่า “เบื้องหลัง เบื้องลึก” ของสาเหตุการสร้าง พระบรมรูปทรงม้า ร.5
-
ป้ายจารึกที่ไม่ได้มาพร้อมกับพระบรมรูปทรงม้า ทำไมติดตั้งล่าช้าถึง 13 ปี?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 ธันวาคม 2565