“อูรุก” เมืองหรือนคร “แห่งแรก” ของอารยธรรมมนุษย์?

อูรุก เมืองโบราณ เมโสโปเตเมีย
อูรุก (เมืองวาร์กา) - ซิกกูแรตและผู้คนเมืองวาร์กา ถ่ายเมื่อปี 1933-1934, โดย Annemarie Schwarzenbach (ภาพจาก Wikimedia Commons/Swiss National Library)

ชาวสุเมเรียน (Sumerian) คือเผ่าพันธุ์ที่นักประวัติศาสตร์ให้การยอมรับว่าคือมนุษย์กลุ่มแรกที่พัฒนาการเขียน สร้างตัวอักษร และเป็นชนกลุ่มแรกที่พัฒนาอารยธรรมลุ่มแม่น้ำไทกรีส-ยูเฟรตีส หรืออารยธรรมเมโสโปเตเมีย (Mesopotamia) พวกเขารวมตัวกันเป็นชุมชนขนาดใหญ่จนเกิดเป็น “เมือง” หรือ “นคร” ซึ่งโดยอายุแล้วถือได้ว่าเป็น “เมืองแห่งแรกของโลก” เมืองนั้นคือ อูรุก (Uruk)

ที่ตั้งของอูรุกอยู่บริเวณเขตเมืองวาร์กา (Warka) ทางใต้ของอิรักในปัจจุบัน บริเวณนี้ยังเคยมีกลุ่มเมืองของชาวสุเมเรียนอีกหลายเมือง เช่น ลากาซ อูร์ นิปเปอร์

คำว่า “Uruk” เป็นคำเดียวกับ Erech ในภาษาอาราเมอิค (Aramaic) ตระกูลภาษาเก่าแก่ในภูมิภาคตะวันออกกลางก่อนภาษาอาหรับ ชาวอาหรับเรียกดินแดนเมโสโปเตเมียว่า อัล-อิราค (Al-Iraq) ซึ่งเพี้ยนจาก Erech คำนี้จึงเป็นที่มาของชื่อประเทศอิรัก (Iraq) ในปัจจุบันด้วย

ในบันทึกตำนานของชาวสุเมเรียน เมืองอูรุก ถูกสถาปนาโดยกษัตริย์ชาวซูเมอร์นามว่า “เอนเมอร์คาร์” (Enmerkar) ตำนานดังกล่าวอ้างว่ากษัตริย์องค์นี้ครองราชย์ยาวนานถึง 420 ปี ชื่อของอูรุกยังโด่งดังจากเรื่องราวใน มหากาพย์กิลกาเมซ (Epic of Gilgamesh) ที่เล่าถึงการแสวงหาชีวิตอมตะของกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเมืองอูรุกนามว่า “กิลกาเมซ”

ต้นธารแห่งอารยธรรม

นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์เชื่อว่าศูนย์กลางศิลปวัฒนธรรมและวิทยาการต่าง ๆ ของชาวสุเมเรียนที่พัฒนาขึ้นเมื่อราว 4,000 ปีก่อนคริสตกาลนั้นมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองอูรุก อูรุกจึงมีสถานะเป็นจุดเริ่มต้นของอารยธรรม เป็นเมืองแห่งแรก ต้นกำเนิดการเขียนและตัวอักษร สถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ที่ใช้สำหรับบูชาและที่สถิตของเทพเจ้าของชาวสุเมเรียนอย่าง ซิกกูแรต (Ziggurat) ก็ถูกพัฒนาขึ้นที่อูรุกก่อนชุมชนอื่น ๆ ด้วย

อีกหนึ่งนวัตกรรมสำคัญของชาวสุเมเรียนในเมืองอูรุกคือ Cylinder Seal หรือหินตราประทับเพื่อระบุความเป็นเจ้าของทรัพย์สิน เครื่องมือนี้เปรียบเหมือนลายเซ็นในปัจจุบัน การเกิดอุปกรณ์ยืนยันตัวตนลักษณะนี้ชี้ว่าผู้คนในอูรุกเห็นความสำคัญเรื่องทรัพย์สินส่วนตัว ความเป็นปัจเจก และสะท้อนความเป็นชุมชนขนาดใหญ่เป็นแห่งแรก ๆ

Cylinder seal อายุราว 2,700 – 2,600 ปีก่อนคริสตกาล (ภากจาก The Metropolitan Museum of Art)

จากการขุดค้นทางโบราณคดี ชุมชนเก่าแก่ที่สุดบริเวณของอูรุกมีอายุเก่าแก่ถึง 5,000-4,100 ปีก่อนคริสตกาล ก่อนชาวสุเมเรียนจะพัฒนาและขยายพื้นที่อูรุกจนมีสถานะเป็นเมืองหรือนครขนาดใหญ่เมื่อราว 4,100-2,900 ปีก่อนคริสตกาล และชุมชมอื่น ๆ ทั่วภูมิภาคเมโสโปเตเมียตอนล่างต่างพัฒนากลายเป็นเมืองในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนี้ด้วยเช่นกัน ทว่า อูรุกมีความโดดเด่นและมีอิทธิพลมากที่สุดในบรรดาเมืองเหล่านั้น

อูรุกมีสถานะเป็นศูนย์กลางทางการค้าและอิทธิพลด้านการปกครองของเมืองต่าง ๆ ในภูมิภาคเมโสโปเตเมียตอนล่างอย่างน้อยระหว่าง 4,100-3,000 ปีก่อนคริสตกาล มีการคำนวนอย่างคร่าว ๆ ว่าช่วงเวลาดังกล่าวเมืองแห่งนี้มีประชากรอาศัยอยู่ในกำแพงเมืองราว 40,000 คน และเป็นไปได้ว่าพื้นที่รอบ ๆ เมืองยังมีผู้คนอีกราว 80,000-90,000 คน กระจายตัวอยู่ตามชุมชนที่รายล้อมตัวเมืองอยู่

อย่างไรก็ตาม คำถามที่ว่าอูรุกปกครองเมืองอื่น ๆ ในภูมิภาคเมโสโปเตเมียตอนล่างอย่างไรหรือใช้อำนาจลักษณะใดปกครองยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด Gwendolyn Leick นักประวัติศาสตร์ชาวออสเตรเลีย-อังกฤษ อธิบายว่า

“สถานะของ ‘อูรุก’ ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าใช้อำนาจทางการเมืองควบคุมพื้นที่ขนาดใหญ่ที่อิทธิพลของพวกเขาครอบคลุมไปถึงได้อย่างไร เราไม่ทราบด้วยซ้ำว่าอิทธิพลเหล่านั้นเกิดจากใช้กำลังหรือไม่ หรือชนชั้นใดทำให้เกิดขึ้น การขุดค้นมีน้อยเกินกว่าจะช่วยไขคำตอบประเด็นเหล่านี้ได้ อย่างไรก็ตาม เป็นที่แน่ชัดว่า ณ เวลานั้น (4,100-3,000 ปีก่อนคริสตกาล – ผู้เขียน) กระบวนการพัฒนาของเมืองได้เริ่มขึ้นและกระจุกตัวอยู่รอบ ๆ เขตอิทธิพลของอูรุก”

หลักฐานของสิ่งประดิษฐ์ที่เชื่อว่ามีนวัตกรรมต้นกำเนิดจากอูรุกปรากฏอยู่แทบทุกแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีทั่วภูมิภาคเมโสโปเตเมีย นั่นคือ “ชามขอบโค้ง” (Beveled rim bowl) ภาชนะที่สันนิษฐานว่าเป็นเครื่องตวงขนาดมาตรฐานสำหรับรับค่าจ้างในรูปแบบเมล็ดข้าวหรือธัญพืชของผู้คนยุคนั้น

ตัวเมืองอูรุกแบ่งเป็น 2 ส่วน ด้วยกำแพง 2 ชั้น ชั้นในเรียกว่า “อิอานนา” (Eanna) เป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมและที่ตั้งของวิหารบูชาเทพเจ้า คือ “เทพีอินันนา” (Inanna) เทพเจ้าสตรีที่มีอิทธิพลด้านความรัก ความงาม เพศ สงคราม ความยุติธรรม รวมถึงอำนาจการปกครอง ส่วนกำแพงอีกชั้นเรียกว่า “อนู” (Anu) เป็นเขตที่อยู่อาศัย ชุมชน ตลาด ซึ่ง “เทพอนู” เป็นหนึ่งในเทพเจ้ารุ่นแรก ๆ ของชาวสุเมเรียนด้วย

หลักฐานชิ้นสำคัญที่ยืนยันสถานะของเทพีอินันนาคือ หน้ากากหินอ่อนรูปหน้าผู้หญิง เรียกว่า “The Lady of Uruk” ซึ่งเชื่อว่าเป็นใบหน้าของเทพีอินันนาและเป็นส่วนหนึ่งของงานประติมากรรมภายในวิหารแห่งเมืองอูรุกในอดีต

เทพีอินันนาได้รับความนิยมและบูชาจากชาวสุเมเรียนทั่วภูมิภาคเมโสโปเตเมีย ก่อนถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของเทพอิชตาร์ (Ishtar) ของชาวอัคคาเดียน ซึ่งเป็นเผ่าพันธุ์ที่เข้ามามีอำนาจแทนที่ชาวสุเมเรียนในพื้นที่เมโสโปเตเมียในยุคถัดมา บทบาทของเทพสตรีจึงค่อย ๆ ถดถอยลงพร้อมสิทธิสตรีของหญิงในกลุ่มอารยธรรมเมโสโปเตเมียที่ค่อย ๆ ถูกลดบทบาทลงเช่นกัน

การก่อสร้างวิหารแห่งอูรุก, วาดโดย William Heysham ปี 1899 (ภาพจาก The New York Public Library)

ความเสื่อมและการล่มสลายของ อูรุก

ราว 2,500 ปีก่อนคริสตกาล อีอานนูทัม (Eannutum) กษัตริย์ชาวสุเมเรียนแห่งเมืองลากาซ สถาปนาราชวงศ์ลากาซปกครองเมืองต่าง ๆ ของชาวสุเมเรียนในเมโสโปเตเมีย ทำให้อิทธิพลของอูรุกที่เสื่อมถอยมาระยะหนึ่งแล้วถูกลดบทบาทในการเป็นศูนย์กลางทางอำนาจ แม้จะมีการย้ายเมืองหลวงมายังอูรุกอีกครั้งโดยกษัตริย์ลูกัลซาเกอซี (Lugalzagesi) แห่งอุมมา แต่ในยุคของกษัตริย์องค์เดียวกันนั้น เมืองต่าง ๆ ของชาวสุเมเรียนก็ถูกพิชิตโดยจักรวรรดิอัคคาเดียนของกษัตริย์ซากอนแห่งอัคคาด (Sargon of Akkad) ราว 2,300 ปีก่อนคริสกาล

อย่างไรก็ตาม ตัวเมืองอูรุกยังได้รับการคุ้มครองจากผู้ปกครองชาวอัคคาเดียน รวมถึงเขตศักดิ์สิทธิ์และวิหารเทพอินันนาก็ได้รับการดูแลอย่างดี

แม้จะเสียสถานะศูนย์กลางทางอำนาจ แต่อูรุกยังดำรงสถานะเมืองสำคัญของจักรวรรดิอัคคาเดียนเรื่อยมา กระทั่งการรุกรานจากเผ่าเอลาไมต์และอะโมไรต์ทำให้เมืองอูร์ (Ur) ศูนย์กลางการปกครองของจักรวรรดิอัคคาเดียนล่มสลายลงราวปี 1750 ก่อนคริสตกาล สถานะของอูรุกจึงตกต่ำลงเรื่อย ๆ พร้อมตัวตนของชาวสุเมเรียนที่ค่อย ๆ เลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ ก่อนตัวเมืองจะถูกทิ้งร้างอย่างสมบูรณ์หลังการพิชิตเมโสโปเตเมียตอนล่างโดยชาวมุสลิมอาหรับเมื่อ ค.ศ. 630

ด้วยอายุกว่า 5,000 ปีก่อนคริสตกาลหรือ 7,000 ปี ทำให้อูรุกถือเป็นเมืองที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีการสำรวจพบ แม้คำตอบบางส่วนว่าด้วยพัฒนาการที่ทำให้ชุมชนบริเวณนี้ขยายตัวจนกลายเป็นเมืองใหญ่ยังคงถูกฝังอยู่ใต้ชั้นดินลึกลงไปและรอการศึกษาค้นคว้าอยู่

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

Joshua J. Mark, World History Encyclopedia : Uruk

K. Kris Hirst, ThoughtCo : Uruk Period Mesopotamia: The Rise of Sumer, The Rise of the First Great Cities of the World

Wu Mingren, Ancient Origins : The Great City of Uruk Became Sumerian Powerhouse of Technology, Architecture and Culture


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2565