ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2548 |
---|---|
ผู้เขียน | บัณฑิต จุลาสัย |
เผยแพร่ |
พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้น นับเป็นสถาปัตยกรรมที่งดงามหลังหนึ่งของไทย ด้วยมีรูปแบบอาคารเป็นแบบฝรั่งตามพระราชนิยมสมัยพระพุทธเจ้าหลวง ตัวอาคารก่ออิฐมั่นคงแข็งแรง ผนังฉาบปูนทาสี มีลวดลายปูนปั้นประดับสวยงาม เช่นเดียวกับภายในอาคารที่ตกแต่งแบบฝรั่ง ทั้งเครื่องเรือนและภาพเขียนสีประดับผนัง
ภาพเขียนเหล่านั้นนอกจากจะสวยงามแล้ว ยังมีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์ศิลป์ เนื่องจากเป็นประจักษ์พยานการเปลี่ยนแปลงงานจิตรกรรมไทยที่เขียนแบบสมัยใหม่ อาศัยหลักทัศนียภาพวิทยา (Perspective) มาแก้ปัญหามิติที่สามหรือความลึกของภาพได้ โดยใช้วิธีจัดองค์ประกอบให้ภาพมีระยะใกล้ไกล ส่วนรายละเอียดในภาพนั้นยังเป็นภาพเขียนแบบไทยอยู่ เป็นการผสมผสานสิ่งเก่ากับสิ่งใหม่ และศิลปะตะวันออกกับตะวันตกเข้าด้วยกัน เนื้อหาของภาพยังสะท้อนให้เห็นถึงขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยในยุคสมัยนั้น ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงรสนิยมและศิลปะตามพระราชนิยมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกด้วย
ภาพเขียนจำนวน 20 กว่ารูป ในพระที่นั่งวโรภาษพิมาน ตามประวัตินั้น…เป็นภาพเขียนที่มาจากงานพระเมรุ ณ ท้องสนามหลวง เมื่อปี พ.ศ. 2430 ในการพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าตรีเพ็ชรุตม์ธำรง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ และพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์…
ในครั้งนั้น…พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีการประกวดภาพพระราชพงศาวดาร ประกอบการแต่งโคลง โดยให้จิตรกรที่มีฝีมือเขียนรูปภาพ และโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ คิดแบบทำกรอบกระจกขึ้น สำหรับรูปภาพทั้งปวงนั้น โปรดเกล้าฯ ให้มีการแต่งโคลงประกอบเรื่องพระราชพงศาวดารแต่ละตอนติดประจำไว้ทุกกรอบ ภาพขนาดใหญ่จะมีโคลงประกอบภาพละ 6 บท ภาพขนาดกลางและขนาดเล็กจะมีโคลงประกอบภาพละ 1 บท การแต่งโคลงนั้นบางบททรงพระราชนิพนธ์เองบ้าง มิฉะนั้นก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ ซึ่งสันทัดบทกลอนแต่งถวายบ้าง ภาพเขียนเรื่องพระราชพงศาวดารที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นครั้งนั้นมีจำนวน 92 ภาพ ส่วนโคลงที่แต่งกำกับภาพมีจำนวน 376 บทด้วยกัน
ภาพเขียนดังกล่าวปัจจุบันประดับบนพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง อย่างไรก็ตามมีภาพจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้เขียนภาพตามหัวเรื่องในพงศาวดาร หากเขียนภาพตามเนื้อเรื่องในวรรณคดีไทย 2 เรื่อง คือ พระอภัยมณีและอิเหนา ซึ่งเป็นภาพชุดที่ประดับไว้ในพระที่นั่งวโรภาษพิมานในปัจจุบัน
ภาพชุดวรรณคดีไทยนี้มีคุณประโยชน์ต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะไทย รวมทั้งประวัติศาสตร์และวรรณศิลป์ของไทย ด้วยแตกต่างไปจากภาพอื่นๆ ศิลปินใช้จินตนาการเขียนภาพได้อย่างอิสระ โดยเฉพาะการเลือกฉากหลังที่ไม่ต้องเป็นตามเหตุการณ์บ้านเมืองไทยในอดีต แต่เป็นไปตามความเหมาะสมในท้องเรื่องนั้นๆ ซึ่งพบว่าศิลปินเลือกเหตุการณ์หรือสภาพบ้านเมืองไทยสมัยนั้นเป็นสำคัญ อย่างเช่น ภาพเรื่องสังข์ทอง ตอนพระสังข์ตีคลี และตอนหกเขยตีคลี ก็จะมีฉากหลังเป็นภาพพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ พระบรมมหาราชวัง เป็นต้น
สำหรับภาพเรื่องอิเหนา ซึ่งมีอยู่หลายภาพ ได้แก่ ตอนปันหยีรบกับย่าหรันในเมืองกาหลัง ตอนประสันตาพากย์หนังถวายนางแอหนัง ตอนอิเหนาเผาเมืองดาหา พานางบุษบาหนี และตอนปันหยีชนไก่ในเมืองกาหลัง
อิเหนา เป็นวรรณคดีไทยที่มีเค้าเรื่องมาจากนิทานปันหยีของชวา พงศาวดารวงศ์กษัตริย์สี่นคร คือ กุเรปัน ดาหา กาหลัง และสิงหัดส่าหรี สำหรับเหตุการณ์ตอนนี้ บุษบา ธิดาท้าวดาหา ซึ่งแปลงกายเป็นชายนามว่าอุณากรรณ และอิเหนา โอรสท้าวกุเรปัน ซึ่งปลอมเป็นโจรป่านามว่าปันหยี ทั้งสองเป็นเนื้อคู่ที่พลัดพรากจากกัน จนมาพบกันที่เมืองกาหลัง โดยท้าวกาหลังทรงรับทั้งสองเป็นโอรสธิดาบุญธรรม และประทานวังลูกหลวงให้เป็นที่อยู่ ฉากชนไก่จึงเป็นตอนสำคัญที่อิเหนาและบุษบาจะกลับมาใกล้ชิดกันอีกครั้ง โดยที่ต่างฝ่ายต่างไม่ทราบว่าอีกฝ่ายคือเนื้อคู่ของตนในรูปจำแลง
เนื่องจากไม่พบโคลงประกอบภาพ จึงต้องพิจารณาตามพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนา ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งกล่าวถึงเรื่องราวการชนไก่ระหว่างปันหยีกับอุณากรรณไว้ดังนี้
…เมื่อนั้น มิสาระปันหยีสุกาหรา
จึงตรัสแก่อุณากรรณอนุชา เจ้ามาวันนี้พี่สำราญ
เราจะชวนกันชนไก่เล่น ให้เป็นผาสุกเกษมสานต์
พวกเจ้าเขาก็เคยชำนาญ ในการเล่นไก่แต่ไรมา
เมื่อนั้น อุณากรรณกระหมันวิยาหยา
จึงตอบปันหยีมิได้ช้า ไก่ชนของข้าไม่มี
เมื่อนั้น จึงองค์มิสาระปันหยี
จึงตอบว่าข้าจะให้ไก่ดีดี ของเรามีไม่ตรึกอย่าร้อนใจ
ว่าแล้วชวนเชิญอุณากรรณ จรจรัลรอเรียงเคียงไหล่
หลงหนึ่งหรัดลัดเดินไปทางใน ยังสนามเล่นไก่พร้อมกัน
สามองค์ทรงนั่งร่วมอาสน์ พร้อมหมู่อำมาตย์กิดาหยัน
พระหยิบยกพานสลามาพลัน สู่องค์อุณากรรณอนุชา
แล้วสั่งประสันตาให้จัดไก่ บัดเดี๋ยวก็ได้มานักหนา
เลาเหลืองส่งเนื่องกันเข้ามา เจ้าเลือกตามอัชฌาที่ชอบใจ
เมื่อนั้น อุณากรรณรัศมีศรีใส
จึงสั่งตำมะหงงทันใด จงเลือกไก่ชนเล่นตามที
สองฝ่ายเปรียบได้แล้ววางหาง ในกลางสังเวียนหน้าที่นั่ง
ซ้อนซ้องสองหมู่ดูประดัง กิดาหยันเตือนตั้งนาฬิกา
พวกนักเลงเล่นเห็นไก่เกี้ยว ลอดเลี้ยวผูกพันประจันหน้า
สำรวลสรวลซ้อมมือมา ถ้อยทีรับว่าได้กัน…
ส่วนสถานที่ชนไก่และสภาพเมืองกาหลังนั้นมีดังนี้
…เมื่อนั้น ปันหยีนึกในใจหวัง
องค์ศรีปัตหรานี้น่าชัง ไม่ระวังระไวพระทัยเบา
อุณากรรณมาอยู่ไม่ทันไร ควรฤๅไว้ใจให้ไปเฝ้า
พระบุตรีสององค์นงเยาว์ ผ่านเกล้าจะได้อายแก่ไพร่ฟ้า
คิดพลางทางเสด็จจรจรัล จากท้องพระโรงคัลข้างหน้า
มาทรงพาชีลีลา เสนากาหลังนำไป
ถึงปันจะราติกาหรัง นิเวศน์วังลูกหลวงอาศัย
ลงจากอาชาคลาไคล เข้าในที่สำนักตำหนักจันทน์…
…อันสีธานีราชฐาน กว้างใหญ่ไพศาลนักหนา
เทเวศร์นฤมิตด้วยฤทธา สนุกดั่งเมืองฟ้าสุราลัย
มีปราสาททั้งสามตามฤดู เสด็จอยู่โดยจินดาอัชฌาสัย
หลังคาฝาผนังนอกใน แล้วไปด้วยโมราศิลาทอง
ภูเขาทองรองฐานมีมารแบก ยอดแทรกยอดใหญ่ไม้สิบสอง
แก้วไพฑูรย์ทำเป็นลำยอง บัญชรช่องชัชวาลบานบัง
พระปรัศว์ซ้ายขวาอ่าโถง ท้องพระโรงรจนาหน้าหลัง
พระแท่นแก้วกุดั่นบัลลังก์ กางกั้งเศวตฉัตรอยู่อัตรา
บรรจถรณ์ที่ไสยาสน์อาสน์สุวรรณ มีฉากแก้วแพรพรรณคั่นฝา
ที่เสวยที่สรงคงคา ที่นั่งเย็นอยู่หน้ามนเทียรทอง
พรรณไม้ดอกลูกปลูกกระถาง ไว้หว่างอ่างแก้วเป็นแถวถ้อง
ราบรื่นพื้นชาลาดังหน้ากลอง อิฐทองปูลาดสะอาดตา
มีทิมที่ล้อมวงองครักษ์ นอนกองเกณฑ์พิทักษ์รักษา
โรงแสงโรงภูษามาลา เรียงเรียบรัถยาหน้าพระลาน
โรงเครื่องเนืองกันเป็นหลั่นลด โรงม้าโรงรถคชสาร
ติกาหรังสำหรับพระกุมาร อยู่นอกปราการกำแพงวัง…
ศิลปินนิรนามผู้วาดภาพปันหยีชนไก่ที่เมืองกาหลัง ได้แสดงเหตุการณ์ชนไก่หน้าวังลูกหลวงตามความในเรื่อง คือ ติกาหรังสำหรับพระกุมารนั้น อยู่นอกปราการกำแพงพระนคร โดยเป็นภาพเขียนอาคารขนาดใหญ่โตแบบตะวันตกสวยงาม แทบจะเป็นองค์ประกอบสำคัญของภาพเลยทีเดียว
เรื่องที่น่าสนใจ คือนิเวศน์วังลูกหลวงตามท้องเรื่อง และติกาหรังในภาพเขียนนั้น ตรงกับวังใหม่ที่ทุ่งปทุมวัน ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดให้สร้างขึ้นไกลออกไปจากพระนคร ที่ทุ่งปทุมวัน เพื่อพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระราชโอรสองค์ใหญ่ อันประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี
ตามประวัติการก่อสร้าง วังใหม่นั้นเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2424 โดยรัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงก่อพระฤกษ์ด้วยพระองค์เอง วังใหม่ตั้งอยู่บนพื้นที่รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสผืนใหญ่ มีคูน้ำล้อมรอบทั้งสี่ด้าน ด้านเหนือจดถนนสระปทุม เยื้องกับวังของพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ ตัวตำหนักอยู่กึ่งกลางพื้นที่ มีทางเข้าจากถนนสระปทุมตรงเข้าไปสู่ตัวตำหนัก ลักษณะอาคารเป็นแบบวิกตอเรียนกอธิค (Victorian Gothic) คืออาคารอย่างฝรั่งในสมัยครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่ใช้รูปแบบส่วนประดับสถาปัตยกรรมกอธิค จนฝรั่งในกรุงเทพฯ สมัยนั้นพากันเรียกอาคารนี้ว่าวังวินด์เซอร์ (Windsor Palace) ตามอย่างพระราชวังวินด์เซอร์ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งมีรูปแบบสถาปัตยกรรมบางส่วนคล้ายกัน
หากสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศฯ สวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2437 วังใหม่ที่ปทุมวันน่าจะถูกทิ้งร้าง ก่อนที่จะได้รับพระบรมราชานุญาตให้หน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นใหม่ใช้ อย่างเช่นเป็นโรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการ
ครั้นถึง พ.ศ. 2459 รัชกาลที่ 6 มีพระบรมราชโองการให้สถาปนาโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเมื่อแรกนั้นมีเพียง 4 คณะ ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และได้พระราชทานที่ดินบริเวณปทุมวัน ซึ่งรวมพื้นที่วังใหม่ 1,000 กว่าไร่ เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย
วังใหม่จึงกลายเป็นสถานศึกษาวิชาเทคนิควิทยา วิชาอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ในระหว่างการก่อสร้างตึกบัญชาการ ครั้นเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ มหาวิทยาลัยได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่อาคารบางส่วน โดยเฉพาะโรงเรือนด้านหลัง เป็นหอพักนิสิต ทำให้นิสิตเรียกขานกันจนติดปากว่าหอวัง ตลอดมา แม้ว่าภายหลังจะย้ายไปยังหอใหม่ทางด้านทิศใต้
ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษา เพื่อเตรียมนิสิตเข้าเรียนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็อาศัยวังใหม่หรือหอวังเป็นสถานที่เรียนชั่วคราว เลยเป็นที่มาของชื่อว่าโรงเรียนมัธยมหอวัง จนกระทั่งย้ายมาอยู่ที่ริมถนนพญาไท และเปลี่ยนเป็นโรงเรียนเตรียมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภายหลัง และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาในปัจจุบัน
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2477 นาวาโท หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย) อธิบดีกรมพลศึกษา ผู้เป็นสมาชิกคนสำคัญในคณะราษฎร ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างสนามกรีฑาสถานและโรงเรียนพลศึกษากลางขึ้นที่บริเวณวังใหม่ และในวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2479 หลวงศุภชลาศัยได้ลงนามในหนังสือสัญญารื้อตึกวังใหม่ ร่วมกับนายหงุย ผู้รับเหมาเชื้อชาติจีนกวางตุ้งในบังคับสยาม โดยสัญญาว่าจะรื้อตำหนักลงภายใน 2 เดือน คิดค่าแรงและค่าเครื่องมือรวมทั้งสิ้น 2,740 บาท การก่อสร้างสนามกรีฑาสถานเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480 ใช้งบประมาณการก่อสร้างประมาณ 170,000 บาท โดยส่วนแรกทำเป็นอัฒจันทร์คอนกรีตเสริมเหล็ก 4,000 ที่นั่ง ซึ่งแล้วเสร็จและเปิดใช้ได้ใน พ.ศ. 2481 สำหรับการแข่งขันกีฬานักเรียน และการก่อสร้างได้ดำเนินต่อมาอีก 3 ปี จนเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ เพื่อเป็นเกียรติแก่หลวงศุภชลาศัยสืบไป
มาถึงวันนี้ คนทั่วไปแม้แต่ชาวจุฬาฯ ต่างไม่รู้จักวังลูกหลวงนอกปราการกำแพงวัง วังใหม่ หรือวังวินด์เซอร์ รวมทั้งหอวัง อดีตหอพักของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนมัธยมหอวัง เนื่องจากเหตุการณ์บ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป ตัวอาคารที่มีขนาดใหญ่โตก็ถูกรื้อทิ้ง หากใครสนใจก็คงทำได้โดยศึกษาจากภาพถ่าย และข้อมูลที่เหลืออยู่โดยเก็บไว้ที่หอประวัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
อย่างไรก็ตามหากใครมีโอกาสไปเยี่ยมชมพระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยากให้แวะดูภาพเขียนที่ประดับไว้ภายในอาคาร โดยเฉพาะภาพปันหยีชนไก่ที่เมืองกาหลัง จะทำให้เข้าใจซาบซึ้งในวรรณคดีไทยเรื่องอิเหนาเพิ่มขึ้น จะเห็นภาพวังใหม่ที่ปทุมวันที่สวยงาม ที่ศิลปินบรรจงถ่ายทอดอาคารแบบวิกตอเรียนกอธิค ทั้งส่วนประกอบสถาปัตยกรรมและการตกแต่งไว้อย่างงดงาม
ที่สำคัญภาพเขียนที่สวยงามนั้น แสดงถึงความสามารถของศิลปินไทย ผู้บูรณาการเรื่องราวในวรรณกรรมไว้ในภาพ ทั้งวิถีชีวิตผู้คน สถาปัตยกรรม และสภาพบ้านเมือง ในสมัยพระพุทธเจ้าหลวง ยุคสมัยที่อิทธิพลตะวันตกกำลังแพร่เข้ามาในประเทศ โดยศิลปินไทยในยุคนั้นรู้จักผสมผสานเทคนิควิทยาแบบฝรั่ง กับวิธีเขียนภาพแบบไทยให้เกิดความงาม เฉกเช่นเดียวกับบรรพบุรุษไทยที่รู้จักปรับตามสภาวการณ์ เพื่อความคงอยู่ของชาติไทย
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 พฤษภาคม 2560