ต้นตอ “ลาวบางกอก” ลาวจากเวียงจันยุคต้นรัตนโกสินทร์ บริวารเจ้า สู่รุ่นสุดท้ายที่เข้ามา

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาปราบปรปักษ์
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาปราบปรปักษ์ พระราชโอรสของรัชกาลที่ 2 กับเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี (ภาพจาก www.wikipedia.org)

เมื่อพูดถึง “ลาว” ในไทยมีลาวหลายกลุ่มด้วยกัน เช่น สมัยกรุงธนบุรี เมื่อตีเมืองล้านช้างก็ได้พวกลาวทรงดำมาเป็นอันมาก ครั้งนั้นโปรดให้พวกลาวทรงดำไปตั้งบ้านเรือนอยู่เมืองเพชรบุรี ลาวเวียง ลาวหัวเมืองฟากโขงตะวันออกก็โปรดให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่เมืองสระบุรีบ้าง เมืองราชบุรีบ้าง เมืองจันทบุรีบ้าง

ส่วนที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็น “ลาวบางกอก” ที่ ส.พลายน้อย เขียนถึงในบทความชื่อ “ลาวบางกอก” (นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2545) ซึ่งขอคัดบางส่วนมานำเสนอดังนี้


 

ลาวที่อยู่บางกอกนั้นเข้าใจว่าจะเป็นพวกลาวเวียงจันที่เป็นบริวารของเจ้าลาว

เจ้าลาวก็คือบรรดาเจ้านายเมือง เวียงจันและเชื้อพระวงศ์ที่ได้มาเป็นเจ้าจอม ท่านเหล่านี้ย่อมมีข้าทาสบริวารตาม มาปฏิบัติรับใช้ ถ้าจะสืบหาเจ้าลาวที่เข้ามาอยู่บางกอกก็พอจะทราบได้บ้าง อย่างตามประวัติของพระยานครศรีบริรักษ์ เจ้าเมืองขอนแก่นได้เล่าไว้พอสรุปได้ดัง ต่อไปนี้

เมื่อ พ.ศ. 2321 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โปรดให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นแม่ทัพยกไปตีเมืองเวียงจันได้แล้วก็ตั้งให้พระยาสุโพ เป็นผู้รักษาเมือง แล้วอพยพครอบครัวชาวเวียงจันพร้อมทั้งนางสนมกำนัลทั้งหลายลงมาไว้ยังกรุงธนบุรี ในครั้งนั้นนางคำแว่นซึ่งเป็นธิดาคนโตของท้าวเพี้ยเมืองแพนก็ถูกอพยพลงมาด้วย

นางคำแว่นคนนี้มีเรื่องเกร็ดเล่าขานเป็นตำนานมากกว่าคนอื่นๆ ตามคำของญาตินางคำแว่นได้เล่าสืบกันมาว่า นางคำแว่นเป็นนางข้าหลวงของเจ้าหญิงเขียวค่อมซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ของพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต ภายหลังเจ้าเขียวค่อมได้เป็นหม่อมของสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก

เรื่องที่นางคำแว่นจะได้รับการยกย่องเกิดขึ้นในเวลาบ่ายวันหนึ่ง ขณะที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกำลังนอนหลับอยู่ได้ร้องละเมอขึ้นด้วยเสียงอันดังเป็นเวลานานและไม่รู้สึกตัว บรรดาบ่าวไพร่ต่างพากันตกใจไม่รู้จะทำอย่างไร นางคำแว่นซึ่งอยู่ ณ ที่นั้นได้เห็นเหตุการณ์โดยตลอด นางจึงคลานเข้าไปใกล้ๆ ก้มลงกราบแล้วใช้ปากกัด ที่นิ้วเท้าโดยมิได้ถูกต้องร่างกายแต่อย่างใดเลย

เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกถูกกัดก็ตื่น ถามว่าผู้ใดเป็นคนปลุก

เจ้าเขียวค่อมได้ตอบว่า นางคำแว่นเป็นผู้ปลุกด้วยวิธีเอาปากกัดดังกล่าว สมเด็จเจ้าพระยาฯ จึงถามต่อไปว่า นางคำแว่นเป็นคนของใคร ลูกเต้าเหล่าใคร เจ้าเขียวค่อมก็เล่าความเดิมว่านางคำแว่นได้ติดตามมาจากนครเวียงจัน เมื่อทราบความจริงดังนั้นแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาฯ จึงดำริว่านางคำแว่นมีความจงรักภักดีและกล้าหาญมาก พฤติการณ์ที่นางกระทำลงไปนั้นเป็นที่น่าพอใจ จึงยกย่องนางคำแว่นให้เป็น “ท้าวเสือ”

นางคำแว่นหรือท้าวเสือตามประวัติที่คนในตระกูลเล่าดังกล่าวก็คือ เจ้าจอมแว่นหรือคุณเสือที่มีกล่าวถึงในพงศาวดารรัชกาลที่ 1 นั่นเอง ตามเรื่องที่เล่ากันมาว่าเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกแต่ครั้งยังมีนิวาสสถานอยู่ทางฝั่งธนบุรี จนเป็นที่ขวางหูขวางตาท่านผู้หญิง และถึงกับใช้ดุ้นแสมตีศีรษะคุณเสือเสียเลือดอาบ

เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริษย์ศึกเสวยราชย์แล้วโปรดให้คุณเสือเป็นพระสนมเอก มีเรื่องเล่ากันว่าเมื่อทรงสร้างวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามนั้นเจ้าจอมแว่นได้กราบทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกว่า ปรารถนาจะทำบุญอธิษฐานขอให้มีบุตร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทํารูปเด็กแต่งเครื่องอาภรณ์ติดฝาผนังไว้ 2 ข้างพระพุทธรูปในวิหารพระโลกนาถ

รจนาสุดารัตนแก้ว   กุมารี หนึ่งฤา

เสนออธิบายบุตรี   ลาภไซร้

บูชิตเชษฐชินศรี   เฉลาฉลัก หินเฮย

บุญส่งจงลุได้   เสด็จด้วยดังถวิล

กุมารหนึ่งพึ่งฉลักตั้ง   ติดผนัง

สถิตย์อยู่เบื้องหลัง   พระไว้

คุณเสือสวาดหวัง   แสวงบุตร ชายเฮย

เฉลยเหตุธิเบศร์ให้   สฤษดิแสร้งแต่งผล

เจ้าจอมแว่นคงจะได้รับพระราชทานเรือกสวนไร่นามาก และบางทีท้าวเพี้ยเมืองแพนซึ่งโปรดให้เป็นพระนครศรีบริรักษ์ ผู้ว่าราชการเมืองขอนแก่นคนแรกคงจะส่งข้าทาสบริวารที่เป็นคนลาวลงมารับใช้ ก็ให้ทำสวนทำนาทางฝั่งธนบุรี ตามประวัติที่พระยาชลธารพินิจจัย (มุ้ย) เล่า ก็ว่าคุณเสือมีหญิงแม่มดคน 1 ชื่อ จ่าย เป็นคนดูแลสวนของเจ้าจอมแว่น ครั้งหนึ่งนายสังข์กับแม่มดจ่ายคิดจะสร้างโบสถ์ แม่มดจ่ายจึงไปขอความช่วยเหลือจากเจ้าจอมแว่นก็ได้ตามที่ขอ

แต่ครั้นเมื่อสร้างเสร็จแล้วถึงเวลาจะขอพระราชทานที่วิสุงคามสีมา ทั้งสองก็ผิดใจกันเพราะแม่มดจ่ายจะขอในนามของตน ข้างฝ่ายนายสังข์ก็ไม่ยอมจะขอในนามตนเหมือนกัน แม่มดจ่ายเห็นว่าตนใกล้ชิดผู้ใหญ่มากกว่า ก็ขอให้จ้าจอมแว่นนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานที่วิงสุงคามสีมา

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมีพระราชดำรัสว่า วัดที่นายสังข์กับแม่มดจ่ายสร้างนั้น ไม่สมเกียรติยศเจ้าจอมแว่น จะทรงสร้างพระราชทานจึงมีพระราชดำรัสให้กรมหมื่นไกรสรวิชิตเป็นนายงานสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่ กล่าวกันว่าเมื่อแรกขุดเอาโอสถนั้นพบพระกัจจายน์หน้าตัก 10 นิ้ว กับพระสังข์ขอน 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงพระราชทานนามวัดว่าวัดสังข์กัจจาย

ครั้นต่อมาคนเรียกชื่อกลายเป็นวัดสังกระจายและสังข์กระจาย

ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกสวรรคตแล้ว เจ้าจอมแว่นได้ออกมาทำบุญให้ทานที่วัดนี้เป็นประจำและได้ถวายที่ส่วนของตนทั้งหมดให้แก่วัดปรากฏว่าในเบื้องปลายของชีวิตเจ้าจอมแว่นได้ไปสมัครสมานอยู่กับเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ซึ่งเป็นเชื้อสายลาวเวียงด้วยกัน และได้ช่วยเลี้ยงดูสมเด็จพระเจ้าลูกเธอที่เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีเป็นพระมารดา มาจนถึงศัลยกรรมในรัชกาลที่ 2

เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี (พระองค์เจ้าจันทบุรี) พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 1 เป็นพระองค์เจ้าเพียงพระองค์เดียวของเจ้าจอมมารดาทองสุก ซึ่งเป็นพระธิดาพระเจ้าอินทวงศ์ (ตรงนี้มีความแย้ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชวิจารณ์ไว้ในหนังสือจดหมายเหตุความทรงจำตอนหนึ่ง “ในจดหมายเหตุเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่า เจ้าอินเป็นตาเจ้าฟ้ากุณฑล ผิดกันกับที่รู้จักสมเด็จกรมพระบำราบปรปักษ์และองค์สุบงกช เจ้านันทเสนเป็นตาเจ้าฟ้ากุณฑล ต้องกล่าวโทษปลายแผ่นดิน จึงตั้งเจ้าอินเป็นเจ้าเมือง เจ้าอินนี้เป็นตาพระเจ้าราชวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุบงกช” ซึ่งเป็นพระราชธิดาในรัชกาลที่ 3 ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาน้อยลาว ธิดาเจ้าอุปราชเวียงจันในหนังสือ “ความเป็นมาของลาวหรือเรื่องชาติลาว” ท้าวอู่คำ พมวงสา จัดพิมพ์โดยยุวสมาคมแห่งประเทศลาว กล่าวว่า “เจ้าอินทะวงมีพระราชธิดาเป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (บางกอก) และได้มีพระราชบิดาทรงพระนามว่าจะเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี”)

เพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับราชวงศ์ลาวจะขอกล่าวเฉพาะราชวงศ์เจ้าศิริบุญสาร ซึ่งมีเรื่องเกี่ยวกับกรุงรัตนโกสินทร์จนเวียงจันถูกทำลาย

เจ้าศิริบุญสารมีราชโอรส 4 พระองค์คือ เจ้านันทเสน เจ้าอินทวงศ์ เจ้าอนุวงศ์ และเจ้าพรหมวงศ์ มีพระราชธิดา 1 คือ เจ้าแก้วยอดฟ้า (เจ้าหญิงเขียวค่อมที่กล่าวถึงข้างต้น)

เมื่อเมืองเวียงจันเสียแก่กองทัพไทยดังกล่าว เจ้าศิริบุญสารได้หนีไปอยู่เมืองคำเกิด แม่ทัพไทยจึงนำพระราชโอรสและพระราชธิดาของเจ้าศิริบุญสารลงมายังกรุงธนบุรี ภายหลังเจ้าศิริบุญสารทราบว่าไทยไม่ได้ทำร้ายกับทรงชุบเลี้ยงอย่างดี จึงกลับมาเวียงจันแล้วขอเป็นประเทศราชของไทย จนสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2324

ในระหว่างนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเตรียมส่งเจ้านันนทเสนไปกองเวียงจัน ก็พอดีเกิดเปลี่ยนราชวงศ์ เจ้านันนทเสนจึงได้ปกครองนครเวียงจันในสมัยรัชกาลที่ 1 พร้อมกับให้เจ้าอินทวงศ์ไปเป็นอุปราช สวนเจ้าอนุวงศ์และเจ้าพรหมวงศ์ยังอยู่ที่กรุงเทพฯ ในระหว่างที่อยู่เมืองไทยนั้นโปรดให้เจ้าอินทวงศ์และบริวารไปตั้งบ้านเรือนอยู่เหนือบางขุนพรหม คือบริเวณที่เป็นวัดอินทรวิหารปัจจุบัน

ส่วนเจ้าอนุวงศ์จะพำนักอยู่ที่ไหนไม่ทราบ บางทีจะเป็นวังบางยี่ขันก็ได้

คำว่า “วังบางยี่ขัน” นั้นเป็นแต่เพียงคำเรียก ไม่ได้เป็นรั้วกว้างใหญ่โตอะไร เป็นที่สำหรับเจ้าเมืองเวียงจันมาพัก และเมื่อเป็นที่อยู่ของเจ้าจึงเรียกกันว่าวัง เจ้าอนุวงศ์คงอยู่ไม่กี่ปี เมื่อเจ้าอินทวงศ์ได้ราชสมบัติในนครเวียงจันเมื่อ พ.ศ 2430 เจ้าอนุวงศ์ก็ได้เป็นอุปราชเสด็จกลับไปเวียงจัน

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงประดิษฐาสารี

ครั้นเจ้าอินทวงศ์ทิวงคตเมื่อ พ.ศ. 2346 เจ้าอนุวงศ์ก็ได้และสมบัติของนครเวียงจันต่อมา ปรากฏว่าธิดาของเจ้าอนุวงศ์คนหนึ่งชื่อเจ้าประทุมได้เป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ 3 และอีกคนหนึ่งชื่อเจ้าจอมมารดาจันทร์โฉมในรัชกาลเดียวกัน

ต่อมาเจ้าอนุวงศ์ไม่ปรารถนาจะเกี่ยวดองกับไทย ขอเป็นอิสระ แต่อุปราชไม่เห็นด้วยจึงพาครอบครัวเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ที่ตำบลบางยี่ขัน คือวังบางยี่ขันที่กล่าวถึงข้างต้น ธิดาองค์หนึ่งชื่อ “เจ้าหนูมั่น” ได้มาเกิดที่นี่ ต่อมาเมื่อถวายตัวเป็นพระสนมในรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามใหม่ว่า ดวงคำ มีพระองค์เจ้า 2 พระองค์ คือพระองค์เจ้านารีรัตนา และพระองค์เจ้าประดิษฐาสารี ซึ่งสมเด็จพระบรมราชชนกมีพระราชดำรัสเรียกว่า “ลูกลาวเล็ก”

เจ้าจอมมารดาดวงคำมีพี่ชายคนหนึ่งชื่อเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงศ์ อยู่เมืองอุบลราชธานี ดังนี้จะเห็นว่าเครือข่ายเจ้าลาวบางกอก แผ่ออกไปถึงหัวเมืองชั้นนอกด้วย

เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีที่กล่าวถึงข้างต้นนั้นได้เป็นพระราชชายานารีในรัชกาลที่ 2  มีเจ้าฟ้า 4 พระองค์ คือ เจ้าฟ้าชายอาภรณ์ (ต้นราชสกุลอาภรณกุล), เจ้าฟ้าชายมหามาลา (สมเด็จกรมพระยาบำราบปรปักษ์ ต้นราชสกุลมาลากุล) เจ้าฟ้าหญิง (ไม่ปรากฏพระนาม) และเจ้าฟ้าชายปิ๋ว

กล่าวเฉพาะสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์มีบริวารที่เป็นลาวมาก และท่านได้ว่ากรมพระคชบาลด้วย คราวหนึ่งไปจับช้างทางจังหวัดสระบุรีที่มีพวกลาวอยู่ รัชกาลที่ 4 ต้องเตือนสติว่าอย่าไปมั่วสุมกับพวกลาว เพราะพวกลาวชอบร้องรำทำเพลง อีกอย่างหนึ่งรัชกาลที่ 4 ทรงเป็นห่วงเรื่องข้าวว่าจะไม่พอกิน พวกลาวที่เป็นเชลยเข้ามานั้นต้องหาข้าวเลี้ยงดูเป็นเวลา 1 ปีหรือ 2 ปีจึงจะทำมาหาได้เอง

บริเวณศาลาเฉลิมกรุงและถนนเจริญนคร แต่เดิมเรียกันว่าถนนบ้านลาว

ลาวที่เป็นบริวารเจ้าฟ้ามหามาลาจะอยู่ที่ใดไม่ทราบ บางทีจะอยู่ถนนเจริญกรุงบ้างก็ได้ เพราะครั้งหนึ่งถนนเจริญกรุงบริเวณที่เป็นศาลาเฉลิมกรุงนั้นมีชื่อเรียกว่าถนนบ้านลาว คือมีพวกเราควรตั้งบ้านเรือนอยู่

คนลาวที่เข้ามาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีจำนวนมากที่สุดคือเมื่อครั้งสร้างพระนคร พ.ศ. 2326  ในครั้งนั้นโปรดให้เกณฑ์ลาวเมืองเวียงจัน 5,000 คน และมีตราให้ผู้ว่าราชการหัวเมืองตลอดจนหัวเมืองลาวริมแม่น้ำโขงฝั่งตะวันตกเข้ามาพร้อมกันในกรุง แล้วให้ปักปันหน้าที่กันทั้งข้าราชการในกรุงและหัวเมือง ให้คุมไพร่ช่วยกันขุดรากก่อกำแพงรอบพระนครและสร้างป้อมเป็นระยะห่างกันรอบพระนคร

ทางฝั่งธนบุรีก็มีคลองที่คนลาวช่วยพูดเรียกกันว่า คลองลัดบ้านลาวสีภูม เพราะขุนสีภูมนายกองลาวเป็นผู้ขุด และอีกคลองหนึ่งเรียกว่าคลองสวนลาว เข้าใจว่ามีคนลาวมาก นายกองลาวจึงขออนุญาตสร้างวัดขึ้นวัดหนึ่ง เรียกกันว่าวัดบางไส้ไก่ เพื่อคนลาวในบริเวณนั้นได้ใช้ทำบุญ จึงได้มีชุมชนลาวต่อมา

ครั้งถึงรัชกาลที่ 2 พระบรมราชาเจ้าเมืองนครพนมวิวาทกับท้าวไชยอุปฮาด พวกบ่าวไพร่อุปฮาดไม่ยอมอยู่ในบังคับบัญชาของพระบรมราชา ท้าวไชยอุปฮาดจึงพาสมัครพรรคพวกประมาณ 2,000 คนเศษอพยพเข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร มาถึงกรุงเทพฯ เมื่อเดือนยี่ปีมะเส็ง พ.ศ. 2352 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ คลองมหาวงษ์ เมืองสมุทรปราการ และให้ทำบัญชีสำรวจได้ชายฉกรรจ์ 860 คน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ท้าวอินทสารบุตรผู้ใหญ่ของท้าวไชยอุปฮาดเป็นพระยาปลัดเมืองสมุทรปราการ ดูแลผู้คนที่อพยพมาในครั้งนั้น ดังนี้แสดงว่าคนลาวอพยพเข้ามาด้วยสมัครใจก็มี

วัดบางไส้ไก่

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดให้สร้างสวนขวาขึ้นนั้น เจ้าอนุวงศ์ก็ได้ลงมาช่วยขุดสระ (เข้าใจว่าจะมีคนงานมาช่วยขุดแต่จะมากน้อยเท่าใดไม่ทราบ) ครั้นเมือขุดชำระสวนขวาในพระบรมมหาราชวังขึ้นใหม่ให้กว้างขวางสวยงามยิ่งขึ้น โปรดให้มีหนังสือไปถึงเจ้าอนุวงศ์เวียงจัน เมื่อ พ.ศ. 2362 มีความตอนหนึ่งว่า

“ถ้าเทศกาลแต่งเก๋งและเลี้ยงดูข้าทูลละอองฯ ครั้งใด ก็มีพระราชหฤทัยคิดถึงเจ้าเวียงจันทุกครั้ง ด้วยมิได้ลงไปเห็น จึงโปรดให้ถ่ายอย่างเป็นแผนที่ สระที่เก๋งเก่าใหม่พระราชทานขึ้นมาให้เจ้าเวียงจันดูพอเป็นสำเนาพลาง ถ้าเจ้าหญิงจันว่างราชการเมืองเมื่อใด จะลงไปเฝ้าทูลละอองฯ ณ กรุงเทพฯ ก็ให้พาบุตรภรรยา มโหรีละครกับให้หาพลอยและนกเขาครมลงไปด้วยจะได้เล่นตามสบายใจ อันเรือสำหรับพายและกิ่งไม้ที่น่าแขวนนกนั้นมีอยู่เป็นอันมาก”

ปรากฏว่าเจ้าเวียงจันไม่ว่างราชการจึงไม่ได้ลงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพราะอ้ายสาเกียจโง้งตั้งตัวเป็นผู้วิเศษก่อการกำเริบยกมาตีเมืองจำปาศักดิ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีรับสั่งให้เจ้าอนุนครเวียงจันยกทัพไปปราบ ครั้งนั้นกองทัพเจ้าราชบุตร (โย้) เมืองเวียงจันจับอ้ายสาเกียดโง้งได้มีความชอบ เจ้าอนุเวียงจันจึงทูลขอให้เจ้าราชบุตร (โย้) ซึ่งเป็นบุตรได้เป็นเจ้านครจำปาสัก โดยรับรองว่าจะไม่ให้เกิดเหตุเช่นนั้นขึ้นอีก

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงไว้วางพระราชหฤทัยในเจ้าอนุเวียงจันว่าเป็นผู้ที่ซื่อตรงมาแต่ครั้งรัชกาลที่ 1 จึงทรงตั้งเจ้าราชบุตร (โย้) ไปเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์

ถึง พ.ศ. 2368 เมื่อมีงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เจ้าอนุเวียงจันได้ลงมาเฝ้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อช่วยในการพระบรมศพ มีผู้คนลงมามาก เมื่อเสร็จงานพระเมรุแล้วโปรดให้ขอแรงไพร่พลที่มานั้นไปตัดต้นตาลที่เมืองสุพรรณจำนวนมากเอาไปใช้ที่เมืองสมุทราปราการ ครั้นจวนจะถึงฤดูฝนเจ้าอนุจะกลับไปเวียงจัน จึงทูลขอพวกละครผู้หญิงข้างในกับเจ้าจอมมารดาดวงคำ ก็ไม่โปรดพระราชทานให้ ได้แต่คนร้องของเจ้าพระยาอภัยบูเบศร์คนหนึ่ง ซึ่งเจ้าคุณวังหลวง (เจ้าคุณนุ่น พี่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์) จัดให้

เจ้าอนุก็ปราบถวายบังคมกลับขึ้นไปเมืองเวียงจัน มีความโทมนัสด้วยไม่ได้สมความปรารถนา

ครั้นเจ้าอนุกลับไปถึงเวียงจันแล้วก็เรียกอุปราช (เจ้าติศะเป็นน้องเจ้าอนึต่างมารดากัน) ราชวงศ์ (บุตรเจ้าอนุชื่อเจ้าเง่า) สุทธิสาร (บุตรผู้ใหญ่ของเจ้าอนุชื่อเจ้าโป้) มาปรึกษาว่าจะยกทัพไปกวาดต้นอผู้คนตามหัวเมืองต่างๆ ที่ขึ้นกับกรุงเทพมหานคร คนทั้งสามเกรงอำนาจก็ยอมทำตาม

สรุปความว่ากองทัพกรุงเทพฯ ต้องยกขึ้นมาปราบจับเจ้าอนุพร้อมด้วยครอบครัวส่งมาลงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2371 บรรดาบุตรหลานผู้หญิงและภรรยาน้อยส่งไปเป็นชาวสะดึงทั้งสิ้น

นับเป็นชาวเวียงจันรุ่นสุดท้ายที่เข้ามาอยู่ในบางกอกด้วยเหตุการเมือง

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 มิถุนายน 2562