ธรรมเนียมสืบทอดมรดกในสยาม ทำไมเจ๊สัวเนียม ยกทรัพย์สินมหึมา(ตลาด)ให้ลูกสาวแทนบุตร

พระยาอิศรานุภาพ เอี่ยม บุนนาค พระศรีทรงยศ เจ๊สัวเนียม ตรอกเจ๊สัวเนียม ตลาดเก่า
1 พระยาอิศรานุภาพ (เอี่ยม บุนนาค) บุตรเขยเจ๊สัวเนียม (ภาพจากหนังสือสกุลบุนนาค) 2 รูปปั้นพระศรีทรงยศ (เจ๊สัวเนียม) ที่มาของชื่อตรอกเจ๊สัวเนียมตลาดเก่า

ธรรมเนียมสืบทอดมรดกในสยาม ทำไม “เจ๊สัวเนียม” ยกทรัพย์สินมหึมา (ตลาดเจ๊สัวเนียม) ให้ลูกสาวแทนบุตร

ธรรมเนียมการแบ่งมรดกเป็นเรื่องสำคัญ และมักส่งผลสะท้อนกลับมายังระบบเศรษฐกิจของสังคมนั้นๆ เสมอ โครงสร้างเศรษฐกิจของคนต่างวัฒนธรรมจึงมีลักษณะแตกต่างกันออกไป ดังเช่นความแตกต่างในกรณีของอังกฤษและจีน

ในอังกฤษธรรมเนียมดั้งเดิมของการสืบทอดทรัพย์คือ ยกสมบัติทั้งหมดให้กับบุตรชายคนโตเท่านั้น บุตรคนรองๆ จะได้เพียงเงินก้นถุงเล็กน้อย เพื่อเป็นทุนในการตั้งตัว ที่ดินและคฤหาสน์เก่าแก่ของตระกูลซึ่งไม่ถูกแบ่งปันก็ตกทอดต่อกันมาหลายชั่วคน นานนับเป็นร้อยปี

Advertisement

ขณะที่บุตรคนรองๆ ต้องออกจากบ้าน ไปดิ้นรนสร้างฐานะ เกิดเป็นกลุ่มนักแสวงโชค ซึ่งเป็นเฟืองจักรสำคัญของอาณานิคมอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 18-20 และสมบัติที่ตกทอดสืบต่อกันมาทางบุตรชายคนโต เมื่อสะสมรวมกับที่คนในแต่ละรุ่นทำมาหาได้ ก็เกิดเป็นความมั่งคั่งขนาดมหึมา

ส่วนที่เมืองจีน ซึ่งยึดมั่นในเรื่องของการสืบแซ่สกุล มีธรรมเนียมการแบ่งสมบัติให้ทายาทฝ่ายชายเช่นกัน แต่วิธีแบ่งสมบัติต่างไปจากของคนอังกฤษ คือนิยมปันเฉลี่ยให้บุตรชายทุกคนกับหลานชายคนโต คนละประมาณเท่าๆ กัน

โดยลูกชายคนโตอาจได้รับส่วนแบ่งมากหน่อย เพราะวัฒนธรรมจีนให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัว ต้องการให้ลูกหลานอยู่รวมกันในหมู่บ้านดั้งเดิมของบรรพบุรุษ เวลาแบ่งที่ดินทำกินจึงแบ่งให้เท่าๆ กัน เพื่อความสามัคคีปรองดอง และหลีกเลี่ยงที่จะสร้างแรงกดดันให้ลูกหลานอพยพไปทำงานที่อื่น แต่การแบ่งมรดกแบบนี้ก็มีส่วนทำให้ความร่ำรวยของครอบครัวจีนอยู่ได้ไม่นาน ส่วนใหญ่แล้วไม่เกินสามชั่วคน โดยเฉพาะในสมัยที่คนโบราณมีลูกนับได้เรือนสิบ ทรัพย์สินชิ้นใหญ่ถูกซอยย่อยลงจากรุ่นลูกไปถึงรุ่นหลาน รุ่นเหลน ยิ่งมีลูกมากทรัพย์สินที่ทายาทได้รับก็ยิ่งชิ้นเล็กลง

เมื่อเวลาผ่านไปหลายชั่วคนที่ดินมรดกจากบรรพชนถูกซอยย่อยร่อยหรอลงเรื่อย ในที่สุดก็ไม่เพียงพอสำหรับใช้เป็นที่ทำกิน ทำให้คนส่วนใหญ่ยากจนถ้วนทั่วกัน

เมื่อเทียบเคียงกับประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของชาวตะวันตก การสะสมทุนขนาดใหญ่เป็นทุนรอนในการพัฒนาอุตสาหกรรมท้องถิ่น จึงมิได้เกิดขึ้นในเมืองจีนจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20

ศาลพระศรีทรงยศ เยาวราช
ศาลพระศรีทรงยศ เยาวราช

ธรรมเนียมการสืบทอดมรดกของชนชาวสยามมิได้เคร่งครัดเช่นของจีน อาจจะเป็นเพราะชาวพุทธเถรวาทส่วนใหญ่เห็นสมบัติเป็นของนอกกาย จึงมิได้เน้นเรื่องการสืบทอดมรดกและการสืบแซ่ออกมาเป็นนิติธรรมเนียม จารีตที่ใช้ปฏิบัติกันอยู่ในสยามถือเพียงว่ามรดกเป็นของผู้สืบสันดาน ซึ่งอาจจะเป็นได้ทั้งชายและหญิง

การใช้หลักผู้สืบสันดานนี้เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้สยามไม่มีธรรมเนียมการใช้นามสกุล จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อาจกล่าวได้ว่าสังคมสยามในอดีตมีระบบแบ่งสมบัติให้กับสตรีที่ค่อนข้างเป็นธรรม

ผู้ใหญ่ที่เคารพเคยเล่าให้ดิฉันฟังว่า บิดาเป็นทหาร เวลาแบ่งสมบัติ ลูกชายได้ปืนของพ่อ ส่วนลูกสาวได้ทองหยองของแม่ ฟังดูยุติธรรมดี ธรรมเนียมการยกทรัพย์ให้ผู้สืบสันดานทำให้หญิงชาวสยามพอมีสมบัติมอบให้กับลูกหลานได้บ้าง ส่วนจีนบางบ้านที่มาอยู่อาศัยในสยามนานๆ บางคนก็ปรับเปลี่ยนวิธีการแบ่งมรดกให้ลูกหลานให้เป็นไทยมากขึ้น แตกต่างไปจากธรรมเนียมดั้งเดิมของจีน

ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ นอกจากกรณีของบ้านตลาดน้อย ที่ชาวกรุงเทพฯ เรียกว่าโซวเฮงไถ่ ซึ่งส่งมอบอสังหาริมทรัพย์ให้ทายาทฝ่ายหญิงเป็นผู้ดูแลรักษาต่อเนื่องกันถึง 4 ชั่วคนแล้ว ยังมีเรื่องเจ๊สัวเนียมยกทรัพย์สินชิ้นมหึมาให้บุตรสาว ทั้งที่มีบุตรชายสองคนเป็นผู้สืบแซ่

ทรัพย์ชิ้นนี้ได้แก่ “ตลาดเจ๊สัวเนียม” หรือ “ตลาดเก่า” ซึ่งเป็นสมบัติที่บิดาทิ้งเป็นมรดกไว้ให้บุตรสาว คือจากพระศรีทรงยศ (เนียม) มายังคุณหญิงนิ่ม ภรรยาพระยาอิศรานุภาพ (เอี่ยม บุนนาค) เรื่องนี้โด่งดังในวงจีนสยามไม่แพ้เรื่องของโซวเฮงไถ่ เพราะอภิมหาเศรษฐีไม่เคยหลีกหนีพ้นความสนใจของชาวบ้าน

เจ๊สัวเนียมเป็นคนสมัยรัชกาลที่ 2 น่าจะอายุมากกว่าหลวงอภัยวานิช (จาต) ต้นตระกูลจาติกวณิชเจ้าของโซวเฮงไถ่สักรุ่นหนึ่ง เพราะพระยาอิศรานุภาพ (เอี่ยม) บุตรเขยคนโตของเจ๊สัวเนียมเกิดปลายสมัยรัชกาลที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2366 อายุอ่อนกว่าเจ๊สัวจาตเพียง 10 ปี

เจ๊สัวเนียมเป็นลูกจีน แต่ไม่มีข้อมูลเรื่องชื่อแซ่ของบิดา ศาลเจ๊สัวเนียมที่เยาวราชก็มิได้ระบุแซ่ ว่าเป็นคนแซ่อะไร เพียงแต่ระบุว่ามีบรรดาศักดิ์เป็นพระศรีทรงยศ (เนียม) ผู้พัฒนาที่ดินตรอกเจ๊สัวเนียม ตลาดที่พ่อค้าจีนให้ความนิยมสูงสุดของกรุงเทพฯ ตลอดสองร้อยกว่าปีที่ผ่านมา จนคนทั่วไปขนานนามตลาดสองฟากทางของตรอกนี้ว่า “ตลาดเก่า”

แผนที่เก่าระบุชื่อตรอกนี้ไว้ว่า “ตรอกเจ๊สัวเนียม” ในขณะที่แผนที่รุ่นหลังเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ตรอกพระยาไพบูลย์” ตามราชทินนามของเอี่ยมบุตรเขยคนโต ในสมัยรัชกาลที่ 4 ดำรงตำแหน่งเป็นพระยาไพบูลย์สมบัติ จางวางคลังสินค้าฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ

ต่อมาในรัชกาลที่ 5 เมื่อท่านเอี่ยมได้รับพระราชทานพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นพระยาอิศรานุภาพ อธิบดีกรมมหาดไทยฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ ชื่อตรอกเจ๊สัวเนียมนี้ก็เปลี่ยนใหม่อีกครั้งเป็น “ตรอกอิศรานุภาพ”

ดิฉันติดใจเรื่องเจ๊สัวเนียมมาตั้งแต่ครั้งที่ค้นหาข้อมูลเพื่อเขียนสำเภาสยาม : ตำนานเจ๊กบางกอก คำถามที่ติดปากมานาน และได้ถามซ้ำๆ กันอยู่หลายปีคือ “เจ๊สัวเนียมแซ่อะไร?” “เจ๊สัวเนียมมีบุตรชายหรือไม่? ถ้ามีทำไมจึงยกสมบัติให้บุตรสาวล่ะคะ?”

ไม่มีเสียงตอบจากสวรรค์ คราวนั้นจึงจำใจต้องปิดต้นฉบับไป โดยไม่มีเรื่องของพระศรีทรงยศ (เนียม) นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์คนสำคัญช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์รวมอยู่ด้วย

มาคราวนี้ค้นข้อมูลเรื่องของสตรีชั้นกระฎุมพีของสยาม จึงเปลี่ยนคำถามใหม่เป็น “มารดาเจ๊สัวเนียมคือใคร? ภรรยาชื่ออะไร?”

คราวนี้ได้ผล ประวัติเจ๊สัวเนียมเริ่มกระจ่างขึ้นทันตา ดิฉันได้รับความกรุณาจากผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ส่งสาแหรกตระกูลมารดาของเจ๊สัวเนียมมาให้ รวบรวมโดยวิชัย ทรรทรานนท์ ขออนุญาตนำบางส่วนมาพิมพ์เผยแพร่ ณ ที่นี้ด้วย

บิดาของเจ๊สัวเนียมเป็นจีนแซ่เตีย เข้ามาแต่งงานอยู่กินกับอำแดงทองดี ภรรยาไทย ซึ่งเป็นน้องสาวร่วมบิดากับเจ้าจอมมารดาอิ่มในรัชกาลที่ 3 เอกสารระบุว่าทองดีเป็นบุตรสาวคนหนึ่งในจำนวนบุตรสาว ๑๑ คนของพระศรีศุภโยคหรือพระนรินทร์ทิพย์ (ผู้เขียนสาแหรกตระกูลไม่แน่ใจ จึงระบุทั้งสองชื่อที่รับทราบมา) พระนรินทร์ทิพย์ผู้นี้มีบุตรชายเพียงคนเดียว ชื่อสิน เป็นต้นตระกูลสุวรรณเตมีย์

เจ๊สัวเนียมมีบุตรสาว 5 คน บุตรชาย 2 คน ชื่อรุ่ง และเชย หากเจ๊สัวเนียมแบ่งสมบัติโดยใช้ธรรมเนียมจีนเป็นหลักแล้ว ทรัพย์สินส่วนใหญ่ก็คงตกอยู่กับทายาทฝ่ายชายสองคนนี้ เพราะเป็นผู้สืบตระกูลตามวิธีคิดของคนมีแซ่

คราวนี้สมมุตินะคะสมมุติ ว่าเจ๊สัวเนียมคิดแบบไทยตามแบบมารดา สมบัติจะยกให้ใคร คราวนี้สมบัติก็ไปตกอยู่กับเอกภรรยาและบุตรธิดาผู้สืบสันดาน ตามธรรมเนียมไทยที่ใช้กันอยู่ในสมัยนั้น

เนื่องจากคนโบราณมีภรรยาหลายคน กฎหมายสยามจึงกำหนดประเภทของภรรยา โดยภรรยาทุกประเภทมีสิทธิในมรดกของสามี แต่จะได้รับส่วนแบ่งไม่เท่ากัน ดังนี้ ภริยาพระราชทานจะได้รับมรดก 3.5 ส่วน ภริยาสู่ขอได้มรดก 3 ส่วน ภริยาอันทูลขอและพระราชทานให้ได้มรดก 2.5 ส่วน และภรรยาลำดับรองลงไปแต่ละคนได้มรดก 1.5 ส่วน [1]

ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นภรรยาประเภทไหน จะมีสิทธิในส่วนแบ่งมรดกของสามีก็ต่อเมื่ออยู่กินกับสามีมานานกว่า 3 ปี ไม่เช่นนั้นจะได้รับส่วนแบ่งเพียง 0.5 ส่วนเท่านั้น

หากเทียบวิธีส่งมอบมรดกกันแล้ว ความแตกต่างระหว่างคำว่า “ผู้สืบสันดาน” และ “ผู้สืบแซ่” เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สถานภาพของหญิงชาวสยามดูดีกว่าสตรีจีนในสมัยเดียวกันมากมาย

สืบไปสืบมาก็พบว่าเจ๊สัวเนียมเป็นบรรพชนอีกคนหนึ่งของดิฉัน สืบสายมาทางทองคำ บุตรสาวเจ๊สัวเนียมที่แต่งงานกับพระประเสริฐวานิช (เจ๊สัวเสง) จากสายสกุลเศรษฐบุตร สังคมเจ๊สัวเมืองกรุงช่างแคบนัก ไล่สืบไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็แต่งงานเป็นญาติเกี่ยวดองกันไปหมด สำหรับมรดกของเจ๊สัวเนียมนั้นเมื่อลูกหลานรับไปเป็นทุนแล้ว จะจีรังยั่งยืนเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับวิถีชีวิตของแต่ละคนด้วย

สำหรับทองคำ บุตรสาวเจ๊สัวเนียมผู้เป็นย่าทวดของดิฉัน หลังจากพระประเสริฐวานิช (เสง) สามีค้าขายล้มละลายในที่สุดก็ไม่เหลืออะไร เพราะกฎหมายไทยระบุว่า หนี้ทั้งหมดที่สามีก่อขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ครอบครัวถือเป็นหนี้ร่วมของสามีภรรยา [2] ส่วนน้อยและนวม คุณหญิงของพระยาอาหารบริรักษ์ (นุช) นั้น ขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5 สามีท่านก็กลายเป็นขุนนางตกยาก เหลือเพียงสายคุณหญิงนิ่มเท่านั้น ที่วาสนาดี ครอบครัวสามารถรักษาสมบัติไว้ได้จีรังยั่งยืน

ส่วนคำถามที่ค้างคาใจมานานว่า “ทำไมคนมีแซ่เช่นเจ๊สัวเนียมยกสมบัติให้กับลูกสาว”

ผู้ใหญ่ซึ่งเป็นหลานของคุณหญิงนวม อาหารบริรักษ์ อธิบายให้ฟังว่า เจ๊สัวเนียมนั้นสำนึกเสมอว่าตัวเองมั่งคั่งขึ้นมาในแผ่นดินสยาม จึงยกที่ดินให้ลูกหลานฝ่ายหญิงเป็นผู้ปกปักรักษา เพราะแน่ใจว่าจะไม่ทิ้งแผ่นดินหนีไปไหน ส่วนเงินทองมอบให้ฝ่ายชายไปเป็นทุนทรัพย์ในการทำมาหากิน ฟังคล้ายกับว่าในสมัยนั้นเชื่อกันว่าลูกชายมีโอกาสเดินทางไปตั้งหลักแหล่งที่อื่นมากกว่าฝ่ายหญิง

สายสกุล ฝ่ายมารดา พระศรีทรงยศ (เนียม) เจ๊สัวเนียมการที่จีนสยามหลายครอบครัวเปลี่ยนคติธรรมเรื่องการสืบทรัพย์ให้เป็นไทยมากขึ้น อธิบายได้ด้วยทฤษฎีว่าด้วยความสัมพันธ์ของมนุษย์ ที่ดิฉันอ่านพบในหนังสือของทวีศักดิ์ เผือกสม ชื่อคนแปลกหน้านานาชาติของกรุงสยาม ความว่า

การสร้างและการแสวงหาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในชุมชนในสังคม คือ การหาหรือนิยามกำหนดเอกลักษณ์บางอย่างที่ทำให้ทุกคนเป็นพวกเดียวกันกับตน แต่ในอีกด้านหนึ่ง คือการกำหนดความเป็นอื่นที่แตกต่างออกไปจากตัวเอง หรือหาลักษณะของความไม่เป็นพวกเดียวกับตนออกมา. การสร้างความรู้สึกถึงความมีเอกลักษณ์ร่วมกันจึงเป็นธรรมชาติประการหนึ่งของมนุษย์ เพื่อที่จะก่อให้เกิดความปรองดองเป็นพวกเดียวกันในกลุ่มในสังคม…

การแสวงหาเอกลักษณ์ของกลุ่มคน หรือกลุ่มสังคมการเมือง จึงเป็นลักษณะปรกติวิสัยของมนุษย์ และแต่ละสังคมต่างก็ผลิตวาทกรรมว่าด้วยความเป็นตัวตนของตนเองที่แตกต่างจากคนอื่นอยู่เสมอ เช่นด้วยการใช้ภาษา รอยสัก ความเชื่อ…ในด้านกลับกัน คนอื่นที่แปลกต่างจากตัวเองจึงถูกมอง ถูกพูดถึง และถูกนำมาเปรียบ…

ดังนั้นหากใช้ทฤษฎีนี้อ่านใจจีนสยาม เช่น เจ๊สัวเนียม อำแดงอยู่ ภรรยาหลวงอภัยวานิช (จาต) แห่งโซวเฮงไถ่ และเจ๊สัวอีกหลายครอบครัวในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เราก็จะเห็นแววว่าพวกเขาต้องการเป็นหนึ่งเดียวกับสังคมสยาม ไม่อยากถูกมอง ถูกพูดถึง หรือถูกนำไปเปรียบว่าลำเอียง เอนไปข้างบุตรชายตามธรรมเนียมการสืบแซ่สกุลของจีน ซึ่งบัดนี้ได้กลายเป็นธรรมเนียมอื่นไปแล้ว โดยเฉพาะในสายตาของนายแม่ภรรยาเจ๊สัว และเป็นประมุขฝ่ายหญิงของบ้าน

ด้วยวิธีการแบ่งสมบัติของผู้มีทรัพย์ในสยามนี่เอง ทำให้ดิฉันเชื่อว่านารีผู้มีทรัพย์ในสังคมกรุงเทพฯ มีอยู่เป็นจำนวนมาก น่าจะเกลื่อนพอๆ กับถังข้าวสาร ที่พวกเธอถูกนำไปเปรียบเทียบในคำพังเพยร่วมสมัยเรื่อง “หนูตกถังข้าวสาร” ส่วนบทบาทของพวกเธอที่มีต่อสังคมและระบบเศรษฐกิจไทย ทิ้งให้ท่านผู้อ่านช่วยวิเคราะห์จะเหมาะกว่า

(จากหนังสือนายแม่ เรียบเรียงโดยพิมพ์ประไพ พิศาลบุตร, สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์, 2546)

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ : 

[1] หลุยส์ ดูปลาตร์ : ผู้เขียน, ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ : ผู้แปล. สถานะของหญิงมีสามีในประเทศสยาม. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2533.

[2] อ้างแล้ว.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 12 พฤษภาคม 2560 (ปรับปรุงเมื่อ 24 ส.ค. 2562) จัดย่อหน้าใหม่โดยกองบรรณาธิการ