ป้ายจารึกที่ไม่ได้มาพร้อมกับพระบรมรูปทรงม้า ทำไมติดตั้งล่าช้าถึง 13 ปี?

เป็นที่รับทราบกันแล้วว่า ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปครั้งที่สองนั้น ทรงตกลงว่าจ้างช่างหล่อพระบรมรูปขึ้น

พระบรมรูปนั้น มีขนาดใหญ่กว่าพระองค์จริงเท่าครึ่ง ทรงฉลองพระองค์เครื่องยศจอมพลทหาร เสด็จประทับหลังม้าพระที่นั่ง พระหัตถ์ขวาพาดอยู่บนหลังม้าทรงถือคฑาจอมทัพช้างสามเศียร พระหัตถ์ซ้ายรั้งบังเหียนมีพระกระบี่ห้อยอยู่ทางซ้าย องค์พระบรมรูปหล่อด้วยสัมฤทธิ์หรือทองบรอนซ์

ช่างปั้นที่มีจารึกระบุไว้ในฐานพระบรมรูปว่า C.Masson Sculp 1908 กำลังตกแต่งหุ่นจำลองต้นแบบของพระบรมรูปทรงม้าสำหรับนำไปขยายและหล่อ (ที่มา คุณไกรฤกษ์ นานา. สำนักพิมพ์มติชน)
พระบรมรูปทรงม้าในขั้นตอนการหล่อโลหะ มีจารึกที่ฐานว่า G. Paupg Statuaire เป็นผู้หล่อ (ที่มา คุณไกรฤกษ์ นานา. สำนักพิมพ์มติชน)

สำหรับงานก่อสร้างพระบรมรูปทรงม้า ที่เริ่มทันทีเมื่อชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่ขนมาทางเรือเมล์ของเยอรมัน ถึงกรุงเทพฯ อีกทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างฝรั่งเดินทางมาติดตั้งด้วย

พระบรมรูปทรงม้าที่หล่อแล้วเสร็จ ถอดเป็นชิ้นบรรจุในหีบไม้เตรียมขนส่งมายังสยาม (ที่มา คุณไกรฤกษ์ นานา. สำนักพิมพ์มติชน)

เริ่มจากงานขุดดินทำฐานราก ในวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๕๑ ต่อด้วยงานก่อฐานแท่นหินอ่อน ความสูง ๖ เมตร กว้าง ๒.๕๐ เมตร ยาว ๕.๕๐ เมตร มีฐานโลหะรองรับกว้าง ๓.๕๐ เมตร ยาว ๖.๕๐ เมตร   ส่วนบนของฐานประดับขอบโลหะ เป็นลวดลายจักรี คือตราจักรกับตรีศูล แทรกลายเถาเครือแบบฝรั่งโดยมีรูปคชสีห์และราชสีห์ประกอบทั้งสองข้าง รอบฐานหินอ่อนกั้นด้วยเสาโลหะทรงสี่เหลี่ยม หัวเสาลายใบเทศ ด้านหน้าประทับตราแผ่นดิน จำนวน ๑๐ ต้น ฐานด้านขวาจารึกข้อความเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า C. Masson Sculp 1908 ปฏิมากร และ G. Paupg Statuaire ช่างหล่อ ด้านซ้ายจารึกชื่อบริษัทหล่อ  SUSSE Fres FONDEURS, PARIS

จากนั้น อัญเชิญพระบรมรูปขึ้นประดิษฐาน งานทั้งหมดจึงแล้วเสร็จ พร้อมสมโภชทันพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๑

พระราชพิธีสมโภชพระบรมรูปทรงม้า วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๑ (ที่มา บัณฑิต จุลาสัยและคณะ, วังสวนดุสิต)

หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนเข้าถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้าเพื่อแสดงความจงรักภักดีในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๔ ซึ่งตรงกับวันพระราชพิธีฉัตรมงคลของพระองค์ และในปีต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนวันถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้าเป็นวันที่ ๒๓ ตุลาคม จนกลายเป็นพระราชพิธีประจำปี สืบเนื่องต่อมาถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีพระราชพิธีเปิด และประชาชนมีโอกาสเข้าถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้า แต่คงไม่มีผู้ใดสังเกตเห็นว่าตรงฐานนั้น หาได้มีป้ายจารึกเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ด้วยเหตุที่ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวเกิดปัญหาต่าง ๆ มากมาย ทำให้การติดตั้งล่าช้าไปถึง ๑๓ ปี

เริ่มตั้งแต่ ถ้อยคำจารึกที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระทัยแก้ไขขัดเกลาข้อความจากคำร่างของสมเด็จกรมดำรงราชานุภาพและเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) อยู่นาน ดังในพระราชหัตถเลขาหลายฉบับที่มีถึงพระยายมราช[๑] ดังนี้

                                                                                                               สวนดุสิต 

                                                วันที่ ๒๙ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๗ 

ถึง พระยาสุขุม 

        เรื่องคำจาฤกที่ได้วานให้ช่วยร่างไว้แต่แรก ร่างลงไปไม่ได้เป็นการแต่งอิติปิโสตัวเอง ครั้นเมื่อได้เห็นร่างซึ่งทำขึ้นไว้มีใจความบริบูรณ์แล้ว แต่ถ้อยคำยังกระจัดกระจาย จึงได้รวบรวมข้อความเหล่านั้น ควรจะเรียกว่า ประพันธ์เข้าใหม่ ไม่ให้ผิดความเดิม…เพราะจะให้ปรากฏว่าสร้างในเวลาเจ้าของรูปอยู่ 

                                                     สยามินทร์ 

ต่อมาในวันที่ ๒ พฤศจิกายน พระองค์มีพระราชหัตถเลขาถึงพระยาสุขุมเพิ่มเติมว่า

       ขอต่อว่า ว่าแกมาเกณฑ์ให้ช่วยแก้ร่างคำจาฤก เป็นการผิดคราวผิดสมัย ไม่มีผู้ใดอ่านเข้าใจ ฤๅอ่านเข้าใจแต่ไม่เป็นที่พึงใจทำนองหนังสือ เพราะมันเป็นเสียงคนแก่พูดไป อันลักษณที่กรมดำรงเรียงมานั้น เขาเรียกว่าผการาย อ่านจนตายก็จำไม่ได้ จึงได้แก้รัดเข้าเป็นร้อยแก้ว ซึ่งคนทุกวันนี้เข้าใจว่าเขียนลงไปว่ากระไร ๆ ถ้าเป็นร้อยแก้วบ้างไม่เป็นบ้างเช่นนี้ อายผีสางเทวดา ถ้าหากว่ามนุษย์จะไม่รู้ คงจะมีผู้ที่มีความรู้ยิ้มเย้ยเยาะบ้างเป็นแน่ เพราะฉะนั้นขอให้กระจายกลอนเสียให้หมดให้จงได้ แลเติมด้วยอะไร ๆ ลงไปให้บริบูรณ์ ขอว่าสำนวนทำนองไหนให้เป็นทำนองนั้น ถ้าปนกันเลอะเทอะแล้วเป็นจะไม่เป็นการ 

       ขอต่อว่า ซึ่งให้กรมนเรศ (พระเจ้าน้องยาเธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาล) มาถามออฟฟิเชียรลิว่าจะยอมให้แก้ฤๅไม่เช่นนี้ ไม่ใช่น่าที่ที่ควรจะตอบ กลายเป็นทรงร่างไปเท่านั้นเอง คราวนี้ถ้าถ้อยคำงุ่มง่ามอย่างไร เขาก็จะว่าเจ้าของท่านเรียงของท่านเอง เห็นไม่เป็นแก่นสาร แต่นี้อย่าได้ปฤกษาหารือกันต่อไป เลิกเท่านี้ที 

                                                 สยามมินทร์ 

ยังไม่พบว่า มีการแก้ไขถ้อยคำกันนานเท่าใด ก่อนส่งร่างคำจารึกไปดำเนินการออกแบบและหล่อที่ยุโรป นอกจากมีปัญหาด้วยสิ้นรัชกาลแล้ว ยังเกิดมหาสงครามโลกครั้งที่ ๑ ที่สยามประเทศได้ประกาศสงคราม กับประเทศเยอรมัน จวบจนเสร็จสิ้นสงครามจึงมีการสอบถามตามหาแผ่นป้ายดังกล่าว และนำกลับมายังสยาม ซึ่งเรื่องนี้ปรากฏในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. ๒๔๖๔[๒] ระบุว่าเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ นอกจากมีพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมอัฐิที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทแล้ว ยังโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงสรรพสิทธิไปวางพวงมาลาถวายสักการพระบรมรูปทรงม้า ณ พระลานพระราชวังดุสิต และมีบันทึกเรื่องป้ายคำจารึกไว้อย่างละเอียด ดังนี้

“คำจาฤกนี้ กรมพระนเรศวร์วรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร ซึ่งได้รับกระแสร์พระบรมราชโองการพระพุทธเจ้าหลวงไว้ในเดือนใกล้จะสวรรคตใน พ.ศ. ๒๔๕๓ ให้คิดหล่อแผ่นคำจาฤกด้วยทองบรอนซ์ติดฐานพระบรมรูปทรงม้าตามแบบอย่างที่ได้ทรงพระราชดำริห์ คราวคิดจะให้แก้ฐานพระบรมรูปครั้ง ๑ ปี พ.ศ. ๒๔๕๔ กรมพระนเรศรให้ช่างในกรมศิลปากรทำแบบอย่างเท่าขนาดย่อยให้นายเอลเล ครี ส่งแบบไปยังนายริโคตดี นายช่างผู้ตรวจของหลวงที่สั่ง ณ ประเทศอิตาลี ให้ว่าจ้างช่างทำปี พ.ศ. ๒๔๕๕ ตกลงให้ช่างในเยอรมนี ทำโดยได้ราคาถูกกว่าช่างในอิตาลี 

ปี พ.ศ. ๒๔๕๖ ช่างได้ถ่ายรูปแผ่นคำจาฤกที่หล่อขึ้นแล้ว ส่งเข้ามาให้ตรวจตัวอักษร เมื่อตรวจแล้ว ได้สั่งให้รีบส่งแผ่นคำจาฤกเข้ามา แต่นี้ต่อไปสัก ๒ เดือน ก็เกิดมหาสงครามขึ้นในประเทศยุโรปเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๕๗ ซึ่งเปนที่น่าเกรงว่าจะสูญไปด้วยเรือที่บรรทุกถูกทำลายจมเสียแล้วฤๅคงทำลายเอาทองบรอนซ์ไปใช้ในการสงครามเสียแล้ว 

เมื่อสงครามสงบลงแล้ว กรมพระนเรศวร์ได้ถามถึงแผ่นคำจาฤกนี้ออกไป ได้ความจากนายริโคตดีเมื่อเดือนมีนาคม ๒๔๖๒ ว่าแผ่นคำจาฤกนี้ยังอยู่ที่ห้างรับทำ ห้างได้เก็บไว้โดยเรียบร้อย และห้างจะยอมส่งให้ตามราคาสั่งเดิม แต่จะขอเงินสดให้ส่งทางแบงก์ประเทศสวิสแลนด์และคิดค่าแลกเงินอย่างราคาเงินแฟรงค์ก่อนมหาสงคราม กรมพระนเรศวร์จึงมีลายพระหัตถ์ส่งเงินไปยังพระองค์เจ้าจรูญ อรรคราชทูตสยามกรุงปารีส ห้างไม่ยอมรับเงินราคาแฟรค์ฝรั่งเศส จะเกี่ยงเปนเงินราคาแฟรงค์สวิสซึ่งเปนราคาที่แพงขึ้นไปเกือบอีกเท่าหนึ่งเปนที่ไม่ตกลงกัน การจึงได้เริดร้างมา 

ต่อเมื่อเดือนกรกฎาคมศกนี้ ห้างได้ตกลงยอมรับราคาเงินแฟรค์ฝรั่งเศส พระองค์เจ้าจรูญจึงได้จัดส่งหีบคำจาฤกไปลงเรือยนตร์ชื่อ ไพโอเนีย ที่กรุงโคเปนเฮเกน แต่ปลายเดือนสิงหาคม สืบได้ความว่าเรือไพโอเนีย จะถึงเกาะหมากวันที่ ๙ ตุลาคมถึงสิงคโปร์ว่าที่ ๑๒ ตุลาคม แต่จะไปเกาะชวาเสียก่อนแล้วจึงจะมาถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ ๒๒ ตุลาคม มีวัน ๆ เดียว ไม่มีโอกาสที่จะนำขึ้นประดับ กรมพระนเรศวร์จึงขอให้บริษัทอีสต์เอเชียติกช่วยเหลือเพื่อหีบขึ้นเสีย ณ ที่ใดที่หนึ่ง บริษัทรับจะช่วยด้วยความเต็มใจ 

วันที่ ๑๙ ตุลาคม บริษัทแจ้งว่าที่เกาะหมากนำขึ้นไม่ได้ เพราหีบของทับถมกันอยู่มาก พึ่งนำขึ้นได้ที่สิงคโปร์ และได้จัดส่งเข้ามาโดยเรือกลไฟ กัวลา ซึ่งออกจากสิงคโปร์วันที่ ๑๕ ตุลาคมนั้นแล้ว คงจะมาถึงกรุงเทพฯในวันที่ ๑๘ ตุลาคม เวลา ๖.๐๐ ล.ท. คงมีเวลาสำหรับนำขึ้นประดับ ๔ วัน 

กรมพระนเรศวร์จึงขอพระบรมราชานุญาตประดับแผ่นคำจาฤก และขอพระราชทานให้นายกามาโยกับนายโคโล นายช่างผู้เปนช่างที่เคยทำการก่อสร้างตั้งฐานพระบรมรูป ครั้งเมื่อพระองค์ท่านได้เปนผู้อำนวยการมาแต่ก่อน โปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประดับได้แต่วันที่ ๒๑ ตุลาคม เมื่อวานนี้วันที่ ๒๒ ตุลาคม นายช่างได้จัดการประดับเสร็จแล้วโดยเรียบร้อย” 

ป้ายจารึกที่ประดับอยู่ที่ฐานพระบรมรูปทรงม้า จำนวน ๓๓ บรรทัดนั้น มีข้อความดังนี้[๓]

๑. ศุภมัสดุ พระพุทธสาสนกาลล่วงแล้ว ๒๔๕๑ พรรษา

๒. จำเดิมแต่พระมหาจักรกรีบรมราชวงษ์ได้เสด็จประดิษฐาน แลดำรงกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยา

๓. เป็นปีที่ ๑๒๗ โดยนิยม

๔. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์

๕. บดินทรเทพยมหามงกุฎ บุรุศยรัตน ราชรวิวงษ วรุตมพงษบริพัตรวรขัติยราชนิกโรดม

๖. จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร

๗. พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

๘. เสด็จดำรงสิริราชสมบัติมา ถ้วนถึง ๔๐ ปีเต็มบริบูรณ์

๙. เปนรัชสมัยที่ยืนนานยิ่งกว่าสมเด็จพระมหาราชาธิราช

๑๐. แห่งสยามประเทศในอดีตกาล

๑๑. พระองค์กอปรด้วยพระราชกฤษดาภินิหาร เป็นอัจฉริยภูมิบาลบรมบพิตร

๑๒. เสด็จสถิตในสัจธรรม์อันมั่นคงมิได้หวั่นไหว ทรงอธิษฐานพระราชหฤไทย ในทางที่จะทำนุบำรุงพระราชอาณาจักร

๑๓. ให้สถิตย์สถาพร แลให้เกิดความสามัคคีสโมสรเจริญศุขสำราญทั่วไปในอเนกนิกรประชาชาติเป็นเบื้องน่าแห่ง

๑๔. พระราชจรรยา ทรงพระสุขุมปรีชาสามารถสอดส่องวินิจฉัยในคุณโทษแห่งประเพณีเมือง ทรงปลดเปลื้องโทษ

๑๕. นำประโยชน์มาบัญญัติ โดยปฏิบัติพระองค์ทรงนำหน้าชักจูงประชาชนให้ดำเนินตาม ในทางที่ดีงามดีมีประโยชน์

๑๖. เปนแก่นสาร พระองค์ทรงทำให้ความศุขสำราญแห่งประชาราษฎร์สำเร็จได้ ด้วยอาไศรยดำเนินอยู่เนืองนิตย์ ใน

๑๗. พระวิริยแลพระขันตีอันคุณแรงกล้า ทรงอาจหาญในพระราชจรรยามิได้ย่อท้อต่อความยากลำบากยากเข็ญ มิได้เห็น

๑๘. ที่ขัดข้องอันใดเปนข้อควรขยาด แม้ประโยชน์แลความสุขในส่วนพระองค์ ก็อาจทรงสละแลกความสุขสำราญ

๑๙. พระราชทานไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินได้ โดยทรงกรุณาปรานี พระองค์คือบุพการีของราษฎรเพราะเหตุเหล่านี้ แผ่นดิน

๒๐. ของพระองค์ จึ่งยงยิ่งด้วยความสถาพรรุ่งเรืองงาม มหาชนชาวสยามถึงความศุขเกษมล่วงล้ำอดีตสมัยที่ได้ปรากฏมา

๒๑. พระองค์จึ่งเปนปิยมหาราชที่รักของมหาชนทั่วไป

๒๒. ครั้นบรรลุอภิลักขิตสมัยรัชมังคลาภิเศกสัมพัจฉรกาล

๒๓. พระราชวงษานุวงษเสนามาตย์ราชบริพาร พร้อมด้วยสมณพราหมณอาณาประชาชน

๒๔. ชาวสยามประเทศทุกชาติทุกชั้นบรรดาศักดิ์ ทั่วรัฐสีมาอาณาเขตร

๒๕. มาคำนึงถึงพระเดชพระคุณอันได้พรรณามาแล้วนั้น จึ่งพร้อมกันสร้างพระบรมรูปนี้

๒๖. ประดิษฐานไว้สนองพระเดชพระคุณ เพื่อประกาศพระเกียรติยศ

๒๗. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์

๒๘. จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

๒๙. ปิยมหาราช

๓๐. ไห้ปรากฏสืบชั่วกัลปาวสาน

๓๑. เมื่อสุริยคติกาล พฤศจิกายนมาศ เอกาทศดิถี พุฒวาร จันทรคติกาล กฤติกมาศ กาฬปักษ์ตติยดิถี ในปีวอก สัมฤทธิศก

๓๒. จุลศักราช ๑๒๗๐

๓๓. ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา

ป้ายจารึกหน้าฐานพระบรมรูปทรงม้า (ที่มา จารึกในประเทศไทย กรมศิลปากร)

เรื่องราวป้ายจารึกที่ไม่แล้วเสร็จพร้อมพระบรมรูป คงจะเป็นเหมือนกับอีกหลายเรื่องราวที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองไทย ที่เหตุมาจากทั้งสถานการณ์ภายในและภายนอกประเทศ ทั้งที่มีบันทึกให้ได้รับรู้ทั่วกัน และไม่มีบันทึก จนไม่มีใครรู้จริงหากคาดเดาไปต่าง ๆ นานา จนกลายเป็นความยุ่งยากวุ่นวายในเวลาต่อมา

บัณฑิต จุลาสัย, รัชดา โชติพานิช / หน่วยวิจัยแผนที่และเอกสารประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมและเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ

[๑] สำเนาพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)

[๒] หอวชิราวุธานุสรณ์, สำเนาจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน พ.ศ. ๒๔๖๔ วันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๖๔

[๓] ประสาร บุญประคอง (ผู้อ่านจารึก)  คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี (ผู้ตรวจ(พ.ศ. ๒๕๒๑) จารึกในประเทศไทย โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร  (องค์การมหาชน) https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/image_detail/1103


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2563