ผู้เขียน | อัศวัตถามา |
---|---|
เผยแพร่ |
“คอปติกออร์โธดอกซ์” หนึ่งในนิกายของ “ศาสนาคริสต์” ที่หลายคนอาจไม่คุ้นชื่อ แพร่หลายใน อียิปต์ และ แอฟริกา
เมื่อกล่าวถึงนิกายสำคัญของ ศาสนาคริสต์ ชื่อของ 3 นิกายแรกที่โผล่ขึ้นมาเป็นอันดับต้น ๆ ย่อมเป็นนิกายโรมันคาทอลิก ออร์โธดอกซ์ และโปรเตสแตนต์ ซึ่งถือเป็นนิกายที่มีผู้คนนับถือมากเป็นอันดับต้น ๆ สำหรับนิกายออร์โธดอกซ์ หรือที่รู้จักกันในฐานะศาสนาคริสต์ “นิกายตะวันออก” นั้น ยังแบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม-นิกายย่อย ซึ่งล้วนมีการเคลม (claim) ความเป็นต้นฉบับดั้งเดิมจากยุคพระคริสต์ทั้งสิ้น และหนึ่งในนิกายย่อยที่เป็นที่รู้จักไม่มากนักแต่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่านิกายตะวันออกอื่น ๆ เลยคือ “นิกายคอปติกออร์โธดอกซ์” (Coptic Orthodox Church) แห่งอียิปต์ นั่นเอง
ศาสนาคริสต์นิกาย คอปติกออร์โธดอกซ์ มีศูนย์กลางที่คริสตจักรคอปติกออร์โธดอกซ์แห่งอเล็กซานเดรีย (Coptic Orthodox Church of Alexandria) โดยประมุขของคริสจักรคอปติกออร์โธดอกซ์มีพระอิสริยยศเป็น “พระสันตะปาปาแห่งอเล็กซานเดรียและอัครบิดรแห่งแอฟริกาทั้งปวง ณ สันตะสำนักแห่งนักบุญมาร์ค” ชาวคริสต์คอปติกออร์โธดอกซ์ถือเป็นคริสตชนกลุ่มใหญ่ที่สุดในอียิปต์และตะวันออกกลาง และเป็นศาสนาคริสต์นิกายเดียวที่ใช้ภาษาอียิปต์เป็นภาษากลางทางศาสนา ดำรงสถานะอยู่ท่ามกลางประชาชาติมุสลิมในอียิปต์และชาติอาหรับอื่น ๆ ที่ล้วนนับถือศาสนาอิสลาม
“คอปติกออร์โธดอกซ์” เกิดจากคำ 2 คำรวมกัน คือคำว่า “ออร์โธดอกซ์” (Orthodoxy) ที่แปลว่า ถูกต้องและดั้งเดิม และ “คอปติก” (Coptic) ที่หมายถึงชาวอียิปต์ เนื่องจากก่อนอียิปต์จะถูกชาวอาหรับพิชิตในคริสต์ศตวรรษที่ 7 ผู้คนในดินแดนลุ่มแม่น้ำไนล์แห่งนี้เรียกขานตนเองและภาษาของพวกเขาเป็นคำในภาษากรีกว่า “Aigyptios” (อียิปต์อยู่ใต้อิทธิพลของกรีก-โรมันเป็นเวลานานหลายร้อยปีก่อนการเข้ามาของชาวอาหรับ) Aigyptios ในภาษาอาหรับคือ ยิปตีย์ (Gypt, Qibt) ออกเสียงแบบตะวันตกในภาษาอังกฤษได้เป็น Copt หรือ Coptic นั่นเอง
หลังจากชาวมุสลิมอาหรับเข้ามามีบทบาทในดินแดนอียิปต์ และชาวอียิปต์ส่วนใหญ่กลายเป็นชาวมุสลิม คำว่า “คอปติก” จึงถูกใช้เรียกชาวอียิปต์ที่ยังนับถือศาสนาคริสต์ไปโดยปริยาย
นอกจากศูนย์กลางที่อเล็กซานเดรียแล้ว นิกายคอปติกออร์โธดอกซ์ยังประกอบด้วยคริสตจักรในดินแดนอื่น ๆ ได้แก่ คริสตจักรแห่งเอธิโอเปีย เอริเทรีย ซีเรีย และอาร์เมเนีย ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาคริสต์นิกายตะวันออกกลุ่มโอเรียนทัลออร์โธดอกซ์ (Oriental Orthodoxy) ทั้งสิ้น แต่ถือว่าเป็นคนละกลุ่มกับอีสเทิร์นออร์โธดอกซ์ (Eastern Orthodox) หรือกรีกออร์โธดอกซ์ที่พัฒนาขึ้นในจักรวรรดิโรมันตะวันออกหรือไบเซนไทน์ ซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายในประเทศแถบยุโรปตะวันออก
แม้นิกายคอปติกออร์โธดอกซ์และกรีกออร์โธดอกซ์เป็นศาสนาคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์ หรือ “นิกายตะวันออก” เหมือนกัน แต่แยกออกจากกันหลังจากการสังคายนาที่แคลเซดัน (Council of Chalcedon) ใน ค.ศ. 451 อันเนื่องมาจากการตีความทางคริสตวิทยาว่าด้วยธรรมชาติตัวตนของพระคริสต์หรือพระเยซูเจ้าที่ไม่ตรงกัน
อย่างไรก็ตาม จุดเริ่มต้นของศาสนาคริสต์ในอียิปต์นั้นสืบย้อนกลับไปไกลกว่านั้นมาก โดยมี นักบุญมาร์คผู้นิพนธ์พระวรสาร (Mark the Evangelist) และอัครทูต เป็นผู้เผยแผ่ศาสนาและก่อตั้งคริสตจักรแห่งอียิปต์มาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 1 แล้ว ขณะนั้นอียิปต์เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันในยุคของจักรพรรดิเนโร (ค.ศ. 54-68) นักบุญมาร์คถูกข่มเหงที่เมืองอเล็กซานเดรียก่อนท่านจะเสียชีวิตในเมืองนี้ และศพถูกฝังในโบสถ์ชื่อ “บูคาลิส” (Beucalis) พระสันตะปาปาหรือประมุขของศาสนาคริสต์นิกายคอปติกออร์โธดอกซ์จึงถือเป็นผู้สืบทอดของนักบุญมาร์ค ซึ่งแตกต่างจากนิกายโรมันคาทอลิกที่พระสันตะปาปาเป็นผู้สืบทอดของนักบุญเปโตร
หลังการเผยแผ่ศาสนาโดยนักบุญมาร์ค และการสถาปนาศาสนาคริสต์ให้เป็นศาสนาหลักของจักรวรรดิโรมันโดยจักรพรรดิคอนสแตนตินมหาราช (ค.ศ. 306-337) ศาสนาคริสต์ก็รุ่งเรืองในอียิปต์อยู่ช่วงเวลาหนึ่งก่อนการเข้ามาของศาสนาอิสลามโดยชาวอาหรับ โรงเรียนสอนศาสนาแห่งแรก ๆ และอาราม (ชุมชนของบาทหลวงหรือแม่ชี) แห่งแรกของโลกล้วนถือกำเนิดขึ้นในอียิปต์โดยชาวคริสต์นิกายคอปติกออโธดอกซ์ เมื่อจักรวรรดิมุสลิมอาหรับครอบครองและผนวกอียิปต์ให้กลายเป็นหนึ่งในโลกอิสลาม อุปสรรคทางภาษาจึงทำให้นิกายคอปติกออร์โธดอกซ์และกรีกออร์โธดอกซ์ห่างเหินกันมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันชาวคริสต์ในอียิปต์ก็มีจำนวนลดน้อยลงเรื่อย ๆ
ขณะที่ในประเทศเอธิโอเปียและเอริเทรียซึ่งอยู่ทางใต้ของอียิปต์ ศาสนาคริสต์นิกายคอปติกออร์โธดอกซ์ยังคงเป็นศาสนาของคนกลุ่มใหญ่ในประเทศ
กระแสชาตินิยมใน อียิปต์ ช่วงทศวรรษที่ 1950 จากความพยายามในการปลดปล่อยอียิปต์จากอิทธิพลของชาติตะวันตก และชูเรื่องความเป็นอาหรับบริสุทธิ์ ทำให้ชาวคริสต์ในอียิปต์ถูกกีดกันและกลายเป็นพลเมืองชั้นสอง ยิ่งเกิดสงครามและความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลาง ชาวคริสต์คอปติกออร์โธดอกซ์ก็เริ่มอพยพออกจากอียิปต์มากขึ้น ส่วนกลุ่มที่ยังอยู่ในประเทศก็ถูกเลือกปฏิบัติอยู่เนือง ๆ แม้รัฐธรรมนูญอียิปต์ให้การรับรองในเรื่องเสรีภาพทางศาสนา ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญก็ระบุให้อิสลามเป็นศาสนาทางการของประเทศ ห้ามการเปลี่ยนศาสนา รวมถึงมีบทลงเกี่ยวกับการหมิ่นศาสนาอิสลามด้วย
การปราบปรามกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงที่มีแนวคิดสุดโต่งโดยรัฐบาลอียิปต์ ยังทำให้ชาวคริสต์เป็นเป้าโจมตีเพื่อตอบโต้รัฐบาลจากกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงเหล่านี้ โบสถ์คอปติกออร์โธดอกซ์มักเกิดเหตุนองเลือดหลายครั้ง เช่น เดือนเมษายน ค.ศ. 2017 มือระเบิดพลีชีพของกลุ่ม ISIS โจมตีโบสถ์สองแห่งในเมืองอันตอและอเล็กซานเดรีย คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์กว่า 45 คน บาดเจ็บร่วมร้อยคน
ในปัจจุบันมีประชากรชาวอียิปต์ราว 10 ล้านคนที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคอปติกออร์โธดอกซ์ จากประชากรราว 103 ล้านคนในอียิปต์ ผู้นับถือศาสนาคริสต์ส่วนใหญ่จะอยู่ตามหัวเมืองห่างไกลและเป็นเพียงคนกลุ่มน้อยของชุมชนนั้น ๆ ที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม
สำหรับประเทศไทย มีการเผยแผ่ ศาสนาคริสต์ นิกายคอปติกออร์โธดอกซ์ ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 2004 ภายใต้การดูแลของบิชอปแดเนียลแห่งมุขมณฑลซิดนีย์และพื้นที่ในสังกัด (Diocese of Sydney & Affiliated Regions) จากประเทศออสเตรเลีย โดยมีโบสถ์อยู่ 2 แห่ง คือ โบสถ์นักบุญมาร์คและนักบุญจอร์จ (บางกะปิ, กรุงเทพฯ) และโบสถ์นักบุญยาโคบอัครสาวก (สังขละบุรี, กาญจนบุรี)
อ่านเพิ่มเติม :
- การเผยแพร่ “ศาสนาคริสต์” ในอีสาน สู่จุดกำเนิดชุมชนคาทอลิกแห่งบ้านท่าแร่
- พระเมสสิยาห์ (Messiah) หรือ “พระผู้ช่วยให้รอด” ไม่ได้มีเพียงพระเยซู ?
อ้างอิง :
Coptic Orthodox Diocese of the Southern United States : The Coptic Church
Encyclopaedia Britannica : Coptic Orthodox Church of Alexandria
Encyclopaedia Britannica : Council of Chalcedon
Encyclopaedia Britannica : Saint Mark
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 ตุลาคม 2565