“ด่านสิงขร” อยู่ที่ไหนกันแน่?

"ด่านสิงขร" ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ปัจจุบันเป็นจุดผ่อนปรนพิเศษ บริเวณชายแดนไทย-พม่า (ภาพจากห้องสมุดภาพมติชน)

ใครที่อ่านประวัติศาสตร์ พระราชพงศาวดารไทยย่อมจะค้นหู-คุ้นตาคำว่า “ด่านสิงขร” หรือ “ช่องสิงขร” ซึ่งเป็นเส้นทางที่พม่ายกทัพเข้ามาตีไทย หรือไทยยกทัพไปตีพม่ามาแต่โบราณ ตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยากระทั่งสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ว่ากันอย่างผิวเผินใครๆ ก็ชี้หรือบอกได้ว่าอยู่ที่ชายแดนด้านตะวันตกของเมืองประจวบคีรีขันธ์ ห่างจากถนนเพชรเกษมไปทางทิศตะวันตกประมาณ 12 กิโลเมตร ทางแยกเข้าด่านสิงขรอยู่บริเวณบ้านหนองบัว ต.เกาะหลัก หรือถัดไปอีก 1 กิโลเมตร ที่ทางแยกบ้านหนองหิน ต.คลองวาฬ ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของสี่แยกเข้าตัวเมืองประจวบคีรีขันธ์ประมาณ 5-6 กิโลเมตร

ตรงส่วนนี้เป็นส่วนที่แคบที่สุดของแผนที่ประเทศไทยนับจากเส้นกั้นพรมแดน (สันเขาตะนาวศรี) ถึงชายทะเล จ.ประจวบฯ ประมาณ 17-18 กิโลเมตร (แคบกว่าคอคอดกระมาก เพราะคอคอดกระยังมีระยะทางถึง 64 กิโลเมตร)

ใกล้ถึงพรมแดนมีโรงเรียนประถมศึกษาชื่อ โรงเรียนบ้านด่านสิงขร ตรงบริเวณด่านมี ด่าน ตม. (ตรวจคนเข้าเมือง) ชื่อเดียวกัน แต่หมู่บ้านจริงๆ กลับชื่อบ้านไร่เคราเป็นหมู่ที่ 6 ต.คลองวาฬ

ด่านสิงขรยังมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าช่องสิงขร หรืออีกชื่อหนึ่งว่าช่องสันพร้าว พม่าเรียกว่ามูด่อง มีศาลชื่อศาลเจ้าพ่อหินกอง อยู่ตรงเส้นกั้นพรมแดน เป็นศาลคู่ ศาลไทยหันหน้ามาทางทิศตะวันออก ศาลพม่าหันหน้าไปทางทิศตะวันตก หันหลังชนกัน คนทั่วไปที่มีประสบการณ์จากการอ่านอย่างเดียวรู้จักด่านสิงขรกันเท่านี้

ศาลเจ้าพ่อหินกองช่องสิงขร หลังขวา (ตะวันออก) เป็นศาลไทย หลังซ้าย (ตะวันตก) เป็นศาลพม่า พื้นที่ตรงกลางระหว่างศาลคือเส้นกั้นพรมแดน (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, มิถุนายน 2545)

แต่ถ้าไปถามคนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์แถวชายแดน หรือพวกพ่อค้าที่เดินทางเข้า-ออกไปค้าขายติดต่อกับคนไทยและคนพม่าในเมืองตะนาวศรีและเมืองมะริด (ซึ่งเป็นของไทยมาแต่ก่อน) แล้ว เขาจะตอบว่าไม่ใช่ สิงขรอยู่ไกลเข้าไปอีก เดินทางเท้าถึงสองวัน ระยะทางกว่า 80 กิโลเมตร

ผมเคยไปถามอย่างนี้มาแล้วและได้รับคำตอบอย่างนี้ แถมชี้ให้คนไทย 2-3 คนที่อยู่แถวด่านสิงขรว่า “คุณลองถามดูซี นั้นเป็นคนสิงขรทั้งนั้น”

คนที่นั่นเรียกคนไทยที่อพยพหนีภัยมาจาก ต.สิงขร เมืองตะนาวศรี ประเทศพม่าว่า คนสิงขร หรือไทยสิงขร คนเหล่านี้เชื้อชาติไทย สัญชาติพม่า เพราะเป็นคนไทยติดแผ่นดินอยู่ในประเทศพม่า ครั้งมีการปักปันเขตแดนกันใหม่เมื่อ พ.ศ. 2411 จึงต้องกลายเป็นพลเมืองของพม่าไป แต่ยังคงไปมาหาสู่เดินทางมาเยี่ยมญาติในเมืองประจวบฯ หรือไปมาค้าขายกับไทยอยู่เสมอ เมื่อมีภัยก็อพยพเข้ามาอยู่เมืองไทย ทางการจัดให้อยู่ที่ด่านสิงขร เป็นศูนย์ไทย (สัญชาติพม่า) อพยพมีประมาณ 200 คนเศษ ได้คุยกันแล้วทุกคนก็ยืนยันว่า ต.สิงขรบ้านของตนอยู่ลึกเข้าไปในพม่าอีก เดินทางเท้าถึง 2 วัน

นี่เป็นหลักฐานพยานบุคคล แต่ในทางเอกสารที่เป็นพยานหลักฐานก็มีอยู่มาก เช่น

1. ประวัติชาติไทยของพระบริหารเทพธานี เล่ม 2 (พระนคร : ประจักษ์วิทยา, 2512 หน้า 318) กล่าวถึงเหตุการณ์ที่พม่ายกทัพมาตีไทยในปี พ.ศ. 2302 (สมัยพระเจ้าเอกทัศน์) ว่า

“…กองทัพของพระราชรองเมืองได้ว่าที่พระยายมราชแม่ทัพ ได้เข้าไปถึงแก่งตูม ยังไม่ถึงด่านสิงขร…”

2. ไทยรบพม่า พระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (พระนคร : รุ่งวัฒนา, 2514 หน้า 320) ว่า

“…กองทัพพระยายมราชยกไป ไม่ทันจะรักษาเมืองตะนาวศรี-เมืองมะริด พอข้ามแนวเขาบรรทัดออกไปถึงด่านสิงขร ก็ได้ความว่าเมืองตะนาวศรี-เมืองมะริดเสียแก่พม่าแล้วจึงตั้งอยู่ที่แก่งตุ่มปลายน้ำตะนาวศรี หวังจะรอกองทัพหนุนหรือจะบอกขอกำลังอย่างใดหาปรากฏไม่ ฝ่ายพม่าเตรียมจะยกกองทัพเข้ามาในหัวเมืองไทยอยู่แล้ว ครั้นรู้ว่ากองทัพไทยไปตั้งอยู่ที่ปลายน้ำ มังระจึงให้มังฆ้องนรธายกมาตีกองทัพพระยายมราช กองทัพพระยายมราชไม่มีที่มั่นก็แตกพ่าย…”

3. พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2 (พระนคร : คลังวิทยา, 2516 หน้า 255) ว่า

“…ทัพพระยายมราชไปตั้งค่ายรับอยู่ที่ ต.แก่งตุ่ม ทัพพระยารัตนาธิเบศไปตั้งค่ายมั่นอยู่ ณ เมืองกุยบุรี… (ที่เหลือข้อความทํานองเดียวกัน)…”

4. เอกสารอื่นๆ เช่น พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ, ประชุมพงศาวดารฉบับที่ 82, พระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฯลฯ กล่าวข้อความทำนองเดียวกันทั้งสิ้น

สรุปสาระได้เป็น 2 กระแส ดังนี้

กระแสที่ 1 ด่านสิงขรไม่ได้อยู่ที่นี่ กระแสความเห็นนี้ เป็นของพระบริหารเทพธานี นักประวัติศาสตร์ ผู้เคยเป็นเจ้าเมืองประจวบฯ สรุปสาระสำคัญตามนัยในข้อ 1 ว่า บริเวณที่เรียกว่า แก่งตูม (ที่ทัพไทยแตก) ยังไม่ถึงด่านสิงขร

กระแสที่ 2 ด่านสิงขรอยู่ที่นี่ ข้อความในเอกสารที่เหลือ (ข้อ 2-4) ระบุว่า ตรงด่านสิงขรปัจจุบันนี้คือด่านสิงขรในประวัติศาสตร์ และระบุชื่อสถานที่ที่ทัพไทยแตกว่าแก่งตุ่ม (ในขณะที่พระบริหารเทพธานีระบุว่าแก่งตูม) และว่าอยู่ปลายน้ำตะนาวศรี

แผนที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในวงกลมสีแดง คือบ้านสิงขร

สองกระแสนี้ขัดกันอย่างขาวกับดำ

มีข้อเท็จจริงที่น่าพิจารณาอยู่ 2-3 ข้อ คือ

1. ไทยกับพม่าปักปันเขตแดนกันใหม่ในสมัยปลาย ร. 4 (พ.ศ. 2411) อังกฤษขอใช้เทือกเขาตะนาวศรีเป็นพรมแดน เดิมพรมแดนเมืองประจวบฯ (เมืองคลองวาฬ, เมืองเกาะหลัก) กับเมืองตะนาวศรี ลึกเข้าไปทางทิศตะวันตกอีกร่วม 70 กิโลเมตร (ยังมีช่องเขาแดนเดิมชื่อเขาแดนน้อย และเคยมีหลักเขตประเทศอยู่ด้วย)

2. เมืองสิงขร (ปัจจุบันคือ ต.สิงขร ขึ้นกับเมืองตะนาวศรี) ยังมีอยู่จริง เป็นชุมชนไทยในพม่าที่ใหญ่ที่สุด ในบรรดาชุมชนไทยติดแผ่นดินทั้ง 5 ตำบล

3. แม่น้ำตะนาวศรีไหลจากเหนือมาใต้ (ขนานกับพรมแดนไทย) ถึงเมืองตะนาวศรี (ซึ่งอยู่ตรงสามแยกที่แม่น้ำตะนาวศรีกับแม่น้ำตะนาวศรีน้อยไหลมาบรรจบกัน) แล้วไหลย้อนขึ้นไปทางทิศพายัพไปออกทะเลอันดามันที่เมืองมะริด (ซึ่งเป็นข้อที่น่าสังเกตในเรื่องที่ประวัติศาสตร์ไทยบันทึกข้อมูลไว้ว่าปลายน้ำตะนาวศรี) ส่วนแม่น้ำตะนาวศรีน้อยไหลไปจากเทือกเขาตะนาวศรี (ในเขตแดนไทยสมัยนั้น) จากตะวันออกไปทางตะวันตก ถึงเมืองสิงขรแล้ววกขึ้นเหนือไปบรรจบกับแม่น้ำตะนาวศรี (ใหญ่) ที่เมืองตะนาวศรี (ดูแผนที่ประกอบ)

เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตรงบริเวณด่านสิงขร (ปัจจุบัน) ทางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้จัดทำบอกประวัติ (ก่อด้วยอิฐถือปูนอย่างถาวร) เป็นข้อความระบุว่าที่ตรงนี้มิใช่ด่านสิงขรดั้งเดิม และกล่าวถึงข้อผิดพลาดในการปักปันเขตแดนไว้ด้วย

แน่นอนที่ว่าข้อความนี้กระทบกระเทือนถึงคนบางคนผู้สืบตระกูลจากผู้รับผิดชอบในการปักปันเขตแดนครั้งนั้น (ซึ่งมีทั้งบุคคลระดับชาติและระดับจังหวัด) ปัจจุบันป้ายจารึกนี้ถูกทุบทำลาย และผู้ว่าราชการจังหวัดรุ่นหลังๆ เมื่อต้องกล่าวถึงด่านสิงขรก็งดเว้นที่จะกล่าวถึงประเด็นนี้ ป้ายนี้ผมได้เห็นครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.ศ. 2532 ต่อมาผมไปอีกเมื่อ พ.ศ. 2542 ก็เห็นว่าหายไปแล้ว (ทราบว่าถูกเก็บมาหลายปีแล้ว) แต่โชคดีที่ผมได้ถ่าย (ดูภาพและอ่านข้อความจะทราบประวัติด่านสิงขรอย่างดี)

สรุปความเห็นเป็นการบ้านสำหรับนักประวัติศาสตร์ 3 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่ 1 ด่านสิงขรปัจจุบันนี้เป็นการอุปโลกน์ขึ้นมามอมเมาหรือไม่ บางท่านแก้ว่าด่านสิงขรหรือช่องสิงขรคือช่องทางไปสู่เมืองสิงขร ข้อนี้ผมไม่เห็นด้วย เพราะดูชื่อด่านต่างๆ เช่น ด่านเจดีย์สามองค์ ด่านบ้องตี้ ด่านทับตะโก ด่านท่ากระดาน ด่านแม่ละเมา ฯลฯ ก็ระบุชัดว่าที่ตรงนั้นนั่นเองเป็นด่านหรือเมืองด่าน ไม่มีธรรมเนียมที่เรียกชื่อสถานที่ให้ชี้เส้นทางไปสู่เมืองด่านซึ่งอยู่ที่อื่น อย่างที่อ้างว่าด่านสิงขรคือช่องทางไปสู่เมืองสิงขร (ซึ่งไม่เข้าพวกอยู่แห่งเดียว)

ประเด็นที่ 2 แก่งตูม แก่งตูมของพระบริหารเทพธานี และแก่งตุ่มของเอกสารอื่น ข้อนี้น่าจะชำระประวัติศาสตร์กัน (อย่างน้อยก็ทำเชิงอรรถหรือหมายเหตุ) เพราะในแถบกุยบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ไม่มีสถานที่ชื่อแก่งตูม หรือแก่งตุ่ม มีแต่แก่งตูมซึ่งอยู่ห่างจากด่านสิงขรปัจจุบันเข้าไปในเขตพม่า (เขตไทยสมัยก่อน) ประมาณ 20 กิโลเมตร เป็นส่วนของแม่น้ำตะนาวศรีน้อย (ตั้งชื่อตามเสียงน้ำกระทบหินในแก่ง) ดังนั้นพระบริหารเทพธานีจึงเขียนว่า ถึงแก่งตูมแต่ยังไม่ถึงด่านสิงขร แต่ถ้าเป็นฉบับอื่น (ถือด่านสิงขรปัจจุบันเป็นหลัก) จะต้องเขียนว่า ถึงด่านสิงขร แล้วแต่ยังไม่ถึงแก่งตุ่ม (อ่านในไทยรบพม่า)

ประเด็นที่ 3 ปลายน้ำตะนาวศรี คำว่าปลายน้ำตะนาวศรีน่าจะพลาดไป เพราะถ้าเป็นปลายน้ำตะนาวศรี (ใหญ่) พม่ายึดเมืองตะนาวศรี-มะริดอยู่ไทยจะเข้าไปได้อย่างไร แต่ถ้าเป็นแม่น้ำตะนาวศรีน้อย (ดูแผนที่ประกอบ) ก็ต้องเป็นต้นน้ำตะนาวศรีไม่ใช่ปลายน้ำ ข้อนี้ประวัติศาสตร์ขัดแย้งกับภูมิศาสตร์ (กลับต้นน้ำเป็นปลายน้ำ) น่าจะพิจารณาชำระ

สรุปว่า ผมเห็นด้วยกับพระบริหารเทพธานีและชาวเมืองประจวบฯ ทั่วไปว่า ด่านสิงขรคือเมืองสิงขร (ในพม่า) หรือ ต.สิงขร (ในพม่า) ไม่ใช่ด่านสิงขรในปัจจุบันที่โมเมร่นเข้ามา เมื่อปักปันเขตแดนใหม่แล้ว

ที่เห็นอย่างนี้มิได้เห็นด้วยอย่างไร้ข้อมูล เพราะผมรับคำเชิญจากคนไทยใน ต.สิงขร (ในพม่าปัจจุบัน) เข้าไปเยี่ยมชมมาแล้ว ได้เห็นสถานที่ในประวัติศาสตร์ เช่น แก่งตูม ทัพพระยา เมืองสิงขรเก่า (ยังมีกำแพงเมืองเหลืออยู่) ฯลฯ และได้สัมผัสคนไทย 5 ตำบล ในเมืองตะนาวศรี ซึ่งยังเกาะกลุ่มกันอยู่อย่างเหนียวแน่นจำนวนหลายหมื่นคน เป็นคนไทยที่ยังใช้ภาษาไทยสื่อสารกันในชีวิตประจำวัน และยังยึดวัฒนธรรมไทยไว้อย่างมั่นคง ซ้ำยังมีเยื่อใยผูกพันกับคนไทยในแผ่นดินแม่ไม่ขาดสาย

ประวัติศาสตร์ไทยยังมีข้อมูลที่รอการชำระสะสางอีกมาก สัจจะไม่ควรถูกปิดบังด้วยความเกรงใจ อิทธิพล และความไม่ใส่ใจของผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ ผมเสนอหลักฐานเป็นการจุดชนวนเพื่อรื้อฟื้นขึ้นแล้ว เชิญผู้รู้ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและสานต่อเพื่อความสมบูรณ์ของประวัติศาสตร์ไทยต่อไป

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 สิงหาคม 2565