เมืองอู่ตะเภาและถ้ำโพธิสัตว์

ผวาระเบิดหิน - ภาพสลักนูนต่ำยุคทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-15 หรือราว 1 พันปี เป็นภาพพระพุทธเจ้ากำลังเทศนาโปรดพระศิวะและพระนารายณ์ ภายในถ้ำพระโพธิสัตว์ ต. ทับกวาง อ. แก่งคอย จ. สระบุรี มีบริษัทปูนซีเมนต์ขอรับสัมปทานระเบิดหินในพื้นที่ใกล้เคียง อาจส่งผลกระทบต่อถ้ำดังกล่าว เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2559 (ภาพและคำอธิบายจาก มติชน ฉบับวันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2559 หน้า 1)

ความสำคัญของถ้ำโพธิสัตว์ อาจสัมพันธ์กับเมืองโบราณอู่ตะเภา โดยมีข้อมูลดังต่อไปนี้

ในเขตอำเภอหนองแซงที่อยู่ทางฝั่งใต้ของลำน้ำป่าสัก มีลำน้ำจากสายหนึ่งไหลลงจากกลุ่มเขาในเขตอำเภอแก่งคอยมาออกที่ราบลุ่มต่ำก่อนที่จะมีการรวมตัวของลำน้ำหลายสายเป็นลำน้ำใหญ่ไหลลงสู่ที่ราบลุ่มที่อำเภออุทัยในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำป่าสัก

ลำน้ำเก่าสายนี้ที่แต่เดิมเรียกลำน้ำหนองแซง นั้นเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณสมัยทวารวดีที่ชาวบ้านเรียก เมืองอู่ตะเภา (ปัจจุบันอยู่ในเขต อ.หนองแซง จ.สระบุรี) เพราะมีลำน้ำใหญ่ที่เรือสำเภาแล่นเข้ามาได้ เมืองแห่งนี้นับเนื่องเป็นเมืองท่าแห่งหนึ่งเช่นเดียวกันกับเมืองลพบุรี เพราะพื้นที่ราบลุ่มใหญ่ของแม่น้ำป่าสักนั้นเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำน้ำท่วมถึงที่มีทางน้ำจากอ่าวไทยกินเข้าถึงครั้งทวารวดี

ลำน้ำสายนี้มีต้นน้ำอยู่ในกลุ่มเขาหินปูนทางใต้ของอำเภอแก่งคอย อันเป็นบริเวณที่มีถ้ำหินปูนที่เป็นแหล่งพำนักของพระสงฆ์และนักพรตในสมัยทวารวดี เป็นที่พบถ้ำวิหารแห่งหนึ่งในตำบลทับกวาง ที่เรียกในปัจจุบันว่าถ้ำโพธิสัตว์ มีภาพสลักบนผนังถ้ำที่แสดงถึงพระอิศวร พระนารายณ์และทวยเทพเฝ้าแหน ฟังการแสดงธรรมของสมเด็จพระพุทธเจ้า

ตามลำน้ำสายที่ลงสู่ที่ลาดต่ำในเขตอำเภอแก่งคอย ก็พบชุมชนทวารวดีที่มีคูน้ำล้อมเป็นวงกลม ซึ่งปัจจุบันมีถนนสายมิตรภาพผ่ากลาง ชุมชนแห่งนี้มีผู้พบร่องรอยของพระสถูปและชิ้นส่วนพระพุทธรูปหิน อันแสดงให้เห็นถึงความเป็นบ้านเมืองในสมัยทวารวดีที่ต่อเนื่องไปถึงเมืองอู่ตะเภาในเขตอำเภอหนองแซง อันมีลักษณะเป็นเมืองท่าที่สัมพันธ์กับเส้นทางคมนาคมตามลำน้ำป่าสักที่ไหลมาจากหุบเขาเพชรบูรณ์”

คัดความจากหนังสือ สร้างบ้านแปงเมือง โดย รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม สนพ.มติชน. 2560


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 16 พฤษภาคม พ.ศ.2560