ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2547 |
---|---|
ผู้เขียน | จักรพงษ์ บุณยัษเฐียร |
เผยแพร่ |
ชิโน-โปรตุกิส (Sino-Portuguese) สถาปัตยกรรมร่วมสมัยอันทรงคุณค่า เป็นผลงานชิ้นสำคัญที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สามารถถ่ายทอดเรื่องราวของบริบททางสังคมในอดีตของ “เมืองภูเก็ต” ได้เป็นอย่างดี
ชิโน-โปรตุกิส ถือกำเนิดขึ้นในดินแดนแหลมมลายูในยุคสมัยแห่งจักรวรรดินิยมของตะวันตก เมื่อประมาณพุทธศักราช 2054 โดยชาวโปรตุเกส ในช่วงเวลาเดียวกันนี้มีชาวจีนเดินทางเข้ามาพำนักอาศัยตั้งถิ่นฐานอยู่ในดินแดนแถบนี้แล้ว เพื่อทำการค้าขายกับชาวมาเลย์ซึ่งเป็นชาวพื้นเมือง ต่อมาด้วยความใกล้ชิดผูกพันกันจึงทำให้ชาวจีนและชาวมาเลย์แต่งงานเป็นครอบครัวเดียวกัน เกิดเป็นสายสัมพันธ์ใหม่ ขนานนามว่าชาว “บ้าบ๋า” หมายถึงลูกชาย และชาว “ย่าหยา” หมายถึงลูกสาว
ครั้นต่อมาเมื่อโปรตุเกสเข้ามาตั้งถิ่นฐานและทำการค้าขายบริเวณเมืองท่ามะละกา ก็ได้นำศิลปวัฒนธรรมตลอดจนวิทยาการตะวันตกเข้ามาเผยแพร่ด้วยเช่นกัน
ในช่วงเวลาที่โปรตุเกสอาศัยอยู่ได้ดำเนินการสร้างเคหสถานที่พักอาศัยไว้ ด้วยการออกแบบสถาปัตยกรรมตามความรู้และประสบการณ์ของตน จึงทำให้ผลงานสถาปัตยกรรมนั้นมีรูปแบบแนวตะวันตก และในขณะเดียวกันได้ให้ช่างชาวจีนนำแบบแปลนของเคหสถานที่ได้ไปดำเนินการก่อสร้าง
แต่ด้วยความรู้และประสบการณ์ ประกอบกับความเชื่อที่สืบเนื่องมาจากบริบททางสังคมจีนของช่างชาวจีน จึงทำให้ผลงานการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนเพี้ยนไปจากในแบบแปลนที่โปรตุเกสได้วางไว้ โดยช่างชาวจีนได้ตกแต่งลวดลายสัญลักษณ์ รวมถึงลักษณะรูปแบบบางส่วนของตัวอาคารตามคติความเชื่อของจีน เกิดการผสมผสานกันระหว่างสถาปัตยกรรมโปรตุเกสและจีน เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้นท่ามกลางสังคมของกลุ่มชน 3 เชื้อชาติ อันได้แก่ โปรตุเกส จีน และ มาเลย์ ในดินแดนแหลมมลายูตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ครั้นต่อมาเมื่อดัตช์และอังกฤษเข้ามามีอิทธิพลในดินแดนแถบนี้ ก็ได้ปรับปรุงรูปแบบของอาคารดังกล่าวโดยดัดแปลงและสอดแทรกรูปแบบตามแบบของตน มีการปรับลักษณะการก่อสร้างรวมไปถึงลวดลายต่างๆ เพิ่มเติมลงไป
เป็นต้นว่า พื้นที่ด้านหน้าประตูทางเข้าออกของตัวอาคารตึกแถวเพื่อการพาณิชย์แต่ละหลัง เว้นพื้นที่ว่างไว้ใต้ชายคา และเจาะทะลุฝาผนังด้านข้างของพื้นที่ดังกล่าวของอาคารแต่ละหลังให้ติดต่อกัน โดยกำหนดให้มีขนาดความกว้าง 5 ฟุต ซึ่งเป็นอิทธิพลของอังกฤษในการบังคับใช้เป็นกฎหมายในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นดินแดนอาณานิคมในช่วงพุทธศักราช 2367-2500 เพื่อใช้เป็นทางเท้าสาธารณะ ที่ออกแบบให้มีประโยชน์ใช้สอยเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศของดินแดนแถบนี้ มีชื่อเรียกเป็นภาษาท้องถิ่นว่า “หง่อคาขี่” แปลว่า ทางเท้ากว้าง 5 ฟุต โดยคำว่า “หง่อ” เป็นภาษาฮกเกี้ยน แปลว่า 5 และ “คาขี่” เป็นภาษามลายู แปลว่าฟุต
การก่อสร้างเคหสถานในรูปแบบนี้ได้แพร่หลายไปยังดินแดนต่างๆ ในแหลมมลายู จึงสามารถพบเห็นได้ ณ เมืองท่ามะละกา สิงคโปร์ ปีนัง เป็นต้น มีชื่อเรียกลักษณะการก่อสร้างอาคารในรูปแบบนี้ว่า “สถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกิส” คำว่า “ชิโน” หมายความถึงชาวจีน และคำว่า “โปรตุกิส” หมายความถึงชาวโปรตุเกส แม้ว่าอังกฤษและดัตช์จะเข้ามามีอิทธิพลในการผสมผสานศิลปะของตนเข้าไปในยุคหลังก็ตาม
ครั้นถึงยุคสมัยขอ งพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านเป็นผู้ที่พัฒนาเมืองภูเก็ตให้เจริญในทุกด้าน โดยเฉพาะในด้านการวางผังเมืองภูเก็ตใหม่ ที่ได้นำรูปแบบมาจากเมืองปีนัง มีลักษณะแบบบล็อก ซึ่งได้รับอิทธิพลจากวิทยาการสมัยใหม่ของตะวันตก โดยเริ่มจากใจกลางเมืองคือถนนถลาง ซึ่งเป็นหัวตลาด ไปจนถึงถนนกระบี่ ซึ่งเป็นท้ายตลาด มีชื่อเรียกเป็นภาษาท้องถิ่นว่า “ตั่วโพ้” และ “เสี่ยโบ้ย” ตามลำดับ และตัดถนนใหม่ในลักษณะขวางตัดกับถนนถลางเป็นมุมฉากใช้ชื่อว่าถนนเยาวราช นับเป็นการวางผังเมืองใหม่ในระยะแรก ซึ่งเดิมเป็นเพียงถนนดินลูกรังสายเล็กๆ สำหรับเกวียนและทางเดินเท้า มีบ้านเรือนกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปอย่างไม่เป็นระเบียบ
ผลจากการวางผังเมืองใหม่ ประกอบกับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างเมืองภูเก็ตและปีนังที่เจริญเฟื่องฟู ทำให้ศิลปวัฒนธรรม วิทยาการใหม่ๆ รวมไปถึงรูปแบบการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนแบบชิโน-โปรตุกิสแพร่หลายเข้ามาสู่เมืองภูเก็ตด้วยเช่นกัน แล้วดำเนินการก่อสร้าง ณ บริเวณใจกลางตลาดที่ได้วางผังเมืองไว้ รวมไปถึงบริเวณริมฝั่งคลองบางใหญ่ ซึ่งเป็นเส้นทางน้ำสายหลัก เศรษฐกิจเจริญเฟื่องฟูขึ้นเรื่อยๆ การขยายตัวเมืองจึงเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว มีการตัดถนนสายใหม่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ถนนพังงาและถนนดีบุก เป็นต้น จึงสามารถพบเห็นอาคารเหล่านี้ได้บนถนนสายนี้ด้วยเช่นกัน ส่วนใหญ่มักจะถูกสร้างขึ้นโดยนักธุรกิจเหมืองแร่ดีบุกชาวจีนผู้ที่มีฐานะร่ำรวยมาจากความขยันอดทน
การก่อสร้างอาคารบ้านเรือนสไตล์ชิโน-โปรตุกิส มีอยู่ด้วยกัน 2 ลักษณะ ได้แก่ อาคารตึกแถวเพื่อการพาณิชย์ ส่วนใหญ่สามารถพบเห็นได้ ณ บริเวณย่านการค้าเก่าใจกลางเมือง และคฤหาสน์บริเวณกว้าง เรียกว่า “อังหม่อหลาว” แปลว่าคฤหาสน์แบบฝรั่ง มาจากคำว่า “อังหม่อ” แปลว่าฝรั่ง และคำว่า “หลาว” แปลว่าคฤหาสน์ ซึ่งเป็นภาษาของชาวจีนฮกเกี้ยน เป็นคำที่คนในท้องถิ่นกล่าวขานถึงรูปลักษณ์ของสถาปัตยกรรมที่แปลกตาในสมัยนั้น และยังคงใช้เป็นชื่อเฉพาะมาจนถึงปัจจุบัน
จากการที่ได้มีโอกาสสัมผัสความงามของอาคารเก่าเหล่านี้ นอกจากจะทำให้ผมรู้สึกประทับใจในการสร้างสรรค์อมตะผลงานของบรรพบุรุษแล้ว ยังทำให้รับรู้ถึงเรื่องราวอันรุ่งโรจน์ในอดีตที่นำพาความรุ่งเรืองมาถึงปัจจุบัน และเป็นการสมควรยิ่งที่จะร่วมกันรักษาเอกลักษณ์ที่ดีงามเหล่านี้ไว้เป็นประจักษ์พยานแห่ง “อารยธรรม” เพื่อการสร้างสรรค์อนาคตสืบต่อไป
อ่านเพิ่มเติม :
- ที่มาของการ “ปิดทองพระสงฆ์” เรื่องแปลกเกี่ยวกับหลวงพ่อแช่ม พระเกจิดังใน ภูเก็ต
- กำเนิด(และจุดเสื่อม)ของกลุ่มอำนาจเดิมในภูเก็ต ยุครัฐชายขอบ (ตอน 1)
- ที่มาของหมูหอง (ฮ้อง) แกงหน่อไม้แห้ง อาหารถิ่นที่คนภูเก็ตภูมิใจว่าอร่อย-มีเอกลักษณ์
บรรณานุกรม :
กุศล เอี่ยมอรุณ. (2543). คู่มือนำเที่ยวภูเก็ต. กรุงเทพฯ : สารคดี.
เทศบาลเมืองภูเก็ต. (2543). คู่มือเดินชมเมือง ชุดเมืองเก่าภูเก็ต. กรุงเทพฯ : สำนักงานเทศบาลเมืองภูเก็ต.
สำราญ บุณยัษเฐียร. (2537). จากการติดต่อส่วนบุคคล. 18 กุมภาพันธ์.
โอภาส สุกใส และคณะ. (2533). ภูเก็ต ’33. กรุงเทพฯ : ฝ่ายจัดทำหนังสือที่ระลึกและเอกสารประชาสัมพันธ์ กองประชาสัมพันธ์การแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 6.
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562