ผู้เขียน | กลับบางแสน |
---|---|
เผยแพร่ |
การเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอริกแถบอีสานในประเทศไทยช่วง พ.ศ. 2110-2427
การเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในประเทศไทย ปรากฏหลักฐานว่าเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าใน พ.ศ. 2310 การเผยแพร่ศาสนาก็หยุดชะงักลงชั่วระยะเวลาหนึ่ง มาเริ่มต้นใหม่อีกครั้งหนึ่งในสมัยกรุงธนบุรี สืบเนื่องมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งในช่วงเวลานี้มีการอพยพของคนญวนอพยพเข้ามาอยู่ที่ท่าแร่ตั้งแต่แรกตั้งชุมชน โดยอพยพจากเวียดนามเข้ามาอยู่ที่เมืองสกลนครก่อน
สาเหตุที่อพยพมาจากเวียดนาม เนื่องจากหนีปัญหาการต่อต้านศาสนาคาทอลิกในเวียดนาม กล่าวคือ ในประเทศเวียดนามมีการเผยแพร่ศาสนาคาทอลิกใน พ.ศ. 2207 โดยมิชชันนารีชาวฝรั่งเศส แต่ศาสนาคาทอลิกในเวียดนามถูกต่อต้านจากผู้ปกครองหลายยุคหลายสมัย เนื่องจากเกรงว่าชาวตะวันตกจะใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการยึดครองประเทศ ในรัชกาลพระเจ้าเทียวตรีและในรัชกาลพระเจ้าตือดึกมีการต่อต้านศาสนาคาทอลิกรุนแรงยิ่งขึ้น คณะมิชชันนารีถูกฆ่า
เหตุการณ์นี้ทำให้ชาวเวียดนามที่เป็นคริสตังอพยพข้ามแม่น้ำโขงมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมาอยู่แถบเมืองนครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี ซึ่งเรียกกลุ่มอพยพเหล่านี้ว่า “ญวนเก่า” (สาลินี มานะกิจ, 2548 : 57)
นอกจากชาวญวนเก่าในพื้นที่แถบอีสานยังประกอบไปด้วย กลุ่มคนลาวหรือคนพื้นเมือง ประกอบด้วย พวกไทย้อ ผู้ไทย กะเลิง กะโส้ คนในกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่อพยพมาจากทางตอนใต้ของลาว เช่น เมืองมหาชัย เมืองวัง เป็นต้น
สาเหตุที่คนเหล่านี้อพยพมาเนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2370 เกิดเหตุการณ์กบฏเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ รวมทั้งไทยและญวนทำสงครามแย่งชิงอิทธิพลในดินแดนเขมร ในครั้งนี้กองทัพไทยได้กวาดต้อนผู้คนจากเมืองต่างๆ ทางฝั่งซ้ายให้มาอยู่ตามเมืองทางฝั่งขวาเพื่อเป็นการตัดกำลังไม่ให้ญวนได้ประโยชน์จากผู้คนในหัวเมืองฝั่งซ้าย ทั้งสองเหตุการณ์ทำให้มีผู้คนจากทางตอนใต้ของลาวอพยพเข้ามาอยู่ในภาคอีสานของไทยเป็นจำนวนมาก รวมทั้งที่เมืองสกลนครด้วย และคนเหล่านี้ได้กลายเป็นคนพื้นเมืองอีสานในเวลาต่อมา (อนุสรณ์ท่าแร่ครบ 100 ปี, 2527 : 18) และมีจำนวนมากกว่าชาวญวนเก่า
ใน พ.ศ. 2399 ตรงกับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยทำสนธิสัญญามงตินยี (Montigny) กับฝรั่งเศส เปิดโอกาสให้ฝรั่งเศสมีสิทธิเท่าเทียมกับประเทศตะวันตกอื่นๆ ที่ติดต่อค้าขายกับไทยในขณะนั้น มาตราที่ 3 ของสนธิสัญญานี้มีใจความสำคัญว่าคณะมิชชันนารีฝรั่งเศสมีเสรีภาพในการเผยแพร่ศาสนา มีเสรีภาพในการสร้างโบสถ์และอาคารที่เกี่ยวกับศาสนา
รวมทั้งสามารถเดินทางอย่างมีอิสระเต็มที่ในดินแดนทั้งหมดของราชอาณาจักรสยาม (อาเดรียง โลเนย์, 2528: 164) ส่งผลให้สมัยนี้มีการเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกายังภาคอีสานนำโดยบาทหลวงยวง บัปติส โปรดม บาทหลวงซาเวียร์ เกโก ซึ่งเป็นคณะสงฆ์แห่งกรุงปารีส และครูทัน ซึ่งเป็นครูเณรชาวเวียดนาม ที่ได้รับมอบหมายจากพระสังฆราชหลุยส์ เวย์ ให้เดินทางมาเผยแพร่ศาสนาที่จังหวัดอุบลราชธานี ก่อนจะเดินทางไปเผยแพร่ศาสนาต่อในจังหวัดมุกดาหาร นครพนม หนองคาย และสกลนคร (ปกรณ์ พัฒนานุโรจน์, 2561 : 60) ทำให้สามารถรวบรวมคนญวนที่อพยพก่อนหน้านี้และคนพื้นเมืองที่ยอมรับเข้ารีตตั้งชุมชนที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกได้ เรียกว่า “คุ้มแกว”
การจัดตั้งชุมชนคาทอลิก มิชชันนารีมีวิธีดำเนินการ คือ “เมื่อมีคนมาเข้ารีตมิชชันนารีก็จะรวบรวมเอาผู้ที่เข้ารีตมาอยู่ในที่แห่งเดียวกัน เมื่อหาทำเลที่เหมาะสมแล้วก็จะตั้งเป็นชุมชนเอกเทศ เป็นเขตเฉพาะที่สามารถควบคุมและปกครองได้ ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม” (พรรณี พลไชยขา, 2536 : 118-119) ชุมชนที่ตั้งขึ้นนี้มีลักษณะเด่น คือ “…ถือวัฒนธรรมตาม ‘แบบฝรั่ง’ ซึ่งมีแนวทางการดำเนินชีวิตที่แตกต่างจากคนไทยทั่วไป มิชชันนารีถือว่าชุมชนดังกล่าวเป็นชุมชนศักดิ์สิทธิ์และเป็นเป้าหมายการเผยแพร่ศาสนาในสมัยนั้น เรียกว่า ‘กลุ่มคริสต์ชนพื้นฐาน (BasicChristian Community)’ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการขยายจำนวนคาทอลิกให้เพิ่มขึ้นต่อไป” (ปรีชา จินตเสรีวงศ์, 2531 : 85)
ในจำนวนชุมชนคาทอลิกนับร้อยที่ถูกตั้งขึ้นในอีสานนั้น มีชุมชนคาทอลิกแห่งหนึ่งที่น่าสนใจ ทั้งในด้านพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ และความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของคนในชุมชน รวมทั้งร่องรอยทางวัฒนธรรมที่ยังคงหลงเหลืออยู่ให้ศึกษาได้ในปัจจุบัน คือ ชุมชนคาทอลิกบ้านท่าแร่ ตำบลท่าแร่ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
สาเหตุในการก่อตั้งชุมชนหลักฐานจากเอกสารและจากคำบอกเล่าของคนในชุมชนส่วนใหญ่กล่าวถึงสาเหตุในการก่อตั้งชุมชนไว้ตรงกัน คือ มีสาเหตุจากความขัดแย้งระหว่างบาทหลวงกับเจ้าหน้าที่กรมการเมือง กล่าวคือ ใน พ.ศ. 2427 บาทหลวงฝรั่งเศสเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคาทอลิกที่เมืองสกลนคร ต่อมาเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างบาทหลวงกับเจ้าหน้าที่กรมการเมืองสกลนคร เนื่องจากมีไพร่และทาสของเจ้าหน้าที่กรมการเมืองหลบหนีไปเข้ารีตอยู่กับบาทหลวงเพื่อหลบหนีการเสียส่วยและเกณฑ์แรงงาน
ในที่สุดเมื่อจำนวนคริสต์ชนเพิ่มมากขึ้นทำให้ไม่สะดวกในการจัดหาที่ดินเพื่อพักอาศัยและทำกินสำหรับคนเหล่านั้น ประกอบกับถูกกลั่นแกล้งจากเจ้าหน้าที่บ้านเมืองทำให้เกิดความคิดที่จะหาทำเลที่ตั้งหมู่บ้านคริสต์ชนใหม่ บาทหลวงเกโกกับครูทันจึงตัดสินใจย้ายชาวคริสต์ทั้งชาวญวนและชาวพื้นเมืองไปอยู่ทางฝั่งเหนือของหนองหาน การตัดสินใจครั้งนี้ได้รักษาไว้เป็นความลับ
จนถึงคืนวันหนึ่งในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2427 บาทหลวงเกโก ครูทัน และกลุ่มคริสต์ชน ได้จัดทำแพใหญ่ด้วยเรือเล็ก และไม้ไผ่ผูกติดกันบรรทุกทั้งคนและสัมภาระลงแพ กางใบให้ลมพัดมาทางทิศเหนือจนมาถึงฝั่งท่าแร่ และตั้งรกรากอยู่ที่นั่นเป็นต้นมา และขณะที่อพยพมากลุ่มคริสต์ชนได้ภาวนาวิงวอนอัครเทวดามีคาแอล (SaintMichael) ให้ช่วยคุ้มครองก็ได้รับความปลอดภัยทุกประการ ดังนั้น จึงนับถืออัครเทวดามีคาเเอลเป็นองค์อุปถัมภ์ของบ้านท่าแร่ตั้งแต่นั้นมา (หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่น จ. สกลนคร, 2539 : 4)
อ้างอิง :
สาลินี มานะกิจ. (2548). ความเป็นมาและการเปลี่ยนแปลงของชุมชนคาทอลิกบ้านท่าแร่ จังหวัดสกลนคร
พ.ศ. 2427 – 2508. ปริญญานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่น จ. สกลนคร. (2539). มรดกล้ำค่าที่บ้านท่าแร่. มปท.
ปรีชา จินตเสรีวงศ์. (2531). แนวทางงานพัฒนาสังคมของพระศาสนาจักรคาทอลิกในประเทศไทย.
กรุงเทพฯ: วิทยาลัยแสงธรรม.
ปกรณ์ พัฒนานุโรจน์. (2561). การอนุรักษ์อาคารพื้นถิ่นในย่านเมืองเก่าสกลนคร. วารสารสังคมลุ่มน้ำโขง,10(2).
อาเดรียง โลเนย์. (2528). สยามและคณะมิชชันนารีฝรั่งเศส (แปลโดย ประทุมรัตน์ วงศ์ดนตรี).
กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร
อนุสรณ์ท่าแร่ครบ 100 ปี. (2527). ม.ป.ท. สกลนคร
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กรกฎาคม 2565