กรมดำรงฯ กับ “ไกด์บุ๊ก” การเที่ยวและประโยชน์พร้อม 15 เส้นทางแนะนำ

กรมดำรงฯ นั่งเกวียน
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อคราวเสด็จตรวจราชการเมืองอุบลราชธานี

บทความนี้เป็นพระนิพนธ์ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดํารงราชานุภาพ หรือ กรมดำรงฯ เรื่อง “รูปและเรื่องเที่ยว” ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2467 ที่โรงพิมพ์ไท พระนคร เนื้อหากล่าวถึงการท่องเที่ยว ประโยชน์ที่ได้จากการเที่ยวการดูแลตัวเองระหว่างการเดินทาง ฯลฯ ขณะเดียวกันก็สะท้อนสภาพบ้านเมือง วิถีชีวิต เมื่อ 100 ปีที่แล้วไวัดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม)


 

Advertisement

อธิบายด้วยประโยชน์ของการเที่ยวเตร่

การที่เที่ยวเตร่นี้ ว่าที่จริงใครๆ ก็ดูเหมือนจะได้เคยด้วยกันแทบทุกคน จะต่างกันก็ที่ได้ไปไกลบ้างใกล้บ้าง และได้เที่ยวน้อยมากบ้าง ที่ว่านี้ประสงค์ว่าเที่ยวเตร่ไปต่างบ้าน ต่างเมือง หรือไปบ้านนอกคอกนา มิใช่เที่ยวเสเพลตามบ่อนเบี้ย หรือไปเที่ยวนอนเสียตามศาลาวัดพอกันเขาใช้

การเที่ยวเตร่นี้ ประโยชน์ว่ารวมยอดก็มีสองประการคือ ได้ความสุขสำราญประการหนึ่ง ได้ความสนุกสนานรื่นเริงซึ่งได้ไปดูแลพบเห็นภูมิประเทศ และผู้คนสิ่งของซึ่งยังไม่เคยพบเคยเห็นภูมิประเทศ และผู้คนสิ่งของซึ่งยังไม่เคยพบเคยเห็นจะมีฉันใด ไม่ต้องพรรณาชี้แจงก็จะพอเข้าใจอยู่แล้ว อันส่วนความสุขนั้นก็เปนสิ่งซึ่งอนุโลมต่อกัน แม้แต่คนไข้ได้แปรสถานในเวลาอันสมควร หมอก็ย่อมถือว่าเปนทางที่จะหายได้เร็ว ถึงคนซึ่งไม่มีอาการป่วยเจ็บ คนที่ประจำการหายได้เร็ว ถึงคนซึ่งไม่มีอาการป่วยเจ็บ

คนที่ประจำการ มีกิจธุระต่างๆ อยู่เปนนิตย์ ก็ย่อมมีเวลาเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า เมื่อได้ละกิจกังวลแปรสถานฯ ไปเที่ยวเตร่ตามอำเภอใจเสียได้ครั้งหนึ่งคราวหนึ่ง ก็ย่อมชื่นบานสำราญกายตลอดจนจิตต์ใจ กลับมาตั้งหน้าทำการงานได้แข็งแรงดีขึ้นกว่าเก่า

เปรียบอย่างต่ำๆ เหมือนกับม้าที่เขาแก้เครื่องอานปละปล่อยให้ได้เที่ยวโลดโผนไปตามสบายเสียคราวหนึ่ง พอหายเมื่อล้าแล้วเอามาใช้สอยอีก ย่อมหายซบเซาเหงาเงื่องฉันใด คนเราก็เหมือนกัน เพราะม้าก็ดีคนก็ดี ร่างกายมิใช่ทำด้วยเหล็กด้วยไหล ผิดกันอย่างใด ความข้อนี้จะอธิบายไปไยให้ป่วยกาย

ท่านผู้ใดยังสงสัยก็จงลองหาวันว่างๆ สักวันหนึ่ง เอาสะเบียงอาหารบรรทุกเรือแจวไปเที่ยวจอดหุงข้าวต้มแกงกินตามเรือกสวน ก็จะออกสนุก กินข้าวเอร็ดอร่อยได้มากกว่ากินที่บ้านเมื่อวันก่อน

ในข้อที่ว่าได้ความรู้นั้ เปนข้อสำคัญควรจะอธิบายให้ชัดเจน แต่จะต้องขอยกความข้อต้นให้เปนอันเข้าใจกันเสียว่า “มีความรู้ย่อมเปนทางที่จะได้ความดี” ดังนี้ อย่าให้ต้องอธิบายเปลืองกระดาษ จะตั้งต้นแต่ว่า การอย่างใดๆ ที่ควรเราจะรู้นั้น อาศัยเหตุสามอย่าง รู้ได้โดยรู้สึกเอง กล่าวคือที่ได้เห็นได้ยินได้ถูกต้องและชิมรสเปนต้นอย่างหนึ่ง รู้ได้โดยความรู้สึกของผู้อื่น กล่าวคือได้ฟังคำหรือได้อ่านหนังสือที่ผู้อื่นเขาได้รู้สึกมาเองแล้ว มาพรรณนาให้เข้าใจอย่างหนึ่ง และคิดตริตรองตามด้วยสติปัญญาของตนอีกอย่างหนึ่ง ที่ว่าตริตรองตามด้วยสติปัญญานั้น เพราะความคิดย่อมต้องอาศัยความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งได้ว่ามาก่อนนั้นเปนเหตุ

การสิ่งใด ถ้าคิดด้วยความรู้สึกของผู้อื่น ยากที่จะถูกต้องตามความจริงได้ จะยกตัวอย่างที่เข้าใจง่ายๆ เหมือนหนึ่งพระพุทธบาทที่เขาสัจจพันธ์นี้เอง เมื่อแรกเรายังไม่ได้เคยไป ได้ยินแต่สัตบุรุษเขามาเล่าให้ฟัง ต้องนึกเดาคาดรูปร่างภูเขาและลานพระพุทธบาท และภูมิลำเนาเขาตกท้ายพิกุลไปตามคำของเขาว่ารูปร่างภูมิฐานคงจะเปนอย่างนั้นๆ ครั้นได้ไปพระบาทไปแลเห็นเข้าด้วยนัยตาของเราเองก็ไปคนละอย่าง ผิดกับที่เดาไว้ด้วยความคิดแท้ๆ มิใช่หรือ เอานี่เปนตัวอย่างเทียบตลอดไปได้ ถึงการทั้งปวงก็อย่างเดียวกัน ถึงจะฟังเขาเล่า จะอ่านหนังสือ หรือจะดูรูปที่เขาวาดเขียนถ่ายมาสักเท่าใดๆ ที่จะให้เข้าใจถูกต้องตามที่จริง เท่าได้แลเห็นด้วยตาของตนเองนั้นเปนอันไม่มี

เมื่อว่าโดยย่อการที่จะแสวงหาความรู้ในกิจการใดๆ ถ้ารู้ด้วยตนเองดีกว่าที่จะรู้ได้แต่ด้วยคำบอกเล่าเปนอันมาก การต่างๆ ในภูมิประเทศบ้านเมือง อันเปนเครื่องบังเกิดและประกอบความดีแก่ผู้รู้เห็นมีเปนอันมากมิใช่น้อย นับตั้งแต่คนประกอบการค้าขายขึ้นไป ถ้าได้เที่ยวเตร่รู้ภูมิลำเนาทำเลที่เพาะปลูก และท่าทางสินค้าขึ้นล่องมากมายหลายตำบล ก็อาจจะรู้เลือกสรรการ อันควรจะลงทุนให้เกิดผลยิ่งขึ้นได้โดยลำดับ

ถ้าเปนคนรับราชการบ้านเมือง การที่เที่ยวเตร่ก็ยิ่งมีประโยชน์สำคัญขึ้น เพราะราชการเปนที่รวบยอดของสรรพการทั้งปวง อันจะพึ่งมีในประเทศ ถ้าผู้ทำราชการได้เที่ยวเตร่ ได้รู้ได้เห็นภูมิลำเนาบ้านเมืองและความสุขทุกข์ของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ก็เหมือนหนึ่งมีทุนในทางที่ดำริห์ตริตรองราชการอันควรแก่หน้าที่ของตน

แท้จริงธุระในหน้าที่ของคนทำราชการผิดกับธุระของคนค้าขายที่ไม่อาจจะกำหนดว่า จะมีแต่อย่างนั้นดอกอย่างนี้ดอกได้ตกอยู่ในเหมือนกับเปนทาสอยู่กลางเรือน แล้วแต่จะมีวันใดก็จำเปนจะต้องทำ จะคาดคะเนหรือจะเลือกที่รักมักที่ชังมิได้ เพราะฉะนั้น ยิ่งมีความรู้เห็นสำรองไว้เปนทุนของตัวมากเท่าใด ก็เสมอมีกำลังความสามารถยิ่งขึ้น

ที่ว่านี้หน่อย ผู้ที่เปนข้าราชการผู้น้อยเช่นชั้นเสมียนและมหาดเล็ก จะเข้าใจว่าฉะเพาะการซึ่งควรแต่แก่ข้าราชการผู้ใหญ่ ถึงผู้น้อยก็เหมือนกัน ขอให้เข้าใจว่า ข้าราชการผู้ใหญ่นั้นแต่แรกก็เปนผู้น้อยมาก่อนทั้งนั้น ผู้น้อยในเวลานี้ก็ย่อมมีช่องทางที่จะได้เปนผู้ใหญ่ไปภายหน้า แสวงหาทุนรอนในความรู้สำหรับตัวไว้เสียแต่ยังเปนผู้น้อย ที่มีเวลาและกำลังร่างกายมากดีกว่า จะไปแสวงหาต่อเมื่อต้องรับผิดชอบกราดกริ้งเสียงเต็มตัว

ถึงผู้ที่มีหน้าที่ราชการอยู่แล้ว ถ้าได้เที่ยวดูการบ้านเมืองมากขึ้นก็ย่อมจะเปนประโยชน์ทั้งจะเปนเครื่องป้องกันความพลาดพลั้ง ได้ด้วยอีกอย่างหนึ่ง เพราะทางที่ผู้ต้องรับผิดชอบในราชการ จะพึ่งพลาดพลั้งด้วยอย่างใด จะมีมากกว่าเพราะที่ไม่รู้ความจริงนี้เปนไม่มี เพราะเหตุฉะนั้นจึงว่าการที่ได้เที่ยวเตร่ ตรวจตราให้รู้เห็นภูมิประเทศ และกิจการทุกข์สุขของผู้คนพลเมืองชำนาญมากขึ้น ก็เหมือนมีเครื่องป้องกันที่จะพลาดพลั้งให้น้อยลงด้วย

เหล่านี้เปนคุณสำคัญของการเที่ยว แต่อย่าเข้าใจว่าไปเที่ยวละคงจะได้คุณสมบัติเหล่านี้ คนอยู่ฟากข้างโน้นข้ามเรือจ้างมาทำงานฟากข้างนี้ทุกวี่ทุกวันมีถมไป ลองไปถามดูเถิดว่าหน้าน้ำกับหน้าแล้ง หรือน้ำขึ้นกับน้ำลง คนแจวเรือจ้างเขาแจวเลียบลัดตัดสายน้ำผิดกันอย่างไร น้อยคนดอกจะชี้แจงให้ถูกต้องได้ เพราะคนโดยสารลงเรือแล้วก็ตั้งหน้าแต่จะถึงฟาก น้อยคนที่จะสังเกต คนข้ามเรือจ้างเหล่านี้ฉันใด คนที่ไปเที่ยวเตร่ก็ทำนองเดียวกัน มีธุระก็มักตั้งหน้าหมายแต่จะไปให้ถึงที่ธุระซึ่งอยู่สุดหนทางที่จะเอาใจใส่สอดส่องพิจารณา ดูการงานหรือภูมิประเทศไปตามทางนั้นมีน้อย

เพราะฉะนั้นการที่เที่ยวที่จะให้เปนประโยชน์ จำต้องตั้งใจแสวงหาความรู้ด้วย จึงจะได้ประโยชน์เต็มตามควรนี่และเปนความสำคัญอีกข้อหนึ่ง

การเที่ยวถ้าจะว่าโดยส่วนโทษก็มีอยู่บ้าง กล่าวคือที่ต้องใช้เงินเปลืองกว่านั่งนอนอยู่บ้านอย่างหนึ่ง บางทีเคราะห์หามยามร้ายไปเปนไข้เจ็บล้มตายลง ก็เปนได้บ้างอย่างหนึ่ง

แต่โทษเหล่านี้เมื่อพิจารณาไปก็เหมือนกับไม่มีเหตุใดจึงว่าดังนี้ เพราะการแสวงหาคุณสมบัติหรือทรัพย์สมบัตินี้เปนการจำต้องลงทุนจึงจะได้ เด็กๆ จะเรียนหนังสือก็ต้องซื้อสมุดเครื่องเล่าเรียน ถ้าจะเรียนวิชชาให้รู้ถึงอย่างสูง ก็ยังต้องจ้างครูบาอาจารย์ที่ดีให้ฝึกสอนต่อขึ้นไป การค้าขายก็ต้องลงทุนซื้อหาสิ่งสินค้าและเครื่องมือที่จะทำการ

การจะเที่ยวเสาะแสวงหาความรู้เห็นก็ทำนองเดียวกัน จำต้องลงทุนหมายกำไรในคุณสมบัติ ควรแลหรือที่จะเสียดาย ถ้าว่าโดยอันตรายไข้เจ็บ จะวินิจฉัยในทางธรรมว่า “ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เปนธรรมดาของมนุษย์ จะอยู่ที่ไหนๆ ก็พ้นวิสัยที่จะพึงหลีกให้พ้นไป” เช่นนี้ก็ได้

หรือจะพิจารณาดูทางโลก ที่แห่งใดที่มนุษย์อาศัยได้ เขาอยู่ได้ทำไมเราไปไม่ได้ แท้จริงที่ซึ่งเลื่องลือชื่อเสียงว่ามีไข้เจ็บชุกชุม เช่นดงพญาไฟก็ตาม หรือบางตะพานก็ตาม มิใช่จะมีไข้เจ็บไปตลอดชั่วนาตาปี ไข้ก็ชุกชุมอยู่แต่ในฤดูฝนก็เวลามันชุมเราจะไปทำไม เลือกไปเอาฤดูที่ไม่มีไข้เจ็บไม่ได้หรือ ว่าโดยแท้จริงถึงคนซึ่งเขาต้องจำผ่านไปในป่าไข้เมื่อฤดูฝน ใช่จะเจ็บจะตายเสียหมดทุกคนก็หาไม่ ในร้อยหนึ่งจะเจ็บสักสามสิบ ในสามสิบนั้นจะตายก็ไม่กี่คน ถ้าระวังรักษาตัวให้ดีแล้วก็ไม่สู้กะไร

คนอยู่กับบ้านๆ นี้อยู่ดีไปหมดทุกคนเมื่อไร คิดดูแล้วมันคงอยู่ในทางธรรมว่า “แล้วแต่บุญแต่กรรมเปนข้อใหญ่” เมื่อตั้งใจจะแสวงหาคุณสมบัติ ก็ไม่ควรจะชี้ขลาดหวาดหวั่นไปโดยมิบังควรได้พรรณนามาในคุณและโทษของการเที่ยวก็พิสดารอยู่แล้วจะอธิบายด้วยลักษณะการเที่ยวต่อไป

ลักษณะการที่จะเที่ยวนี้มีเปนหลายประเภท ถ้าจะว่าประสาอย่างคนหนุ่มๆ ซึ่งจะตั้งหน้าหาความรู้ในราชการบ้านเมืองแล้ว อาสาเปนผู้ช่วยหรือเสมียนทนาย ไปรับราชการกับข้าหลวงตามหัวเมืองนี้เปนดีกว่าอย่างอื่น เพราะไปอย่างนี้มักจะได้รับเงินเดือนเปนผลประโยชน์ ถึงมิมากมายก็พอเลี้ยงตัว ไม่ต้องชักทุนเรือน และการที่จะกินจะอยู่ก็เสมออยู่ ในอกของข้าหลวงผู้ใหญ่ ย่อมเปนธุระทำนุบำรุงให้ธุระของตัวมีแต่จะตั้งใจทำราชการและประพฤติตัวตามคำสั่งของข้าหลวง ให้เปนอย่างดีที่สุดที่จะพึ่งทำได้เท่านี้ก็ไม่มีทางจะควรวิตกอย่างใด ถึงว่าจะมิได้เคยเปนที่พึ่งหรือคุ้นเคยกันมาแต่ก่อน การที่ไปทางไกลไม่เหมือนอยู่กับบ้าน ไปร่วมทุกข์สุขคุ้นเคยกันไม่ช้านานเท่าใด ก็ย่อมเปนธรรมดาที่จะบังเกิดรักใคร่มีไมตรีจิตต์ต่อกัน

ถ้าผู้ใดไม่พอใจหรือไม่มีโอกาสที่จะไปเที่ยวในตำแหน่งราชการได้ดังเช่นว่า จะอาศัยพระเจ้าพระสงฆ์ไปธุดงค์หรือจะอาศัยพ่อค้ามาขายไปเที่ยวก็ได้เหมือนกัน ถึงไปอย่างนี้จะไม่ได้เงินเดือนเบี้ยเลี้ยง การที่จะต้องลงทุนรอนก็ไม่พอกะไรนัก จะผิดกับอย่างก่อนก็ที่จะลำบากกว่าสักหน่อย และที่ไม่ได้เกี่ยวแก่ราชการ

ถ้าหากว่าเปนคนมีกำลัง จะหาพาหนะไปเที่ยวโดยลำพังของตนเอง อย่างที่เขาขึ้นพระบาทหรือเขาไปไทรโยกกันเปนตัวอย่างก็ไปได้ ไปอย่างนี้ย่อมอิสสระอยู่แก่ตัว จะไปที่ใดจะดูอะไร จะหยุดจะอยู่จะไปเมื่อใดก็ทำได้ตามใจ แต่เปนการเปลืองทุนมากขึ้นเปนธรรมดา

การที่จะไปเที่ยวจะไปโดยประเภทใดๆ ก็ตาม ความสำคัญซึ่งจำจะต้องถือเสมอเหมือนกันทุกชนิดมีสองอย่างคือ การป้องกันไข้เจ็บอย่างหนึ่ง การรักษาความเรียบร้อยอย่างหนึ่ง ก็แลการป้องกันความไข้เจ็บนั้น ถึงจะไปในทางที่ไม่มีไข้เจ็บก็ควรระวัง เพราะเหตุที่น้ำท่าอาหารแปลกเปลี่ยนนั้นประการหนึ่ง ถ้าไปมีเหตุป่วยเจ็บลงแม้แต่เล็กน้อย จะหาแพทย์หมอที่ดีตามบ้านนอกหายากประการหนึ่ง จะประมาทหาควรไม่ เพราะฉะนั้น ควรศึกษาให้เข้าใจในการที่จะใช้ยารักษาโรคบางอย่าง และหายาเหล่านั้นให้มีติดตัวไปด้วย

ยาซึ่งคนเดินทางมักนับถือมีอยู่ห้าขนานคือยาคินินแก้ไข้จับขนานหนึ่ง ยาคลอรอดินแก้ปวดท้องขนานหนึ่ง ดีเกลือฝรั่งสำหรับใช้เปนยาถ่ายขนานหนึ่ง ไบคาร์บอเน็ตโซดากินแก้จุกเสียดหรือท้องขึ้นท้องเฟ้อ และละลายน้ำทาแก้พิษไฟและพิษตะขาบแมลงป่องเปนต้นได้ด้วยขนานหนึ่ง ยาอิปิแคก เปนยากินให้อาเจียนถอนพิษไข้และพิษที่เบื่อเมาต่างๆ ขนานหนึ่ง ยาเหล่านี้จัดว่าเปนยาสำคัญ นอกจากนี้ถ้าเคยใช้สอยชอบขนานใด ก็ควรติดตัวไปด้วย

และในการที่จะรักษาตัวไม่ให้เปนไข้เจ็บนั้น อย่างสำคัญที่ 1 ก็เรื่องอาหาร เพราะการเดินทางมิได้มีครัวหม้อตั้งหุงต้มได้เปนที่ต้องระวังตรวจตราอาหารอย่ากินของที่เสีย อีกประหนึ่ง เรื่องน้ำที่จะกินต้องระวังให้มาก ตามตำราหมอมักว่าที่เกิดเปนโรคภัยแก่ผู้เดินทางมักเปนด้วยผิดนำมากกว่าอย่างอื่น เพราะห้วยหนองคลองบ่อบึงที่ใกล้ป่า เปนน้ำที่ไหลออกมาจากซอกห้วยธารเขาชำระพิษว่านยาของเน่าเปื่อยต่างๆ ติดออกมาถ้าจะกินควรจะกรองให้ใสสะอาด และต้มทำลายพิษสงเสียก่อน

อีกประการหนึ่ง ผ้าผ่อนที่จะนุ่งห่มหรือจะปูและคลุมนอนต้องระวังอย่างให้ชื้น เพราะอายตัวออกไปกะทบของชื้นแฉะอยู่เสมอๆ มักจะเปนไข้ หรือมิฉะนั้นก็มักท้องจะเสีย ถึงที่ซึ่งจะนอนในกลางทาง ถ้าพอจะหาอะไรทำได้ควรจะยกพื้นขึ้นปูที่นอนให้สูงจากแผ่นดินราวคืบหนึ่งเปนอย่างต่ำ ให้พ้นอายดินจึงจะไม่เปนไข้

อีกประการหนึ่ง การที่จะอาบน้ำควรระวังอย่าให้อาบในเวลาที่กำลังเหน็ดเหนื่อยเหื่อโทรมตัว ถ้าอาบในเวลาเช่นนั้นมักจะเจ็บ แต่เวลาที่อาบน้ำนี้ บางคนชอบอาบในเวลาไม่มีแดด เช่น เวลาตื่นเช้าและเวลาเย็น แต่บางคนเขาก็ไม่ถืออยู่ในตามใจตามเคยเปนใหญ่

ความสำคัญในการักษาตัวไม่ให้เจ็บอันเปนข้อรวบยอดนั้น คือถ้ารู้สึกไม่สบายต้องกินยารักษาเสียทันทีที่เดียว เปนต้นว่ารู้สึกครั่นตัวขึ้นมาเวลาใด ก็กลืนยาคินินเปนประกันเสียเมล็ดหนึ่งดังนี้ อีกอย่างหนึ่ง ต้องคอยระวังอย่าให้ท้องผูกไปจนสองวัน ถ้าเห็นตั้งท่าจะผูกเมื่อใด ก็เอาดีเกลือมาละลายน้ำร้อนกินระบายให้ไปเสียครั้งหนึ่งสองครั้ง ถ้าระวังรักษาตัวอยู่เช่นว่านี้ การที่จะเจ็บไข้ก็เกือบประกันได้ เว้นไว้แต่เปนกรรมมาตามทัน นั่นเปนเหลือแก้อยู่เอง

ส่วนการที่จะรักษาความเรียบร้อยนั้น กล่าวคือจะไปเที่ยวเตร่ได้โดยสะดวก อย่าให้มีเหตุการณ์หรือข้อขัดข้องได้ในระหว่างทาง ความข้อนี้เบื้องต้นควรพิเคราะห์ดูในจำนวนคนและสิ่งของซึ่งจะพาไปใช้สอย ทั้งสองอย่างนี้ยิ่งเอาไปมากความลำบากชักช้าก็ยิ่งมากขึ้น การเที่ยวเตร่ตามหัวเมือง ถ้ามีพวกพ้องอยู่ตามระยะทางก็เปนการดี ไปมีความขัดข้องขึ้นประการใดก็พอจะได้พึ่งพาอาศัย ถ้าหากว่าไม่มีพวกพ้องอยู่ตามหัวเมืองควรจะไต่ถามดู ตามพวกพ้องใกล้เคียงที่เขากว้างขวาง ให้ช่วยเปนธุระชักนำไปตามพวกพ้องของเขาเช่นนี้ก็พอจะเปนประโยชน์ได้

ถ้าจะว่ารวบยอดของความจำเปน ในลักษณะที่จะเที่ยวเตร่ก็คิดเห็นแต่เท่านี้ จะยังมีนอกออกไปก็เรื่องเงินที่จะใช้สอยตามระยะทางอีกอย่างหนึ่ง การที่เอาเงินสดติดตัวไปมากๆ ลำบากทั้งในการรักษาและในการที่ยกขน เมืองเราถึงการแบงก์ย่อยยั่งไม่มีทั่วไป คนเดินทางจะวางเงินไว้ที่กระทรวงซึ่งได้ว่าหัวเมือง ขอตราไปขึ้นเอาในเวลาต้องการตามหัวเมืองในระยะทาง หรือจะวางเงินตามห้างและพ่อค้าซึ่งเขามีเอเยนต์ตามหัว ขอตั๋วของเขาไปขึ้นเอาเงินก็ได้อย่างนี้ถึงจะต้องเสียค่าธรรมเนียมบ้างเล็กน้อย ก็เปนการสะดวกดีกว่าหอบเอาเงินไปด้วยมากๆ

เมื่อได้กล่าวถึงลักษณะการเดินทางพอสมควรแล้ว จะลองกะทางที่ควรจะเที่ยวเตร่ได้ในเมืองไทยลงไว้ให้ดูเปนเค้าทางที่จะเที่ยวได้ในพระราชอาณาเขตต์นี้ มีเปนอันมากมิใช่น้อย ที่จะกะนี้ต่างว่าผู้จะเที่ยวมีเวลาปีละสามเดือนสี่เดือนตั้งใจจะเที่ยวดูภูมิประเทศในพระราชอาณาเขตต์ให้ตลอด

ทางที่ 1 เที่ยวทางชายทะเลตะวันออก จับตั้งแต่เมืองชลบุรี ลงไปจนถึงเมืองปัจจันตคิรีเขตต์

ทางที่ 2 เที่ยวทางชายทะเลปักษ์ใต้ จับตั้งแต่เมืองเพชรบุรี ลงไปจนเมืองตรังกานู

ทางที่ 3 เที่ยวทางชายทะเลตะวันตก จับตั้งแต่เมืองกระบุรี ลงไปจนถึงเมืองไทรบุรี

ทางที่ 4 เที่ยวทางลำน้ำแม่กลอง จับตั้งแต่เมืองสมุทสงครามขึ้นไปจนไทรโยกและศรีสวัสดิ์

ทางที่ 5 เที่ยวทางลำน้ำท่าจีน จับแต่เมืองสาครบุรีขึ้นไปพระปฐมเจดีย์ สุพรรณบุรี จนออกเมืองไชยนาท

ทางที่ 6 เที่ยวลำน้ำเจ้าพระยา จับแต่กรุงเทพฯ ขึ้นไปทางแควใหญ่จนถึงเมืองฝาง แล้วเดินบกมาสวรรคโลกสุโขไทย แล้วข้ามไปลงเรือล่องกลับลงจากเมืองตาก

ทางที่ 7 เที่ยวลำน้ำสัก จับตั้งแต่กรุงเก่าขึ้นไปพระบาท พระฉาย จนเมืองหล่ม

ทางที่ 8 เที่ยวลำน้ำบางปะกง จับแต่ฉะเชิงเทราไปจนนครนายก ปราจิณบุรี

ทางที่ 9 เที่ยวนครราชสีมา ขึ้นทางสระบุรี ลงช่องตะโก

ทางที่ 10 เที่ยวหัวเมืองลาวเฉียง จับแต่เมืองตากขึ้นไปกลับมาลงเมืองน่าน

ทางที่ 11 เที่ยวหัวเมืองลาวพุงขาว จับขึ้นเดินแต่อุดรดิฐไปปากลาย แล้วล่องน้ำโขงลงมาหนองคาย

ทางที่ 12 เที่ยวหัวเมืองในเขตต์ลาวพวน

ทางที่ 13 เที่ยวหัวเมืองในเขตต์ลาวกาว

ทางที่ 14 เที่ยวหัวเมืองเขมร ขึ้นเดินแต่ปราจีนแล้วกลับลงเรือที่จันทบุรี

ทางที่ 15 เที่ยวในกรุงเทพฯ ที่นับกรุงเทพฯ ไว้เปนทางหนึ่งด้วยดังนี้ เพราะเชื่อได้แน่ว่า ในบรรดาท่านผู้อ่านที่ใครจะได้เที่ยวในกรุงเทพฯ นี้ทั่วเห็นจะไม่มีเลยก็ว่าได้

ทางที่จะเที่ยวคิดดูเปนเลาๆ แม้แต่เพียงในกรุงสยาม ถ้าเที่ยวเพียงปีละสามเดือน สี่เดือนทุกๆ ปีก็กว่าสิบปี จึงจะทั่วได้ ทางที่เที่ยวเหล่านี้ผู้ที่ได้เคยไปก็มีมากด้วยกัน ที่ได้ไปทั่วทุกทางก็น่าจะมีบ้าง แต่หากไม่ใคร่มีผู้ใดเรียบเรียงระยะทางไว้แนะนำคนข้างหลัง ดูการเที่ยวเตร่จึงยังมืดไม่เปนเครื่องชักชวนคนชั้นหนุ่ม ซึ่งกำลังแสวงหาวิชชาความรู้ ที่มีก็มักเปนแต่นิราสพรรณนาเห็นต้นนั้นเหมือนนั่น ถึงบางโน่นเหมือนนี่ ลงปลายแปลว่าคิดถึงเมียไม่มีแก่นสารอันใด

ก็แลการเที่ยวเตร่ย่อมมีคุณแก่เพื่อนมนุษย์ ดังได้พรรณนามาข้างต้นแล้ว สมควรที่ท่านทั้งหลายผู้รู้เห็นคุ้นเคย จะช่วยอนุเคราะห์ชักนำบำรุงให้ยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าขอเชิญด้วยถ้อยคำซึ่งได้พรรณนามาในเรื่องนี้ ให้ท่านทั้งหลายผู้ได้เคยเที่ยวเตร่ในทิศทางใดๆ จึงได้เรียบเรียงพรรณนาความรู้เห็นคุ้นเคยของท่านมาลงพิมพ์ต่อไป ให้เปนประโยชน์แก่กุลบุตรทั้งหลายให้ยิ่งขึ้นต่อไปในภายหน้าเทอญ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2565