อีสาน ไส้ติ่งสยามหรือมดลูก

แผนที่โบราณ แผนที่ จาก สมุดภาพไตรภูมิ
แผนที่โบราณแสดงเมืองต่างๆของไทย แต่ไม่มีอีสาน (ภาพจาก หนังสือ "สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม 1" กรมศิลปากร )

ไส้ติ่งคืออวัยวะเล็กๆ ที่ไม่มีบทบาทในร่างกาย, ไม่มีประโยชน์, ในขณะที่มดลูกคืออวัยวะสำคัญยิ่ง, เพราะหากไม่มีมดลูกก็ไม่มีคนเกิดขึ้นมาได้ แล้ว อีสาน เป็นมดลูกของสยาม? หรือเป็นเพียงไส้ติ่ง?

โดยมากอีสานมีภาพพจน์ที่ไม่ค่อยดีเด่นนัก ในหนังสือประวัติศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการ อีสานเป็นไส้ติ่งแท้ๆ เพราะแทบไม่มีบทบาทหรือประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น, นอกจากเป็นเส้นทางเดินทัพไปตีเมืองลาว ในสายตาผู้ดีเมืองหลวงส่วนใหญ่ อีสานเป็น “ทุ่งหมาเมิน” ที่ไม่มีอะไรดีเด่น ไม่มีอะไรน่าสนใจ

ในบทความนี้ผมจะพยายามแสดงว่า อีสานคือมดลูกของสยามที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรม อย่างไรก็ตามผมขอขึ้นต้นด้วยลักษณะ “ไส้ติ่ง” และ “ทุ่งหมาเมิน”, เพราะเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย

เรื่องที่ 1 ไส้ติ่งหรือทุ่งหมาเมิน

อีสานเป็นผืนแผ่นดินมหึมาที่ใหญ่กว่าภาคกลางเสียอีก, แล้วทำไมจึงหายไปจากประวัติศาสตร์ และหายไปจากแผนที่โบราณ? ขอยกให้ดูแผนที่ของไทยสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (คริสต์ศตวรรษที่ 17) ที่ไม่มีอีสาน

แล้วขอให้ดูแผนที่ฝรั่งสมัยเดียวกันที่ไม่มีอีสานเช่นกัน

อีสานเพิ่งมาปรากฏในแผนที่ในสมัย ร.5 เมื่อฝรั่งเศสยึดครองเวียดนามและเข้ามาสำรวจเมืองลาว ทันใดนั้นอังกฤษชวนให้ ร.5 ยืมนาย James McCarthy จากกรมรังวัดอินเดีย ท่านเดินสำรวจแม่น้ำโขงแล้วพบว่าแม่น้ำสายนี้ไม่ได้ไหลลงจากเหนือสู่ใต้โดยตรง, แต่ถึงแถวๆ หนองคายก็คดเคี้ยวไปทางตะวันออกแล้วอ้อมใหญ่กว่าจะตกถึงเมืองเขมรและปากน้ำในเวียดนาม แต่นั้นมาอีสานจึงโผล่ขึ้นมาในความรับรู้ของโลกและของรัฐบาลสยาม

ทำไมเป็นเช่นนี้? ผมมองเห็นเหตุอยู่ 3-4 ประการคือ

1. รัฐเดิมขึ้นตามแม่น้ำ (Riverine States) สยามหลักๆ คือลุ่มน้ำเจ้าพระยา ผู้เขียนแผนที่สมัยสมเด็จพระนารายณ์น่าจะเป็นพระภาคกลางนี้เอง จึงสนใจพระธาตุและพระพุทธบาทที่มีในลุ่มน้ำนี้ ท่านยังรู้ว่าแม่น้ำโขงมีจริง และ “ล้านช้าง”, “แก่งลี่ผี”, “นครหลวง (ธม)” อยู่ในลุ่มแม่น้ำโขง, แต่อยู่นอกวงจรการเดินทางแสวงบุญของตน พระธาตุและพระพุทธบาทต่างๆ ในอีสานจึงไม่ได้รับการบันทึกในแผนที่ของท่าน เพราะคนเขียนแผนที่ไม่รู้จักอีสาน และไม่สนใจ

2. ในโลกทัศน์แบบโบราณ “ประเทศ” ไม่ได้หมายถึงผืนแผ่นดินที่อยู่ภายในกรอบหรือชายแดนที่แน่นอน ในสมัยอยุธยา “สยาม” หมายถึงบ้านเมืองที่อำนาจของกรุงศรีอยุธยาแผ่ถึง, โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและเมืองท่าต่างๆ ตามชายฝั่ง, ดังเห็นในแผนที่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ในทิศตะวันออกเฉียงเหนือ, อำนาจของกรุงศรีอยุธยาน่าจะจบลง (หรือจางลงมาก) ที่โคราช, ถึงเรียกว่า “นครราชสีมา” หรือ “หลักเขตพระราชอำนาจ” ส่วนแดนที่เราเรียกกันว่า “อีสาน” หากไม่อยู่ในอำนาจเมืองล้านช้างก็คงปกครองกันเอง (No Man’s Land) ที่อยู่นอกคอกฟ้ากรุงศรีอยุธยา, ชนชั้นปกครองจึงมองไม่เห็น

3. ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นสยามเป็นจักรวรรดินิยม (Imperialist) ที่มุ่งมั่นจะปราบปรามเมืองเหนือ, ล้านช้าง, เขมร และรัฐต่างๆ ในแหลมมลายู (เป็นที่น่าสนใจว่า “จักรวรรดินิยม” ภาษาไทยหมายถึงอังกฤษและฝรั่งเศส ยังไม่มีใครเขียนประวัติจักรวรรดินิยมสยาม/ไทยเลย เรื่องนี้ต้องถามชาวลาว, เขมร, มลายู, อย่าถามผม) ในระยะที่กษัตริย์สยามจะปราบล้านช้าง อีสานไม่เป็นจุดหมายปลายทางที่ต้องปราบปราม, หากเป็นเพียงเส้นทางเดินทัพ, จึงได้รับความสนใจไม่มาก

อีสานเพิ่งเริ่มเป็นตัวเป็นตนและมีความสำคัญในสายตารัฐบาลสยามในรัชกาลที่ 5 เมื่อจักรวรรดิสยามไปกระทบกับจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ริมน้ำโขง, แต่อีสานยังมีความสำคัญน้อยกว่าล้านนา, เขมร และแหลมมลายู

4. ในยุคฟาสซิสต์อีสานเป็นส่วนหนึ่งของไทยแลนด์แน่นอน, แต่ดูเป็นที่ต้องควบคุมมากกว่าให้เกียรติ รัฐบาลจอมพลแปลกจึงเก็บ ส.ส.อีสาน (ดูศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 23 ฉบับที่ 3) และสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พระเอกเมืองขอนแก่น) ทำลายพระอาสภะเถระ (พระพิมลธรรม) ที่มีความคิดสากลทันสมัย

5. แม้ในยุคโจราธิปไตยปัจจุบัน, อีสานยังเป็นเมืองขึ้นของรัฐบาลกลางอยู่ดี กระทรวงในกรุงเทพฯ มีสิทธิ์ชี้ขาดชายป่าชายนาโดยไม่ถามคนท้องถิ่นหรือศึกษาความเป็นมาของถิ่นนั้นๆ ข้าราชการหน้าไม่นิ่มนัก เช่น สมัคร สุนทรเวช ยังอาจตวาดกับฝูงชนที่ประท้วงเรื่องปัญหาปากน้ำมูลว่า “เป็นคนไทยหรือเปล่า?!”

เรื่องทั้งหมดที่ว่ามานี้เป็นเรื่องอีสานในฐานะ “ไส้ติ่งสยาม” หรือ “ทุ่งหมาเมิน”

ต่อไปนี้จะขอกล่าวถึงโลกสากลที่ล้วนมี “อีสาน” หลายแห่งทั่วไป

เรื่องที่ 2 หลายอีสาน

ใช่ว่าเมืองไทยเท่านั้นที่มี “อีสาน” หรอก ถ้าดูให้ดีจะเห็นว่าทุกประเทศมี “อีสาน” ของตน “อีสาน” ระดับโลกใหญที่สุดและสำคัญที่สุดคือ เอเชียกลาง

เอเชียกลาง เป็นที่ทุรกันดาร, หน้าหนาวมีหิมะคลุม, อุณหภูมิลดหลายองศา, หน้าร้อนก็ร้อนระอุแห้งแล้ง เป็นทุ่งว่างเปล่าที่ไม่มีอะไรดีเด่นให้ดู

อย่างไรก็ตาม, นักมานุษยวิทยาโดยมากเชื่อกันว่า ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์เอเชียกลางเป็นถิ่นกำเนิดของชาวอินเดียนแดงในอเมริกา, ชาวจีนฮั่น, ชาวเกาหลี, ญี่ปุ่น และชาวตะวันออกกลาง ฝ่ายนักภาษาศาสตร์เชื่อว่า เอเชียกลางเป็นถิ่นกำเนิดภาษาตระกูลอินโด-ยุโรป, ซึ่งหมายถึงบาลี-สันสกฤต, กรีก, ละติน, อังกฤษ, เยอรมัน, รัสเซีย ฯลฯ ฝ่ายนักประวัติศาสตร์ย่อมรู้กันทั่วว่าชาวเอเชียกลางเคยรุกรานยุโรป (Huns), เคยปราบปรามตะวันออกกลาง (Turmalane), เคยปกครองเมืองจีน (Mongol Dynasty) และเคยปกครองอินเดีย (Mogul Dynasty)

ทุกวันนี้เอเชียกลางมีสภาพเป็น “ทุ่งหมาเมิน” จริง, แต่ใครที่ไหนจะกล้าอ้างว่าเอเชียกลางไม่สำคัญ, หรือเป็นเพียง “ไส้ติ่ง” ของโลก?

ต่อไปนี้จะขอย่อสายตาลงมาดูเฉพาะยุโรป

“อีสาน” ของยุโรปอยู่ที่ตะวันออกกลาง ใครๆ มักเข้าใจผิดว่าความเจริญของตะวันตกเกิดที่กรุงเอเธนส์, กรุงโรม หรือที่ลอนดอน, ปารีส ฯลฯ แต่ไม่เป็นความจริง จุดกำเนิดของศิลปวัฒนธรรมตะวันตกคือตะวันออกกลาง

ตะวันออกกลางเป็นที่ทุรกันดาร, แห้งแล้ง, ยากจน, แต่เป็นแหล่งกำเนิดดาราศาสตร์, การคิดเลขคำนวณบัญชีและรังวัด, อักษรการเขียน (อักษรโรมัน, อาหรับ และสันสกฤต), เครื่องดนตรี (Harp, Violin, Guitar, ปี่ และปี่ถุง), การถลุงโลหะ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำทองสำริด) และศาสนายิว, คริสต์ และอิสลาม อย่างนี้ใครจะว่าตะวันออกกลางเป็นเพียง “ไส้ติ่ง”? ผมว่าเป็น “มดลูก” ของตะวันตก

ต่อจากนี้ไปจะขอย่อสายตาลงไปให้ดูเฉพาะหมู่เกาะอังกฤษ ที่มี “อีสาน” เหมือนกัน “อีสาน” ของอังกฤษอยู่ที่ Scotland

เรื่องสนุกๆ เจริญๆ ของอังกฤษล้วนแต่เกิดแถวๆ ลอนดอน, ออกซ์ฟอร์ดและเคมบริดจ์, ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ เป็นที่มั่งคั่ง, ศูนย์กลางชีวิตปัญญา และเป็นประตูเข้าออกสู่โลกภายนอก

Scotland เป็นที่แร้นแค้น เป็นดินแดน “ภูเขาหมาเมิน” ที่ยากจนล้าหลัง, ไม่ค่อยมีใครชม นอกจาก Scotland จะผลิตผ้าขนแกะอย่างดี และต้มเหล้า Whisky ชั้นเยี่ยม, Scotland ยังส่งออกแรงงานมากที่สุด ในบรรดาชาว Scot ที่อยู่บ้านไม่ได้ดี, มีนักคิดนักเขียนสร้างสรรค์หลายๆ คนที่พลัดถิ่นแล้วประดับโลกด้านปรัชญาและวิทยาศาสตร์

ในโลกปัญญาตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน, ด้านธรรมศาสตร์และการเมือง, เคมีวิทยา, การแพทย์, วิศวกรรม และเศรษฐศาสตร์, ชาว Scot ส่วนใหญ่เป็นผู้บุกเบิก, ค้นคว้าและคิดใหม่ แต่ท่านเป็นคนพลัดถิ่นจึงมักได้ชื่อว่าเป็น “อังกฤษ” หรือ “อเมริกัน”, และไม่ค่อยมีใครนึกถึง Scotland เลย

ดังนั้นผมต้องสรุปว่า Scotland เป็นมดลูกที่สำคัญของโลกที่พูดภาษาอังกฤษ, ไม่ใช่ “ไส้ติ่ง” หรือ “ทุ่งหมาเมิน” ดังที่คนไม่รู้อาจจะคิด อย่าว่าแต่ “โลกที่พูดภาษาอังกฤษ”, James McCarthy ผู้ก่อตั้งกรมแผนที่ของไทยเป็น Scot, MacFarlain ผู้รวบรวมพจนานุกรมเป็น Scot, Mackain ผู้สร้างโรงพยาบาลคนโรคเรื้อนที่เชียงใหม่เป็น Scot

จากโลกกว้างผมขอหันกลับมาพิจารณาสยามและอีสาน, ไส้ติ่งหรือทุ่งหมาเมินของประเทศไทย

เรื่องที่ 3 อีสาน, ทุ่งหมาที่มีความหมาย

ในทวีปเอเชีย (นอกเมืองจีน) การหล่อโลหะสำริดเกิดที่ไหนก่อน? อินเดีย? ชวา? กรุงศรีอยุธยา? ไม่มีหรอก ทองสำริดปรากฏครั้งแรกที่บ้านเชียงในอีสานนี่เอง

การตั้งแท่งหินเป็นขอบพัทธสีมารอบพระอุโบสถเกิดที่ไหนก่อน? อินเดีย? ลังกา? พม่า? ไม่มี มีที่อีสานก่อน

วรรณกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาที่เก่าที่สุดและศักดิ์สิทธิ์ที่สุดคือ “โองการแช่งน้ำ” แล้วทำไมนักศึกษาวรรณคดีไทยมักอ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง? เป็นไปได้ไหมว่า เขาไม่รู้เรื่องเพราะไม่ยอมรับว่า “โองการแช่งน้ำ” เป็นภาษาอีสาน?

แต่ไหนแต่ไรนักคิดนักเขียนชาว Scotland ต่างอพยพไปเป็นครูบาอาจารย์ในอังกฤษและอเมริกา, และฝรั่งจับได้ว่า เป็นใครมาจากไหน, เพราะนามสกุลฟ้อง ในอุษาคเนย์นี้ไม่มีนามสกุล, จึงไม่อาจจะทราบได้ว่า นักปราชญ์ราชบัณฑิตกรุงนครธม, กรุงสุโขทัย, กรุงศรีอยุธยาเป็นใครมาจากไหน, แต่หลายท่านน่าจะเป็นชาวอีสานพลัดถิ่น

จากหลักฐานทั้งหมดที่ว่ามานี้, ผมเชื่อว่าอีสานเป็น “มดลูก” หรือถิ่นกำเนิดวัฒนธรรมมากกว่าจะเป็นเพียง “ไส้ติ่ง” ที่หมาเมินได้

ในเมื่อเมืองหลวงเป็นธุระที่จะลืม, หรือมองข้าม หรือกลบความสำคัญของอีสาน, ก็เห็นจำเป็นที่ชาวอีสานควรโต้ตอบแบบนักปราชญ์, ด้วยการศึกษาค้นคว้าและเผยแพร่ความจริงเรื่องอีสาน, ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ เช่น

ประวัติศาสตร์อันยาวนานที่มีทั้งรุ่งโรจน์และเจ็บปวด ภาษาที่เก่าแก่, บริสุทธิ์และมีเสน่ห์ ศิลปะการแสดงที่มีชีวิตชีวา, งดงาม ศาสนาที่มีวัตรปฏิบัติเยี่ยงขีณาสพแต่เดิมมา ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ

เอเชียกลางเป็นมดลูกทางวัฒนธรรมของโลก, ตะวันออกกลางเป็นมดลูกทางศิลปะของยุโรป, สกอตแลนด์เป็นมดลูกทางปัญญาของอังกฤษ ทั้งหมดนี้เป็นเช่นไรอีสานก็เป็นเช่นนั้น, เป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญยิ่งของความคิด, สิ่งของ และคนที่ดีงามประดับสยาม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 กันยายน 2565