สหรัฐฯ ผนวก “เท็กซัส” หลังขอรวมประเทศหลายครั้ง ไฉนยืดเยื้อ?

กองทัพสหรัฐอเมริกา ยึดกรุงเม็กซิโกซิตี้ ระหว่างครามสหรัฐฯ - เม็กซิโก, วาดโดย Carl Nebel ปี 1851 (ภาพจาก The New York Public Library)

29 ธันวาคม ปี 1845 (พ.ศ. 2388) สหรัฐอเมริกาผนวกเท็กซัสเป็นรัฐลำดับที่ 28 ของประเทศ ก่อนเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกา เท็กซัสเคยเป็นส่วนหนึ่งของเม็กซิโก พื้นที่นี้ถูกบุกเบิกโดยชาวสเปนตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 ในยุคแห่งการสำรวจและค้นพบ (Age of Exploration and Discovery)

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1820 สเปนอนุญาตให้โมเสส ออสติน (Moses Austin) นักธุรกิจชาวอเมริกันนำครอบครัวมาอยู่ในเท็กซัส ก่อนเม็กซิโกจะเป็นเอกราชจากสเปนหลังจากนั้นไม่นาน (ประกาศเอกราชเมื่อปี 1810 สำเร็จในปี 1821) เท็กซัสซึ่งขณะนั้นมีชุมชนชาวอเมริกันกว่า 300 ครอบครัวจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของเม็กซิโก โดยมีพลเมืองที่ผูกพันกับสหรัฐอเมริกามากกว่า

Advertisement

จากความวุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศเม็กซิโก เท็กซัสจึงประกาศแยกตัวเพื่อปกครองตนเองในนามสาธารณรัฐเท็กซัสเมื่อปี 1836 พร้อมความปรารถนาของนักการเมืองและบุคคลสำคัญของเท็กซัสที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันสหรัฐอเมริกาในทศวรรษ 1840-1860 ก็ผลักดันนโยบายขยายพื้นที่จากฝั่งตะวันออกของทวีปไปจรดชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกทางตะวันตก

แม้จะมีปัจจัยส่งเสริมทั้งการเป็นเอกราช พลเมือง และความต้องการของรัฐบาลเท็กซัสเอง แต่การผนวกดินแดนนี้ของสหรัฐอเมริกาไม่ได้เกิดขึ้นแบบทันทีทันใด ความยืดเยื้อนั้นมาจากปัญหาภายนอกและภายในของสหรัฐฯ เอง

หลังเป็นเอกราชแยกตัวออกจากเม็กซิโก รัฐบาลเท็กซัสเสนอตัวเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกาในสมัยของประธานาธิบดีแอนดรู แจ็คสัน (Andrew Jackson, ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 1829-1837) และ มาร์ติน แวน บูเรน (Martin Van Buren, ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 1837-1841) แต่รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว เพราะเกรงจะมีปัญหากับเม็กซิโก และความขัดแย้งภายในอันคุกรุ่นของปัญหาทาส โดยมีกลุ่มที่ต้องการให้เลิกทาส (Abolitionist) จากรัฐทางตอนเหนือ กับรัฐทางใต้ที่สนับสนุนการมีทาส เพราะเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ต้องการแรงงานทาสจำนวนมาก แตกต่างจากรัฐทางเหนือที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม

เท็กซัสเองเป็นดินแดนที่มีพื้นที่เกษตรกรรมและมีทาสจำนวนมาก รัฐสภาสหรัฐอเมริกาที่มีเสียงข้างมากเป็นผู้แทนฯ จากรัฐทางเหนือจึงไม่ต้องการให้เท็กซัสเข้าร่วมกับรัฐอื่น ๆ ทางใต้ที่ส่งเสริมการมีทาส กระทั่งสมัยของจอห์น ไทเลอร์ (John Tyler) ประธานาธิบดีผู้ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 1841-1845 เขาเป็นคนรัฐทางใต้ที่ต้องการผนวกเท็กซัสและผลักดันนโยบายนี้อย่างหนัก แต่สมาชิกรัฐสภาของรัฐทางเหนือยังคงยืนกรานคัดค้านนโยบายดังกล่าว

แม้จะให้การรับรองเอกราชของสาธารรัฐเท็กซัส แต่เม็กซิโกเองไม่ต้องการให้เท็กซัสรวมกับสหรัฐอเมริกาแต่อย่างใด และยังต้องการทวงคืนดินแดนเท็กซัสอยู่ ปัญหาเท็กซัสถูกรัฐบาลสหรัฐอเมริกานำกลับมาพิจารณาอีกครั้งในปี 1842 เนื่องจากเม็กซิโกเริ่มเสริมกำลังประชิดพื้นที่ของเท็กซัส ประธานาธิบดีซานตา แอนนา (Santa Anna) ของเม็กซิโก ถึงกับประกาศว่าการผนวกเท็กซัสของสหรัฐอเมริกาจะนำไปสู่สงครามอย่างแน่นอน ขณะที่อังกฤษก็เข้าแทรกแซง โดยสนับสนุนให้เท็กซัสเป็นรัฐอิสระในฐานะรัฐกันชน (Buffer State) รวมถึงโน้มน้าวให้เท็กซัสเลิกทาส ซึ่งนั่นสร้างความไม่พอใจแก่ชาวอเมริกันในรัฐทางใต้อย่างยิ่ง

หลังจากการพูดคุยระหว่างประธานาธิบดีของสาธารณรัฐเท็กซัส กับจอห์น ไทเลอร์ ในเดือนเมษายน ปี 1844 เท็กซัสได้ลงนามในสนธิสัญญาเพื่อการรวมกับสหรัฐอเมริกา แต่สนธิสัญญาดังกล่าวระบุให้เท็กซัสมีทาส จึงมีมติคัดค้านถึง 2 ใน 3 จากวุฒิสมาชิกของรัฐสภาสหรัฐอเมริกา กระทั่งต้นปี 1845 เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับการผนวกเท็กซัส จอห์น ไทเลอร์ จึงนำมติดังกล่าวเสนอต่อวุฒิสภาอีกครั้งและได้รับความเห็นชอบในที่สุด แต่เขาต้องหมดวาระการดำรงประธานาธิบดีก่อนดำเนินการใด ๆ ต่อ นโยบายดังกล่าวถูกสานต่อโดย เจมส์ เค. โพล์ก (James K. Polk) ประธานาธิบดีคนถัดมา

นโยบายของเจมส์ เค. โพล์ก มีคำขวัญหาเสียงว่า “รวมเท็กซัสและยึดครองโอเรกอน” (The re-annexation of Texas and re-occupation of Oregon) เป็นหนึ่งในตัวเรียกคะแนนเสียงให้เขาชนะการเลือกตั้ง เหตุผลของการผนวกเท็กซัสชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ จากการประชาสัมพันธ์ของฝั่งรัฐบาลซึ่งชี้แจงว่าชาวเท็กซัสส่วนใหญ่เป็นคนอเมริกัน และการปกครองตนเองของสาธารณรัฐเท็กซัสกำลังถูกคุกคามและแทรกแซงจากเม็กซิโกกับอังกฤษ ยิ่งไปกว่านั้นผลผลิตทางการเกษตรบนพื้นที่ขนาดใหญ่ของเท็กซัสคือแหล่งวัตถุดิบราคาถูกสำหรับอุตสาหกรรมทางตอนเหนือของประเทศ รัฐทางเหนือจึงเริ่มใจอ่อน

ประธานาธิบดี เจมส์ เค. โพล์ก (James K. Polk) ผู้ดำรงตำแหน่ง ประธานาธิบดีระหว่างปี 1845 -1849 (ภาพจาก Wikimedia Commons)

รัฐบาลโดยการนำของเจมส์ เค. โพล์ก เริ่มดำเนินการเพื่อให้การผนวกเท็กซัสลุล่วงโดยสมบูรณ์ ทั้งเตรียมพร้อมทางการทหารสำหรับรับมือเม็กซิโกในกรณีเกิดสงครามขึ้นจริง มีลำดับเหตุการณ์ในปี 1845 ดังนี้

28 กุมภาพันธ์ รัฐสภาสหรัฐอเมริกา ผ่านกฎหมายอนุญาตการผนวกเท็กซัสเป็นรัฐลำดับที่ 28 ของประเทศ

– 4 มีนาคม เจมส์ เค. โพล์ก แถลงการณ์ว่า สหรัฐอเมริกาจะผนวกเท็กซัส

– 28 มีนาคม รัฐบาลเม็กซิโกประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐฯ

– 28 พฤษภาคม เจมส์ เค. โพล์ก แต่งตั้ง นายพลซาคารี เทเลอร์ (Zacary Taylor) ผู้บัญชาการทหารดินแดนตะวันตกเฉียงใต้ มาประจำที่กองบัญชาการหลุยส์เซียนา ติดกับเท็กซัส พร้อมคำสั่งเคลื่อนกำลังเข้าเท็กซัสได้เลยหากเม็กซิโกรุกรานเท็กซัส

– 15 มิถุนายน นายพลซาคารี เทเลอร์ได้รับคำสั่งให้ตรึงกำลังที่บริเวณแม่น้ำรีโอแกรนด์ ในดินแดนเท็กซัส ประชิดกับฝั่งเม็กซิโก

– 23 มิถุนายน รัฐสภาสาธารณรัฐเท็กซัส มีมติเห็นชอบในการเข้าร่วมกับสหรัฐอเมริกา โดยเรียกประชุมกรณีพิเศษเพื่อยืนยันครั้งสุดท้ายในวันที่ 4 กรกฎาคม

– 13 ตุลาคม รัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกานำเสนอผลการหยั่งเสียงคนอเมริกันต่อการผนวกเท็กซัส ซึ่งข้อมูลบ่งชี้ว่าชาวอเมริกันเห็นชอบด้วยกับการเคลื่อนไหวดังกล่าว

29 ธันวาคม สหรัฐอเมริกาประกาศรวมเท็กซัสเป็นรัฐที่ 28 ของประเทศอย่างเป็นทางการ เนื่องจากเท็กซัสเป็นรัฐเกษตรกรรม มีแรงงานทาสจำนวนมาก จึงอยู่ในกลุ่มรัฐทาสลำดับที่ 15

แม้จะไม่เกิดการปะทะกันหรือสงครามระหว่างเม็กซิโกกับสหรัฐอเมริกาทันทีหลังการผนวกเท็กซัส แต่นโยบายขยายดินแดนไปฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา และความต้องการพื้นที่ตะวันตกเฉียงใต้ชายฝั่งแปซิฟิก อันได้แก่ ดินแดนแคลิฟอร์เนียบน (Uper California) นิวเม็กซิโก (New Mexico) และยูทาห์ (Utah) ท้ายที่สุดนำไปสู่สงครามระหว่างสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโก (The U.S. – Mexican War) ระหว่างปี 1846-1848

ด้วยความเหนือกว่าหลาย ๆ ด้าน ทั้งกำลังพล ยุทโธปกรณ์ และกลยุทธ์ ประกอบกับผู้บัญชาการที่มีความสามารถ กองทัพอเมริกันมีชัยชนะในสมรภูมิต่าง ๆ จนสามารถบุกยึดกรุงเม็กซิโกซิตี้ได้สำเร็จ นำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญา (The Treaty of Guadalupe Hidalgo) เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ปี 1848 สาระสำคัญ คือ

1. เม็กซิโกยอมถอนสิทธิการเป็นเจ้าของพื้นที่ตะวันตกเฉียงใต้ชายฝั่งแปซิฟิก นั่นคือ 3 ดินแดนข้างต้น ที่ต่อมากลายเป็นรัฐแคลิฟอร์เนีย เนวาดา ยูทาห์ แอริโซนา รวมถึงบางส่วนของรัฐนิวเม็กซิโก โคโลราโด และเท็กซัส

2. สหรัฐอเมริกาจ่ายเงิน 15 ล้านดอลลาร์ให้แก่เม็กซิโก สำหรับดินแดนตะวันตกเฉียงใต้ที่กลายเป็นของสหรัฐฯ ในปี 1848 (ทุกดินแดน ยกเว้นเท็กซัสที่ถูกผนวกไปตั้งแต่ปี 1845)

3. สหรัฐอเมริกายอมชดใช้หนี้สินจำนวน 3.25 ล้านดอลลาร์แก่คนอเมริกันแทนรัฐบาลเม็กซิโก

4. ลุ่มแม่น้ำรีโอแกรนด์คือพรมแดนระหว่างสหรัฐอเมริกากับเม็กซิโก

การขยายดินแดนจรดชายฝั่งแปซิฟิกของรัฐบาลสประธานาธิบดีเจมส์ เค. โพร์คจึงบรรลุเป้าหมาย ทั้งการผนวกเท็กซัส สงครามกับเม็กซิโกเพื่อดินแดนตะวันตกเฉียงใต้ รวมถึงการเจรจาเพื่อแบ่งเขตโอเรกอนกับอังกฤษ เป็นผลให้ทำให้เกิดการอพยพหลั่งไหลของชาวอเมริกันไปยังดินแดนตะวันตกอย่างคึกคักนับตั้งแต่นั้น

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

อรพันท์ ปานนาค, รศ. (2543). ประวัติศาสตร์อเมริกา 1. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง

Britannica (Retrieved Dec 28, 2022) : Mexican-American War, Mexico-United States [1846–1848]. (Online)

The Dallas Morning News, texasalmanac.com (Retrieved Dec 28, 2022) : TEXAS HISTORY. (Online)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 ธันวาคม 2565