ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2556 |
---|---|
ผู้เขียน | ไกรฤกษ์ นานา |
เผยแพร่ |
ป้อมบางกอก หรือ ป้อมเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ สมัยกรุงศรีอยุธยามักจะเป็นภาพในฝันของนักโบราณคดีสมัยใหม่ที่ยากต่อการพิสูจน์ เพราะทุกวันนี้ก็ไม่มีแม้แต่ซากปรักหักพังให้พบเห็น ที่มีก็เป็นเพียงภาพวาดลายเส้นในเอกสารฝรั่งเศสสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเท่านั้น แต่รูปพรรณสัณฐานที่แท้จริงจะเป็นอย่างไรไม่มีใครบอกได้
และถ้ายังยืนหยัดอยู่ก็คงจะผุงพังมิใช่น้อย เพราะสร้างไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2231 (ค.ศ. 1688) จึงมีอายุไม่ต่ำว่า 325 ปี ที่น่าพิศวงก็คือเป็นป้อมที่ออกแบบโดยวิศวกรของฝรั่งเศสล้วนๆ สร้างด้วยเทคโนโลยีแบบฝรั่งเศสสั่งตรงเข้ามาจากปารีส ผ่านร้อนผ่านหนาวมาพร้อมกับยุคแห่งไมตรีจิตสู่ภาวะสงคราม และความไม่ไว้วางใจกันระหว่างคนไทยกับฝรั่งเศสในสมัยหลัง
ต่อมาก็ถูกรื้อถอนออกไปจากพื้นที่เดิมจนหมดสิ้นในราวปลายกรุงธนบุรี ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยไม่มีใครในยุคนั้นปรารถนาจะบันทึกข้อมูลอะไรไว้ ด้วยความกินแหนงแคลงใจว่าพวกฝรั่งเศสต้องการสร้างป้อมไว้เป็นฐานที่มั่นในการยึดสยามรัฐเป็นเมืองขึ้นในวันข้างหน้า
คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนถึงป้อมนี้ว่า
“เมืองธนบุรีที่บางกอกคงมีป้อมค่าย แสดงเขตจวนเจ้าเมืองตรงมุมที่แม่น้ำเก่า กับแม่น้ำใหม่ไหลชนกันอยู่ก่อนแล้ว แต่เป็นสิ่งก่อสร้างด้วยไม้ซุงไม้ท่อนอย่างง่ายๆ แล้วขุดคูน้ำล้อม หรือมิฉะนั้นก็เป็นทางน้ำ ในเรือกสวนอยู่แล้วตามธรรมชาติ
แนวคิดสร้างป้อมอย่างบ้านเมืองในยุโรปเริ่มต้นเพราะพวกฝรั่ง ด้วยการค้าทางทะเลกับนานาชาติรุ่งเรืองขึ้นมาก แต่ลงมือก่อสร้างอย่างจริงจังในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อติดต่อกับราชสำนักฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ แล้วมีทูตมาเจริญทางพระราชไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2228 (ค.ศ. 1685) โดยได้ว่าจ้างนายทหารเรือฝรั่งเศสชื่อ เชอวาลิเอร์ เดอ ฟอร์บัง ให้วางผังและควบคุมดูแลการก่อสร้างทั้งหมด แล้วตั้งให้มีบรรดาศักดิ์เป็นออกพระศักดิ์สงคราม เนื่องจากต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง และฝรั่งเศสเก่งกว่าชาติอื่น
ป้อมปราการในสมัยนั้นเป็นป้อมทรงหกเหลี่ยม มีขนาดใหญ่โตมาก”
ทว่าล่าสุด หนังสือจากฝรั่งเศสชื่อ L’INDOCHINE FRANÇAISE (ปทนุกรมสมุดภาพอินโดจีนฝรั่งเศส) ได้ให้ข้อมูลว่าชาวฝรั่งเศสคือผู้บุกเบิก และวางรากฐานการสร้างป้อมคูประตูหอรบที่ทันสมัยในโลกยุคโบราณกับเอเชีย เช่นในอินเดีย สยาม และเวียดนาม ที่ซึ่งชาวฝรั่งเศสเคยมีบทบาทในการปลูกฝังค่านิยม ลัทธิการเมือง วัฒนธรรม ตลอดจนถ่ายทอดเทคโนโลยีไว้มากมายเมื่อหลายร้อยปีที่ผ่านมา
โดยได้ลงภาพถ่ายทางอากาศจากปี ค.ศ. 1931 ของป้อมแบบฝรั่งเศสในเวียดนาม ซึ่งมีรูปพรรณแบบเดียวกับป้อมบางกอกสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมาให้ชม ภาพของป้อมเก่า ณ เมืองวินห์ (Vinh) และเมืองเว้ (Hue) ยังตั้งอยู่ในสภาพเดิม โดยได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดีเยี่ยม เป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจอย่างยิ่ง
ข้อสันนิษฐานใหม่เกี่ยวกับป้อมบางกอก
จากภาพถ่ายเก่าและข้อมูลใหม่ในหนังสือจากฝรั่งเศสที่เพิ่งค้นพบใหม่ ทำให้ทราบว่า
1. ป้อมบางกอก บนฝั่งธนบุรีอาจเป็นป้อมฝรั่งเศสแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างขึ้นก่อนป้อมในเวียดนามที่ฝรั่งเศสเพิ่งจะเข้าครอบครอง ภายหลังสงครามตังเกี๋ยในปี ค.ศ. 1884-85 แต่ด้วยรูปพรรณสัณฐานแบบเดียวกัน
2. หอคอยและกำแพงรอบป้อมเป็นแนวคันดินถมสูงฉาบปูนดังที่เห็นในภาพป้อมเมืองญวน และมิใช่ก่ออิฐถือปูนลอยๆ เหมือนป้อมทั่วไปสมัยสมัยรัตนโกสินทร์ที่ยังมีให้เห็นในวันนี้ เช่น ป้อมมหากาฬ และป้อมพระสุเมรุ
3. และจากการที่กำแพงป้อมเป็นคันดินถมสูง ทำให้มีเพนียดเนื้อที่เหนือแนวกำแพงป้อมกว้างพอใช้วางปืนใหญ่รอบป้อม ดังเช่นในรูปวาดขณะถูกฝ่ายไทยปิดล้อมโดยกองกำลังฝ่ายพระเพทราชา
4. ภายในป้อมมีอาณาบริเวณกว้างขวางใหญ่โต เป็นที่เก็บคลังอาวุธ อาคารที่พักทหาร โรงพยาบาล คลังเสบียง ศูนย์ฝึกทหารและเรือกสวนที่ใช้เพาะปลูกพืชผักสวนครัวไว้เลี้ยงทหารได้ในระยะสั้นหากถูกปิดล้อม
5. เป็นแบบฉบับป้อมขนานแท้ของฝรั่งเศส ตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 17-19 แต่ก็ยังเป็นต้นแบบของป้อมฝรั่งเศสสมัยหลังในเวียดนาม และอาณานิคมของฝรั่งเศสอีกหลายแห่งเช่น ที่เมืองวินห์และเมืองเว้ หรือในสมัยรัตนโกสินทร์หลังจากป้อมบางกอกถูกสร้างขึ้นนานกว่า 300 ปี
อ่านเพิ่มเติม :
- ป้อมเมืองบางกอก เดิมฝั่งซ้ายเคยมี “ป้อมวิไชยเยนทร์” ตั้งอยู่?
- เล่าเรื่อง พระเพทราชา ได้ราชสมบัติแบบตกกระไดพลอยโจน?
- แผนปลงพระชนม์ และยึดราชบัลลังก์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
บรรณานุกรม :
สุจิตต์ วงศ์เทศ. “ฝรั่งสร้างป้อมเมืองธนบุรีที่บางกอก,” ใน กรุงเทพฯ มาจากไหน?. ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ มติชน 2542.
L’INDOCHINE FRANÇAISE Encyclopédie Par L’Image LIBRAIRIE HACHETTE, Paris, 1981. (คุณไกรฤกษ์ นานา ประมูลได้จากประเทศฝรั่งเศส)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 ตุลาคม 2565