“หลี่ผี” ตำนาน “ความลี้ลับ” ชาวอีสาน คำนี้มาจากไหน แล้วอยู่ที่ใดกันแน่?

หลี่ผี ลาว
หลี่ผี น้ำตกในลำน้ำโขงที่ไม่ได้ไหลตกจากภูเขา

หลี่ผี เป็นสถานที่ที่ชาวอีสานนำมาอุปมากับความห่างไกล กันดาร ความลำบากต่าง ๆ เช่น “ปานมาแต่หลี่ผี” (เชยเหมือนเพิ่งเดินทางมาจากหลี่ผี) “ไกลปานไปหลี่ผี” “ไปยากปานไปหลี่ผี” “อยู่ไกลปานหลี่ผี” “อยู่ในปานหลี่ผี” ฯลฯ นอกจากนี้ หลี่ผี ยังมีความลี้ลับที่น่าหวาดหวั่น เพราะมีคำอุปมาและนิทานเกี่ยวกับหลี่ผีหลายเรื่องหลายรส เช่น เรื่องกำพร้าผัวผี ตำนานปลาข่า เป็นต้น

เมื่อต้นเดือนเมษายน 2547 ชาวบ้านมาขอร้องให้ช่วยไปดูไร่พริก บอกว่ามันไม่งามทั้ง ๆ ที่ใส่ปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมี เมื่อไปถึงพบว่าต้นพริกนั้นขาดน้ำ จึงแนะนำให้สูบน้ำรดให้ชุ่ม เจ้าของไร่ทำหน้าละห้อยตอบอ้อมแอ้มว่า “รอฝนได้ไหมครับ น้ำอยู่หลี่ผีพุ้นน่ะ” มีความหมายว่าแหล่งน้ำอยู่ไกลมาก ไกลปานหลี่ผี

Advertisement

หลี่ผี ไกลแค่ไหนหรือ? ไม่ไกลหรอกถ้าหากสามารถลัดจากช่องเม็กไปจำปาสักได้ ระยะทางก็คงไม่เกิน 150 กิโลเมตร แต่เพราะเขตนั้นเป็นประเทศลาวจึงไม่มีถนนลัดไปได้ ต้องอ้อมไปปากเซ แล้วตามถนนหมายเลข 13 ลงไปทางใต้อีก 100 กิโลเมตร ลงเรือที่บ้านนากะสังหรือบ้านเพียงดีก็ได้ ล่องตามลำน้ำโขง เลียบเกาะต่าง ๆ ไปทางใต้อีกประมาณ 25 นาที ก็ถึงดอนคอน (คอน แปลว่าน้ำตก) ขึ้นเกาะดอนคอนเดินหรือนั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างไปท้ายเกาะโดยผ่านบ้านหางคอนไปประมาณ 1 กิโลเมตร ก็ถึงหลี่ผีแล้ว

หลี่ผี คือชื่อน้ำตกหรือชื่อแก่งหินที่เกิดจากพื้นลำน้ำโขงเปลี่ยนระดับ ทรุดลงจากระดับท้องน้ำปกติประมาณ 25-30 เมตร น้ำในลำน้ำโขงจึงไหลตก กลายเป็นน้ำตกที่ไม่ได้ตกจากภูเขาเหมือนน้ำตกส่วนใหญ่

พื้นใต้ลำน้ำโขงช่วงนี้ไม่ใช่พื้นดิน แต่เป็นพื้นหินที่ทรุดระดับสูงๆ ต่ำ ๆ หลายช่วง ทำให้น้ำตกกลายเป็นหลายสาย เป็นน้ำตกจากซอกเล็ก ๆ น้อย ๆ สูง ๆ ต่ำ ๆ หลายระดับ เพิ่มความสวยงามตื่นตา และน้ำตกต้องตาดแห่งนี้มีเสียงกึกก้องอุโฆษครึกโครม ทั้งงดงามและน่าสะพรึงกลัวเป็นอย่างยิ่ง

หลี่ผี ทั้งงดงามและน่าสะพรึงกลัวเป็นอย่างยิ่ง

สายน้ำตกที่ใหญ่ที่สุดในหลี่ผีมีชื่อเรียกว่าน้ำตก สมพะมิด แต่ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงชื่อเฉพาะนี้ กลับเรียกรวมทั้งหมดว่า “น้ำตกหลี่ผี” อนึ่งชื่อสมพะมิดมีผู้สันนิษฐานว่าน่าจะมาจาก สม กับ เทพนิมิต แล้วกร่อนเป็น สมเทพนิมิต และ สมพะนิมิต จนเหลือเพียง สมพะมิด ในที่สุด

ชื่อหลี่ผีชื่อนี้ มีที่มาจากความลี้ลับที่ไม่ค่อยมีคนเดินทางไปถึงได้ง่าย ๆ และลำน้ำโขงที่ถูกดอน (เกาะ) ต่าง ๆ บีบให้น้ำไหลตกตามซอกหินหลายสาย เป็นสถานที่ที่น่าจะทำหลี่ดักปลาอย่างยิ่ง แต่สายน้ำอันเชี่ยวกรากก็เป็นอุปสรรคที่น่าหวั่นเกรง จึงมีผู้จินตนาการว่ามีผีเท่านั้นที่จะสามารถทำหลี่ที่นี่ได้ และเกิดนิทานพื้นบ้านที่เกี่ยวกับผีขึ้นที่นี่หลายสำนวน

ปรีชา พิณทอง ให้ความหมายของคำว่าลี่ (หลี่) และลี่ผี (หลี่ผี) ไว้ในหนังสือสารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ หน้า 678 ว่า…

ลี่ น. สถานที่สำหรับดักปลาเรียกลี่ ทำด้วยตอกไม้ไผ่ปากกว้างก้นเล็ก วางไว้ตามร่องน้ำเมื่อปลาเข้าไปแล้วออกไม่ได้ อย่างว่า ลูกหนึ่งทำไฮ่สร้างนาสวนต้อนลี่ (ปัสเสน) Funnel-Shaped barrier placed in current for directing fish into trap or net

ลี่ผี น. แก่งหินในลำแม่น้ำโขงในแขวงจำปาสัก ประเทศลาว มีลักษณะเหมือนลี่ คือปากกว้างก้นแคบ คนไม่ได้ทำ ธรรมชาติสร้างไว้ จึงสมมุติให้ผีเป็นเจ้าของ เรียกลี่ผีมาจนทุกวันนี้ Rapids where rocks funnel water into a narrow channel

ลี่ สำหรับดักปลา ทำด้วยตอกไม้ไผ่ปากกว้างก้นเล็ก

ปัจจุบันเทคโนโลยีล้ำหน้า มีชาวบ้านใจกล้าเสี่ยงตายทำหลี่คอกม้าดักปลาไว้มุมหนึ่ง (ทำให้น้ำตกขาดความสวยงามไปโข) หลี่คอกม้านี้ทำมานานแล้วได้ปลามากมายคุ้มค่ากับการเสี่ยงชีวิต และที่ได้เป็นพิเศษคือซากศพทั้งคนและสัตว์ที่พลาดจมน้ำตาย พ.ศ. 2516-2518 (ลาวเกิดสงครามปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง) หลี่คอกม้าแห่งนี้ดักได้ศพคน (ผีตายลอยน้ำมา) มากมาย เป็นหลี่ที่สมชื่อว่าหลี่ผี (หลี่ดักผี) จริง ๆ

ปู่เคยเล่านิทานเรื่องกำพร้าผัวผีให้ฟัง ยังจำได้อย่างประทับใจ และใฝ่ฝันจะไปหลี่ผีให้ได้ตั้งแต่นั้นมา เนื้อหานิทานเรื่องนี้มีว่า

ชายหนุ่มกำพร้าบิดา หาปลามาแลกข้าวเลี้ยงแม่ เมื่อปลาใกล้หมู่บ้านหายากเพราะมีน้อยลง เขาก็เดินทางออกไปหาปลาไกลออกไปเรื่อย ๆ จนถึงหลี่ผี จึงวางเบ็ดล่อปลาไว้แล้วก็กลับบ้าน พอรุ่งเช้ารีบไปกู้เบ็ดก็พบว่าเบ็ดทุกคันก็ถูกหักทิ้งทั้งหมด ชายหนุ่มจึงไม่ได้ปลา บ่ายของวันนั้นเขาก็ออกไปวางเบ็ดที่บริเวณเดิม รุ่งขึ้นไปกู้เบ็ด ผลก็เป็นเช่นเดิมคือเบ็ดถูกหักอีก เขาโกรธมากจึงคิดว่าจะต้องจับผู้ที่มาขโมยปลาให้ได้

ดังนั้น ตอนเย็นของวันที่สาม เขาก็ออกไปวางเบ็ดที่เดิม แล้วก็พายเรือทำทีเป็นกลับบ้าน แต่ที่จริงไปแอบซุ่มอยู่บริเวณที่ใกล้ ๆ นั่นเอง เขารอจนดึก เดือนหงายส่องสว่างทั่วท้องน้ำ เขาก็เห็นคนเดินมาจากทางไหนไม่รู้แล้วตรงไปยกเบ็ดเขาขึ้นมา เบ็ดคันใดติดปลาก็จะปลดเอาปลาแล้วกัดกินอย่างหิวกระหาย ถ้ายกเบ็ดคันใดขึ้นแล้วไม่ติดปลา มันก็จะหักทึ้งดึงแล้วก็เหยียบอย่างโกรธแค้น

ฝ่ายชายหนุ่มแอบดูเห็นเช่นนั้นเขาก็กลัวมาก รีบพายเรือเลียบไปตามเงาไม้เพื่อหลบหนี แต่ความลนลานทำให้ไม้พายของเขากระทบกระแทกหินอย่างแรงดังโป๊ก! ทำให้ร่างที่กำลังกินปลาได้ยิน มันหันมามองแล้วกระโดดน้ำโครมลงมาไล่เรือของชายหนุ่มอย่างรวดเร็วว่องไว คว้าจับเรือของเขากระชากอย่างแรงจนเขาพลัดตกน้ำ

มันโยนเรือของเขาทิ้งอย่างไม่สนใจ หันมาคว้าตัวชายหนุ่มหนีบไว้ด้วยรักแร้เดินดุ่มขึ้นบก ไม่สนใจเสียงร้อง การดิ้นรน และการทุบตีของชายหนุ่ม เมื่อไปถึงถ้ำ ผีก็บังคับให้เขาเป็นผัวของมัน ไม่เช่นนั้นผีก็จะกินเขาด้วยวิธีการหักคอเขาให้ตาย

ชายหนุ่มจำใจเป็นผัวผีอยู่หลายเดือน คืนวันหนึ่งเดือนหงาย ผีออกหากิน ชายหนุ่มได้โอกาสก็แอบย่องตามหลังไป แล้วก็วิ่งหนีไปอีกทาง เขาพยายามวิ่งเข้าไปในป่าจนทะลุออกทุ่งนา เขาก็จำได้ว่าเป็นทุ่งนาท้ายหมู่บ้านของเขาเอง เขาดีใจมากพยายามวิ่งผ่านทุ่งนาจะลัดเข้าหมู่บ้านให้ได้โดยเร็วที่สุด เพราะกลัวนางผีร้ายจะตามมาทัน แต่นางผีร้ายก็ตามเขามาทันจริง ๆ มันร้องบอกให้เขาหยุดวิ่ง แต่ชายหนุ่มกลัวมาก เขากระโดดข้ามคันนาเหยียบพลาดล้มฟาดลงบนพื้นดินและบาดเจ็บ

เมื่อนางผีร้ายตามมาทัน มันก็กระโดดเข้าจับตัวชายหนุ่ม เขาจึงแกล้งทำเป็นตายสนิท ดอกข้าวร่วงติดตามร่างกายของเขา ทำให้นางผีร้ายเข้าใจว่าไข่ขาง (ไข่ของแมลงวัน) นางผีร้ายลองเอามือจี้สะเอว เพื่อตรวจสอบว่าชายหนุ่มตายจริงหรือไม่ ชายหนุ่มกลั้นหัวเราะจนตดและขี้เล็ดออกมา นางผีร้ายได้กลิ่นเหม็นก็เข้าใจว่าตายจริง นางจึงร้องไห้คร่ำครวญสงสารผัวตนเอง แล้วนางก็พูดกับร่างที่เข้าใจว่าตายแล้วว่า ให้อยู่ตรงนี้จะไปนำไหคำไหเงินมาให้ แล้วผีก็จากไป

ชายหนุ่มกลัวว่าผีจะกลับมาเร็วก็ไม่กล้าลุกหนีไปไหนนอนนิ่งท่าเดิม ไม่นานผีก็กลับมาพร้อมกับไห ๒ ไห วางไว้ปลายตีนของชายหนุ่ม แล้วนางก็ร้องไห้และจากไป ชายหนุ่มรอจนรุ่งเช้าสว่างแล้ว รู้ว่าผีมาทำร้ายเขาไม่ได้แล้ว เขาก็นำไหทั้งสองกลับบ้าน เล่าเรื่องราวให้แม่ฟัง แล้วเปิดไหออกดูเขาก็พบทองคำและเงินจำนวนมาก ชายหนุ่มจึงนำไปขายได้เงินมากจนกลายเป็นคนรวย

เขาไม่กล้าไปแถวหลี่ผีอีกเลย ถึงแม้เขาจะร่ำรวยเพราะไหผีก็ตาม

อนึ่ง ซอกหินกว้างที่เป็นธารน้ำจากน้ำตกหลี่ผี จะไหลเชี่ยวกรากรุนแรงจนเกิดเสียงอุโฆษครึกโครมตลอดปี ธารน้ำนี้ไหลไปทางทิศใต้ไกลประมาณ 150 เมตร ก็จะถึงบึงน้ำขนาดใหญ่ลึกและกว้าง 2 กิโลเมตร อาณาเขตประเทศลาวด้านนี้สิ้นสุดที่นี่ เพราะบึงน้ำแห่งนี้เป็นบึงน้ำของทั้งลาวและเขมร ชาวประมงของทั้งสองประเทศหาปลาในบึงใหญ่นี้ร่วมกัน เป็นเจ้าของบึงคนละครึ่ง

บึงแห่งนี้คือที่มาของนิยายรักของปลาข่า (โลมาน้ำจืด) และนกสีน้ำเงิน

ปลาข่าหรือโลมาน้ำจืด เชื่อกันว่ามีเฉพาะในบึงนี้เท่านั้น ลักษณะคล้ายโลมาหัวบาตร ตาเล็กจนชาวประมงคิดว่ามันตาบอด กินปลาเป็นอาหาร อยู่รวมกันเป็นฝูงในบึงแห่งนี้ โผล่ให้เห็นบ่อย ๆ ครั้งละตัวสองตัว แต่ไม่ใช่กระโดดน้ำเล่น จะโผล่ขึ้นมาในแนวตั้งตัวตรงกับผิวน้ำ ในปากจะคาบปลาที่เหลือกินขึ้นมาด้วย และมีนกสีน้ำเงินสวยงาม (ตัวใหญ่กว่านกกระเต็น ตัวเล็กกว่านกนางนวล) บินมาโฉบส่งเสียงร้องวนเวียนหลายรอบก่อนที่จะร่อนลงไปหา แล้วคาบกินปลาที่ปลาข่าชูขึ้นมานั้นทุกครั้ง เป็นภาพที่ถ้อยทีถ้อยอาศัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของสัตว์สองชนิด จนผู้พบเห็นต้องจินตนาการเป็นตำนานรักปนเศร้าของสัตว์ทั้งสอง เรียกว่าตำนานปลาข่า…ว่า

สามีภรรยาหนุ่มสาวชาวข่า (ชนชาติหนึ่งสมัยขอม) ได้ทราบข่าวเรื่องความอุดมสมบูรณ์บริเวณหลี่ผี จึงพายเรือทวนน้ำขึ้นมาจากดินแดนเขมรต่ำในปัจจุบัน พอมาถึงบึงใหญ่ก็เริ่มหาปลา เมียนั่งรอในเรือ ผัวลงดำน้ำจับปลา พอได้ปลาก็ชูขึ้นมาส่งให้เมียเก็บไว้ในท้องเรือ

พอมาถึงลำธารตรงหลี่ผีที่มีปลาชุมพอ ๆ กับมีอันตรายจากสายน้ำอันเชี่ยวกราก เขาก็ถูกสายน้ำพัดกระแทกแก่งหินจมน้ำตาย กลายเป็นปลาข่าที่เฝ้าอยู่ในบึงแห่งนี้ ฝ่ายภรรยาสาวเมื่อไม่เห็นสามีโผล่ขึ้นมาหาก็ร้องไห้คร่ำครวญจนตายตามไป กลายเป็นนกสีน้ำเงินที่รอคอยกินปลาจากปากปลาข่า

ขอกระซิบดัง ๆ ว่า ปลาข่าน่ะมีอวัยวะเพศเหมือนคนเลยนะ ตำนานรักปนเศร้าจึงน่าจะเกิดขึ้นจากเหตุนี้ก็ได้ และที่น่าเสียดายก็คือ ขณะนี้ปลาข่ามักจะถูกชาวประมงฆ่าตายบ่อย ๆ โดยฟันด้วยมีด โทษฐานลักกินปลาในอวนของชาวประมง และบางครั้งมันก็ถูกอวนพัน จนโผล่ขึ้นหายใจไม่ได้มันก็ตายไปเอง แต่ที่แน่ๆ ก็คือชาวประมงทั้งลาวและเขมรทิ้งซากปลาข่าอย่างไร้ประโยชน์ ไม่มีใครกล้ากินเพราะเชื่อตามตำนานนี้

กลับจาก “หลี่ผี” ลูกชายวิ่งออกมารับ สำรวจของฝากแล้วทำหน้าจ๋อย เหลือบเห็นกระบอง (ขี้ไต้) ลึมใหญ่ เขาหัวเราะท่าทางขบขัน ยกลึมขี้ไต้ขึ้นชูสูง พร้อมกับประกาศเสียงดัง “ข้ามาจากหลี่ผี ฮ่า ฮ่า ฮ่า”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 มิถุนายน 2560