เงินฮาง-เงินฮ้อย เงินตราโบราณที่ใช้กันในภาคอีสาน และลุ่มแม่น้ำโขง

เงินอีสาน เงินฮาง เงินฮ้อย

เงินฮาง เงินฮ้อย เงินตราโบราณที่ใช้กันในภาคอีสาน และลุ่มแม่น้ำโขง

ในภาคอีสานและบ้านเมืองในลุ่มแม่น้ำโขงสมัยรัชกาลที่ 4-5 นั้น นอกจากจะใช้เงินเหรียญ (พดด้วง) ของรัฐบาลสยามแล้ว ในท้องถิ่นยังมีการใช้เงินตราของตัวเองกันอยู่บ้างสำหรับแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้า นั่นคือ เงินฮาง และเงินฮ้อย

เงินตราโบราณนี้จะใช้น้ำหนักของเนื้อเงินเป็นเกณฑ์ โดย เงินฮาง ผลิตจากเนื้อเงินบริสุทธิ์ ภายหลังมีการผลิต เงินฮ้อย เข้ามาใช้เพิ่มอีกชนิดหนึ่ง โดยผสมโลหะเข้าไป ไม่ใช่เนื้อเงินบริสุทธิ์ จึงมีราคาค่างวดต่ำกว่าน้ำหนัก

ธวัช ปุณโณทก เขียนอธิบายเกี่ยวกับ เงินฮาง และเงินฮ้อย ไว้ในบทความ “เงินตราภาคอีสาน” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับฉันวาคม 2551 มีรายละเอียดดังนี้


เงินฮาง (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับฉันวาคม 2551)

เงินฮาง หรือเงินแท่ง

เงินฮาง มีสัณฐานเหมือนรางข้าวหมู หรือรางหญ้าคอกม้า รูปทรงยาวรีหัวท้ายงอนเหมือนเรือไหหลำ โดยทั่วไปมีขอบเหมือนแคมเรือทั้งสี่มุม มีท้องเป็นร่องเหมือนท้องเรือแต่ไม่ลึก มีขนาดยาวประมาณ 6 นิ้วฟุต กว้างประมาณ 2 นิ้วฟุต หนาครึ่งนิ้ว (น้ำหนัก 25 บาท 2 สลึง)

หลวงผดุงแคว้นประจันต์ (จันทร์ อุตตรนคร) ข้าหลวงกำกับราชการเมืองสกลนคร สมัยรัชกาลที่ 5 ได้เขียน “เรื่องเงินของราษฎรภาคอีสาน” ในหนังสือลัทธิธรรมเนียม (โรงพิมพ์คุรุสภา พ.ศ. 2504 หน้า 48-62) ได้ให้รายละเอียดเรื่องเงินฮางว่า “ที่มุมข้างหนึ่งมีดวงตราตอกประจำ ในดวงตรานั้นเป็นอักษรจีน 2 อักษร แต่ไม่ทราบว่าแปลว่าอะไร ในท้องเงินข้างมุมที่ตอกดวงตรานั้นมีรอยขีดตีนกา 2 เส้น ดูเหมือนเลขจีนสำหรับนับนัมเบอร์ มีดังนี้เหมือนกันทุก ๆ ฮาง เงินฮางมีน้ำหนัก 6 ตําลึง 6 สลึง” โดยทั่วไปเงินฮางมี 2 แบบ คือ

1) เงินฮางรังไก่ คือเงินฮางที่กลางท้องแท่งเงินมีร่องแหลมกลมเหมือนก้นหอย ลึกประมาณกระเบียดหนึ่ง ส่วนอื่น ๆ เหมือนกับเงินฮางทั่วไป

2) เงินฮางศีรษะโป คือเงินฮางที่รูปร่างด้านหัวข้างหนึ่งเป็นปมโตกว่าอีกข้างหนึ่ง จึงเรียกว่า หัวโป หัวปมนี้ใช้เป็นที่ตอกตราประจำ และขีดเครื่องหมายตีนกา

เงินฮางนี้ หลวงผดุงแคว้นประจันต์ (จันทร์ อุตตรนคร) ได้ให้คำอธิบายว่า เป็นเงินที่ผลิตในประเทศญวน มีใช้ทั่วไปในประเทศญวน และประเทศเขมร ซึ่งดูเหมือนเป็นเงินตราสากลใช้ได้ทั่วไปในหลายประเทศ เงินฮางนี้บางแห่งเรียก เงินแท่ง ก็มี เงินแนน หรือเงินแน่น ก็มี

ค่าของเงินฮาง

เงินฮางเป็นเนื้อเงินบริสุทธิ์ ฉะนั้นราคาค่างวดของเงินฮางก็ขึ้นอยู่กับน้ำหนัก โดยทั่วไปเงินฮางแห่งหนึ่ง ๆ มีน้ำหนัก 6 ตำลึง 6 สลึง เท่ากับ 25 บาท 2 สลึง การใช้เงินฮางซื้อสินค้าจึงใช้ซื้อสินค้าที่มีค่ามาก ๆ หากซื้อสินค้ามีค่าไม่ถึง 25 บาท 2 สลึง จะต้องใช้เงินบาท เงินสลึง หรือเงินเฟื้องทอน (คือเหรียญรัฐบาลไทยสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้นำไปใช้ในหัวเมืองภาคอีสาน)

เงินฮ้อย (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับฉันวาคม 2551)

เงินฮ้อย

หลวงผดุงแคว้นประจันต์ (จันทร์ อุตตรนคร) ข้าหลวงกำกับราชการเมืองสกลนคร สมัยรัชกาลที่ 5 ได้เขียน “เรื่องเงินของราษฎรภาคอีสาน” ในหนังสือลัทธิธรรมเนียม (โรงพิมพ์คุรุสภา พ.ศ. 2504 หน้า 48-62) ได้อธิบายรูปพรรณสัณฐานเงินฮ้อยไว้ว่า เงินฮ้อย เป็นเงินหล่อชนิดหนึ่ง รูปพรรณอย่างเดียวกับเงินฮาง แต่หัวเรียวเหมือนกระสวยที่เขาทอหูก ไม่มีตรายี่ห้อและเลขหมายนัมเบอร์เหมือนเงินฮาง เงินตู้ (เงินทั้งสองดังกล่าวมีดวงตราอักษรจีน) อนึ่งเงินฮ้อย หรือเงินฮ่อย มิใช่เป็นเงินที่หล่อด้วยเงินแท้ ๆ เป็นชนิดเงินปน คือเขาเอาทองสำริด หรือทองขาว (เนื้อเหมือนขันลงหิน) มาหลอมสูบในไฟไล่ขี้โลหะออกไปหลาย ๆ หน จนหมดตะกั่วและชินที่ปนอยู่ในเนื้อทองสำริด ผสมกับเนื้อเงินแท้ ๆ ในสัดส่วนเงินหนัก 10 สลึง ทองสำริดหนัก 7 บาท 2 สลึง (รวมน้ำหนัก 10 บาท) นำโลหะผสมใส่ในเบ้าหลอมไฟให้ร้อนจนหลอมละลาย นำไปเทลงในพิมพ์ จะได้เงินฮ้อย 1 แท่ง

สัณฐานของเงินฮ้อยที่หล่อแล้วเป็นทรงยาวรีเหมือนกระสวยทอผ้า ยาวประมาณ 5 นิ้วฟุต กว้างประมาณ 1 นิ้วฟุต หนาประมาณครึ่งนิ้ว ทำหัวท้ายเรียว ตรงกลางป่อง มีปุ่ม ๆ เป็นลายตลอดแท่งเงิน ตามปุ่ม ๆ นั้นจะเป็นเนื้อเงินแท้ ส่วนแท่งเงินเป็นเนื้อเงินประสมดังกล่าว การหล่อเงินฮ้อยนี้หล่อกันได้เสรี เหมือนเงินลาด ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย ฉะนั้นช่างที่รู้วิธีหล่อโลหะก็สามารถหล่อเงินฮ้อยใช้ได้ เงินฮ้อยที่ใช้ในภาคอีสานนั้นไม่ปรากฏเครื่องหมายใด ๆ ที่จะบอกสถาน ที่ผลิต วัน เดือน ปี ที่หล่อเงิน แต่กระนั้นก็ตามราษฎรอีสานก็ใช้เงินฮ้อยเป็นเงินตราแลกเปลี่ยนซื้อขายกันทั่วไป ก่อนที่จะได้เงินเหรียญของรัฐบาลไทยสมัยรัชกาลที่ 5 ไปใช้ในภาคอีสาน

ค่าของเงินฮ้อย

เงินฮ้อย เป็นเงินประสม ไม่ได้เป็นเนื้อเงินบริสุทธิ์เหมือนกับเงินตู้ และเงินฮาง ฉะนั้นค่าของเงินฮ้อยจึงไม่มีราคาตามน้ำหนักโลหะ หลวงผดุงแคว้นประจันต์ (จันทร์ อุตตรนคร) ได้เขียนถึงราคาเงินฮ้อยสมัยรัชกาลที่ 5 ว่า “เงินฮ้อยแม้จะมีน้ำหนักถึง 10 บาท แต่ใช้กันเป็นราคาเงินฮ้อยหนึ่งเพียง 5 บาทบ้าง 3 บาทบ้าง ไม่เป็นที่ยุติลงได้ เพราะบางคราวขึ้นราคา บางคราวก็ลงราคา เงินฮ้อยที่เรียกกันมาแต่โบราณว่า ‘ฮ้อยน้ำหก’ คือ ราคา 6 บาทนั่นเอง แต่ภายหลังมีผู้หล่อเงินฮ้อยขนาดเล็กลง มีน้ำหนัก เพียง 5 บาทบ้าง 10 สลึงบ้าง เงินฮ้อยขนาดเล็กก็เรียก ‘เงินฮ้อย’ เช่นเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 กันยายน 2565