ผู้เขียน | เด็กชายผักอีเลิด |
---|---|
เผยแพร่ |
ชำแหละ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ หลวงประเสริฐอักษรนิติ์ กับ พันจันทนุมาศ (เจิม) หนึ่งกรรมต่างวาระ ต้องศึกษาด้วยวิจารณญาณ!
พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา มีอยู่หลายฉบับ แต่ละฉบับมีความแตกต่างกันทั้งช่วงเวลาที่บันทึก เนื้อความที่มีความละเอียดต่างกันไป รวมถึงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ที่บางฉบับกล่าวเกินจริงไปบ้าง เมื่อนำมาศึกษาจึงถูกให้น้ำหนักความน่าเชื่อถือไม่เท่ากัน
พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา 2 ฉบับที่มักถูกหยิบยกมาอ้างอิงในแวดวงนักวิชาการและนักประวัติศาสตร์ คือฉบับ หลวงประเสริฐอักษรนิติ์ กับฉบับ พันจันทนุมาศ (เจิม) ทั้งสองฉบับล้วนกล่าวถึงยุคกรุงศรีอยุธยา ตัวบทโดยรวมเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ได้มีข้อมูลที่ขัดแย้งหรือหักล้างกัน แต่มีจุดสังเกตที่แตกต่างเด่นชัดขึ้นคือ พงศาวดาร 2 ฉบับนี้ถูกสร้างขึ้นต่างช่วงเวลากัน
พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ถูกเรียบเรียงขึ้นในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ถือเป็นพงศาวดารที่ถูกชำระความ มีการบันทึกหลังช่วงเวลานั้นผ่านไปแล้วเป็นเวลานาน เนื่องจากสร้างในยุคราชวงศ์จักรีที่ต้องการสร้างความชอบธรรมในการปกครองของชนชั้นนำในกรุงเทพฯ พงศาวดารจึงมีเนื้อความกล่าวถึงการประพฤติมิชอบต่าง ๆ ของกษัตริย์อยุธยาราชวงศ์สุดท้ายหรือราชวงศ์บ้านพลูหลวง เป็นนัยทางการเมืองเพื่อส่งเสริมราชวงศ์จักรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ด้วย
นักวิชาการประวัติศาสตร์พบรายละเอียดเรื่องพิศดารและศักราชที่คลาดเคลื่อนบางจุดในพงศาวฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) เข้าใจว่าเป็นเพราะเอกสารหลายแหล่งสูญหายไปเมื่อครั้งเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2 จึงเกิดการอนุมานขึ้น
ขณะที่พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ถูกสร้างขึ้นร่วมสมัยกรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แม้เนื้อหาจะกล่าวถึงตั้งแต่ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา แต่มีระยะห่างระหว่างเวลาที่จดบันทึกกับเหตุการณ์จริงใกล้เคียงกว่าฉบับอื่น ๆ พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์จึงเป็นฉบับที่เก่าแก่ที่สุด และได้รับการเชื่อถือสูง เน้นการบันทึกเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในแต่ละปีโดยไม่ลงเนื้อหาเชิงปาฏิหาริย์หรือความพิศดาร
พระราชพงศาวดาร กรุงเก่า (ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์)
หลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (แพ ตาละลักษมณ์) เป็นผู้ค้นพบพงศาวดารฉบับนี้ระหว่างที่ราษฎรผู้หนึ่งกำลังจะนำไปเผา จึงขอมาเก็บรักษาที่หอพระสมุดวชิรญาณใน พ.ศ. 2450 ก่อนเรียกชื่อพระราชพงศาวดารฉบับนี้ตามชื่อผู้ค้นพบ แม้มีข้อสันนิษฐานว่าพงศาวดารฉบับนี้สร้างขึ้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่เนื้อความที่ปรากฏเล่าจากแรกสถาปนากรุงศรีอยุธยาจนถึงรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเท่านั้น จึงเชื่อได้ว่าฉบับที่มีในปัจจุบันไม่ครบถ้วน อาจเพราะบางส่วนถูกเผาทำลายหรือสูญหายอย่างไรไม่ทราบได้
เนื้อความหลักของพงศาวดารคือเรียงลำดับพระเจ้าแผ่นดิน ตั้งแต่พระเจ้าอู่ทองหรือสมเด็จพระรามาธิบดี ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 1867 บอกเล่าการชิงราชสมบัติระหว่างราชวงศ์อู่ทองกับสุพรรณภูมิ การสงครามและการขยายดินแดนไปยังสุโขทัย ล้านนา เขมร และสงครามกับพม่า โดยเฉพาะสงครามเสียกรุงฯ ครั้งที่ 1 และการประกาศอิสรภาพโดยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กระทั่งสิ้นสุดที่ พ.ศ. 2146 ในเหตุการณ์ยกทัพไปปราบเขมร นอกจากนี้ยังพบข้อสังเกตต่าง ๆ ซึ่งแฝงการใช้ภาษาและวิธีคิดของผู้บันทึก ดังนี้
1. การแทรกเรื่องราวภัยพิบัติ โรคระบาด และปรากฏการณ์ธรรมชาติต่าง ๆ ในแต่ละปี โดยเฉพาะปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น ดาวหางหรือสุริยุปราคา เชื่อมโยงกับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น
2. การสื่อความหมายจากคำ ยกตัวอย่างคำว่า “เป็นเหตุ” มักถูกใช้เมื่อกษัตริย์หรือเชื้อพระวงศ์ถูกสำเร็จโทษ
3. สำนวนภาษาค่อนข้างเก่าแก่ ผู้ศึกษาจึงต้องพิจารณาการสะกดคำให้ดี เช่น เจ้าญึพญา หมายถึง เจ้ายี่พระยา
4. ส่วนการบรรยายเหตุการณ์กรณีขึ้นสู่ราชสมบัติของขุนชินราช (ขุนวรวงศาธิราช) โดยแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์มีส่วนสำคัญนั้นถูกกล่าวถึงเพียงเล็กน้อย ขณะที่พงศาวดารบางฉบับ (ที่ผ่านการชำระ) มีการขยายความอย่างออกรสออกชาติ
พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
ความตามบานแพนกของพงศาวดารฉบับนี้ระบุชัดว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโสินทร์ โปรดให้ชำระเมื่อปี พ.ศ. 2338 ต้นฉบับเป็นสมุดไทยจำนวน 22 เล่ม บางเล่มมีข้อความขาดหาย ปัจจุบันพบว่าเหลือเพียง 11 เล่ม มีเนื้อความเริ่มตั้งแต่แรกสถาปนากรุงศรีอยุธยาจนสิ้นสุดรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทั้งเขียนเพิ่มตั้งแต่รัชกาลพระเพทราชาเป็นต้นไป ข้อสังเกตสำหรับพงศาวดารฉบับนี้ มีดังนี้
1. การกล่าวถึงสมัยสมเด็จพระชัยราชาธิราช สมเด็จพระยอดฟ้า และขุนวรวงศาธิราช ซึ่งเป็นยุคสมัยก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 โดยบอกเล่าเหตุการณ์ละเอียดกว่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์อย่างชัดเจน
2. อธิบายความแบบพรรณนาผสมกับภาษาที่ใกล้เคียงปัจจุบัน จึงทำความเข้าใจได้ง่ายและเพลิดเพลิน ช่วยในการศึกษาสภาพสังคม ขนบธรรมเนียมประเพณี และความเชื่อ โดยเฉพาะความเชื่อเรื่องโชคลาง และนิมิตประหลาดมักจะถูกให้ความสำคัญและกล่าวถึงอยู่บ่อย ๆ ยกตัวอย่าง รัชสมัยสมเด็จพระยอดฟ้า มีความว่า
“…ช้างต้นพระฉัททันต์ไหลร้องเป็นเสียงคนร้องไห้”
ช้างต้นพระฉัททันต์ เป็นช้างตระกูล “ฉัททันตหัตถี” มีกายสีขาวบริสุทธิ์แบบสีเงินยวง ปากและเท้าสีแดง จากบันทึกจะเห็นว่าช้างมีอาการเพ้อร้องเป็นเสียงมนุษย์ร้องไห้ ซึ่งถูกตีความเป็นนิมิตอุบาทว์ก่อนเกิดเหตุการณ์ยึดอำนาจโดยขุนวรวงศาธิราชและแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์
3. เนื้อความบางส่วนระบุปีศักราชกับปีนักษัตรไม่ตรงกัน เช่น
“ศักราช 888 ปีจออัฐศก (พ.ศ. 2069) ณ วันอาทิตย์ เดือนยี่ ขึ้น 11 ค่ำ สมเด็จพระชัยราชาธิราชเจ้า เสด็จยกพยุหยาตราทัพไปตีเมืองชียงใหม่…”
ขณะที่ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ระบุว่า
“ศักราช 907 มะเสงศก (พ.ศ. 2088) 4 4ฯ 7 ค่ำ สมเด็จพระไชยราชาธิราชเจ้าเสด็จไปเชียงใหม่…”
จะเห็นว่าทั้งสองเหตุการณ์คือการบุกเชียงใหม่หลังเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระไชยราชาธิราช แต่พงศาวดารทั้งสองฉบับบันทึกศักราชและช่วงเวลาไม่ตรงกัน
พระราชพงศาวดารทั้งสองฉบับจึงมีทั้งความเหมือนและความแตกต่างที่ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ต้องวิเคราะห์และสังเคราะห์ก่อนนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ หากต้องการหาข้อเท็จจริงหรือข้อมูลที่ชัดเจนเพื่อสนับสนุน ผู้ศึกษาควรหาหลักฐานอื่นเพิ่มเติม โดยอาจเป็นหลักฐานร่วมสมัยที่เกี่ยวข้องกันมาพิจารณาประกอบด้วย
อ่านเพิ่มเติม :
- เปิดบันทึกพระราชพงศาวดารฯ ถึงที่มาออกหลวงสุรศักดิ์ “โอรสลับ” ในสมเด็จพระนารายณ์?
- “เฟคนิวส์” ในพระราชพงศาวดาร พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ไม่ได้สร้างสมัยสมเด็จพระเพทราชา
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
พันจันทนุมาศ. (2479). ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 69 พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), อนุสรณ์คุณหญิงปฏิภาณพิเศษ (ลมุน อมาตยกุล). กรุงเทพฯ : โสภณพิพรรฒนาการ
ประเสริฐอักษรนิติ์, หลวงฯ. (2498). พระราชพงศาวดาร กรุงเก่า (ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์), อนุสรณ์หลวงพยุงเวชศาสตร์ (พยุง พยุงเวช). กรุงเทพฯ : กรมศิลปกร
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 สิงหาคม 2565