“คาลิกูลา” จักรพรรดิโรมันผู้ถูกกล่าวหาว่า “วิกลจริต” บ้าจริงหรือเกมการเมือง!?

จักรพรรดิคาลิกูลา จักรวรรดิโรมัน

จักรพรรดิคาลิกูลา (Caligula) หรือนามเต็ม ไกอุส ยูลิอุส ซีซาร์ ออกุสตุส เยอร์มานิคุส (Gaius Julius Caesar Augustus Germanicus) จักรพรรดิลำดับที่ 3 แห่งจักรวรรดิโรมัน ครองราชย์ช่วงสั้น ๆ ระหว่าง ค.ศ. 37-41 โดยสืบราชบัลลังก์ต่อจาก จักรพรรดิทิเบริอุส (Tiberius)

เรื่องราวเกี่ยวกับ จักรพรรดิคาลิกูลา มักเต็มไปด้วยความหรูหรา ใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย จิตใจโหดร้าย และความวิปริตทางเพศ ทำให้ชื่อของจักรพรรดิโรมันองค์นี้เป็นที่รู้จักในฐานะเผด็จการผู้บ้าคลั่ง

คาลิกูลาเป็นบุตรชาย เยอร์มานิคุส (Germanicus) แม่ทัพโรมันผู้ยิ่งใหญ่และญาติผู้น้องของจักรพรรดิทิเบริอุส จึงมีศักดิ์เป็นหลานของจักรพรรดิพระองค์ก่อน แต่การเสียชีวิตของบุตรชายคนเดียวของจักรพรรดิทิเบลิอุส และเยอร์มานิคุสผู้เป็นบิดาของคาลิกูลา ทำให้ตำแหน่งจักรพรรดิตกทอดมายังพระองค์

การเสื่อมความนิยมของประชาชนต่อจักรพรรดิทิเบริอุสผู้ชราภาพ (เสียชีวิตด้วยวัย 77 ปี) และการเป็นบุตรของเยอร์มานิคุสผู้โด่งดัง ทำให้จักรพรรดิคาลิกูลาในวัย 24 ปี เริ่มต้นสมัยแห่งการปกครองด้วยความนิยมจากผู้คนอยู่ไม่น้อย มีการจัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่เหมือนปลุกกรุงโรมให้ตื่นอีกครั้งหลังสิ้นยุคจักรพรรดิชรา

จักรพรรดิคาลิกูลา ยังสร้างความนิยมด้วยการออกนโยบายปฏิรูปสังคม ให้คนจนไร้บ้านได้มีที่พักและอาหารยังชีพ ละเว้นภาษีแก่ผู้ที่เดือดร้อนจากไฟไหม้และน้ำท่วม แจกจ่ายทรัพย์สินที่เปรียบเหมือนโบนัสก้อนโตแก่ทหารทั้งในกรุงโรมและกองทัพทั่วอิตาลี ลดภาษีทั่วจักรวรรดิ รวมถึงมัวเมาประชาชนด้วยกีฬานักสู้หรือ กลาดิเอเตอร์ (Gladiator)

แต่สวัสดิการและกิจกรรมเหล่านั้นแลกด้วยค่าใช้จ่ายมหาศาล ทำให้วุฒิสมาชิก สภาซีเนต (Senate) แห่งกรุงโรม เริ่มมองว่าจักรพรรดิหนุ่มกำลังดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด

มีบันทึกว่า เดือนตุลาคม ค.ศ. 37 จักรพรรดิคาลิกูลาป่วยหนักด้วยโรคประหลาดแต่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว จากนั้นพระองค์เริ่มสั่งประหารและเนรเทศผู้ใกล้ชิดหรือใครก็ตามที่เห็นว่าเป็นภัยคุกคาม ในบรรดาผู้ได้รับผลกระทบคือชนชั้นสูงและเครือญาติใกล้ชิดของพระองค์ คลอดิอุส (Claudius) ลุงของจักรพรรดิคาลิกูลาเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่รอดชีวิต ด้วยเหตุผลที่จักรพรรดิต้องการให้เขาเป็นตัวตลกประจำวังหลวง

ระหว่าง ค.ศ. 38-39 เกิดวิกฤตทางการเงินขึ้นในราชสำนัก หลังการใช้จ่ายทรัพย์สินเพื่อการเฉลิมฉลอง ช่วยเหลือผู้คน และโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ต่าง ๆ ทั่วจักรวรรดิ จักรพรรดิคาลิกูลาจึงดำเนินนโยบายเพื่อนำรายได้สู่ท้องพระคลัง เกิดคดีความเพื่อเรียกทรัพย์สินจากผู้คนอย่างไม่เลือกหน้า มีการกล่าวหา ปรับ ไปจนถึงสังหารเพื่อยึดทรัพย์ เกิดกระบวนการตรวจสอบทรัพย์สินของวุฒิสมาชิกสภาซีเนต รวมถึงเหล่าองครักษ์เปโตเรียน (Praetorian Guard) ซึ่งเป็นไปอย่างไม่เป็นธรรมนัก เพราะมีจุดประสงค์เพื่อเรียกคืนสมบัติจำนวนมากจากเหล่าวุฒิสมาชิกและราชองครักษ์ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มั่งคั่งอันดับต้น ๆ ในจักรวรรดิ

การจัดการปัญหาที่เด็ดขาดและค่อนข้างเหี้ยมโหด ทำให้จักรพรรดิคาลิกูลาบาดหมางกับผู้คนในราชสำนัก และผู้ที่อยู่รายล้อมพระองค์อย่างรุนแรง

สมาชิกวุฒิสภาหลายคนได้รับผลกระทบจากนโยบายยึดทรัพย์ ความร้าวฉานยิ่งทวีคูณเมื่อวิกฤตการเงินขยายตัวไปสู่วิกฤตทางอาหารช่วงสั้น ๆ แต่ส่งผลกระทบในวงกว้าง เป็นชนวนเหตุแห่งความไม่พอใจที่ลุกลามไปสู่ประชาชนชาวโรมันในที่สุด

ความกังวลต่อสถานภาพของจักรพรรดิคาลิกูลา อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีการประกาศให้ประชาชนสักการะพระองค์เหมือนเป็นเทพเจ้า มีรับสั่งให้ทำลายรูปปั้นเทพกรีก-โรมันในกรุงโรม แล้วแทนที่ด้วยรูปปั้นของพระองค์ ซึ่งเป็นรูปแบบการปกครองแบบเทวราชา แบบที่จักรพรรดิพระองค์ก่อน ๆ ไม่เคยกระทำมาก่อน

การเปลี่ยนแปลงที่กะทันหันนี้ล้มเหลว และสร้างความไม่พอใจแก่ผู้คนทั้งชนชั้นสูงและชนชั้นล่างในกรุงโรม กระแสเกี่ยวกับความวิกลจริตของจักรพรรดิแพร่กระจายไปทั่ว อีกเรื่องราวที่โด่งดังคือการแต่งตั้งม้าทรงตัวโปรดนามว่า อินซิทาตุส (Incitatus) ให้ดำรงตำแหน่งกงสุลแห่งโรมัน นักประวัติศาสตร์มองว่าเพราะความไม่ลงรอยกับสภาซีเนต การมอบยศนี้จึงเพื่อจะสื่อว่าสัตว์ยังมีประโยชน์มากกว่าพวกเขาเสียอีก

สำหรับเรื่องราวความวิปริตทางเพศของจักรพรรดิคาลิกูลา ถูกกล่าวถึงจากการที่พระองค์หลงรักพี่-น้องสาวของตนเอง เสพติดการสังวาสและโปรดการร่วมเพศหมู่ พระราชวังในกรุงโรมเต็มไปด้วยนางบำเรอ แต่ข้อมูลเหล่านี้ล้วนมาจากบันทึกของผู้ที่กล่าวหาเรื่องการวิกลจริตของพระองค์ทั้งสิ้น

นักประวัติศาสตร์ตะวันตกหลายคนสันนิษฐานว่าความโหดเหี้ยมและจิตใจที่ผิดปกติของจักรพรรดิคาลิกูลา อาจเป็นผลค้างเคียงจาก โรคลมชัก หรือ ลมบ้าหมู (Epilepsy) ที่เป็นมาแต่กำเนิด ก่อนกำเริบหนักขึ้นเพราะการใช้ชีวิตอย่างตามใจ ทั้งสถานะที่อยู่บนจุดสูงสุดแห่งอำนาจตั้งแต่อายุยังน้อยและผ่านการป่วยหนัก ยิ่งตอกย้ำความกลัวการสูญเสียอำนาจและอยากเอาชนะความตาย นำไปสู่การทำลายผู้ที่คิดว่าเป็นภัย

นักวิชาการยังตั้งข้อสังเกตว่าการรักษาอาการป่วยที่ผิดพลาดก็อาจมีส่วนทำให้สติวิปลาส แต่ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด ค.ศ. 41 เหล่าสมาชิกสภาซีเนตและราชองค์รักษ์เปโตเรียนได้ร่วมมือกันสังหารพระองค์พร้อมพระชายาและบุตรสาว ระหว่างการทำพิธีบวงสรวงอดีตจักรพรรดิออกุสตุส (Augustus) ปฐมจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมัน

ภาพวาด จักรพรรดิคาลิกูลา ถูกสังหาร
ภาพประกอบ – การสังหารจักรพรรดิคาลิกูลาโดยหน่วยราชองครักษ์ วาดโดย Lazzaro Baldi (ภาพจาก Wikimedia Commons)

เหตุการณ์ครั้งนั้น สภาซีเนตและเหล่าผู้สมรู้ร่วมคิดพยายามเปลี่ยนการปกครองของจักรวรรดิมาเป็นแบบสาธารณรัฐดังเดิม แต่ต้องล้มเหลว เพราะคลอดิอุสสามารถหลบหนีไปซ่อนตัวได้ทัน ประกอบกับการหักเหลี่ยมกันเองภายในกลุ่มระหว่างวุฒิสมาชิกสภาซีเนตกับราชองครักษ์เปโตเรียน ที่กังวลเกี่ยวกับสวัสดิภาพของตนหากกลับไปเป็นระบอบสาธารณรัฐอีกครั้ง เหล่าราชองครักษ์เปโตเรียนจึงอัญเชิญคลอดิอุสขึ้นเป็นจักรพรรดิองค์ใหม่แทน

นักประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งยังตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือของหลักฐานต่าง ๆ ที่กล่าวหา “จักรพรรดิคาลิกูลา” ว่าเป็นผู้วิกลจริต ข้อมูลเหล่านี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของเกมการเมืองภายในจักรวรรดิโรมันเอง โดยเฉพาะความบาดหมางและขัดแย้งระหว่างจักรพรรดิกับสภาซีเนต รวมถึงความสัมพันธ์ที่ไม่สู้ดีกับเหล่าราชองครักษ์

สิ่งที่ประจักษ์ชัดที่สุดในยุคสมัยของพระองค์ น่าจะเป็นความพยายามในการรวบอำนาจสูงสุดอย่างไร้ขีดจำกัดของจักรพรรดิแห่งโรมัน หรือการบรรลุระบอบการปกครองแบบเทวราชา ซึ่งการกระทำดังกล่าวคือการคุกคามการมีอยู่ของวุฒิสภาสภาซีเนตแห่งโรมอย่างชัดเจน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ภาสพันธ์ ปานสีดา. (2557). เล่าขานตำนานโรมัน. กรุงเทพฯ : At Homes Digital.

สุริยา รัตนกุล, คุณหญิง. (2557). อารยธรรมตะวันตก : อารยธรรมโรมัน. นครปฐม : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหิดล


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 สิงหาคม 2565