เส้นทางนิราศ เส้นทางการค้า

แผนที่แสดงเส้นทางเดินทางทางน้ำจากกรุงเทพฯไปเขายี่สาร และเมืองเพชรบุรี (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, เมษายน 2545)

ลักษณะที่ตั้งของกรุงศรีอยุธยาแวดล้อมไปด้วยแม่น้ำ ลำคลอง สามารถเชื่อมต่อกับเส้นทางน้ำสายหลักออกสู่ทะเลได้สะดวก ทั้งติดต่อกับบ้านเมืองภายในได้อย่างง่ายดาย แตกต่างไปจากลักษณะการตั้งถิ่นฐานของบ้านเมืองแต่เดิมที่อยู่ลึกเข้ามาภายในแผ่นดิน

ด้วยการเป็นศูนย์กลางคมนาคมทั้งภายในและภายนอกนี่เอง การสถาปนาอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 1893 ทำให้กรุงศรีอยุธยากลายเป็นเมืองท่าที่สำคัญแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Advertisement

เส้นทางเศรษฐกิจทางฝั่งตะวันตกบริเวณ “หัวเมืองปากใต้” ตลอดจน “การค้าสำเภาและการเดินเรือเลียบชายฝั่ง” มีความสำคัญต่อกรุงศรีอยุธยา หรือแม้แต่กรุงรัตนโกสินทร์อย่างยิ่ง นอกจากร่องรอยตามรายทางแล้วยังมีบันทึกของชาวต่างชาติจำนวนหนึ่งกล่าวถึงเส้นทางเหล่านี้ไว้ แต่ที่น่าสนใจกว่าคือ “วรรณคดีประเภทนิราศ” หลายๆ เรื่องก็ใช้เส้นทางเดียวกัน ทำให้เห็นว่ามีความคุ้นเคยในการเดินทางสืบทอดกันมายาวนาน แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยีในการคมนาคม ไม่มีการใช้งาน ผู้คนในปัจจุบันก็อาจไม่เข้าใจว่าเส้นทางเศรษฐกิจดังกล่าวมีลักษณะเป็นอย่างไร

ในบทความนี้พยายามเสนอเส้นทางเดินทางที่กล่าวไว้ข้างต้น และผลพลอยได้ก็จะตอบคำถามแบบกว้างๆ อีกสองข้อที่อาจไม่ใช่คำถามสำคัญอะไรนัก คือ

การพบซากเรือสำเภาจมทางชายฝั่งตะวันออก แถบเกาะสีชัง เกาะคราม สัตหีบ และจันทบุรี จำนวนมากนำมาสู่ความสงสัยว่า ทำไมจึงมีเรือจมทางชายฝั่งตะวันออกมากกว่าทางชายฝั่งตะวันตกของอ่าวไทย

รวมถึงคำกล่าวที่ว่า เมืองเพชรบุรีคืออยุธยาที่ยังมีชีวิต เนื่องจากเต็มไปด้วยร่องรอยของความรุ่งเรือง และการคงอยู่ของศิลปกรรมสมัยอยุธยาจำนวนมาก เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะอะไร

เส้นทางการค้า

ปากใต้คือหัวเมืองฝ่ายตะวันตกที่อยู่ใต้กรุงศรีอยุธยาลงไป ได้แก่ เมืองนนทบุรี เมืองธนบุรี เมืองนครชัยศรี เมืองสาครบุรี เมืองสมุทรสงคราม เมืองเพชรบุรี และเมืองสมุทรปราการ เป็นต้นทางไปสู่บ้านเมืองชายฝั่งของคาบสมุทรมลายู และหัวเมืองทางเทือกเขาตะนาวศรี หัวเมืองปากใต้มีความสำคัญต่อกรุงศรีอยุธยาและกรุงเทพมหานคร เพราะตำแหน่งที่ตั้งซึ่งเป็นปากประตูไปสู่บ้านเมืองโพ้นทะเล และสภาพพื้นที่ซึ่งเป็นดินตะกอนปลายลุ่มน้ำอันอุดมสมบูรณ์ติดกับฝั่งทะเล เป็นฐานสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจภายในและการค้าทางทะเลของราชอาณาจักรทั้งสองแห่ง

ร่องรอยของเส้นทางต่างๆ เหล่านี้ คือ

เส้นทางโบราณระหว่างกรุงศรีอยุธยาหรือกรุงเทพฯ สู่เมืองเพชรบุรี

เป็นเส้นทางสำคัญที่กรุงศรีอยุธยาจะติดต่อหัวเมืองฝั่งตะวันตก สรุปอย่างรวบรัด ได้แก่

จากกรุงศรีอยุธยาหรือกรุงเทพมหานคร ใช้เส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาตามลำน้ำสายเดิมหรือที่มีการขุดลัด แยกเข้าคลองด่านช่วงแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่า หรือคลองบางกอกใหญ่ หรือ คลองบางหลวงที่ฝั่งธนบุรี ผ่านบางขุนเทียน จอมทอง ท่าข้าม แสมดำ แยกเข้าคลองโคกขามก่อนมีการขุดคลองมหาชัย ต่อกับคลองมหาชัยไปออกที่มหาชัยหรือเมืองท่าจีน ข้ามแม่น้ำท่าจีนแล้วขึ้นเหนือเล็กน้อยเข้าคลองสามสิบสองคุ้ง หรือคลองสามสิบสองคด ต่อคลองสุนัขหอน ออกแม่น้ำแม่กลองขึ้นทางขวาแยกไปบางช้าง ราชบุรี กาญจนบุรี ตามลำน้ำแม่กลอง ส่วนแยกทางซ้ายออกทะเล ตัดออกปากอ่าวข้ามทะเลเข้าคลองช่องลัดตามคลองเล็กๆ สายใน ผ่านคลองยี่สาร เข้าคลองบางตะบูน ผ่านวัดคุ้งตำหนัก เข้าคลองบางครกผ่านเขาตะเครา แล้วเข้าแม่น้ำเพชรบุรีสู่เมืองเพชรบุรี

เส้นทางสายนี้สุนทรภู่บรรยายไว้ในนิราศเมืองเพชร ใช้เป็นเส้นทางหลักที่ใช้กันในสมัยอยุธยาเรื่อยมา เป็นทางที่พุ่งตรงไปสู่หัวเมืองหลักๆ ที่ท่าจีน แม่กลอง และเพชรบุรีทีเดียว

ภายหลังเมื่อขุดคลองภาษีเจริญและคลองดำเนินสะดวกเมื่อปลายรัชกาลที่ 4 ต่อรัชกาลที่ 5 แล้ว มีเส้นทางสำหรับการเดินทางภายในที่สืบเนื่องมาจากความต้องการส่งผลผลิตเพื่อการส่งออกจากแม่น้ำเจ้าพระยาตัดเข้าคลองภาษีเจริญ แถบคลองบางกอกใหญ่มาออกแม่น้ำท่าจีนแถบอำเภอกระทุ่มแบน เข้าคลองดำเนินสะดวกออกแม่น้ำแม่กลองแถวๆ บางนกแขวก แล้วจะเลือกเข้าคลองวัดประดู่ผ่านไปสู่คลองสายในเพื่อเข้าแม่น้ำเพชรบุรีก็ได้แต่ไม่นิยมนัก หรือจะเข้าคลองบางลี่ หรือคลองบางอีลี่ที่เรียกภายหลังว่าคลองประชาชมชื่น (คนเก่าบางคนเรียก คลองพระยาชมชื่น) ต่อกับคลองขุดยี่สาร ผ่านยี่สาร ออกบางตะบูน แล้วลัดเลาะเข้าสู่แม่น้ำเพชรบุรีอีกทีหนึ่ง ก.ศ.ร.กุหลาบ ไปเที่ยวยี่สารก็เดินทางสายนี้

อย่างไรก็ตาม นักเดินทางจะเลือกเดินทางเส้นใดก็แล้วแต่ความถนัดของผู้นำทาง ความชำนาญ รู้จักธรรมชาติน้ำขึ้นน้ำลง และขนาดของเรือที่โดยสารว่าเหมาะสมกับเส้นทางเช่นไร

และเมืองเพชรบุรีคือจุดเปลี่ยนจากการเดินทางทางน้ำ เป็นการเดินทางทางบก เป็นศูนย์กลางการคมนาคมจากบ้านเมืองภายในสู่เมืองท่าชายฝั่งทางมะริดหรือตะนาวศรี และบ้านเมืองในแถบคาบสมุทรภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัยอยุธยาตอนปลาย

การเดินทางข้ามคาบสมุทรตอนบนสุด

เส้นทางระหว่างฝั่งอันดามันและอ่าวไทย ที่ใช้เป็นเส้นทางการค้าโบราณ โดยเฉพาะช่วงพุทธศตวรรษที่ 22-23 โดยปกติการเดินทางจากมะริดไปอยุธยาจะใช้เวลาประมาณ 10-16 วัน เส้นทางดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้

  • จากมะริดเดินทางทางบกข้ามแม่น้ำตะนาวศรี ผ่านคลองสาราวะ (Sarawa) ข้ามเทือกเขาสู่ชะอำ (ซึ่งบริเวณนี้มีเขาเจ้าลาย เป็นจุดสังเกตในการเดินเรือเลียบชายฝั่ง) แล้วเดินทางทางบกสู่ที่ราบของเมืองเพชร ลัดเลาะเข้าเส้นทางน้ำภายในสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
  • จากมะริดผ่านแม่น้ำตะนาวศรี เข้าคลองสาราวะล่องตามคลองสาราวะ แล้วแยกเป็นสองทาง สู่ลำน้ำปราณที่เมืองปราณซึ่งเป็นเมืองท่าจอดเรือได้แห่งเดียวก่อนที่จะถึงลำน้ำเพชร จะเลือกลงเรือไปสู่กรุงศรีอยุธยาที่นี่ก็ได้ หรือแยกเข้าลำน้ำกุยสู่เมืองกุยซึ่งเป็นที่ตั้งของเขาสามร้อยยอด และธรรมเนียมการเดินเรือเลียบชายฝั่งสมัยโบราณจะเป็นที่สุดท้ายสำหรับแวะเติมน้ำจืด ก่อนชักใบแล่นตัดข้ามอ่าวไปชายฝั่งแถบตะวันออก จากกุยเดินทางทางบกถึงปราณจึงเข้าเพชรบุรี
  • จากมะริดเข้าแม่น้ำใหญ่สู่เมืองตะนาวศรีใช้เส้นทางคลองตะนาวศรีน้อย แล้วเข้าคลองสิงขรผ่านเมืองเก่าจะลิงคะ (Jalinga) หรือท่าพริก เข้าด่านสิงขรไปที่บางนางรม หรือประจวบคีรีขันธ์ในปัจจุบัน

ตัวอย่าง คือ การเดินทางของสังฆราชแห่งเบริท มองซิเออร์เซเบเรต์ ที่เข้ามาพร้อมกับคณะของลาลูแบร์ และการเดินทางของนายไวท์ สมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ แม้กระทั่งการเดินทางในนิราศของนายนรินทร์ธิเบศร์ (อิน) เป็นต้น

ความสำคัญของเมืองเพชรบุรีในฐานะศูนย์กลางการคมนาคม ซึ่งมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจการค้าในยุคสมัยหนึ่ง สามารถหาร่องรอยได้จากจดหมายเหตุชาวตะวันตกที่เข้ามาค้าขายและเผยแผ่ศาสนา ในสมัยแห่งความรุ่งเรืองของการค้าทางทะเล ช่วงสมเด็จพระนารายณ์ฯ ต่อเนื่องกับรัชกาลของสมเด็จพระเพทราชา บันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวว่า “ผู้สำเร็จราชการเมืองตะนาวศรีและมะริดเป็นแขกมัวร์หรือบ้างเรียกแขกเปอร์เซีย หัวเมืองที่เป็นทางผ่านมาอยุธยาก็เป็นแขกเปอร์เซีย เช่น เพชรบุรี ปราณบุรี กุยบุรี นายเรือของกษัตริย์ที่ใช้ใบจากตะนาวศรีไปยังเบงกอลก็เป็นแขกเปอร์เซีย นายห้างดูแลธุระค้าขายก็เป็นแขกเปอร์เซีย เส้นทางจากเมืองเบงกอลและมาสุลีปาตัมมายังมะริดและตะนาวศรี แล้วขึ้นบกเดินทางมายังอยุธยาตกในมือขุนนางเปอร์เซียทั้งสิ้น”

แสดงถึงการให้ความสำคัญกับหัวเมืองดังกล่าวในฐานะเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจที่ต้องอาศัยขุนนางผู้ชำนาญการ สามารถดำเนินการค้าเฉพาะอย่าง เช่น สินค้าจำพวกไม้เนื้อหอมที่มีราคาแพงมาก ส่งไปขายเมืองเมดินา เมืองเมกกะ เมืองโมกาในทะเลแดง สำหรับใช้จุดบูชาพระมะหะหมัดของกษัตริย์ ก็ส่งไปตามเส้นทางจากอยุธยาสู่เมืองเพชรบุรีและเดินทางตามเส้นทางข้ามคาบสมุทรก่อนไปลงเรือที่มะริด ข้ามอ่าวสู่เบงกอล อ้อมแหลมอินเดีย แล้วเดินทางสู่ทะเลแดงต่อไป

(ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, เมษายน 2545)

การเดินเรือเลียบชายฝั่งอ่าวไทยภายใน

การค้าต่างประเทศในสมัยกรุงศรีอยุธยาใช้เรือสำเภาเป็นหลัก จะค้าขายกันเป็นฤดูกาล เข้าและออกให้ทันฤดูมรสุม เช่นจะต้องมาให้ทันลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ในเดือนตุลาคมถึงมีนาคม (ลมสินค้า-ขาเข้า) และกลับให้ทันลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ในเดือนเมษายนถึงกันยายน (ลมตะเภา-ขาออก) โดยเฉพาะเรือสำเภาจีนที่บันทึกไว้ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ จะนำสินค้าเข้ามาในเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนเมษายน และออกไปราวปลายเดือนพฤษภาคมจนถึงกรกฎาคม

การเดินเรือเลียบชายฝั่งสมัยโบราณ นอกจากเรือของคนท้องถิ่นแล้วก็ไม่นิยมเลียบอ่าวโคลนด้านตะวันตกที่เป็นชะวากเว้าเข้าด้านใน เพราะพื้นน้ำเต็มไปด้วยโคลนตม ต้องอาศัยความชำนาญร่องน้ำ เมื่อเดินทางจากปากน้ำเจ้าพระยาออกทะเลจะตัดตรงไปพักที่เกาะสีชัง เกาะคราม หรือเกาะไผ่ ทางฝั่งตะวันออก แล้วแล่นตัดข้ามอ่าวไปที่เขาเจ้าลายบริเวณชายฝั่งชะอำ หรือต่ำลงมาแถวเขาสามร้อยยอดแถบเมืองกุย ทั้งสองแห่งมีเทือกเขาโดดเด่นเป็นจุดสังเกตได้ง่าย หลังจากนั้นจึงเดินเรือเลียบชายฝั่งลงใต้ต่อไป หรือหากต้องการไปทางอ่าวตังเกี๋ยเลียบชายฝั่งกัมพูชา ก็จะเดินเรือสลับจากปากน้ำ ไปที่เกาะสีชัง แล้วข้ามอ่าวมาที่สามร้อยยอดหรือเมืองกุย แล้วจึงข้ามอ่าวมุ่งไปทางตะวันออกมีที่หมายที่เกาะ Pulipanjung เกาะ Puli ubi และเกาะ Puli Condor ใกล้กับปลายแหลมกัมพูชา

และในบริเวณเขาเจ้าลายชายฝั่งชะอำ อันเป็นจุดสังเกตของนักเดินเรือมีแหล่งชุมชนและเจดีย์สมัยทวารวดีขนาดใหญ่อยู่เชิงเขา แสดงให้เห็นว่าการเดินเรือเลียบชายฝั่งโดยใช้จุดสังเกตดังกล่าวกระทำอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยทวารวดีหรือก่อนหน้านั้น

ในทางกลับกันหากเดินเรือเลียบชายฝั่งจากทางคาบสมุทรมลายูจะแวะเติมน้ำจืดหรือหลบลมที่สามร้อยยอดเมืองกุยบุรี เลียบชายฝั่งผ่านเขาเจ้าลายจนถึงแหลมหลวงหรือแหลมผักเบี้ย จากบริเวณนี้จะแล่นห่างฝั่งโคลนตัดตรงไปปากน้ำเจ้าพระยา หากไม่เข้าปากน้ำก็ชักใบใช้ลมตัดข้ามอ่าว มีที่หมายอยู่แถวเกาะลักษณะแคบยาว Pulipanjung และเกาะ Puli ubi และ Puli Condor ชายฝั่งกัมพูชา แล้วแล่นต่อไปยังชายฝั่งเวียดนามและจีนต่อไป

การรู้จักกระแสลมคือความรู้สำคัญในการเดินเรือเลียบชายฝั่ง จะมีช่วงเวลาในการเดินทางเข้าออกในรอบปี เช่น ช่วงเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์-มีนาคม จะเป็นลมอุตราหรือลมอุกา หรือลมตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นลมมรสุมที่พัดจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปทางตะวันตกเฉียงใต้ จะพัดร่วมกับลมเหนือ หรือลมว่าว หรือบางครั้งจะพัดร่วมกับลมตะวันออกและลมหัวเขา เป็นช่วงซึ่งเรือสำเภาจะเข้ามายังอ่าวภายใน

ลมสลาตันคือลมมรสุมพัดจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ พัดร่วมกับลมพัทธยา คือลมที่พัดจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และลมตะเภาที่พัดจากทิศใต้ไปทางทิศเหนือ ช่วงในราวเดือนเมษายน-พฤษภาคมจนถึงกันยายน และลมพัดหลวงหรือลมตะโก้พัดจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ก็จะพัดในช่วงปลายฤดูฝน

นอกจากชาวประมงพื้นถิ่นภายในอ่าวไทยแล้ว ความรู้เรื่องลมต่างๆ เหล่านี้ค่อยๆ เลือนหายไป เพราะการค้าสำเภาหลวงเปลี่ยนมาใช้เรือกำปั่นแบบตะวันตกเมื่อ พ.ศ. 2378 และเปลี่ยนมาเป็นเรือกลไฟซึ่งสามารถสร้างได้ในสยามเอง เมื่อ พ.ศ. 2398 ทำให้การใช้สำเภาเดินเรือเลียบชายฝั่งแบบเดิมตามฤดูกาลในแถบคาบสมุทรค่อยๆ หมดไป

เส้นทางนิราศ

การเดินเรือสำเภาโดยใช้เส้นทางตัดข้ามอ่าวปรากฏในวรรณคดีนิราศหลายเรื่องที่ต้องอาศัยการเดินทางโดยเรือใบขนาดใหญ่หรือไปเป็นกองเรือในขบวนทัพ เช่น

กำสรวลศรีปราชญ์ หรือกำสรวลสมุทร สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้นก่อนสมเด็จพระชัยราชาขุดคลองลัดระหว่างบางกอกน้อยและบางกอกใหญ่

เรือขทิงทองเดินทางผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิม เลี้ยวเข้าคลองด่านผ่านคลองดาวคะนองสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน ผ่านบางผึ้งก่อนถึงราษฎร์บูรณะ แล้วออกสู่ทะเลที่ปากพระวาลซึ่งน่าจะเป็นปากน้ำเจ้าพระยา แล้วมุ่งหน้าไปทางตะวันออกผ่านเขาสามมุก ไปที่เกาะสีชังและเกาะไผ่ ตัดข้ามอ่าวน่าจะไปแถวๆ สามร้อยยอด สถานที่หลายแห่งต่อจากนี้ยังหาไม่ได้ว่าควรอยู่ที่ใด

มีข้อน่าสังเกตอย่างหนึ่งว่า ออกเดินทางในเดือนยี่หน้าหนาว ช่วงนี้เป็นช่วงสำเภาเข้า แต่บรรยายถึงลมสลาตัน ลมตะเภา ลมเสือ ซึ่งเป็นลมใต้ช่วงหน้าฝน อันเป็นเวลาของการเดินทางออกจากกรุงศรีอยุธยาตามปกติ

โคลงนิราศพระยาตรัง แต่งเมื่อคราวไปทัพรบพม่าที่ถลาง เมื่อราวรัชกาลที่ 2 ลงสำเภาผ่านสถานที่ต่างๆ รวมทั้งบางผึ้ง ออกทางปากน้ำเจ้าพระยา เห็นเกาะสีชังทางทิศตะวันออก สามมุก เกาะคราม เกาะไผ่ เกาะส้ม ตัดผ่านข้ามอ่าวถึงเขาเจ้าลายที่ชะอำ ผ่านปราณบุรี เขากะโหลก เกาะนมสาว สามร้อยยอด เขาม่องล่าย เขานางรำพึง เกาะทะลุ เขาหมอน เกาะโทน แหลมไทร ในเนื้อความไม่ได้บอกทั้งช่วงเวลาที่เดินทางและชื่อลม

โคลงนิราศชุมพรของพระพิพิธสาลี เขียนเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานรวมทั้งไม่ได้ระบุสาเหตุของการเดินทาง แต่น่าจะอยู่ในช่วงรัชกาลที่ 1 เมื่อออกจากกรุงเทพฯ มาตามแม่น้ำเจ้าพระยา กล่าวถึงสถานที่ต่างๆ มากมาย รวมทั้งบางผึ้งที่มีชื่ออยู่ในโคลงกำสรวล ออกปากแม่น้ำเจ้าพระยา ไปยังเกาะสีชัง เขาสามมุก เกาะคราม เกาะไผ่ เกาะส้ม ตัดข้ามอ่าวไปที่แหลมหลวงหรือแหลมผักเบี้ย เขาเจ้าลายที่ชายฝั่งชะอำ เขากะโหลก เขานมสาว สามร้อยยอด เขาม่องล่าย เกาะแรด บางนางรม คลองวาฬ เกาะจาน บางสะพาน ปะทิว เกาะโทน ชุมพร และหลังสวน

เมื่อใกล้ถึงปากน้ำเจ้าพระยาก็กล่าวถึงลมว่าว เมื่อออกทะเลก็กล่าวถึงลมอุตราหรือลมอุกา และเมื่อไปถึงชุมพรเป็นฤดูสารทเดือนสิบ ทั้งฤดูและช่วงเวลาก็ดูจะตรงกันดี แต่ช่วงเวลานี้หากใช้เกณฑ์ลมมรสุมก็จะเป็นช่วงสำเภาขาเข้ามากกว่าออก

ส่วนเส้นทางเดินทางไปทางหัวเมืองตะวันตกพบในนิราศหลายเรื่อง เช่น

โคลงนิราศนรินทร์ของนายอิน สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นโดย นายนรินทร์ธิเบศร์ชื่ออิน ตำแหน่งข้าราชการวังหน้า เมื่อคราวไปทัพรบพม่าที่ชุมพรและถลาง โดยสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ พรรณนาถึงการเดินทางจากกรุงเทพฯ สู่เมืองกำเนิดนพคุณ หรือบางสะพานและเมืองตะนาวศรี ใช้เส้นทางเข้าคลองบางกอกใหญ่ คลองด่าน ผ่านบางขุนเทียน บางบอน โคกขาม มหาชัย ท่าจีน นาขวาง สามสิบสองคุ้ง ย่านซื่อ ปากน้ำแม่กลอง ตัดทะเลเข้าบ้านแหลม น่าจะใช้แม่น้ำเพชรสู่เมืองเพชรบุรี แล้วเปลี่ยนเป็นเดินทางทางบกผ่านปราณบุรี สามร้อยยอด อ่าวบางนางรม บางสะพาน ข้ามช่องเขาแล้วใช้เรือเข้าแม่น้ำตะนาวศรีน้อยไปที่เมืองตะนาวศรี

ทั้งโคลงกำสรวลสมุทร โคลงนิราศพระยาตรัง โคลงนิราศพระพิพิธสาลี และโคลงนิราศนรินทร์ นอกจากจะให้ภาพรูปแบบของการเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาไปสู่หัวเมืองคาบสมุทรอย่างชัดเจนแล้ว ยังเป็นวรรณคดีสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้นชั้นยอดจัดให้เป็นผลงานชั้นครู ดังพระนิพนธ์ของกรมหลวงวงศาธิราชสนิทในโคลงนิราศพระประธมว่า

กำสรวลศรีปราชญ์ทั้ง   ทวาทศ มาสฤา

อีกพิพิธสาลีพจน์   พร่ำพร้อง

ตรังนิราศนรินทร์รจ   เรขเรื่อง ครวญพ่อ

สารโศกเรียมแรมน้อง   ยิ่งถ้อยทั้งมวล

การเดินทางภายในจากกรุงเทพฯ ไปเพชรบุรี ยังเห็นได้จากนิราศคำกลอนต่างๆ เช่น

นิราศเมืองเพชร สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นเมื่อระหว่าง พ.ศ. 2388-2392 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สุนทรภู่บรรยายการเดินทางอย่างละเอียดจากเมืองหลวงลัดเลาะเข้าลำคลองสายต่างๆ ไปสู่เมืองเพชรบุรี ท่านกล่าวถึงสิ่งที่พบเห็น รวมทั้งสภาพนิเวศน์ที่อุดมสมบูรณ์ของเขตป่าชายเลนและชีวิตของผู้คนไว้ได้อย่างถี่ถ้วน

นิราศเกาะจาน รวมพิมพ์อยู่ในวรรณกรรมของสุนทรภู่ แต่คงไม่ใช่ผลงานของสุนทรภู่เพราะบรรยายถึงการเดินทางตามเสด็จ เจ้านายเป็นขบวนใหญ่ไปที่เกาะจาน เพื่อเตรียมสร้างพลับพลาที่ประทับบริเวณคลองวาฬ ตรงข้ามเกาะจานพอดี น่าจะเพื่อเตรียมรับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทอดพระเนตรสุริยปราคาที่หว้ากอ เมื่อ พ.ศ. 2411 การเดินทางต้องใช้เส้นทางเดียวกันกับสุนทรภู่ไปเมืองเพชร แต่ออกจากปากน้ำแม่กลองก็ลัดเลาะชายฝั่งไปจนถึงเกาะจาน

นิราศยี่สาร ของ ก.ศ.ร.กุหลาบ เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2422 นายกุหลาบคิดจะไปท่องเที่ยวตากอากาศและไหว้พระที่เขายี่สารพร้อมบุตรสาว แต่ในช่วงปลายรัชกาลที่ 4 มีการขุดคลองลัด เช่น คลองภาษีเจริญ คลองดำเนินสะดวก และคลองลัดประชาชมชื่น หรือคลองบางลี่ รวมถึงคลองลัดยี่สารด้วย ทำให้การเดินทางของ ก.ศ.ร.กุหลาบต่างไปจากผู้อื่นที่กล่าวมาแล้วบ้างเล็กน้อย เส้นทาง ที่ ก.ศ.ร.กุหลาบใช้นี้ เป็นเส้นทางที่ชาวบ้านยี่สารต่อมาใช้ติดต่อกับทางอัมพวาหรือแม่กลองจนกระทั่งเลิกไปเมื่อมีการเดินทางทางบกที่สะดวกกว่า

นอกจากโคลงกลอนนิราศต่างๆ แล้ว ยังพบในบันทึกการเดินทางของนายแพทย์อิงเกิลเบิตร์ แกมเฟอร์ เมื่อ พ.ศ. 2233 ในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา เดินทางจากเมืองปัตตาเวียไปสยามที่กรุงศรีอยุธยา และบรรยายสิ่งต่างๆ ที่พบเห็น ตอนหนึ่งกล่าวถึงการเดินทางโดยพ่อค้าคนไทยเป็นผู้บอกระยะทางช่วงจากเมืองนครศรีธรรมราช ต้องผ่านชายฝั่งเมืองกุยแถบสามร้อยยอด ผ่านเมืองปราณ ต่อจากนั้นคือ ชะอำ เหนือเข้าไปคือเมืองเพชรบุรี ผ่านยี่สาร แม่กลอง ท่าจีน จากนั้นจึงถึงปากน้ำเจ้าพระยา ส่วนขากลับก็ออกเดินทางในช่วงฤดูฝน จากปากน้ำเจ้าพระยาไปที่เกาะสีชัง ข้ามอ่าวไปแถวๆ สามร้อยยอด แล้วตัดข้ามอ่าวอีกที จุดหมายที่เกาะ Pulipanjung และเกาะ Puli ubi และ Puli Condor ปลายแหลมกัมพูชา ต่อจากนั้นจึงเลียบชายฝั่งญวน จนถึงกวางตุ้ง

ในบันทึกการเดินทางของคณะทูตจากอังกฤษ จอห์น ครอฟอร์ด เข้ามาสยามและเขียนบันทึกพร้อมแผนที่เมื่อราว พ.ศ. 2365 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย การเดินทางทั้งขาเข้าและขาออก ก็ใช้เส้นทางเดียวกับหมอแกมเฟอร์

นอกจากความสำคัญในฐานะเป็นเส้นทางการค้าแล้ว ชายทะเลแถบเพชรบุรีที่ติดต่อกับเขตทะเลตมแถวบ้านแหลมยังเป็นที่นิยมเสด็จประพาสตากอากาศของพระมหากษัตริย์ เช่น ในสมัยสมเด็จพระนเรศวร ครั้งสมเด็จพระเพทราชาและพระเจ้าเสือ จนถึงสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ราว พ.ศ. 2414-2415 เมืองเพชรบุรีเป็นที่นิยมสำหรับชาวยุโรปซึ่งอาศัยอยู่ในบางกอก เป็นสถานที่สำหรับเปลี่ยนอากาศ หรือตากอากาศยามหน้าร้อน ได้กล่าวว่าใช้เส้นทางจากกรุงเทพฯ ไปสู่ท่าจีนและแม่กลอง จากนั้นเดินทางผ่านคลองและคลองขุดสายต่างๆ เข้าๆ ออกๆ อยู่ 6 ครั้ง จึงจะถึงเมืองเพชรบุรี การเดินทางยังใช้เส้นทางสายเดิมที่เคยใช้กันมาไม่เปลี่ยนแปลง

แต่ในจดหมายเหตุบันทึกเรื่องราวต่างๆ ขณะเสด็จตรวจราชการหัวเมืองของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ครั้งเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อ ร.ศ. 117, ร.ศ. 119 (พ.ศ. 2442, พ.ศ. 2444) ได้แสดงถึงสภาพการเปลี่ยนแปลงของการใช้เส้นทางดังกล่าว และกลายเป็นเส้นทางของคนรุ่นเก่าไปเสียแล้ว ทรงบรรยายถึงการเดินทางจากราชบุรีล่องลงมาถึงอัมพวาตามลำน้ำแม่กลองเข้าเพชรบุรีเมื่อ พ.ศ. 2442 พระองค์จึงเสด็จจากราชบุรีออกปากน้ำแม่กลองที่สมุทรสงคราม ข้ามอ่าวเลียบชายฝั่งไปสู่เมืองเพชรบุรีว่า

“ไปทะเลทางนี้ออกรู้สึกว่าไปอย่างผู้หลักผู้ใหญ่ท่านไปกันแต่ก่อน ดังถ้อยคำที่กล่าวในนิราศนรินทรอินทรแลนิราศสุนทรภู่ไปเมืองเพ็ชร เป็นต้น ดูเป็นการใหญ่การยากต้องจอดรอให้คลื่นลมสงบ ต่อเช้ามืดจึงออกทะเลแลเวิ้งว้างน่ากลัวเพราะเรือเล็ก ถ้าคลื่นลมมีจริงก็เห็นจะต้องขึ้นป่าแสมแต่ระดูนี้ไม่มีคลื่นลมในเวลาเช้า เรือน้อยเรือใหญ่ไปมาในระหว่างเมืองเพชรบุรีกับสมุทสงคราม ข้ามอ่าวในเวลานี้ทุกๆ วัน วันละหลายๆ สิบลำ เป็นเรือทุกขนาดแลชนิด ตั้งแต่เรือสำปั้นพายเดียวไปจนเรือพลู ซึ่งค้าขายของสวนแจวพายตามกันเรื่อยไปเป็นแถว มาเห็นเรือเหล่านั้นที่ในทะเลน่าดูยิ่งนัก”

ทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-เพชรบุรี กำลังใกล้แล้วเสร็จ ใน พ.ศ. 2446 หลังจากนั้นการขนส่งโดยใช้เส้นทางรถไฟจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ ทดแทนการขนส่งทางเรือ จนกระทั่งเข้าสู่ยุคการพาณิชย์นาวีแบบสมัยใหม่ ที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งฤดูมรสุมอีกต่อไป

สำหรับความสำคัญของเมืองท่าตะนาวศรี และเมืองท่ามะริดในปี พ.ศ. 2438 สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้หมดความสำคัญลงอย่างสิ้นเชิง เจ้ากรมโลหะกิจซึ่งเป็นชาวอังกฤษให้ข้อคิดเห็นว่า เกิดจากเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยาของพม่าเมื่อสงครามเสียกรุง และช่วงต้นรัตนโกสินทร์ เพราะมะริดและตะนาวศรีคือเมืองต้นทางการข้ามช่องเขามาสู่อยุธยา หลังจากนั้นก็ไม่สามารถฟื้นตัวและกอบกู้บ้านเมืองได้อีกเลย

อีกสาเหตุหนึ่งมาจากการเติบโตของอังกฤษในช่องแคบมะละกาได้ปราบพวกโจรสลัดซึ่งเคยมีชุกชุม การทำการค้ากับสิงคโปร์และปีนังทำให้มีความสะดวกสำหรับการเดินทางผ่านช่องแคบมะละกา การเข้ามีอิทธิพลของอังกฤษต่อพม่า อีกส่วนหนึ่งมาจากพัฒนาการการเดินเรือกลไฟ ซึ่งสามารถเดินเรือตลอดชายฝั่งได้โดยไม่ต้องรอลมมรสุม เส้นทางเหล่านี้จึงถูกละเลยจนแทบไม่มีใครรู้จักนอกจากพวกที่อยู่บนเทือกเขาแถบชายแดน (Warington, Smyth เขียนข้อสังเกตนี้ไว้ในสมัยรัชกาลที่ 5)

หัวเมืองทางกุยบุรี ปราณบุรี และโดยเฉพาะเพชรบุรี ซึ่งเป็นชุมทางเดินทางทางบกและทางน้ำ จึงหมดความสำคัญในฐานะเป็นหัวเมืองที่ควบคุมการเดินทางของผู้คนและสินค้าตามเส้นทางดังกล่าว

คำถามในตอนต้นว่าทำไมจึงมีเรือจมบริเวณเกาะสีชัง เกาะคราม เกาะไผ่ แต่ไม่มีเรือจมแถบชายฝั่งตะวันตกของอ่าวไทย นอกจากคำตอบเพราะถูกลมมรสุมก็คงพอเห็นภาพได้ว่า เนื่องจากอยู่ในเส้นทางเดินเรืออันเป็นเส้นทางเศรษฐกิจของการเดินเรือเลียบชายฝั่งในเขตอ่าวไทยภายใน ซึ่งมีระบบเส้นทางในการเดินเรือที่เราหลงลืมไปแล้วนั่นเอง

ส่วนเพชรบุรีคืออยุธยาที่มีชีวิต ส่วนหนึ่งของคำตอบที่ควรจะวิเคราะห์ได้มากกว่านี้คือ จากการเป็นเมืองสำคัญซึ่งเป็นชุมทางและจุดเปลี่ยนระหว่างการเดินทางทางบกและทางน้ำของการเดินทางข้ามคาบสมุทรตอนบนสุดจากเมืองท่าชายฝั่ง เช่น มะริด และตะนาวศรี สู่กรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะในช่วงหลังรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯ ลงมา เพชรบุรีจึงเต็มไปด้วยตำรา สมุดไทย ใบลาน ตลอดจนศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนปลายมากมาย

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


บรรณานุกรม :

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. จดหมายเหตุระยะทางเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเสด็จตรวจราชการหัวเมืองใน ร.ศ. 117, 119. พระนคร, พิมพ์ครั้งที่ 2 ในงานทำบุญอายุครบ 60 ปี ของพระเทพสุเมธี, 2515

ธนัญญา ทองซ้อนกลีบ. แปล. รวมเรื่องแปลและเอกสารทางประวัติศาสตร์ ชุดที่ 1. กรมศิลปากร 2539

พ.ณ ประมวญมารค, กำสรวลศรีปราชญ์-นิราศนรินทร์. กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา, 2515

สำนักพิมพ์ศิลปบรรณาคาร. โคลงนิราศพระยาตรัง วรรณกรรมพระยาตรัง. 2515

ศิลปากร, กรม. โคลงนิราศนรินทร์. พระนคร, 2512 (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางเพ็ญแข พิทักษ์มนูศาสตร์)

ศิลปากร, กรม. ชีวิตและงานของสุนทรภู่. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2520

ศิลปากร, กรม. โคลงนิราศพระพิพิธสาลี. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, 2542

ศิลปบรรณาคาร. นิราศเกาะจาน รวมวรรณกรรมของสุนทรภู่. พระนคร, 2513

Kaempfer, Engelbert. A Description of the Kingdom of Siam 1690. White Lotus Press, 1987

Smyth Warrington, Herbert. Five Years in Siam from 1891-1896 Vol. 1-2. White Lotus, 1994


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 ตุลาคม 2565