ทำไม “ยุง” คือหนึ่งในศัตรูสำคัญที่ทำให้อาณาจักรโรมันล่มสลาย ?

โรมัน ล่มสลาย ยุง แห่ศพ ภาพสลัก สุสาน
ภาพแกะสลัก การแห่ศพที่กำลังจะนำไปฝังในสุสาน ซึ่งปัจจุบันดีเอ็นเอจากโครงกกระดูกของศพสามารถสืบค้นสาเหตุการเสีนชีวิตได้ (ภาพจาก เรื่องจริงนอกบันทึกประวัติศาสตร์)

การเสื่อมโทรมจนถึงกับล่มสลายของ “อาณาจักรโรมัน” ในตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 5 ที่นักวิชาการเขียนถึงสาเหตุไว้มากมายนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็น การรุกรานของพวกอนารยชนเชื้อสายเอเชีย และเยอรมัน (ชาวฮั่น, กอธ, วิสิกอธ, ออสโตรกอธ, แซ็กซัน ฯลฯ) ความแตกแยกทางศาสนา ทำให้โรมันตะวันออก ซึ่งนับถือนิกายกรีกออร์โธด็อกซ์ กับโรมันตะวันตก ซึ่งนับถือนิกายโรมันคาธอลิก กลายเป็นศัตรูกัน ฯลฯ แต่นั่นยังไม่น่ากลัวเท่าศัตรูตัวเล็ก ที่เป็นเสมือนกองทัพที่มองไม่เห็น นั่นคือ ยุง

ผู้บุกรุกที่ต่างออกไป ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการทำลายอาณาจักรนี้ คือ ยุง พันธุ์อะโนเฟเลส (anopheles) ยุงพันธุ์นี้สร้างผลกระทบต่อชาวโรมัน จนกระทั่งในที่สุด เมื่อเหล่าอนารยชนเยอรมันบุกโจมตี ก็อาจพบแต่ศัตรูที่ไม่สามารถสู้รบได้อีกต่อไป

ชาวโรมันย่อมรู้จักโรคมาลาเรียอย่างแน่นอน แต่ไม่รู้วิธีปราบอย่างได้ผล นักเขียนผู้หนึ่งถึงกับระบุสาเหตุของโรคเอาไว้ ลูซิอัส จูนิอัส โคล เมลลา (Lucius Junius Columella) ทหารผู้เป็นเกษตรกรเขียนบรรยายไว้เมื่อ 40 ปีก่อนคริสต์ศักราชว่า

อีกทั้งไม่ควรมีพื้นที่เฉอะแฉะอยู่ใกล้โรงเรือน หรือใกล้เส้นทางสัญจรของทหาร เพราะแหล่งน้ำขังส่งกลิ่นเหม็น เป็นพิษยามอากาศร้อน และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เหล่าแมลงที่กัดแล้ว คันคะเยอน่ารำคาญ…ซึ่งมักทำให้ติดเชื้อโรคลึกลับ ที่แม้กระทั่งแพทย์ก็ยังไม่เข้าใจสาเหตุ

แต่คนทั่วไปก็ยังไม่รู้ว่า ยุงเป็นสาเหตุทำให้ติดเชื้อมาลาเรีย ระหว่างเดินทางไปยังโรมใน ปี ค.ศ. 467 ซิโดนิอัส อะพอลลินาริส (Sidonius Apollinaris) นักเขียนจดหมายชนชั้นขุนนาง บรรยายสภาพที่ตนล้มป่วยด้วยเชื้อโรค ซึ่งโจมตียามเมื่อ “สายลมอะตาบูลัส (Atabulus) จากคาลาเบรีย (Calabria) หรือไม่ก็แถบอีทรูเรีย (Etruria) ที่มีโรคระบาดพัดต้องกายข้า”

ชาวโรมันย่อมรู้ดีว่า ดินแดนบางส่วนของบ้านเมืองเป็นอันตรายมากกว่าที่อื่น ๆ ระหว่างเดือนที่อากาศอุ่น และชื้น คนมั่งมีมักโยกย้ายไปยังบ้านพักบนเขาในชนบท แต่ความเข้าใจผิดที่ว่า ตัวโรคระบาดนี้ แพร่กระจายทางอากาศ ก็ฝังแน่นต่อไปถึงศตวรรษที่ 18 อันที่จริงมาลาเรียแปลว่า “อากาศเลว” นั่นเอง

ในความเป็นจริง ถึงชาวโรมันจะรู้เรื่องมาลาเรีย ก็ไม่มีใครตั้งข้อสังเกตเลยว่า มีการเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น ในช่วงสองศตวรรษสุดท้ายของสาธารณรัฐนี้ นักประพันธ์ และแพทย์ชาวโรมันยุคนั้น เล่าถึงเรื่องการพยาบาลผู้ใหญ่ส่วนมากที่ป่วยด้วยมาลาเรียให้หายจากไข้สูงได้ เฉพาะผู้ป่วยที่ร่างกายทรุดโทรมอ่อนแอเท่านั้นที่ไม่รอดชีวิต แต่การติดเชื้อนี้ ทำให้ผู้ป่วยบางคนอย่าง จูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) ต้านทานโรคได้ต่อไป พลเมืองถึงกับเกิดภูมิต้านทานบางอย่าง ที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งยังมีอยู่ในตัวชาวอิตาเลียน จนทุกวันนี้

แต่ใน ค.ศ. 1907 ดับบลิว.เอช.เอส. โจนส์ (W.H.S. Jones) ศาสตราจารย์ชาวอังกฤษ เสนอความเห็นที่คาดไม่ถึงว่า มาลาเรีย เป็นสาเหตุที่ทำให้อาณาจักรโรมันเสื่อมถอย คำยืนยันของเขามาจากบันทึกทางทหาร ซึ่งแสดงว่า ชาวอิตาเลียนในพื้นที่ต่ำกว่า และร้อนกว่า ไม่ได้ส่งทหารหนุ่มเข้ารับใช้กองทัพโรมอีกต่อไป ทหารใหม่ถูกเกณฑ์จากพื้นที่แถบภูเขาเป็นหลัก

ศาสตราจารย์โจนส์ คาดว่า จำนวนผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคมาลาเรีย เพิ่มขึ้นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 2 เรื่อยมา จนกระทั่งทำให้พลเมืองร่อยหรอ และอ่อนแอ จนไม่เหลือคนแข็งแรงไว้สู้รบ เขาเสนอความเห็นว่า โรคนี้ แพร่ระบาดถึงอิตาลี โดยมาจากเหล่าทหารของ ฮันนิบาล (Hannibal) ซึ่งเป็นแม่ทัพแห่งคาร์เธจ ในช่วงสงครามพิวนิก (Punic War) ครั้งที่ 2 อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่า โรคมาลาเรียอาจถึงขั้นระบาด แต่ไม่ถึงขนาดทำลายชีวิตผู้คนมากมายแบบโรคระบาดจากเชื้อไวรัส

ในที่สุด บัดนี้หลักฐานใหม่ก็ชวนให้เชื่อแล้วว่า ศาสตราจารย์โจนส์ อาจคิดถูก

มาลาเรียสายพันธุ์ที่ชาวโรมันไม่มีภูมิต้านทานรุกกะทันหันไปถึงยุโรป และคงมีผลทำให้อาณาจักรอ่อนแอลง ตามที่เขาได้อธิบาย เชื้อโรคพลาสโมเดียม ฟัลซิปารัม (Plasmodium falciparum) ที่ยังครองความร้ายแรงที่สุดของโลก และทำให้มีผู้เสียชีวิตปีละประมาณ 3 ล้านราย อาจเป็นตัวการก็ได้ ตามปกติเชื้อโรคชนิดนี้ สัมพันธ์กับภูมิอากาศแบบเขตร้อน และแพร่ระบาดมากที่สุดในแอฟริกา

ดร. ซาราห์ ทิชคอฟฟ์ (Dr. Sarah Tishkoff) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ ในอเมริกา ได้พบหลักฐานทางพันธุกรรมว่า พลาสโมเดียม ฟัลชิปารัม เพิ่งระบาดจากแอฟริกามายังยุโรปเมื่อไม่นานนัก ดร.ทิชคอฟฟ์ คาดว่า การระบาดน่าจะอยู่ในช่วงก่อน ค.ศ. 400 แต่คงไม่ย้อนไปถึงเมื่อ 4,400 ปีก่อนคริสต์ศักราช

ข้อสันนิษฐานของเธอ ก็คือ การค้าซึ่งเพิ่มมากขึ้นระหว่างโรมกับแอฟริกาเหนือ คงทำให้มียุงติดมากับเรือสินค้าที่ข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

นอกจากนี้ ยังพบหลักฐานทางโบราณคดีจากการเปิดสุสานโรมันยุคปลายแห่งหนึ่ง ที่หมู่บ้านชนบทชื่อ ลูญาโน (Lugano) ซึ่งห่างจากกรุงโรมไปทางเหนือ 70 ไมล์ ทำให้พบว่า ที่นั่นเคยเกิดมาลาเรียแพร่ระบาดอย่างหนักเมื่อ ค.ศ. 450 ในที่ฝังศพข้างหมู่บ้าน พบโครงกระดูกทารก 47 ราย ส่วนใหญ่แท้งก่อนครบกำหนดคลอด หรือเป็นเด็กแรกเกิด นักโบราณคดีลงความเห็นว่า ศพทารกเหล่านี้ถูกฝังห่างจากกันไม่กี่วัน หรือไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น บ่งบอกว่ามีโรคระบาดรุนแรงคร่าชีวิตคนจำนวนมาก

หมู่บ้านชนบทแห่งนี้ ตั้งอยู่ใกล้หนองบึงแถบแม่น้ำไทเบอร์ (Tiber) ซึ่งถือเป็นเขตมาลาเรียอยู่แล้ว เมล็ดดอกสายน้ำผึ้ง (honeysuckle) ที่พบในหลุมศพบอกให้นักโบราณคดีทราบว่า หลุมอาจถูกขุดในฤดูร้อน ซึ่งเป็นฤดูเดียวที่มาลาเรียระบาด

การวิเคราะห์โครงกระดูกพบว่า ดีเอ็นเอของร่างหนึ่งมีเชื้อโรคพลาสโมเดียม พัลซิปารัมอยู่ อีกทั้งศพทารกจำนวนมากที่เสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์ก็บ่งชี้ว่า มีสาเหตุจาก พลาสโมเดียม พัลซิปารัม เนื่องจากการแท้งบุตรเป็นอาการหนึ่งของหญิงมีครรภ์ที่ได้รับเชื้อมาลาเรียสายพันธุ์นี้ เมื่ออาศัยกรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์ของศตวรรษที่ 21 จึงพิสูจน์ได้ว่า สังหรณ์ของนักวิชาการสมัยกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดอาจถูกต้อง

มาลาเรียสายพันธุ์ใหม่นี้ คงทำให้ชุมชนชนบทซึ่งคนส่วนใหญ่คุ้นกับมาลาเรียคาดไม่ถึง แทนที่จะหายจากอาการไข้จับสั่นตามคาด ผู้ใหญ่ที่ป่วยอาจเสียชีวิตภายในไม่กี่ชั่วโมง นับแต่เริ่มมีอาการ ส่วนในรายอื่น ๆ ร่างกายก็คงอ่อนแอจนติดเชื้อโรคต่าง ๆ อย่างไข้หวัดใหญ่ หรือวัณโรคได้ง่าย ผู้ป่วยอาจมีอาการเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร ซึ่งคล้ายกับไข้รากสาด (typhoid) มากก็ได้ สาเหตุการตายซึ่งคงไม่เป็นที่ประจักษ์อาจอธิบายได้ว่า เหตุใดเอกสารยุคนั้นจึงมิได้กล่าวถึงโรคชนิดใหม่ให้ชัดเจน

โครงกระดูกในสุสานลูญาโนสนับสนุนหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่บ่งว่า เชื้อพลาสโมเดียม ฟัลซิปารัม ระบาดถึงอิตาลีในช่วงที่อาณาจักรเสื่อมโทรม และถ้าหากยุงที่เป็นพาหะรุกเข้าไปได้ไกลถึงโรม พื้นที่อื่น ๆ ถัดลงไปทางใต้ก็คงต้องเกิดการแพร่ระบาดกันแล้ว

ยุงพันธุ์นี้แทรกซึมลึกเข้าไปในดินแดนอิตาลี ผ่านพื้นที่เพาะปลูกบริเวณที่ราบลุ่มทะเลสาบ สำหรับประชากรซึ่งทรุดโทรมทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และการเกษตรแล้ว เชื้อโรคร้ายนี้ก็คงเป็นหายนะอันนำไปสู่กาลอวสาน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

เรื่องจริงนอกบันทึกประวัติศาสตร์. บริษัท รีดเดอร์ส ไดเจสท์ (ประเทศไทย) จำกัด, กรกฎาคม 2549


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 มกราคม 2563