ศิลปวัฒนธรรมสยาม หยุดยั้งตรงเส้นชายแดนหรือ?

ผมจะไม่ชักชวนให้ใคร “เรียกร้องแผ่นดินที่เสียไปกลับคืนมา” เพราะเกมนี้เป็นเกมโง่ๆ ใครที่ไหนทั่วโลกที่ “เรียกร้องดินแดน” (แม้จะมีความถูกต้อง) มักก่อความเสียหายมากกว่าสร้างสรรค์ (อย่าให้ผมพูดถึงตะวันออกกลาง)

ในบทความนี้ผมเพียงหมายจะชวนให้นักปราชญ์ไทย มองข้ามเส้นชายแดนที่อังกฤษและฝรั่งเศสขีดเขียน เมื่อร้อยกว่าปีนี้เอง (และขบวนการชาตินิยมนับถือนักหนา) เพราะเส้นหมึกบนแผนที่เหล่านี้ไม่ได้เป็นขอบเขตของวัฒนธรรมดังที่หลายคนเข้าใจมาก่อน

เป็นที่น่ายินดีว่า นักปราชญ์ไทยสมัยใหม่ไม่คิดหยุดยั้งความสนใจที่แม่ฮ่องสอน, หนองคาย, ช่องเม็ก, ปอยเปต หรือตากใบ อย่างไรก็ตามยังเป็นที่น่าเสียดายว่า มีนักปราชญ์หลายคนที่ยังมีจุดบอดจุดหนึ่ง นั่นคือแหลมยาวเพชรบุรีถึงไชยาบนฝั่งตะวันออก และระหว่างเมืองพัน (Martaban) ถึงปากจัน (Victoria Point) บนฝั่งตะวันตก ใครรู้ว่าฝั่งตะวันออกนี้คือ “ไทย” และฝั่งตะวันตกนั้นคือ “พม่า” ทั้งที่อังกฤษเพิ่งมากำหนดชายแดนในรัชกาลที่ 4

เพื่อนรักหลายๆ คนขยันหมั่นเพียรศึกษาวัฒนธรรมภาคใต้ แต่แทบไม่มีใครสนใจไยดีจะมองข้ามชายแดนเข้าไปใน “พม่า” ซึ่งอังกฤษเป็นฝ่ายขีดเส้นชายแดนเมื่อ 150 ปีที่แล้วนี้เอง, ทั้งที่ใครๆ รู้ว่าสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฝั่งตะวันตกเป็นเมืองท่าชั้นเอกของกรุงศรีอยุธยาที่มอญ-พม่าไม่เกี่ยว

ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง ต้นปี 2544 ผมกับอาจารย์ภูธร ภูมะธน นั่งรถยนต์จากกรุงเทพฯ ไปนครศรีธรรมราช ในระหว่างเพชรบุรีกับไชยา (ซึ่งเป็นระยะทางที่ยาวมาก) ผมปรารภกับภูธรว่า “ทำไมระหว่างเพชรบุรีกับไชยานี้จึงเป็นแดนปลอดประวัติศาสตร์ ไม่มีโบราณสถาน ไม่มีพระมหาธาตุเจดีย์”

อาจารย์ภูธรตอบว่า “เออนะ! เป็นความจริง คงเป็นเพราะแต่เดิมระยะนี้เป็นป่าดงดิบมีอู่ข้าวน้อย ประชาชนน้อย เรือต่างประเทศไม่มีธุระมาแวะ ผิดกับเพชรบุรี (และเหนือขึ้นไป) และไชยา (และใต้ลงไป) ที่เป็นอู่ข้าวใหญ่มีประชากรมากจึงพอตั้งเป็นบ้านเมืองได้”

ผมก็พยักหน้าเห็นด้วย

มาคิดภายหลังว่าทั้งผมและอาจารย์ภูธรตาบอดพอๆ กัน เพราะระหว่างเพชรบุรีและไชยายังมีเมืองท่าที่สำคัญมาก มีโบราณสถานและสำคัญมากทางประวัติศาสตร์ นั่นคือเมืองมะริด-ตะนาวศรี แต่เรานึกไม่ถึง เพราะว่า “มันอยู่ในพม่า นี่หว่า!”

ที่ผมเกิดสนใจมะริด-ตะนาวศรีเป็นเพราะผมค้นวารสารสยามสมาคม (Journal of the Siam Society) ฉบับเก่าๆ ใน J.S.S. ฉบับที่ 26 (ค.ศ. 1933) ผมเจอบทความของ A. Kerr ชาวอังกฤษพำนักในกรุงเทพฯ ชื่อ Notes on a Trip from Prachuap to Mergui ซึ่งบอกรายทางที่ท่าน และเพื่อนๆ เดินป่าจากประจวบคีรีขันธ์ถึงเมืองมะริดในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 1932 ใช้เวลา 11 วัน โดยเดินทางไม่รีบด่วน ท่านว่าอาจจะใช้เวลาเพียง 6 วัน หากรีบร้อนและเตรียมการล่วงหน้า

หลักฐานของ Mr.Kerr

คณะของนาย Kerr ไปถึงประจวบฯ โดยรถไฟแล้วออกเดินทางผ่านนองคำ? (Nawng Kam) และทุ่งมะตูม ถึงหินกองที่ชายแดนแล้วเข้า “พม่า” จากนั้นไปตลอดทาง นาย Kerr พบบ้านกะเหรี่ยงบ้างตามไหล่เขาห่างแม่น้ำ ที่ชาวบ้านเรียกว่า “แม้วไฮ่”

นอกนั้นท่านพบแต่บ้านคนไทยที่พูดภาษาใต้ ผิดกับชาวประจวบฯ (Siamese villagers on the Burmese side all speak a southern Siamese dialect, like that of the Peninsula from chumpawn southwards, quite distinct from that of the villagers in the Prachuap region)

จากหินกองไปถึงห้วยจีน, แม่น้ำวัด (หมู่บ้านร้างแต่มีและพระพุทธรูปอยู่), คลองท่าพริก (ต้นคลองสิงขรแควของแม่น้ำตะนาวศรีน้อยที่นำลงไปสู่เมืองมะริด-ท่าพริก?-เรือพอถ่อขึ้นมาถึง), หนองบัว (ทุ่งใหญ่ที่น่าจะเป็น Jalinga แผนที่เก่า), ห้วยตะเลหม้อ, ทุ่งม่วง, ท่าแพ, คลองอินทนิล, แดนน้อย (ช่องเขาที่มีหินกองอีกและน่าจะเป็นชยแดนเดิม), ห้วยทรายขาว (บ้านคนไทยประมาณ 20 ครัวเรือน)

แต่นั้นไปแม่น้ำไม่มีแก่งจึงลงเรือ อีกสามวันไปถึงเมืองตะนาวศรี (ชาวบ้านเรียกว่า “เมืองมะนาว” เป็นหมู่บ้านโทรมๆ ที่ยังมีซากกำแพงเมือง, วัด และเจดีย์)

วันรุ่งขึ้นลงเรือกลไฟไปรอดถึงเมืองมะริดตอนบ่ายวันเดียวกัน

น่าเสียดายที่ Kerr ไม่บอกรายละเอียดกว่านี้เรื่องเมืองตะนาวศรีและมะริด

ตลอดทางนี้นาย Kerr ไม่แจ้งว่าได้พบบ้านหรือคนมอญ หรือพม่าเลย

ต่อจากนี้เป็นทำเนียบชื่อสถานที่ตามรายทางของนาย Kerr ที่เป็นคำ “Siamese” นั้นผมเข้าใจว่าท่านฟังมาจากปากชาวบ้าน ที่เป็นคำ “Burmese” ท่านน่าจะได้มาจากแผนที่ที่รัฐบาลอังกฤษในพม่าทำขึ้นมาจากคำบอกเล่าของคนพม่า มีหลายคำ (ตัวเน้น) ที่น่าจะเป็นคำไทยออกเสียงตามปากพม่า แล้วเขียนตามการฟังของหูอังกฤษ ซึ่งพาให้วุ่นกันใหญ่พอสมควร

Siamese  Burmese 
Chalawan ชาละวัน Salawan
Den noi แดนน้อย Ngya-taung Pass
Hat Keo หาดแก้ว Letpanthaung
Hui Chin ห้วยจีน      –
Hui Sai Kao ห้วยทรายขาว Thebyn C.
Hui Talemaw ห้วยตะเลหม้อ Ka-le-mo Chaung
Kaw Sanuk เกาะสนุก Hatti-nang
Klawng Intanin คลองอินทนิล Kalin-kwan Chaung
Klawng Keo คลองแก้ว Indaw C.
Klawng Meo Hai คลองแม้วไฮ Kvein C.
Klawng Nguam? คลองงวม? Ngawun Chaung
Klawng Sai คลองใส Banthe C.
Klawng Taket คลองตาแกด Thagyet C.
Klawng Ta Kilek คลองท่าขี้เหล็ก Iliam Chaung
Klawng Ta Palat คลองตาปลัด Tabalat Chaung
Klawng Ta Prik คลองท่าพริก Htaprik-yo-so
Lem Yuan แหลมญวน    –
Manao มะนาว Tenasserim
Menam Wat แม่น้ำวัด Mai-nam-wat
Nawng Bua หนองบัว Naung bwa
Singkawn สิงขอน  Theinkun
Taling Deng ตลิ่งแดง  Kwegayan
Ta Pe ท่าแพ     –
Tung Matum ทุ่งมะตูม     –
Tung Muang ทุ่งม่วง Htawng Mwun
Wang Yai วังใหญ่ Kyauktalon

 

หลักฐานของ Maurice Collis

Maurice Collis เป็นข้าหลวงอังกฤษที่ออกไปปกครองเมืองมะริด-ตะนาวศรีในทศวรรษ 1930 ท่านสนใจศึกษาตะวันออกมาก และเขียนหนังสือเกี่ยวกับอุษาทวีปหลายเล่ม หนังสือที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ Siamese White ว่าด้วยชีวิตของ Samuel White นักผจญภัย (และโจรสลัด) ชาวอังกฤษที่รับราชการสยาม เป็นนายท่าเมืองมะริดครั้งสมเด็จพระนารายณ์ และ Into Hidden Burma ว่าด้วยประสบการณ์ของตนเองในปลายยุคที่จักรวรรดิอังกฤษยังเป็นใหญ่

ในหนังสือสองเล่มนี้ Collis ได้อธิบายเส้นทางจากฝั่งทะเลอันดามันถึงฝั่งอ่าวสยามดังนี้

นักเดินทางมักจ้างเรือพื้นเมืองที่ใช้ทั้งใบและพายเข้าปากน้ำตะนาวศรีที่อยู่ใต้เมืองมะริดเล็กน้อยในเวลาที่น้ำทะเลกำลังเริ่มขึ้น ชั่วโมงแรกน่าเบื่อเพราะมีแต่ป่าแสม ต่อมาทิวทัศน์ผายออกมาให้เห็นทุ่งนา, เรือกสวน และหมู่บ้านใหญ่น้อย บ้างยังมีซากกำแพงและคูเมือง และเป็นที่ขุดพบเครื่องถ้วยจีนและรูปสำริดแบบสยามที่มีอายุตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 6 ถึง 18 ประมาณครึ่งทางคือบ้าน Tonbyaw (หรือ Mawton) ใหญ่ที่สุด ปัจจุบันเป็นบ้านแขกมุสลิมที่มีหน้าตาออกแขกๆ นับถืออิสลาม แต่มีวิถีชีวิตแบบชาวอุษาคเนย์ทั่วไป

ต่อมาอีก 20 ไมล์ก็ถึงเมืองตะนาวศรีที่ใหญ่โตพอสมควร สร้างในแผ่นดินสามเหลี่ยมที่แม่น้ำตะนาวศรีน้อย-ใหญ่บรรจบกัน มีกำแพงสูงล้อมรอบราวประมาณสี่ไมล์ เรือใหญ่ (หากแต่งให้ดี) ขึ้นไปถึงโดยสะดวก เป็นเมืองถ่ายสินค้าที่เต็มไปด้วยโกดัง, พ่อค้าคนกลาง และผู้แทนจากเมืองอื่น

ต่อจากเมืองตะนาวศรีเส้นทางเริ่มลำบาก เพราะขึ้นไปตามแควน้อย (Little Tenasserim/คลองสิงขร/ คลองท่าพริก) ที่ไหลเชี่ยวและมีแก่งมาก มีแต่เรือลำเล็กที่พอถ่อขึ้นไปได้ ผ่านบ้าน Theinkun (สิงขร) และ Jalinga ระยะทางเพียง 40 ไมล์ แต่อาจจะใช้เวลาหลายวันแล้วแต่กระแสน้ำจะแรงแค่ไหน

ถึง Jalinga แควน้อยใช้ไม่ได้อีก นักเดินทางจึงต้องขึ้นบกอาศัยเกวียนและลูกหาบตามเส้นทางขรุขระประมาณ 10 ไมล์ จนถึงช่องเขา แต่นั้นไปเส้นทางค่อยลาดลงไปจนถึงฝั่งตะวันตกที่มีถนนแล่นไปทางเหนือผ่านเมืองกุย, เมืองปราณ, เพชรบุรี…”

ท่านผู้อ่านคงสังเกตว่าหลักฐานของ Kerr กับของ Collis สนับสนุนกันบ้างขัดแย้งกันบ้าง

เรื่องนี้ไม่แปลก เพราะ Kerr คงถนัดภาษาไทยและฟังเสียงคนไทยตลอดรายทาง ในขณะที่ Collis เป็นอังกฤษ (ในพม่า) จึงคงถนัดภาษาพม่าหรืออาศัยคำให้การของล่ามชาวพม่าจึงไม่รู้ว่าเขาอยู่ท่ามกลางชาวสยาม อย่างไรก็ตามหลักฐานเหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย

หลักฐานของท่านจันทร์

ม.จ.จันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี ไม่เคยเดินป่าไปมะริด-ตะนาวศรี แต่ท่านสนใจเรื่องนี้มาก ในหนังสือ “Kalinga” ที่ท่านจันทร์เขียนเป็นภาษาอังกฤษเมื่ออายุมาก (ไม่เคยพิมพ์เผยแพร่ แต่มีสำเนาในห้องสมุดสยามสมาคม) ท่านวิเคราะห์รายทางของ Kerr และ Collis และเพิ่มความรู้เกี่ยวกับการกำหนดชายแดนครั้งรัชกาลที่ 4 ที่น่าสนใจมาก

ในสายตาท่านจันทร์ (ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด) “เมืองมะริด” (ภาษาราชการ) คือ “เมืองท่าพริก” (ภาษาชาวบ้าน) และ “คลองท่าพริก” คือลำธารต้นแควน้อย หรือ Little Tenasserim River ที่บรรจบกับแม่น้ำตะนาวศรีใหญ่ที่เมืองตะนาวศรีแล้วไหลลงทะเลอันดามันที่เมืองมะริด (ท่าพริก) เป็นการเรียกแม่น้ำตามชื่อปากน้ำ ซึ่งมีตัวอย่างสนับสนุนอีกมาก

นอกจากท่านจันทร์จะวิเคราะห์เส้นทางของ Kerr และ Collis อย่างแนบเนียนตามหลักภาษาไทย ท่านยังอธิบายวิธีการตีเส้นชายแดนของอังกฤษชนิดที่ผมไม่เคยคิดมาก่อน

ต่อไปนี้ผมจะเล่าสู่กันฟัง โดยจะเพิ่มหลักฐานจากแหล่งอื่นเท่าที่หามาได้ หากผิดพลาดประการใดเป็นความผิดของผม ไม่ใช่ของท่านจันทร์

ในสมัยอยุธยาแหลมทั้งหมดตั้งแต่กาญจนบุรี/เมืองทวายลงไปขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา เป็น “สยาม” ไม่ใช่ “พม่า” หลักฐานไทย, เปอร์เซีย, โปรตุเกส, อังกฤษ และฝรั่งเศสรับรองทั้งนั้น

หลังเสียกรุง (ค.ศ. 1767) ฝั่งอันดามันกลายเป็นดินแดนขาดการปกครอง (No-man’s Land) ชั่วระยะหนึ่ง

ในรัชกาลที่ 2 กัปตัน Frances Light (พ่อค้าอังกฤษ) ขายอาวุธและดินปืนให้ท้าวเทพสตรี ทำให้แข็งเมื่อถลางกลับคืนสู่สยาม แล้วย้ายไปยังเกาะหมาก (Pinang) เป็นเมืองท่าของอังกฤษ

ในรัชกาลที่ 3 (ปี 1826) อังกฤษยึดชายฝั่งอันดามันตั้งแต่เมาะตะมะ (เมืองพัน) ถึงปากน้ำจัน (Victoria Point) จะเป็นเพื่อแก้เผ็ดพม่า (กรุงมัณฑะเลย์)? เพื่อยึดทรัพยากร (แหล่งดีบุกที่สำคัญ)? เพื่อกั้นการขยายอาณานิคมของฝรั่งเศส? ผมหาหลักฐานอธิบายไม่ได้

ท่านจันทร์เสนอว่าอังกฤษลงทุนมามากในเมืองท่าที่สิงคโปร์จึงพยายามยึดแหลมไม่ให้มีการขุดคลองคอคอดกระ ผมไม่เชื่อ เพราะอังกฤษไม่เคยยึดดินแดนฝั่งตะวันตกจากปากน้ำจันถึงสตูลที่ขุดคลองข้ามคอคอดได้สะดวกที่สุด ซึ่งในยุคนั้นอังกฤษยึดได้ตามใจชอบ ใครจะทำไม?

อย่างไรก็ตามชาวพื้นเมืองฝั่งอันดามันต่างยินดีต้อนรับอังกฤษ เพราะเกลียดที่พม่ามาทำย่ำยีมานานแล้ว

ในรัชกาลที่ 4 ทูตอังกฤษชักชวน (เชิงบังคับ) ให้สยามตกลงตีเส้นชายแดนฟากตะวันตก

หลักการตีเส้นชายแดนสากลมีหลักง่ายๆ 3 ประการ คือ แม่น้ำสำคัญ, สันเขา และลุ่มน้ำ ระหว่างสยามกับฝั่งอันดามันนั้นอาจจะถือแม่น้ำตะนาวศรี (น้อย/ใหญ่) เป็นแดน หรืออาจจะถือสันเทือกเขาตะนาวศรี แต่อังกฤษขอถือลุ่มน้ำ ผลก็คือ ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์สยามเป็นคอคอดจริง คือจากอ่าวสยามถึงชายแดนที่บ้านหินกองมีความกว้าง 16 กิโลเมตร

ท่านจันทร์เล่าให้ฟังว่า ครั้งรัชกาลที่ 4 ท่านมีข้าราชการชาวอังกฤษนามสกุลว่า Pound ที่มีราชทินนามว่า “หลวงสยามานุเคราะห์” เป็นคนมีความรู้และเป็นที่ไว้วางใจว่าเป็นคนซื่อสัตย์ ท่านจึงเสนอให้เป็นคนหนึ่งในคณะกรรมการกำหนดชายแดน แต่อังกฤษไม่ยอม คณะกรรมการกำหนดชายแดนจึงประกอบด้วย เจ้าหน้าที่อังกฤษจากกรมรังวัดอินเดีย (Survey of India) กับข้าราชการไทยที่ไม่คุ้นกับหลักภูมิศาสตร์และการทำแผนที่สมัยใหม่ เมื่ออังกฤษชี้ว่า ชายแดนควรอยู่ตามยอดเทือกเขาระลอกสุดท้ายด้านตะวันออกฝ่ายไทยไม่เถียง ผลก็คือชายแดน (และ “ด่านสิงขร” ที่แต่เดิมอยู่ด้านตะวันตกห่างอ่าวสยามถึงราว 150 ก.ม.) กำหนดขึ้นมาใหม่ที่บ้านหินกองที่อยู่ห่างหาดมะนาว เมืองประจวบฯ เพียง 16 ก.ม.

ต่อมาในรัชกาลที่ 5 (ปี 1886) อังกฤษเข้ายึดเมืองมัณฑะเลย์และถอดกษัตริย์พม่า แล้วให้กำหนดชายแดนตั้งแต่เชียงรายลงมาถึงเมืองกาญจน์ บัดนั้นฝ่ายไทยได้จ้างเจ้าหน้าที่จากกรมรังวัดอินเดียมาตั้งกรมแผนที่อินเดีย เป็นชาวสก๊อตชื่อ James McCarthy ที่มีความซื่อสัตย์ต่อแผ่นดิน จนได้รับแต่งตั้งเป็นพระวิภาคภูวดล อย่างไรก็ตามอังกฤษยังใช้แม่น้ำใหญ่ (สาละวินและเมย) ยอดเทือกเขา และลุ่มน้ำ อย่างเอารัดเอาเปรียบเป็นที่สุด เสร็จแล้วอังกฤษรวบรวมชายฝั่งอันดามันที่ยึดมาเมื่อ ค.ศ. 1826 และเดิมเป็นสยามไว้กับแผ่นดินที่ยึดมาเมื่อ ค.ศ. 1886 แล้วอุปโลกน์ขึ้นมาเป็น “พม่า” ซึ่งก็คือพม่าที่เรารู้จักจนทุกวันนี้

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่อังกฤษม้วนเสื่อกลับบ้าน ชนกลุ่มน้อย (ไม่ว่าจะเป็นฉิ่น, กะฉิน, ชาวรัฐฉาน, กะเหรี่ยง, มอญ หรือชาวยะไข่) ล้วนแต่ดิ้นรนอยากหลุดพ้นจากรัฐพม่าที่อังกฤษอุปโลกน์ขึ้นมา และตีชายแดนโดยเห็นแก่ผลประโยชน์ของตนมากกว่าความสุจริตหรือผลประโยชน์ของคนท้องถิ่น

ในระยะหลังสงครามโลกรัฐบาลไทย/สยามต่างๆ ล้วนแต่นับถือเส้นชายแดนนี้ ซึ่งเป็นการดีอยู่แล้ว ผมไม่คิดอยากชวนไทยให้ไป “ปลดปล่อยรัฐฉาน” หรือ “ยึดมะริด-ตะนาวศรีกลับคืนมา”

ที่ผมเดือดร้อนคือเห็นบัณฑิตไทยหลายคนนับถือเส้นชายแดนเหมือนกับว่าเป็น “ม่านเหล็กวัฒนธรรม” ที่ละเมิดไม่ได้ โดยลืมว่าก่อนที่อังกฤษและฝรั่งเศสมาตีเส้นชายแดนนั้น พม่า, ไทย, ลาว, เขมร, มลายู ต่างเป็นผืนแผ่นดินวัฒนธรรมรวม

หากใครรักวิชา “ไทยคดีศึกษา” และไม่อยากให้วิชานั้นด้วน ผมว่าต้องรีบมองข้ามชายแดนเสียที โดยเฉพาะอย่างยิ่งบัณฑิตด้านทักษิณศึกษาควรเงยหน้าขึ้นมามองแดนมะริด-ตะนาวศรีซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญยิ่งของวัฒนธรรมภาคใต้และของสยามทั้งประเทศ เพราะเป็น “ประตู” ของกรุงศรีอยุธยาที่เผยไปทางตะวันตก

สุดท้าย

มีหลายๆ เรื่องที่ผมอยากเรียนรู้เกี่ยวกับแดนมะริด-ตะนาวศรี แต่เข้าไม่ถึง เช่น

1. คำว่า “มะริด” เป็นภาษาใด? หมายความว่าอะไร? (ฝรั่งว่า Mergui/Mergen มอญว่า Poik/Pik พม่าว่า เบฺยด/เบฺรด ลังกาว่า Mirigiya) มันจะเกี่ยวกับ “พริก (ไทย)” ได้ไหม? พริก (ไทย) มอญว่า Paroik/ เมฺรก, เขมรว่า เมฺรจ, ลังกาว่า มิริส

2. คำว่า “ตะนาวศรี” เป็นภาษาใด? หมายความว่าอะไร? ผมจนด้วยเกล้า

3. คำว่า “สิงขร” (พม่าว่า Theinkun) เป็นบาลี/สันสกฤต หมายถึง “ยอดเขา” จริงไหม?

4. คำว่า Jalinga (ในแผนที่ฝรั่ง) เพี้ยนมาจาก Kalinga/Tlinga จริงไหม? หรือเพี้ยนมาจากคำไทย เช่น ตลิ่ง… หรือ ตะเลง…?

ขอชวนท่านผู้อ่านช่วยกันศึกษาให้ผมตาสว่างขึ้นมาเสียที

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 สิงหาคม 2565