ร่องรอย “บาม” เมืองโบราณในอิหร่าน สร้างจากอิฐดิบ เคยรุ่งเรือง สู่จุดพลิกผันเสียหายหนัก

ภาพถ่ายเมืองบาม (Bam) ในอิหร่าน ถ่ายเมื่อ ค.ศ. 1975 ก่อนเกิดแผ่นดินไหวเมื่อปี 2003 ภาพจาก JEAN-FRANCOIS CAMP / AFP

คืนของวันที่ 26 ธันวาคม 2546 หนึ่งวันหลังคริสต์มาส ปีที่คนในโลกตะวันตกเฉลิมฉลองด้วยความกังวลภัยของการก่อการร้าย (ตามการคาดการณ์ของหน่วยข่าวกรองอเมริกัน) และหนึ่งวันก่อนการถล่มค่ายลิมา เมืองคาร์บาลา ในอิรัก อันมีผลให้ทหารไทยเสียชีวิตไป 2 นาย พร้อมกับทหารบัลแกเรียอีกสี่ และคนบาดเจ็บนับร้อย

บาม (Bam) เมืองที่สร้างขึ้นมาจากอิฐดิบ ซึ่งกำลังหลับใหล ได้ถูกแผ่นดินไหวรุนแรง…ถล่มใส่ ภายในเวลาเพียง 10 วินาที ป้อมปราสาทศูนย์กลางของเมืองอายุประมาณ 2,000 ปี ได้ถล่มราบลงมาทั้งหมด กลายสภาพเป็นเพียงภูเขาดินขนาดมหึมา เฉกเช่นเดียวกับบ้านเรือนอีกเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ของเมือง

ผู้คนซึ่งกำลังนอนหลับใหลอยู่ ไม่มีโอกาสแม้จะลุกมาจากที่นอน ทั้งตายและสูญหายไปอย่างไม่ทราบจำนวน จนอีกหลายวันต่อมาจึงสามารถนับจำนวนผู้เสียชีวิตได้ว่ามีถึงประมาณครึ่งแสนคน

นี่เป็นโศกนาฏกรรมที่รุนแรงที่สุดในแง่ของภัยจากแผ่นดินไหวของอิหร่าน และของโลก…

(บน) ภาพถ่ายสภาพเมืองบาม (Bam) หลังเกิดแผ่นดินไหว ถ่ายเมื่อ 26 ธันวาคม 2003 (ล่าง) สภาพเมืองบาม ถ่ายเมื่อ ค.ศ. 1975 ภาพโดย AFP

อดีตของเมืองบาม (Bam)

อิหร่านเป็นประเทศที่มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ยืดยาว ความจริงร่องรอยของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ในอิหร่าน ก็มีอย่างอุดมสมบูรณ์และน่าตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างยิ่ง

คนอิหร่านถือว่าโคตรเหง้าศักราชของตัวเองเป็นชนชาวอารยันที่อพยพต่อเนื่องกันมาจากบริเวณเทือกเขาคอเคซัส จะมา “ร่วมกอ” กับพวกอาหรับก็จนเมื่อ 1,400 ปีที่แล้ว ฉะนั้นเมื่อเวลาผ่านไปก้าวมาสู่ความเป็นประเทศสมัยใหม่ จึงหันกลับไปเรียกชื่อประเทศตนเองว่าอิหร่าน (Iran) ซึ่งหมายถึงอารยัน (Aryan)

ราชวงศ์แรกของอิหร่านคือราชวงศ์อาเคมีนิค (Achaemenic) ตั้งขึ้นเมื่อประมาณ 2,600 ปีที่แล้ว แก่กว่าพุทธกาลนิดหน่อย ในราชวงศ์นี้มีกษัตริย์เก่งๆ ที่เราเคยได้ยินอยู่หลายพระองค์ เช่น ไซรัส (Cyras) มหาราช ดาริอุส (Darius) เซอร์เซส (Xerxes) ที่ยกทัพไปตีกรีซ แล้วยังมีตำนานเด็กจากเมืองมาราธอนซึ่งวิ่งทางไกลมาแจ้งข่าวที่เอเธนส์ จนเป็นที่มาของคำว่ามาราธอน (Marathon) ซึ่งหมายถึง “ความอึด” ในภาษาอังกฤษนั้นแล

ราชวงศ์นี้สร้างเมืองหลวงที่มีปราสาทพระราชวังอันโอ่อ่าตระการตา ชื่อเพอร์เซโพลิส (Persepolis) อยู่ทางตอนใต้ของประเทศปัจจุบัน ปราสาทนี้ถูกปล้นสะดม เผาทำลาย “โดยไม่ได้ตั้งใจ” ด้วยฝีมือของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช เมื่อ 2,400 ปีที่แล้ว

แม้กระนั้นซากของเมืองที่เหลือก็ยังเป็นมรดกสำคัญของประเทศและของโลก ที่ดึงดูดทั้งนักโบราณคดี และนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้ไปเยือนประเทศอิหร่านจนปัจจุบัน

ราชวงศ์ที่สองของอิหร่านคือราชวงศ์ซาสสานิค (Sassanic) ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 767 (ค.ศ. 224) และยืนยาวต่อมาจนถึง พ.ศ. 1181 (ค.ศ. 638)

ลำดับราชวงศ์ต่อๆ ไป ผมจะไม่พูดถึงละนะครับ เพราะเข้าใจว่าท่านผู้อ่านที่สนใจคงจะหาอ่านเอาเองได้จากที่อื่น และจุดมุ่งหมายที่ผมมาหยุดเอาตรงนี้ ก็เพียงเพื่อจะบอกว่าเมืองบามที่จะพูดถึงนั้น เริ่มก่อสร้างอาคารหลังแรกๆ ก็ในสมัยราชวงศ์นี้แหละ

จะตรงไหน อย่างไร ข้อมูลที่มีอยู่ไม่มีรายละเอียด เพียงแต่บอกว่าซากปราสาทเมืองบามบางส่วนยืนยันได้ว่าตกทอดลงมาจากราชวงศ์ซาสสานิค แต่ส่วนใหญ่ที่เห็นในรูปก่อนจะถล่มทลายไป เป็นการก่อสร้างทับซ้อนขึ้นในสมัยราชวงศ์ซาฟาวิดส์ (Safavids) เมื่อประมาณสี่ร้อยปีที่แล้ว หรือเทียบคร่าวๆ ก็คือตอนกลางสมัยอยุธยาของเรานั้นเอง

ในยุคสมัยที่ว่านี้ เรามักจะเรียกรวมๆ ว่าเป็นปลายสมัยกลาง โดยเทียบกับการแบ่งยุคสมัยของยุโรป ซึ่งในยุโรปเองก็มีการสร้างปราสาทราชวังเป็นแบบป้อมค่ายที่ใช้หิน (castle) เพราะสอดรับกับเทคโนโลยีในการศึกสงครามสมัยนั้นตลอดทั่วทั้งตะวันออกกลาง (ความจริงรวมเอาอินเดีย อียิปต์ โมร็อกโกด้วย) ก็มีการสร้างปราสาทลักษณะป้อมค่ายแบบเดียวกันโดยทั่วไป

ทำไมบามจึงต้องใช้อิฐดิบ

ตอบแบบกำปั้นทุบดินก็คือ ก็มันไม่มีวัสดุชนิดอื่นให้ใช้นี่ครับ

ตอบแบบขยายความอีกหน่อย ก็เห็นจะต้องบอกว่ามันเป็นกฎของสากลโลก ที่ช่างย่อมจะใช้วัสดุที่มีอยู่ในพื้นถิ่น หรือที่ตนมีความชำนาญ หรือเท่าที่สอดรับกับแรงงานที่มี หรือเท่าที่กำหนดเวลาอำนวยให้ เช่น ช่างอินเดียใต้ที่เมืองมัลลาปูรัม ย่อมใช้หินบะซอลต์ที่มีอยู่ทั่วไป และมีความรู้ในการสร้างเครื่องมือเหล็ก โลหะที่แกร่งพอที่จะสกัดหินชนิดนี้ได้นั้นดีพอแล้ว

ช่างเขมรสร้างนครวัด ย่อมใช้หินทรายเพราะการชักลากหินทรายจากเขาลิ้นจี่ (พนมกุเลน) นั้น ไม่เหลือบ่า และไม่กว่าแรง อีกทั้งหินทรายย่อมตอบสนองต่อความเชื่อว่า บ้านของพระเจ้าย่อมมั่นคง แข็งแรง เหนือกาลเวลาอันเป็นสิ่งสมมติของมนุษย์ตัวกระจ้อยอย่างเราๆ

มหาพีระมิดที่กิซาห์ ใช้หินปูน เพราะสถานที่ตั้งนั้นเป็นที่ราบสูงหินปูน (lime) แต่หินทรายและแกรนิตที่นำมาใช้ประกอบในการก่อสร้างด้วยต้องออกแรงมากขึ้น เพราะแหล่งหินทรายและโดยเฉพาะอย่างยิ่งแกรนิตนั้นอยู่ห่างไกลลงไปทางใต้ถึงเมืองอัสวาน

กรรมวิธีในการสกัดแกรนิตนั้นต้องเรียกว่าเลือดตาแทบกระเด็น เพราะมันแกร่งเหลือหลาย ช่างอียิปต์ต้องใช้เครื่องมือหลายชนิด โดยเฉพาะนำเอาหินภูเขาไฟแกร่งที่สุดที่เรียกว่าออบสิเดียน (obsidian) มาสกัดแกรนิตอีกทีหนึ่ง ในกรณีนี้อาจจะต้องใช้แนวคิดเรื่องอาณาจักร อุดมการณ์ ศาสนา ความสามารถในการจัดการแรงงานมนุษย์มาช่วยอธิบายด้วย

ในกรณีเมืองโบราณบุคารา (Bukhara) ประเทศอุซเบกิสถาน (2,400 ปีที่แล้ว) ใช้ทั้งอิฐดิบ และอิฐเผาไฟ

และในกรณีปราสาทอูกัยดีร์ (Ukhaidir) ในอิรักเมื่อศตวรรษที่ 8 ใช้อิฐเผาไฟ และหินประกอบกัน เพราะบริเวณนั้นมีเหมืองหินอันอุดมสมบูรณ์

ส่วนบามนั้น พื้นที่เต็มไปด้วยดินทรายสีน้ำตาลแดงของทะเลทรายดาช-อี คาวีร์ (Dash-e Kavir) ซึ่งอากาศแห้งจัด ขาดแคลนแหล่งหิน อิฐดิบจึงดูจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด เพราะเพียงแต่เอาดินที่ว่านี้มาผสมกับเศษฟางหญ้าผสมกับน้ำ ปั้นเป็นก้อน ตากไว้กลางแดด และด้วยอากาศที่แห้งมาก ก็จะสามารถได้อิฐดิบที่ใช้สร้างบ้านเรือนในระยะเวลาที่รวดเร็ว

ไอ้ครั้นจะให้เผาเพื่อให้มีความแกร่งนั้น ต้องบอกว่าไม้เชื้อฟืนนั้นหาได้ยากเหลือหลาย พืชที่อาจทนแล้งได้ก็เห็นจะมีแต่ลำต้นของอินทผลัม ซึ่งเป็นพืชที่ปลูกไว้เก็บผลกินมากกว่าการใช้เนื้อไม้

ด้วยเหตุทั้งปวงที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้เมืองบามก่อตัวขึ้นมาจากการใช้อิฐดิบ บ้านไหนผุพังลงก็จะกลายเป็นฐานที่จะได้สร้างบ้านใหม่ทับซ้อนกันขึ้นไปเรื่อยๆ

ฉะนั้นแม้บ้านรุ่นหลังๆ จะได้มีการใช้โครงเหล็กหรือแผ่นซีเมนต์มาประกอบ แต่กำแพงและฐานซึ่งปราศจากเสาเข็ม ก็ยังคงเป็นอิฐดิบอยู่ดี

และการถล่มทลายของบ้านอิฐดิบนั้น มันอันตรายเป็นอย่างยิ่ง เพราะอิฐจะแตกเป็นผง หรืออิฐชิ้นเล็กมาก คนที่ติดอยู่ใต้ซากจึงมักขาดอากาศหายใจ เพราะไม่มีโพรงที่เก็บอากาศพอให้ยังชีพต่อไปได้นาน

ภาพถ่ายเมืองบาม (Bam) ในอิหร่าน ถ่ายเมื่อ ค.ศ. 2002 ก่อนเกิดแผ่นดินไหวเมื่อปี 2003 ภาพจาก AFP

ภายในเมืองบาม

ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่น่าทึ่งของเขตร้อนแล้งก็คือลำธารหรือสายน้ำที่ไหลอยู่ในโตรกหินใต้ดินนั้นมีอยู่เป็นแหล่งๆ และที่ไหนที่ลำธารที่ว่านี้ผุดขึ้นมาบนดิน ก็จะเกิดเป็นแหล่งอุดมขึ้นเป็นหย่อมๆ ที่เราเรียกกันว่าโอเอซิส

บามเป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนโอเอซิสของทะเลทราย 2 ผืน คือ ดาช-อี คาวีร์ (Dash-e Kavir) และดาช-อี ลุต (Dash-e Lut) เป็นทะเลทรายที่เป็นพรมแดนของประเทศอิหร่าน กับประเทศอัฟกานิสถาน และปากีสถาน ปัจจุบัน

บามจึงเป็นเมืองที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองนักเดินทางและขบวนคาราวานที่เดินเท้ากันมาจาก 2 ประเทศดังกล่าว และเป็นป้อมปราการทางทิศตะวันตกของอิหร่าน

ตัวเมืองบามโบราณแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่เป็นที่อยู่ของเจ้าครองนครอยู่บนเนินสูงสุด ส่วนล่างลงมาเป็นบ้านเรือนร้านค้าของพ่อค้าวาณิช และพลเมืองที่สำคัญรองลงมา มีกำแพงล้อมเมืองทั้งหมดนี้ 2 ชั้น ชั้นในล้อมตัวป้อมปราสาทของเจ้านาย มีหอคอยเชิงเทิน 28 หอ มีใบเสมา (ซึ่งพบทั่วไปในตะวันออกกลาง แม้เมืองเก่าๆ อย่างเช่น บาบิลอน) ประกอบเหนือตลอดความยาวของกำแพง

ข้อมูลไม่ได้บอกว่าเมืองบามในสมัยโบราณนั้นเพาะปลูกอะไรกิน แต่เมืองบามปัจจุบันมีชื่อในเรื่องอินทผลัมรสดี และมีพืชสวน (ซึ่งผลไม้มีชื่อของตะวันออกกลางก็มีทั้งส้ม ทับทิม ถั่วนานาชนิด แม้กระทั่งองุ่น)

แม้บามจะมีชื่อในด้านการถักทอมาตั้งแต่อดีต แต่หากจะพูดถึงฝ้ายแล้ว พืชชนิดนี้กินน้ำจุเหลือหลาย ฉะนั้นการถักทอก็น่าจะเป็นการถักทอขนสัตว์ประเภทแกะและแพะ ซึ่งเป็นสัตว์ที่ทนทาน และเล็มหญ้าหรือพืชเรี่ยดิน เป็นแหล่งอาหารประเภทโปรตีนหลัก (เนื้อ นม เนย และเนยแข็ง) ของประชากรในตะวันออกกลาง

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่า สินค้าประเภทเครื่องถักทอนี้ (ผ้า และพรม) เป็นหัวใจอย่างหนึ่งของเมืองบามที่ดึงดูดพ่อค้า และช่างฝีมือจำนวนมากให้พากันมาอาศัยอยู่ที่เมืองนี้

นานเข้าเมืองบามก็ขยายตัวขึ้นกลายเป็นเมืองที่ต่อเชื่อมเส้นทางการค้า ที่ผ่านออกจากอัฟกานิสถานและปากีสถานปัจจุบัน เลี่ยงทะเลทราย จากนั้นจึงเลี้ยวลงใต้เพื่อลงทะเลที่อ่าวเปอร์เซีย อีกด้านหนึ่ง เดินทางต่อไปยังเมืองที่อยู่ทางตอนกลางประเทศ แล้วทะลุเข้าไปยังเมืองที่อยู่บนลุ่มน้ำไทกริส กับยูเฟรติส เช่น ฮัตรา (Hatra) ในอิรัก เมืองปาล์มีรา (Palmyra) ในซีเรีย เมืองเปตรา (Petra) ในจอร์แดน

จากนั้นก็ไปยังเมืองท่าของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนซึ่งมีอยู่มากมาย เช่น บิบลอส (Byblos) เมืองไท (Tye) ซิดอน (Sidon) และอื่นๆ จากนั้นก็กระจายตัวเข้าไปยังยุโรป โดยกองเรือการค้าที่แล่นกันนานนับพันปีในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

ตัวเมืองบามจึงมีหมู่อาคารจำนวนมากที่มีบทบาทหน้าที่รองรับกิจกรรมที่หลากหลาย สมกับฐานะที่เป็นเมืองศูนย์กลางทางการค้าต่อเนื่องกันยาวนาน

หมู่อาคารเหล่านี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยชั้นในสุด และอยู่ในตำแหน่งสูงสุดเป็นที่ประทับของเจ้านายซึ่งมีกำแพงแน่นหนาล้อมเอาไว้ และมีตัวเมืองชั้นนอกออกมา ซึ่งบริเวณรอบนอกนี้ก็มีกำแพงล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง

ในส่วนชั้นในนั้นศูนย์กลางอยู่ที่ “ที่ประทับสี่ฤดู” หรือชาฮาร ฟาซล (Chahar Fasl) และอาคารที่เคยเป็นคลังอาวุธ สนามฝึกและกองทหาร กับโรงเลี้ยงสัตว์

ส่วนชั้นนอก มีทั้งบ้านเรือน คฤหาสน์สำหรับคนชั้นสูง สุเหร่าถึง 3 แห่ง จัตุรัสลานกว้าง ตลาดปสาน (bazaar) และที่พักกองคาราวาน (caravan-serai)

พื้นที่ทั้งหมดนั้นคะเนด้วยสายตาก็น่าจะกินบริเวณกว้างประมาณ 6 ตารางกิโลเมตร พอๆ กับเกาะอนุธยาซึ่งเป็นบริเวณของเมืองเก่าทั้งเมือง และเคยมีประชากรถึง 9,000-13,000 คน

ความเรืองรองของบามค่อยๆ ร่วงโรยไปพร้อมๆ กับเส้นทางทางการค้าใหม่ๆ ได้เกิดขึ้น และการรุกรานของอัฟกานิสถานในศตวรรษที่ 15 จนเมื่อประมาณ 150 ปีที่แล้ว (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ของไทย) ศูนย์กลางของเมืองเก่าได้ถูกทิ้งร้าง เช่นเดียวกับหมู่อาคารร้านค้า โรงงานช่างฝีมือ ตลอดจนศาสนสถาน เมืองเก่ากลายเป็นเพียงอนุสรณ์แห่งกาลเวลา เมืองใหม่ซึ่งเกิดขึ้นรอบนอกกำแพง เป็นเพียงชุมชนการเกษตรที่ปลูกอินทผลัม และพืชสวนไม้ผล

จุดจบและการเกิดใหม่

คนกลุ่มใหม่ที่เดินทางมาสู่เมืองบาม คือนักท่องเที่ยว จวบจนวันที่ 23 ธันวาคมที่ผ่านมา บามได้กลับกลายเป็นเพียงภูเขาธุลีสีดิน

รัฐบาลอิหร่านประกาศว่าจะได้บูรณะเมืองบามขึ้นมาอีกครั้ง โดยห้ามการใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นอิฐดิบ แต่ก็คงใช้เวลาอีกนานกว่าจะเสร็จสมบูรณ์ตามเจตนารมณ์…

อ่านเพิ่มเติม :


เอกสารประกอบการค้นคว้า

1. St. Vincent, David. Iran. (Lonely Planet Publications, 1992)

2. Matheson, Sylvia A. Persia : An Archaeological Guide. (Yassavoli Publications, Tehran, Iran, 2001)

3. Stierlin, Henri. Islam : Vol. 1 : Early Architecture from Baghdad to Cordoba. (Benedikt Taschen Verlag Gmbh, Koln, 1996)

4. Bukhara : A Museum in the Open. (Tashkent Gafur Gulyam Art and Literature Publishers, 1991)

5. Reuters Foundation : Alert Net; Chronology-Major Earthquakes in Iran 26 December 2003

6. Travelrag.com : Bam, Iran : an axis far from evil by Ryan Pyle

7. BBC News : Bam : Jewel of Iranian Heritage, 27/12/2003

8. ______. : A Historic City Counts its Losses by Jim Muir, 3/1/2004


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “บาม : เมืองที่ถูกธรณีสูบ” เขียนโดย ทรงยศ แววหงษ์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2547


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2564