“เฟคนิวส์” ในพระราชพงศาวดาร พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ไม่ได้สร้างสมัยสมเด็จพระเพทราชา

พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ ที่มา ชื่อ สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ
อาคารพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ ในเขตพระราชวังหลวง กรุงศรีอยุธยา

(1) ปัญหาเกิดจากพระราชพงศาวดาร (อีกแล้ว)

พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์เป็นอาคารทรงตึกแบบยุโรปตั้งอยู่ภายในเขตพระราชวังหลวงของอยุธยา  ตามประวัติที่ระบุไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และฉบับพระพนรัตน์ (แก้ว) หรือฉบับหมอบรัดเล (เพราะหมอบรัดเลเป็นผู้นำต้นฉบับตัวเขียนมาตีพิมพ์เป็นครั้งแรก)  ต่างกล่าวว่าพระที่นั่งนี้สร้างในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา ดังปรากฏข้อความกล่าวว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญในรัชกาลดังกล่าว  “พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)” ระบุว่า:

“แล้ว (สมเด็จพระเพทราชา) ทรงพระกรุณาสั่งให้สร้างพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาศน์ที่ข้างในท้ายสนม ให้ขุดสระเป็นคูรอบพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาศน์แล้ว ก่ออ่างแก้วริมสระแล้วก่ออ่างแก้วริมระหัดน้ำฝังท่อ ให้น้ำเดินเข้าไปผุดขึ้นอ่างแก้วที่สอง ริมพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาศน์” [1]

ขณะที่ “พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระพนรัตน์ (แก้ว) หรือฉบับหมอบรัดเล” ก็กล่าวตรงกัน  แต่ระบุศักราชและให้รายละเอียดเพิ่มเติมดังนี้:

“ลุศักราช 1049 ปีเถาะนพศก สมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสให้ช่างพนักงานจัดการสร้างพระมหาปราสาทองค์หนึ่ง ในพระราชวังข้างใน ครั้นเสร็จแล้วพระราชทานนามบัญญัติพระมหาปราสาทชื่อพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์เป็นสี่ปราสาทด้วยกันทั้งเก่าสาม คือพระที่นั่งวิหารสมเด็จองค์หนึ่ง พระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาทองค์หนึ่ง พระที่นั่งสุริยามรินทร์องค์หนึ่ง แล้วให้ขุดสระเป็นคู่อยู่ซ้ายขวาพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ แล้วให้ก่ออ่างแก้ว แลภูเขา มีท่ออุทกธาราไหลลงในอ่างแก้วนั้น ที่ริมสระคู่พระมหาปราสาทนั้น แลให้ทำระหัดน้ำ ณ อ่างแก้วริมน้ำ ฝังท่อให้น้ำเดินเข้าไปผุดขึ้น ณ อ่างแก้วริมสระน้ำ” [2]

การแบ่งห้องหับต่างๆ ภายในอาคารรูปทรงกากบาทของพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์

ความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันระหว่างพระราชพงศาวดารทั้งสองฉบับนี้มีอยู่ว่า “พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)” เป็นต้นฉบับให้แก่การชำระในต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นที่มาของ “พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระพนรัตน์ (แก้ว)” ในเวลาต่อมา “พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)” มีเนื้อความแบ่งได้เป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ (1) ส่วนที่เป็นฉบับความสำนวนเดิม (2) ส่วนที่มีแต่งเพิ่มเติมขึ้นใหม่ในต้นรัตนโกสินทร์  ส่วนที่ 1 หรือฉบับความสำนวนเดิมนั้นดำเนินเรื่องมาจนถึงต้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ จากนั้นต้นฉบับตัวเขียนได้สูญหายไปไม่ครบ เรื่องราวจึงไม่ได้ครบถ้วนสมบูรณ์มาจนถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์

พ.ศ. 2327 อันเป็นศักราชสุดท้ายใน “พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)” (ซึ่งเป็นฉบับความสำนวนเดียวกับครึ่งหลังของ “พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)”)  ในสมัยต้นรัชกาลที่ 1 จึงได้มีพระบรมราชโองการให้แต่งเนื้อความส่วนที่สูญหายไปคือรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์จนถึงพระเจ้าเอกทัศน์ ตามบานแผนกที่ระบุไว้ดังนี้:

“เพียงเรื่องนี้พระเพทราชากับพระเจ้าเสือทำไว้แต่ก่อน บัดนี้สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีรับสั่ง ให้เจ้าพระยาพิพิธพิชัยกระทำเรื่องพระนารายณ์เป็นเจ้า กับพระเพทราชา พระเจ้าเสือ พระบรมโกศ พระเจ้าพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ทำศักราชถัดกันไป” [3]

ข้อความส่วนที่กล่าวถึงการสร้างพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ตาม “พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)” อยู่ในส่วนที่ 2 ซึ่งเป็นส่วนที่แต่งเติมเข้าไปใหม่ภายหลังในสมัยต้นรัตนโกสินทร์  ในพ.ศ. 2338 เมื่อมีการนำเอาฉบับดังกล่าวนี้มาเป็นพื้นฐานให้แก่การชำระพระราชพงศาวดารอันจะเป็นที่มาของฉบับพระพนรัตน์ (แก้ว) [4] เรื่องการสร้างพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ที่ถูกระบุไว้ว่าเป็นเหตุการณ์ในสมัยสมเด็จพระเพทราชา ก็จึงมาปรากฏซ้ำและขยายต่อใน “พระราชพงศาวดารฉบับพระพนรัตน์ (แก้ว)”

ถาน (ส้วม) และที่สรงน้ำ รับกับบันไดทางขึ้นลงด้านหลังของพระที่นั่ง

ต่อมาเมื่อมีการนำเอาฉบับพระพนรัตน์ (แก้ว) มาเป็นพื้นฐานให้แก่การชำระในรัชกาลที่ 4 ซึ่งจะเป็นที่มาของฉบับพระราชหัตถเลขา เรื่องสมเด็จพระเพทราชาเป็นกษัตริย์ผู้สร้างพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ก็จึงมาปรากฏซ้ำอีกครั้งในพระราชพงศาวดารอีกฉบับถัดมา เมื่อมีการใช้พระราชพงศาวดารฉบับเหล่านี้มาเป็นหลักฐานในการศึกษาประวัติศาสตร์และศิลปกรรมในเขตพระราชวังโบราณอยุธยา ก็เป็นเหตุให้มีการกำหนดอายุ (Dating) ให้แก่พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ว่ามีอายุแรกสร้างในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา  จนกลายเป็น “ความเชื่อทางประวัติศาสตร์” หนึ่งอ้างอิงสืบทอดกันต่อมา

ในขณะที่เอกสารหลักฐานอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือจากการชำระพระราชพงศาวดารในต้นรัตนโกสินทร์ ต่างระบุว่าพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์เป็นของมีมาก่อนหน้านั้นแล้ว คือตั้งแต่ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์  และสมเด็จพระนารายณ์เป็นกษัตริย์ผู้สร้างพระที่นั่งนี้อีกด้วย สำหรับในที่นี้ผู้เขียนจะพิจารณาตรวจสอบข้อมูลหลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับพระที่นั่งดังกล่าวนี้ เพื่อแยกแยะ “ข้อเท็จจริง” ออกจาก “ความเชื่อ” ให้ได้ก่อนเป็นลำดับแรก

เขามอ มีน้ำพุ และที่อ่างน้ำร้อนน้ำเย็น (จากุจชี)

(2) “พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์” ในเอกสารบันทึกของต่างชาติ

เอกสารบันทึกของบาทหลวงฝรั่งเศส นิโกลาส์ แชรแวส (Nicolas Gervaise) กล่าวถึงการจัดงานเลี้ยงต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองในคราวที่คณะทูตชุดเชอร์วาริเอร์ เดอ โชมองต์ (Chevalier de Chaumont) เดินทางมาถึงเมื่อ พ.ศ. 2228 ณ สถานที่แห่งหนึ่งในพระบรมมหาราชวังกรุงศรีอยุธยาเอาไว้ว่า:

“พระที่นั่งองค์ที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินอยู่ที่ลานชั้นในสุด เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ ทองคำที่ประดิดประดับไว้ให้รุ่งระยับอยู่ในที่ตั้งพันแห่งนั้น เป็นที่สังเกตได้โดยง่ายจากพระที่นั่งองค์อื่นๆ สร้างเป็นรูปกากบาท  หลังคาพระที่นั่งประดับฉัตรหลายชั้นอันเป็นเครื่องหมายหรือตราแผ่นดิน  กระเบื้องที่ใช้มุงนั้นทำด้วยดีบุก งานสถาปัตยกรรมที่ปรากฏอยู่ทุกด้านทุกมุมนั้นงดงามมาก” [5]

ท่อประปาดินเผา ผลิตจากแหล่งเตาแม่น้ำน้อย สิงห์บุรี

สถานที่ซึ่งแชรแวสได้กล่าวบรรยายถึงข้างต้นนี้ ไม่มีลักษณะตรงกับตึกเลี้ยงแขกบ้านแขกเมืองที่พระนารายณ์ราชนิเวศน์ลพบุรี และก็ไม่ตรงกับพระที่นั่งสุริยาศอมรินทร์ที่อยุธยา นอกจากอาคารสถาปัตย์รูปกากบาทที่ตรงกับพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์แล้ว ในที่เดียวกันแชรแวสยังได้กล่าวถึงสถานที่ที่ตั้งอยู่ติดกันซึ่งตรงกับพระที่นั่งโคหาสวรรค์ ที่ประทับของกรมหลวงโยธาเทพในพระราชวังหลวงอยุธยาอีกด้วยดังจะเห็นได้จาก:

“พระที่นั่งที่ประทับของสมเด็จพระราชินี พระราชธิดา และพระสนม ซึ่งตั้งอยู่ใกล้พระที่นั่งที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินนั้นดูจากด้านนอกแล้ว ก็เห็นว่างดงามดี หันหน้าเข้าสู่อุทยานทำนองเดียวกัน ทางเดินนั้นมีลำคูตัดผ่านเป็นตาหมากรุก เสียงน้ำไหลรินเชื้อเชิญบุคคลที่นอนอยู่บนสนามหญ้าเขียวขจีที่ขอบคันคูนั้นให้เคลิ้มหลับเป็นที่ยิ่งนัก” [6]

นอกจากแชรแวสแล้ว ซิมง เดอ ลาลูแบร์ (Simon de La Loubère) ยังเป็นบุคคลสำคัญอีกผู้หนึ่งที่เดินทางเข้ามาในปีเดียวกัน และได้เข้าร่วมงานเลี้ยงต้อนรับคณะทูตที่จัดขึ้นครั้งแรก ณ พระราชวังหลวงอยุธยา (ครั้งต่อมาถึงจัดที่พระราชวังลพบุรี) ลาลูแบร์ก็ได้กล่าวบรรยายถึงสถานที่จัดงานเลี้ยงต้อนรับคณะของเขาเมื่อ พ.ศ. 2228 เอาไว้ตรงกับแชรแวส และตรงกับพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ ดังจะเห็นได้จาก:

สถานที่ที่เราได้รับพระราชทานเลี้ยงในพระบรมมหาราชวังแห่งกรุงสยาม (กรุงศรีอยุธยา) นั้นเป็นสถานที่อันน่ารื่นรมย์อย่างยิ่ง ภายใต้ต้นไม้ใหญ่และใกล้ขอบสระ ในสระนั้นกล่าวกันว่ามีปลาหลายพรรณที่รูปร่างเหมือนกับคน ก็มีทั้งชายและหญิง แต่ข้าพเจ้าแลไม่เห็นสักอย่างหนึ่งเลย” [7]

แท้งค์น้ำประปา

แน่นอนว่าผู้ที่มีโอกาสได้ไปเที่ยวชมพระนารายณ์ราชนิเวศน์หรือ “วังนารายณ์ลพบุรี” และสังเกตเห็นตึกเลี้ยงแขกบ้านแขกเมือง ก็อาจจะคิดว่าต้นไม้ร่มรื่นกับสระรอบตึกนี้อาจไม่ใช่ที่อยุธยาก็ได้ เพราะตึกเลี้ยงแขกบ้านแขกเมืองที่ลพบุรีก็เป็นอาคารมีน้ำล้อมรอบเช่นกัน และลาลูแบร์อาจจะสับสนหรือไม่ ลาลูแบร์ไม่ได้สับสนระหว่างตึกเลี้ยงแขกบ้านแขกเมืองที่ลพบุรีกับพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ที่อยุธยาอย่างแน่นอน เพราะเขาได้กล่าวถึงสถานที่สองแห่งนี้แยกเอาไว้ในที่เดียวกัน เป็นเชิงเปรียบเทียบเกี่ยวกับสถานที่ที่จัดงานเลี้ยงต้อนรับคณะทูตชุดเดียวกันแต่ต่างสถานที่คือที่อยุธยาและลพบุรี ดังจะพบจากข้อความลำดับถัดจากที่กล่าวถึงสถานที่จัดเลี้ยงต้อนรับที่อยุธยา แล้วมาที่พระราชวังลพบุรีโดยสถานที่จัดเลี้ยงต้อนรับที่ลพบุรีนั้นก็ตรงกับตึกเลี้ยงแขกบ้านแขกเมืองดังนี้:

“ในพระบรมมหาราชวังที่เมืองละโว้ พวกเราได้รับพระราชทานเลี้ยงในพระราชอุทยาน ภายในห้องโถงแห่งหนึ่งซึ่งผนังสูงขึ้นไปจรดหลังคา และรองรับตัวหลังคาไว้ ผนังนี้ได้รับการโบกปูนสีขาวผ่อง เรียบและเป็นมันวับ… ห้องนี้มีประตูด้านสกัดด้านละช่อง และมีคูกว้าง 2 ถึง 3 ตัวซ์ (วา-ผู้อ้าง) กับลึกประมาณ 1 ตัวซ์ล้อมโดยรอบ ภายในคูมีน้ำพุสายเล็กๆ เรียงรายได้ระยะกันติดตั้งอยู่ราว 20 แห่ง สายน้ำพุนั้นพุ่งขึ้นมาเหมือนจากฝักบัวรดน้ำ กล่าวคือที่หัวท่อนั้นเจาะเป็นรูเล็กๆ ไว้หลายรูด้วยกัน และน้ำนั้นพุ่งขึ้นมาสูงเสมอระดับขอบคูหรือราวๆ นั้นเท่านั้น” [8]

ประตูมหาโภคราช สำหรับขุนนางเดินทางมาเข้าเฝ้า โดยจะขึ้นจากท่าน้ำริมคลองฉะไกรใหญ่ (คลองท่อ)

เนื่องจากพวกเขา (แชรแวสกับลาลูแบร์) มิได้มีโอกาสเดินทางไปพบเห็นสถานที่ต่างๆ มากนัก ดังนั้นสถานที่ที่พวกเขาจะจดจำได้เป็นที่แรกๆ ก็คือที่ที่จัดงานเลี้ยงต้อนรับพวกเขานั่นเอง  นอกจากนี้ในส่วนที่ลาลูแบร์กล่าวถึงปลาในสระรอบอาคารจัดเลี้ยงว่าเป็นปลาแปลกประหลาดคือ “ปลาหน้าคน” ก็ตรงกับ “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม: เอกสารจากหอหลวง” ที่ระบุว่าในสระน้ำรอบพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์นั้นมี “ปลาหน้าคนแลปลากะโห้ปลาตะเพียนทองแลปลาต่างๆ ในท้องสระ” [9]

อีกทั้งจาก “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม: เอกสารจากหอหลวง” ก็ยังได้ภาพที่ตั้งเปรียบเทียบตรงกับบันทึกแชรแวส  ที่กล่าวถึงสถานที่ใกล้ชิดติดกันอย่างพระตำหนักโคหาสวรรค์ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ กล่าวคือตาม “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม: เอกสารจากหอหลวง” บริเวณทิศเหนือถัดจากพระตำหนักสวนกระต่ายนั้น “มีประตูเข้าไปพระตำหนักตึกใหญ่ ผนังนอกทาแดง ชื่อพระตำหนักโคหาสวรรค์ 1 พระตำหนักนี้เป็นที่ประทับของสมเดจพระพรรวษาใหญ่ ซึ่งเป็นพระราชเทวีสมเดจพระนารายน์แต่ก่อนมา ครั้นภายหลังมาเป็นพระคลังฝ่ายใน ท่านท้าวทรงกันดารรักษา” [10]

สะพานและทางเดินสู่พระที่นั่งทรงปืน

(3) “พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์” ในเอกสารหลักฐานคำให้การ

นอกจากเอกสารชาวต่างประเทศอย่างบันทึกฝรั่งเศส หลักฐานของไทยที่สะท้อนว่าพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์มีมาตั้งแต่สมัยพระนารายณ์แล้วยังได้แก่ “คำให้การชาวกรุงเก่า” และ “คำให้การขุนหลวงหาวัด” [11] ตาม “คำให้การชาวกรุงเก่า” ยังระบุด้วยว่าพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์สร้างขึ้นมาตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่สมเด็จพระนารายณ์ครองราชย์ ก่อนจะเสด็จไปประทับที่ลพบุรี ทั้งนี้เป็นการสร้างในคราวเดียวกับที่ทรงให้ซ่อมแซมบูรณะพระราชวังหลวงที่อยุธยา หลังได้รับความเสียหายจากสงครามกลางเมืองในช่วงที่ทรงยกทัพจากวังหน้าจันทรเกษมที่หัวรอมาปราบดาภิเษกโค่นล้มพระศรีสุธรรมราชาที่พระราชวังหลวงเมื่อ พ.ศ. 2199:

“แลพระนารายน์ให้ซ่อมพระราชวังใหม่ ปูพื้นด้วยแผ่นศิลา ฝาผนังพระที่นั่งทั้งปวงให้ลงรักปิดทองประดับกระจกงดงาม ให้ขุดสระทั้งทิศเหนือทิศใต้พระราชวังให้ซ่อมค่ายคูประตูหอรบให้แน่นหนาบริบูรณ์ดีทุกแห่งทุกตำบล เมื่อพระนารายน์ครองสมบัติได้ 10 พรรษา แล้วเสด็จไปสร้างเมืองเก่าคือเมืองลพบุรี  สร้างพระราชวังแลพระที่นั่งทั้งปวงเสร็จแล้วพระนารายน์ก็เสด็จไปประทับที่เมืองลพบุรี” [12]

ประตูน้ำ สำหรับผันน้ำจากคลองฉะไกรใหญ่ (คลองท่อ) เข้ามายังสระรอบพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์

“คำให้การขุนหลวงหาวัด” ก็กล่าวถึงการสร้างพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์เป็นเหตุการณ์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ก่อนที่จะทรงเสด็จไปประทับที่ลพบุรี ตรงกับช่วงที่มีการซ่อมปรับปรุงพระราชวังหลวงหลังสงครามกลางเมือง พ.ศ. 2199 ตรงกับ “คำให้การชาวกรุงเก่า” ดังจะเห็นได้จากข้อความต่อไปนี้:

“แล้วพระองค์จึงสร้างอ่างแก้วและน้ำพุทั้งวังหลวง วังหน้า และปราสาทในวังทั้งปวงจึงแปลงให้ก่ออิฐ  และผนังทั้งสิ้นนั้นปิดทองประดับกระจก เสวยราชย์อยู่ในกรุงทวารวดี (ในที่นี้หมายถึงกรุงศรีอยุธยา-ผู้อ้าง) นั้นได้ 10 ปีแล้วเสด็จไปสร้างเมืองอยู่ที่เมืองเก่าอันหนึ่งชื่อ เมืองละโหด (ละโว้-ผู้อ้าง) จึงสมมตินามเรียกว่า เมืองลพบุรี” [13]

ขณะที่หลักฐานประเภทคำให้การชิ้นสำคัญอย่าง “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม: เอกสารจากหอหลวง” แม้ไม่ได้ระบุว่าพระที่นั่งนี้สร้างขึ้นในรัชกาลใด แต่ก็ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะอาคารตั้งแต่ฐานจนถึงส่วนบนยอดมณฑปเอาไว้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นรายละเอียดส่วนที่ไม่สามารถจะพบเห็นได้จากสภาพสถานที่จริงในปัจจุบัน เพราะได้พังสูญหายไปเหลือแต่ฐาน อย่างไรก็ตามลักษณะพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ตาม “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม: เอกสารจากหอหลวง” นี้ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกับพระที่นั่งไกรสรสีหรราชหรือตำหนักทะเลชุบศรที่ลพบุรีอยู่หลายประการ  (ยกเว้นส่วนหลังคาและยอดมณฑป ซึ่งพระที่นั่งไกรสรสีหราชก็พังสูญไปเหมือนกัน) ตัวอย่างเช่นที่เอกสารกล่าวพรรณนาไว้ดังนี้:

“อนึ่งพระที่นั่งบัญญงครัตนาศนมหาปราสาทนั้น เปนยอดมณฑปยอดเดียว มีมุขโถง ยาวออกมาจากมุขใหญ่ทั้งสี่ด่าน มุขโถงทั้งสี่ทิศนั้น มีพระแท่นแว่นฟ้าบุษบกตั้งในมุขโถงทั้งสี่มีเกย น่ามุขโถงมีบันไดนาคราชข้างเกยทั้งสี่เกย มีกำแพงแก้วล้อมรอบชาลาพระมหาปราสาท แล้วมีสระล้อมรอบกำแพงแก้วทั้งชาลาพระมหาปราสาททั้งสี่ด้าน สระกว้างด้านละ 6 วา ในสระระหว่างมุขโถงมุมพระมหาปราสาท ด้านเหนือนั้นมีพระตำหนักปลูกปักเสาลงในสระ ด้านเหนือหลังหนึ่งห้าห้อง ฝากระดานเขียนลายรดน้ำทองคำเปลวพื้นทารักมีฉ้อฟ้าหางหงษมุขซ้อนสองชั้น มีพระบัญชรลูกกรงเหลก ระเบียงชานเฉลียงรอบนั้นมีลูกมะหวดกลึงล้อมรอบ มีตะพานลูกกรงค่ามมาจากพระมหาปราสาทถึงพระตำหนักๆ นี้เปนที่มีเทศนาพระมหาชาติคำหลวงทุกปีมิได้ขาด ในสระระหว่างมุขโถงด้านใต้นั้น ปลูกพระที่นั่งปรายข้าวตอกหลังหนึ่ง  เสาลงในสระหลังคามีฉ้อฟ้าหางหงษมุขซ้อนสองชั้น ฝาไม่มีมีแต่ลูกกรงมะหวดรอบพระเฉลียง เสารายทารักเขียนทองคำเปลวลายทรงข้าวบิณฑ์มีภาพพรหมศรต้นเสาปลายเสา มีตะพานลูกกรงข้ามมาจากพระมหาปราสาทถึงพระที่นั่งปรายข้าวตอก พระที่นั่งปรายข้าวตอกนี้สำหรับเสด็จทรงประทับโปรยข้าวตอก  พระราชทานปลาหน้าคนแลปลากะโห้ปลาตะเพียนทองแลปลาต่างๆ ในท้องสระ  ในระหว่างมุมมุขโถงด้านตระวันออกนั้น ปลูกเป็นพระที่นั่งทอดพระเนตรดาวเสาลงในท้องสระ ไม่มีหลังคา มีแต่พื้นแลลูกกรมมะหวดรอบ มีตะพานข้ามสระออกมาจากมุมมาพระมหาปราสาท ถึงพระที่นั่งทรงดาวๆ นี้สำหรับทอดพระเนตรดาว  แลทอดพระเนตรสุริยุปราคาแลจันทรุปราคา ชีพ่อพราหมณ์ทำพิธีถวายน้ำกรดน้ำสังข์ในวันสุริย วันจันทร เมื่อโมกขบริสุทธบนพระที่นั่งทรงดาวทุกคราวไป 

ในท้องสระระหว่างมุมมุขโถงด้านตระวันตกนั้น ปลูกเปนตะพานพระฉนวน มีหลังคาร่มตะพานข้ามออกมาจากพระมหาปราสาท เสาตะพานพระฉนวนนั้น ระยะห่างๆ แต่พอเรือน้อยพายลอดได้ใต้ตะพานๆ ข้ามมาขอบสระถึงพระที่นั่งทรงปืน เปนตึกใหญ่ฉ้อฟ้าหางหงษมุขศร (ซ้อน) เปนท้องพระโรงสำหรับเสดจออกว่าราชการแผ่นดิน พระราชวงษาแลข้าทูลละอองธุลีพระบาทเข้าเฝ้า” [14]

สระน้ำขนาดกว้างรอบพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ เดิมทิศเหนือและใต้มีอาคารแพทำจากไม้ยื่นลงไปในน้ำ สำหรับทอดพระเนตรดูดาว โปรยข้าวตอก และให้อาหารแก่ปลาในท้องสระ

อีกประเด็นที่สะท้อนให้เห็นความสำคัญของพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ในสมัยอยุธยา ก็คือการถือว่าสถานที่นี้เป็นหนึ่งใน “สิ่งซึ่งเป็นหลักเป็นประธานเป็นศรีพระนคร” ประเภทมหาปราสาทหรือพระที่นั่ง ควบคู่กับสิ่งสำคัญอย่างพระมหาธาตุ พระมหาเจดีย์ และพระพุทธรูปสำคัญ มหาปราสาทหรือพระที่นั่งดังกล่าวนี้มีจำนวน 14 องค์ ได้แก่ พระที่นั่งมังคลาภิเศก (ภายหลังทำใหม่เปลี่ยนนามเป็น “พระที่นั่งวิหารสมเด็จ”), พระที่นั่งไพฑูรย์มหาปราสาท, พระที่นั่งพระนครหลวง (ที่ประทับร้อนระหว่างเสด็จนมัสการพระพุทธบาท), พระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาท, พระที่นั่งเบญจรัตน์, พระที่นั่งสุริยาศอมรินทร์, พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์, พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์, พระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาท, พระที่นั่งไอศวรรย์มหาปราสาท, พระที่นั่งคชประเวศน์ (ที่เพนียดสวนพริก), พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพย์อาสน์ (ที่บางปะอิน), พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ (ที่ลพบุรี), พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญมหาปราสาท (ที่ลพบุรี) เป็นต้น [15]

(4) “พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์” ในเชิงเปรียบเทียบวิวัฒนาการรูปแบบศิลปกรรม

เมื่อมองในเชิงเปรียบเทียบผ่านแนวคิดวิวัฒนาการรูปแบบศิลปกรรม (Art style evolution) จะพบว่าพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ที่มีร่วมกับรูปแบบการสร้างสรรค์ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ทั้งในอยุธยาและลพบุรี ตั้งแต่ในด้านรูปแบบ วัสดุ เทคนิคช่าง ระบบแผนผัง ฯลฯ พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ไม่ได้แสดงพัฒนาการเกี่ยวข้องกับอาคารแบบตำหนักที่สร้างหลายแห่งในสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวงแต่อย่างใด

ทั้งนี้มีตัวอย่างที่สามารถเปรียบเทียบกันได้ อาทิ “ตำหนักพระเจ้าเสือ” ที่วัดโพธิ์ประทับช้าง เมืองพิจิตร, “ตำหนักวัดมเหยงค์” ที่อยุธยา สร้างในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ, “ตำหนักกำมะเลียน” ที่วัดกุฎีดาว อยุธยา สร้างในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ, “ตำหนักคำหยาด” อ่างทอง สร้างในรัชกาลพระเจ้าบรมโกศ เป็นต้น  แต่อาคารตำหนักเหล่านี้แสดงให้เห็นพัฒนาการที่ต่อยอดมาจากรูปแบบโบสถ์วิหารอย่างกรณีวัดบรมพุทธาราม วัดพระยาแมน ที่อยุธยา ซึ่งสร้างในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา และวัดโพธิ์ประทับช้างที่พิจิตร สร้างในรัชกาลสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี (พระเจ้าเสือ) เป็นต้น

สระน้ำรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสโอบล้อมทั้งสี่ด้านของพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ โดยบริเวณทิศเหนือและใต้จะมีขนาดกว้าง ทิศตะวันออกและตะวันตกมีขนาดแคบ

จะเห็นได้ว่าตำหนักต่างๆ ที่สร้างในช่วงสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง ล้วนมิได้มีลักษณะเป็นอาคารรูปกากบาทอยู่ในผังคูน้ำล้อมรูปสี่เหลี่ยมแต่อย่างใด ตรงกันข้ามหากเปรียบเทียบกับบรรดาอาคารต่างๆ ซึ่งสร้างในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ทั้งในอยุธยาและลพบุรี จะพบความสัมพันธ์เกี่ยวข้องทางด้านรูปแบบศิลปกรรมค่อนข้างมาก

กล่าวคือเมื่อเปรียบเทียบระบบแผนผังของบริเวณฝั่งตะวันตกของพระราชวังหลวงอยุธยา อันมีศูนย์กลางอยู่ที่พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์-พระที่นั่งทรงปืน กับพระราชวังที่ลพบุรีตรงพระที่นั่งสุทธาสวรรย์-พระที่นั่งดุสิตสวรรย์ธัญมหาปราสาท จะพบการวางแผนผังที่คล้ายคลึงกัน ถ้ามองจาก “คำให้การชาวกรุงเก่า” และ “คำให้การขุนหลวงหาวัด” ก็มีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์เป็นต้นแบบให้แก่การสร้างพระที่นั่งสุทธาสวรรย์

ลักษณะการใช้งานก็มีการจัดแบ่งประเภทและตำแหน่งทิศแบบเดียวกัน ระหว่างเขตที่ประทับส่วนพระองค์ (คือพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์กับพระที่นั่งสุทธาสวรรย์) กับ สถานที่ว่าราชกิจ (พระที่นั่งทรงปืนกับพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญมหาปราสาท) ต่างกันตรงที่พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ได้มีการปรับแต่งให้เข้ากับสภาพที่ตั้งของพระราชวังลพบุรี ซึ่งต้องผันน้ำมาจากอ่างซับเหล็ก จึงอยู่ในที่ลาดต่ำ และพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญมหาปราสาทก็เป็นพระที่นั่งสร้างด้วยอิฐฉาบปูน ไม่ได้สร้างด้วยไม้เหมือนอย่างพระที่นั่งทรงปืน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสมเด็จพระนารายณ์ทรงต้องการให้เมืองลพบุรีเป็นที่ว่าราชกิจที่มั่นคงถาวร

ในพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ยังพบสิ่งก่อสร้างรูปภูเขาขนาดย่อมสำหรับทำเป็นน้ำตกจำลอง แบบเดียวกับที่พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ก็มีและเรียกสิ่งนี้ว่า “เขามอ” สร้างด้วยหินแกรนิต ซึ่งก็เป็นหินชนิดเดียวกับที่ใช้ก่อเป็นฐานรากของพระที่นั่งทั้งสอง และเป็นวัสดุพบทั่วไปในสถานที่ที่สร้างในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ อาทิ พระตำหนักธารเกษมและพระตำหนักสระยอที่เชิงเขาพุทธบาท ด้วยว่าช่างอิตาเลียนที่ทรงว่าจ้างให้มาจัดทำระบบประปานั้นก็มีความชำนาญในการสร้างอาคารด้วยหินชนิดนี้เป็นพิเศษอีกด้วย

จากหลักฐานประเภทคำให้การ ยังมีเหตุชวนให้เชื่อได้ว่า พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์อาจเป็นต้นแบบให้กับพระที่นั่งไกรสรสีหราชหรือตำหนักทะเลชุบศรอีกด้วย เพราะพระที่นั่งไกรสรสีหราชก็เป็นอาคารรูปกากบาท  ลักษณะคล้ายคลึงกับที่ “คำให้การขุนหลวงวัดประดูทรงธรรม: เอกสารจากหอหลวง” บรรยายถึงพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ ก่อนจะสร้างอาคารยื่นขยายมารับกับตัวอาคารเดิม ซึ่งเป็นการบูรณะต่อเติมในสมัยพระเจ้าบรมโกศ เมื่อครั้งเสด็จประทับร้อนและประพาสคล้องช้างเมืองลพบุรีเมื่อ พ.ศ. 2277

นอกจากนี้ตาม “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม: เอกสารจากหอหลวง” พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ยังมีการใช้งานในลักษณะเป็นสถานที่ทรงทอดพระเนตรดูดาว ไม่ใช่ที่พระที่นั่งไกรสรสีหราช แต่ทั้งนี้อาจมีการทอดพระเนตรดูดาวที่พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ในระหว่างที่ทรงประทับลพบุรีด้วยเช่นกัน ความสำคัญของประเด็นนี้ยังมีต่อไปในแง่ที่ว่า หากเป็นเช่นนั้นแล้วก็เท่ากับในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ได้มีกิจกรรมการทอดพระเนตรดูดาวอยู่ช้านานก่อนหน้าที่บาทหลวงฝรั่งเศสจะเข้ามาเสียอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการทอดพระเนตรสุริยุปราคาและจันทรุปราคา

ไม่เป็นที่แน่ชัดนักว่าเพราะเหตุใด หลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2231 (ค.ศ. 1688) สมเด็จพระเพทราชาเมื่อให้ย้ายศูนย์กลางจากลพบุรีกลับมาอยุธยา จึงทรงโปรดประทับ ณ พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ จะเนื่องด้วยเพราะเป็นพระที่นั่งที่สร้างอย่างวิจิตรงดงาม หรือเพราะกรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาในสมเด็จพระนารายณ์ที่กลายมาเป็นพระมเหสีฝ่ายซ้ายในสมเด็จพระเพทราชา ทรงประทับอยู่พระตำหนักโคหาสวรรค์ใกล้พระที่นั่งนี้และมีความคุ้นเคยมาแต่เดิมก็ตามที อย่างไรก็ตามพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์นับเป็นพระที่นั่งสำคัญตลอดสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง

พระที่นั่งโคหาสวรรค์ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ เป็นที่ประทับของกรมหลวงโยธาเทพ ภายหลังปรับปรุงเป็นพระคลังใน
ประตูทางเข้าสู่พระที่นั่งโคหาสวรรค์ สร้างอย่างแข็งแรง มีแนวป้องกันแน่นหนาถึง 3 ชั้น เพราะเป็นที่ไว้ทรัพย์สิ่งของมีค่าของฝ่ายใน มีขุนนางตำแหน่ง “ท้าวทรงกันดาร” เป็นผู้ควบคุมดูแล

ดังจะเห็นได้จากหลายกรณี อาทิ เป็นที่โปรดประทับของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ (คำว่า “ท้ายสระ” ในพระนามนี้ก็คาดว่าหมายถึงสระพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์), เป็นที่ประทับและที่สวรรคตในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ต่อมาไม่นานหลังจากนั้นเมื่อกรมพระเทพามาตุสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ได้ให้เชิญพระศพขึ้นประทับไว้คู่กันทั้งสองพระองค์ เมื่อสร้างพระเมรุมาศเสร็จก็อัญเชิญลงไปทำพิธีถวายพระเพลิงที่ท้องสนามหลวง  จนถึงพระที่นั่งทรงปืนอันถือเป็นส่วนหนึ่งของเขตพระราชฐานฝ่ายในซึ่งมีพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์เป็นศูนย์กลาง ก็ใช้เป็นที่ว่าราชกิจหลายรัชกาลในสมัยอยุธยาตอนปลาย เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงได้ชัยชนะในศึกปราบก๊กสุกี้พระนายกอง ก็มีเรื่องว่าทรงเสด็จมาบรรทม ณ พระที่นั่งทรงปืนแล้วมีพระสุบินนิมิตว่าอดีตกษัตริย์อยุธยามาไล่ไม่ให้อยู่ เป็นต้น

(5) เมื่อ “ความเชื่อ” ถูกทำให้กลายเป็น “ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์”

การที่สมเด็จพระเพทราชาทรงย้ายศูนย์กลางจากลพบุรีกลับมายังอยุธยา แล้วทรงโปรดประทับอยู่ ณ พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ รวมทั้งความสำคัญของพระที่นั่งนี้ที่มีตลอดสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง และจากที่ไม่ได้มีเอกสารกล่าวถึงประวัติเมื่อแรกสร้างโดยตรงมาก่อน เอกสารบันทึกฝรั่งเศสกับคำให้การที่ใช้อ้างอิงในงานศึกษาชิ้นนี้  ต่างก็เพิ่งแปลและเป็นที่รู้จักกันภายหลัง ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชนชั้นนำในต้นรัตนโกสินทร์ซึ่งชำระพระราชพงศาวดารโดยใช้เอกสารประเภทเดียวกันที่ก็ชำระมาก่อนหน้า ผนวกกับความทรงจำรำลึกอันลางเลือนเนื่องจากความแก่เฒ่าชรา จึงก่อให้เกิดความรับรู้และเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนตามมาว่า สมเด็จพระเพทราชาเป็นพระมหากษัตริย์ผู้สร้างพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ในพระราชวังหลวงของกรุงศรีอยุธยา

แต่ทว่าจากหลักฐานนอกขอบเขตการชำระพระราชพงศาวดาร ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานบันทึกต่างชาติหรืออย่างคำให้การของเชลยชาวกรุงศรีอยุธยา ต่างก็ให้ข้อมูลตรงกันว่าพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์เป็นของที่มีมาก่อนหน้านั้นแล้วและพระมหากษัตริย์ผู้สร้างพระที่นั่งนี้คือสมเด็จพระนารายณ์ ไม่ใช่สมเด็จพระเพทราชา ยิ่งเมื่อศึกษาเปรียบเทียบผ่านแนวคิดวิวัฒนาการรูปแบบศิลปกรรม ก็ยิ่งพบว่าพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์แสดงให้เห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับบรรดาศิลปกรรมอื่นๆ ที่สร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์  ไม่ได้มีพัฒนาการเกี่ยวข้องมาถึงอาคารตำหนักต่างๆ ที่นิยมสร้างกันในสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง

ทั้งนี้ในสมัยสมเด็จพระเพทราชาได้ให้ความสำคัญแก่พระที่นั่งนี้ด้วยเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน ในขณะที่พระตำหนักโคหาสวรรค์อันเป็นที่ประทับเดิมของกรมหลวงโยธาเทพ ก็ได้ยกให้เป็นที่ตั้งของพระคลังฝ่ายในอยู่ในความกำกับดูแลของขุนนางคนสำคัญตำแหน่ง “ท้าวทรงกันดาร” ส่วนสมัยสมเด็จพระนารายณ์เนื่องจากทรงไม่ได้ประทับอยู่ในอยุธยาเป็นเวลานาน ทรงโปรดประทับอยู่ลพบุรีเป็นหลัก จึงได้ใช้งานพระที่นั่งนี้ในลักษณะเป็นที่เสด็จประพาส โปรยข้าวตอกพระราชทานแก่หมู่ปลาในท้องสระ ทอดพระเนตรดูดาว จัดงานเทศมหาชาติ และเป็นที่จัดเลี้ยงต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง

รัฐประหารนำโดยกลุ่มพระเพทราชา-หลวงสรศักดิ์เมื่อ พ.ศ. 2231 กระทำโดยผู้นำที่อ้างความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระนารายณ์ มุ่งเป้าโจมตีไปที่ออกญาวิไชยเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) และกองทหารฝรั่งเศสที่ป้อมบางกอก แต่เมื่อกำจัดออกญาวิไชยเยนทร์ได้แล้วก็จัดการกับรัชทายาทที่อยู่ในเกณฑ์จะสามารถสืบราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระนารายณ์จนหมดสิ้น เพื่อให้สิทธินั้นตกมาอยู่แก่กลุ่มตน นำมาสู่การเปลี่ยนราชวงศ์จากราชวงศ์ปราสาททองมาสู่ราชวงศ์บ้านพลูหลวง แม้กระนั้นก็ไม่อาจปฏิเสธความสำคัญของหลายสิ่งอย่างที่สร้างสรรค์ขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ การยึดอำนาจนำมาซึ่งการยึดทรัพย์สินของฝ่ายตรงข้าม แอบอ้างเอาไปเป็นของฝ่ายผู้ชนะโดยที่มิใช่ผลงานสร้างสรรค์ของตนก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติสำหรับประวัติศาสตร์ไทย

เช่นเดียวกับกรณีอื่นๆ สำหรับในที่นี้พระราชพงศาวดารยังคงแสดงให้เห็นข้อจำกัดในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากเกิดจากการชำระในภายหลัง จึงเกิดข้อผิดพลาดได้ง่าย รับเชื่อได้ก็แต่เฉพาะข้อมูลที่ยังไม่มีเอกสารชั้นต้นมาตรวจสอบเท่านั้น นั่นหมายความว่าเชื่อได้จนกว่าจะถูกพิสูจน์ว่าผิดหรือคลาดเคลื่อนหรือไม่ อย่างไร ความเชื่อที่ว่าการสร้างพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์เป็นเหตุการณ์เกิดในสมัยสมเด็จพระเพทราชาจึงเป็นแต่เพียงความเชื่อและความทรงจำของชนชั้นนำในต้นรัตนโกสินทร์

จนกระทั่งอาจจัดเป็น “เฟคนิวส์” หนึ่งของประวัติศาสตร์ไทยที่ถูกถ่ายทอดลงในพระราชพงศาวดาร จนกลายเป็น “ความจริง” เมื่อมีผู้คนเชื่อถือกันสืบมา

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่นๆ. (นนทบุรี: สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, 2553), หน้า 334.

[2] พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหมอบรัดเล. (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์โฆษิต, 2549), หน้า 351.

[3] พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่นๆ, หน้า 329.

[4] ตามบานแผนกที่มีข้อความระบุว่า ศุภมัสดุ ศักราช 1157 ปีเถาะ สัปตศก (พ.ศ.2338-ผู้อ้าง) สมเด็จพระบรมธรรมิกมหาราชาธิราชพระเจ้าอยู่หัว ผ่านถวัลยราชย์ ณ กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา เถลิงพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงชำระพระราชพงศาวดาร” (ประชุมพงศาวดารภาคที่ 65 พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). (กรุงเทพฯ: คุรุสภา, 2527), หน้า 1) การชำระเมื่อ พ.ศ.2338 นี้เป็นที่มาของพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระพนรัตน์ (แก้ว) โดยได้นำเอาฉบับเก่าที่มีก่อนหน้าคือฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) มาปรับแก้ตัวบท  ไม่ใช่การเอาฉบับอื่นมาชำระแล้วได้ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) เพราะศักราช พ.ศ.2338 นั้นเป็นปีเดียวกับการชำระที่ให้กำเนิดฉบับพระพนรัตน์ (แก้ว)  ดังจะเห็นได้จากบานแผนกของฉบับพระพนรัตน์ที่ระบุว่า ศุภมัสดุ จุลศักราช 1157 ปีเถาะ สัพศก (พ.ศ.2338-ผู้อ้าง) พระบาทสมเด็จพระบรมธรรมฤกมหาราชาธิราชรามาธิบดี บรมนาถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ผู้เสด็จดำรงพิภพมไหศวรรยาธิปัติถวัลยราช ณ กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์มหินทราอยุธยา เถลิงพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงชำระพระราชพงศาวดาร แล้วสมเด็จพระพนรัตน์วัดพระเชตุพน ผู้เป็นพระอุปัชฌาจารย์ กับพระเจ้าลูกเธอทรงพระนามสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส  ศรีสุคตขัติยวงศ์  ผู้เป็นศิษย์ได้ชำระสอบต้น-ปลาย และเรียบเรียงสืบต่อมา ครั้งหลังจนแผ่นดินกรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งใหม่นี้” (พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับสมเด็จพระพนรัตน์วัดพระเชตุพน, หน้า 4-5) อย่างไรก็ตามบานแผนกนี้แม้จะให้ศักราชแม่นยำแต่ก็มีข้อผิดพลาดตรงที่สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงประสูติเมื่อ พ.ศ.2333 ในปีที่มีการชำระพระราชพงศาวดาร (พ.ศ.2338) นั้นทรงมีพระชนมายุเพียง 6 พรรษา เป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นผู้ชำระพระราชพงศาวดาร ถึงแม้นว่าจะทรงพระอัจฉริยภาพอย่างไร  การชำระพระราชพงศาวดารก็ไม่เหมือนงานแต่งโคลงกลอนหรือกาพย์แก้วฉันทลักษณ์อย่างใด พ้นวิสัยที่เด็ก 6 ขวบจะอยู่ในข่ายผู้กระทำได้ อย่างน้อยที่สุดในรัชกาลที่ 1 ก็คงไม่มีผู้ใดมอบหมายงานสำคัญเช่นนี้ให้เด็กชายที่มีอายุเพียง 6 ขวบเป็นผู้กระทำแต่อย่างใด

[5] นิโกลาส์ แชรแวส. ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม (ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช). แปลโดย สันต์ ท.โกมลบุตร, (นนทบุรี: สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, 2550), หน้า 55.

[6] เรื่องเดียวกัน.

[7] ซิมง เดอ ลาลูแบร์. จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. แปลโดย สันต์ ท.โกมลบุตร, (นนทบุรี: สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, 2552), หน้า 113-114.

[8] เรื่องเดียวกัน, หน้า 114.

[9] คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม: เอกสารจากหอหลวง. (นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2555), หน้า 30.

[10] เรื่องเดียวกัน, หน้า 29.

[11] ดูความสำคัญและคุณูปการของหลักฐานประเภทนี้ที่มีต่อการศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยาในมิติต่างๆ ใน กำพล จำปาพันธ์. “เอกสารคำให้การกับการศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา” มนุษยศาสตร์สาร. ปีที่ 19 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2561), หน้า 219-241.

[12] คำให้การชาวกรุงเก่า. (นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2546), หน้า 93.

[13] คำให้การขุนหลวงหาวัด. (นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2549), หน้า 28-29.

[14] คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม: เอกสารจากหอหลวง, หน้า 30-31.

[15] เรื่องเดียวกัน, หน้า 39-40.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 เมษายน 2563