“เสียมราบ” ชื่อนี้มาจากไหน ฤาเพิ่งถูกนำมาใช้สมัยกรุงรัตนโกสินทร์?

เสียมเรียบ เสียมราบ นครวัด กัมพูชา
พระสงฆ์เดินผ่านบริเวณปราสาทนครวัด ในจังหวัดเสียมราบ ของกัมพูชา เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2000 (AFP PHOTO/Philippe Lopez)

“เสียมราบ” หรือ “เสียมเรียบ” เป็นชื่อจังหวัดอันเป็นที่ตั้งของ ปราสาทนครวัด อันโด่งดังของกัมพูชา มีการอธิบายว่ามาจากตำนานที่ พระร่วง ผู้นำชาวเสียม (สยาม) ไปหมอบราบด้วยความเกรงกลัวอำนาจพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ สถานที่บริเวณดังกล่าวจึงถูกเรียกกันว่าเสียมราบ (ตำนานดังกล่าวมาจากเอกสารเขมรที่น่าจะแปลในราวรัชกาลที่ 4-5 เพราะมีการตีพิมพ์ครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5)

รศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเขมรบอกว่า นี่แสดงให้เห็นว่า แม้แต่ผู้เขียนพงศาวดารเขมรเองก็ไม่สามารถอธิบายได้ว่าเสียมราบนั้น ราบเมื่อใด และราบเพราะเหตุใด จึงต้องแต่งตำนานอธิบายสถานที่”

ขณะเดียวกันก็มีพระราชพงศาวดารเขมร ฉบับออกญาพระคลัง (นง) ที่ได้จดบันทึกการทำศึกในสมัยรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พระองค์จันท์) เอาไว้ว่า ไทยได้ยกทัพมาตีเมืองเขมรและแพ้กลับไป ณ บริเวณเมืองพระนครหลวง นั่นจึงอาจเป็นสาเหตุที่ “เสียมราบ” ถูกนำมาใช้เรียกพื้นที่บริเวณเมืองพระนครหลวงก็เป็นได้ ซึ่ง รศ. ดร. ศานติ กล่าวว่า แต่เดิมพื้นที่ดังกล่าวน่าจะเป็นเพียงชุมชน ก่อนขยายเป็นเมืองในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์

หากพิจารณาจากหลักฐานของเขมรเอง โดยเฉพาะพระราชพงศาวดารเขมร ฉบับออกญาพระคลัง (นง) ที่กล่าวถึงข้างต้น ซึ่งแต่งขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระอุทัยราชา (พระองค์จันท์) ตรงกับรัชกาลที่ 2 ของไทยนั้น รศ. ดร. ศานติ กล่าวว่า ในเอกสารดังกล่าว “ไม่พบว่ามีการเรียกบริเวณเมืองพระนครวัดว่าเสียมราบ หากแต่ใช้ว่า ‘เมืองพระนครวัด’ โดยตลอด ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 1 ของไทย”

ส่วนหลักฐานทางฝั่งไทย รศ. ดร. ศานติบอกว่า เสียมราบปรากฏอยู่ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับความพิสดารแทบทุกฉบับ เช่น พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา (ซึ่งเป็นงานที่ชำระขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4) แต่กลับไม่มีเอกสารร่วมสมัยฉบับอื่นกล่าวถึงเสียมราบเลย

แล้วอธิบายต่อไปว่า เสียมราบมักถูกใช้ปะปนกับคำว่า “เมืองพระนครวัด” ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เข้าถึงสมัยรัชกาลที่ 3 เสียมราบจึงถูกใช้เป็นคำหลักชัดเจน (มียกเว้นบ้าง เช่น เรื่อง “ประกาศเรื่องแผ่นดินเขมร” พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 4 ที่ใช้คำว่า “เมืองนครวัด” แทนเสียมราบ) เรื่อยไปจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 จึงได้เปลี่ยนมาใช้คำว่า “เสียมราฐ” แทนในภายหลัง

คำว่าเสียมราบจึงน่าจะเป็นคำที่ถูกนำมาใช้เรียกชุมชนอันเป็นที่ตั้งของปราสาทนครวัด ซึ่งพัฒนาขึ้นเป็นเมืองในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ และมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีการตั้งเมืองอย่างเป็นทางการ พร้อมสร้างกำแพงป้องกันขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ศานติ ภักดีคำ. “นครวัด เสียมเรียบ ชื่อนี้มาจากไหน? ใครเรียก?” นครวัด ทัศนะเขมร. สุจิตต์ วงษ์เทศ, บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2545. น.22-25


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 มิถุนายน 2560