เมื่อผู้นำไทยเริ่มสนใจปัญหาเรื่อง “ยุง”

ยุง (ภาพจาก National Institute of Allergy and Infectious Diseases, unsplash.com)

ยุงมีมาตั้งแต่เมื่อไรไม่ทราบได้ หากยุงอยู่คู่กับคนไทยและเมืองไทยมานาน มีการตบ (ยุง) ตี (ยุง) กันมาตลอด และ“ยุง” แมลงตัวเล็กที่กัดเจ็บ ยังเป็นพาหะนำโรคต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ไข้จับสั่น” หรือ มาลาเรีย [*] ที่ทำให้ถึงขั้นเสียชีวิต ในที่สุด “ยุง” ก็มีเป็นเรื่องที่ต้องคุยกันระดับของผู้บริหารประเทศอย่างจริงจัง

ทวีศักดิ์ เผือกสม เขียนอธิบายไว้ใน “โฉมหน้ายุงในประวัติศาสตร์ไทย” (เชื้อโรค ร่างกาย และรัฐเวชกรรม : ประวัติศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ในสังคมไทย, 2550) ซึ่งขอคัดย่อบางส่วนมานำเสนอดังนี้

Advertisement

โฉมหน้ายุงในประวัติศาสตร์ไทย

รัฐไทยเพิ่งเห็น “ยุง” อยู่ในสายตา และให้ความสำคัญอย่างจริงจัง เมื่อพ.ศ. 2469 (ปฏิทินเก่า) เมื่อสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทำหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  เรื่องทูตอิตาลีชวนสยามเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ “สำนักระวางประเทศสำหรับการว่าด้วยเรื่องไข้มาลาเรีย” (International Malariaologic Institute) พร้อมกับเอกสารสาธารณสุขเรื่อง “ปัญหาเรื่องยุง” มาด้วย

ใน “ปัญหาเรื่องยุง” ได้อธิบายประเทศต่างๆ ที่รัฐมีการลงมือกำจัดยุงอย่างจริงจัง, ประเภทของยุง, โรคสำคัญ 4 ชนิด ที่ยุงเป็นพาหนะ (ไข้จับสั่น, ไข้เหลือง, ไข้ส่า, และโรคหนังช้าง(?)) ฯลฯ  ที่สำคัญในข้อสุดท้ายของเอกสารระบุว่า “เป็นหน้าที่ของเรา ต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ที่จะต้องระวังตัวและครอบครัวมิให้เป็นโรค เพราะฉนั้น จะต้องช่วยกันปราบยุงให้สาปศูนย์”

ชายคนหนึ่งกำลังฉีดน้ำมันก๊าดลงในน้ำนิ่ง บริเวณคลองปานามา เพื่อป้องกันยุง ภาพถ่ายเมื่อ ค.ศ. 1912 (ภาพจาก commons.wikimedia.org)

อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมดังกล่าว ทรงเห็นว่าสถาบันเพิ่งตั้งเกรงจะเสียเงินไปเปล่าๆ หากควรรอดูว่าสามารถดำเนินงานต่างๆ ได้เพียงใดก่อน สถาบันอาจสามารถปราบได้แต่ยุงในยุโรปแต่ปราบยุงที่อื่นไม่ได้

ปัญหาเรื่องยุงกลับมาอยู่ในความสนใจของรัฐอีกครั้งใน พ.ศ. 2473 เมื่อสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือถึงเจ้าพระยามหิธร ราชเลขาธิการ เกี่ยวกับเรื่อง “ไข้จับสั่น” ซึ่งระบุว่า เป็นโรคที่ทำให้ราษฎร์ล้มตายเป็นจำนวนมากกว่าโรคอื่นๆ ในปีหนึ่งมีคนตายด้วยโรคนี้ประมาณถึง 50,000 คน และถ้าจะคิดไปถึงจำนวนป่วยโดยถือจำนวนตายนี้เป็นเกณฑ์แล้ว จะประมาณจากส่วนผู้ป่วยต่อผู้ตายในประเทศอื่น…ได้ว่าในกรุงสยามจะมีผู้ป่วยด้วยไข้จับสั่นตั้งสามล้านคน.”

กรมพระนครสวรรค์วรพินิตทรงเห็นว่า ควรกำจัดไข้จับสั่นและค้นคว้าเกี่ยวกับโรคตามแนวทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ พระองค์ยังทรงระบุว่า พระบาทสมเด็จรพะปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัย และพระราชทานเอกสารเรื่องแผนการปราบยุงนำเชื้อของนายแพทย์ท่านหนึ่งมาให้เพื่อใช้ศึกษษเป็นแนวทางในการดำเนินการ

ความพยายามอย่างจริงจังในการต่อสู้กับยุง เกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไปแล้ว

รัฐบาลพันเอก หลวงพิบูลสงคราม ในนบายทางด้านการสาธารณสุยต่อรัฐสภา พ.ศ.2480 แถลงว่า จะได้ขยายการควบคุมโรคซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในเวลานี้ เช่น ไข้จับสั่น วัณโณค โรคเรื้อน และโรคจิตต์ เป็นต้นนั้น โดยฉะเพาะไข้จับสั่น…เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้พลเมืองถึงแก่ความตายปีละ 3-4 หมื่นคนทุกปี ซึ่งไม่มีโรคติดต่อชะนิดใดที่ทให้มีจำนวนคนตายสูงเท่าโรคนี้” กระทรวงมหาดไทยจึงเสนอ “โครงการควบคุมไข้จับสั่น” พร้อมกับให้มีการตั้งหน่วยงานที่เรียกว่า “กองไข้จับสั่น” และ “หน่วยไข้จับสั่นประจำท้องถิ่น”

มาตรการกำจัดยุงจริงจังมาขึ้นในช่วงปลานสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามส่งทหารเข้าไปยึดเชียงตุงและจัดตั้งพื้นที่เขตยึดครองเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย กองทัพพายัพที่ถูกส่งไปประจำการในพื้นที่ดังกล่าวและในเขตภาคเหนือต้องเผชิญหน้ากับศัตรูที่ร้ายแรงนั่นคือ “ยุง” มีบันทึกว่า

“ในท้องที่หยู่ในความครบอครองของกองทัพพายัพมีไข้จับสั่นชุกชุม และจะตอ้งถือว่าเปนการสำคันมากในสถานะสงคราม เช่นนี้ เพราะถ้ากล่าวโดยแท้จิงแล้ว ในยามสงครามจำนวนผู้ต้องบาดเจ็บโดยอาวุธข้าสึกนั้นน้อยกว่าผู้ที่ตายด้วยโรคภัยไข้เจ็บเปนอันมาก” จอมพล ป. ในฐานะนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้มีคำสั่งแต่งตั้ง “คณะกัมการปราบปรามไข้จับสั่น” ขึ้นใน พ.ศ. 2486

คณะกัมการปราบปรามไข้จับสั่น ได้มีมติในเรื่องกาป้องกันไข้มาลาเรียทั้งฝ่านทหารและพลเรือน ตัวอย่างมาตรการสำหรับ ฝ่ายทหารคือ ให้ตั้งกองทหานห่างจากแหล่งน้ำที่เป็นที่เพาะพันธุ์ยุง, ให้ทหารกางมุ้งนอนทุกคน, ทหารในแนวหน้า เครื่องครอบศีรษะกันยุง

ภายหลังเมื่อจอมพล ป. พิบูลสงครามกลับมาขึ้นมีอำนาจอีกครั้ง หลังการรับประหาร พ.ศ. 2490 รัฐบาลจอมพล ป. ยังคง  ให้ความสนใจกับการควบคุมไข้มาลาเรีย โดย พ.ศ. 2491กระทรววงสาธารณสุขได้ร่วมกับองค์การอนามัยโลกจัดให้มีการฉีดพ่น ดี.ดี.ที. เพื่อควบคุมมาลาเรีย เช่น ในพื้นที่ส่งเสริมให้ประชาชนบุกเบิกป่าขึ้นใหม่เพื่อการทำมาหากินของประชาชน  (นิคมสร้างตนเองพระพุทธบาท สระบุรี และนิคมสร้างตนเอง ลพบุรี) ที่มีมาลาเรียชุกชุมได้ใช้เครื่องบินโปรย ดี.ดี.ที.

ในการประชุม ครม. (คณะรัฐมนตรี) เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2496  “ยุง” ก็เป็นประเด็นสำคัญหนึ่ง โดย ครม. ได้พิจารณาว่า  “การที่ประชาชนในชนบทส่วนมาเจ็บป่วยเป็นโรคมาลาเรีย เนื่องจากนอนไม่กางมุ้ง และเมื่อป่วยแล้วทำให้เสียเวลาในการประกอบกิจการอาชีพเป็นการทอนกําลังทางเศรษฐกิจ-ส่วนรวมของชาติ สมควรจะได้หาทางแก้ไข” นั้น คณะรัฐมนตรีได้มี มติให้กระทรวงสาธารณสุขรับไปดําเนินการ ให้ประชาชน [ในเขตที่มาลาเรียชุกชุม] รู้จักการป้องกันโรคมาลาเรียโดยกางมุ่งนอน” โดยมีข้อความกํากับว่า ขอให้จัดการให้เป็นผลโดยเรียบร้อยภายในปี พ.ศ.2500”

ผ้า คลุม ศีรษะ กัน ยุง
ผ้าคลุมศีรษะกันยุง (ภาพจาก wellcomecollection.org)

นอกจากนี้ เมื่อ พบว่ามีไข้มาลาเรียระบาดในช่วงฤดูฝน ทําให้เป็นอุปสรรคกับการทํานา รัฐบาลจึงตั้ง หน่วยมาลาเรียเคลื่อนที่ ออกให้ความช่วยเหลือ โดยกําหนดวิธีการดําเนินการว่า

“ก.ในบริเวณสําคัญที่มีการปลูกข้าวอย่างกว้างขวาง เมื่อไข้มาลาเรียเกิดชุกชุมขึ้นแก่ชาวนา ก็ให้หน่วยมาลาเรียเคลื่อนที่เข้าไปช่วยทําการป้องกันให้

ข.เมื่อเกิดไข้มาลาเรียขึ้นในที่อื่นที่มีความสําคัญในการทํานารองลงมาหรือ เป็นที่ที่การคมนาคมยังไม่สะดวกในการที่จะขนข้าวมาสู่ตลาดได้ง่าย เมื่อมีไข้มาลาเรียเกิดขึ้นตามที่มีลักษณะดังกล่าวนี้ก็ให้คณะกรมการจังหวัดแจ้งจํานวนป่วย และท้องที่ๆ มีไข้มาลาเรียเกิดระบาดขึ้นให้กรมสาธารณสุขทราบ พร้อมกับขอเบิก เวชชภัณฑ์สําหรับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของจังหวัดนั้นๆ ไปจัดการป้องกันต่อไป

ค.ให้คณะกรรมการจังหวัดสั่งซื้อยาแก้ไข้ตําราหลวงสําหรับไปจําหน่ายให้ แก่ประชาชนตามชุมนุมชนต่างๆ ให้ทั่วถึง เมื่อชาวนาเป็นไข้จะได้ซื้อยาแก้ไข้ในราคาถูกไปบําบัดได้”

ความปรารถนาที่จะกําจัดยุง/ไข้มาลาเรียได้กลายเป็นภารกิจสําคัญอย่าง หนึ่งของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยุคหลังสงครามที่กําลังมุ่งพัฒนาประเทศตาม แนวทางการต่อสู้กับการขยายตัวและการเคลื่อนไหวของขบวนการคอมมิวนิสต์ในประเทศที่ กําลังพัฒนาของโลกเสรีที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นํา

นอกจากนี้ควรกล่าวไว้ด้วยว่า ในสมัยรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามยุคแรกนั้นเองที่นโยบายด้านสุขภาพและสาธารณสุขของรัฐไทยได้บรรลุถึงจุดสุดยอดอย่างแท้จริง เมื่อรัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม (ฉบับที่ 3) พุทธศักราช 2485 โดยกําหนดให้มีกระทรวงสาธารณสุขขึ้นตามกฎหมายฉบับนี้  ใน “คํากล่าวตอบของพนะท่านนายกรัถมนตรีในการเปิดกะซวงการสาธารนสุข” จอมพล ป. พิบูลสงครามมีความเห็นว่า

การสาธารนสุขนี้เปนการส้างชาติโดยแท้ การส้างชาตินั้นอยู่ที่การสาธารนสุขนี้ส่วนหนึ่งที่จะทําประโยชน์อันสําคนแก่บ้านเมือง เพราะว่าถ้าหากการสาธารนสุขและการแพทย์ได้ก้าวหน้าไปเพียงไร กําลังของประเทสชาติก็จะเพิ่มความมั่นคงยิ่งขึ้น กล่าวคือ จํานวนพลเมืองก็จะเพิ่มขึ้นทั้งปริมานและคุนภาพ เปนพลเมืองที่ปราสจากโรคภัยไข้เจ็บและไม่ตายเสียงแต่ยังเยาว์ด้วย เมื่อจํานวน พลเมืองของเรามากขึ้น ทั้งประกอบไปด้วยผู้มีกําลังวังชาแข็งแรงแล้ว ประเทสชาติ ของเราก็ย่อมจะมีกําลังอํานาด สามารถจะช่วยกันฟันฝ่าอุปสักไดๆ ได้ทั้งสิ้น.”

แน่นอนว่าสัดส่วนผู้ป่วยด้วยไข้มาลาเรียลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ “ยุง” ยังไม่หมดไปจากสังคมไทย หากยังอยู่สร้างประวัติศาสตร์หน้าต่อๆ ไป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


[*] มีวันสำคัญที่กำหนดในวันที่ 20 สิงหาคมของทุกปี คือ วันยุงโลก (World Mosquito Day) ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2440 เพื่อเป็นวันที่ระลึกถึง เซอร์ โรนัลด์ รอสส์ (Sir Ronald Ross) แพทย์ทหารชาวอังกฤษ ซึ่งเคยทำงานที่ประเทศอินเดีย ได้ค้นพบว่า “ยุงตัวเมีย” สามารถนำเชื้อมาลาเรียจากคนสู่คนได้ เป็นหลักการสำคัญในการป้องกันและควบคุมโรค)


อ้างอิง :

ทวีศักดิ์ เผือกสม. “โฉมหน้ายุงในประวัติศาสตร์ไทย” ใน“เชื้อโรค ร่างกาย และรัฐเวชกรรม : ประวัติศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ในสังคมไทย” สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กรกฎาคม 2562