กว่าจะเป็น “จิราธิวัฒน์” เจ้าของห้างสรรพสินค้าชื่อดัง ทำไมต้องใช้ชื่อ “เซ็นทรัล” ?

จิราธิวัฒน์ ห้าง เซ็นทรัล
เตียง ผู้บุกเบิกรุ่นที่ 1 ถ่ายภาพกับ สัมฤทธิ์ บุตรชายคนโตและบุตรคนอื่น ๆ ในตระกูลจิราธิวัฒน์ ในวันเปิดห้างเซ็นทรัล สาขาราชประสงค์ พ.ศ. 2507 (ภาพจากหนังสือ จิราธิวัฒน์สัมฤทธิ์)

เป็นเรื่องปฏิเสธไม่ได้ว่า “ชาวจีน” เป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยมายาวนาน เมื่อชาวจีนเริ่มอพยพมาลงหลักปักฐานที่ไทยถาวร บทบาทของชาวจีนด้านเศรษฐกิจของประเทศจึงมีมากขึ้น มีชาวจีนหลายตระกูลอพยพเข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทย หนึ่งในนั้นคือ “แซ่เจ็ง” จนนำมาสู่ตระกูลนักธุรกิจแนวหน้าของประเทศไทยอย่าง “จิราธิวัฒน์” แห่งเครือเซ็นทรัล

ก่อร่างสร้างตัว

ตระกูล “จิราธิวัฒน์” ก่อร่างสร้างตัวโดย “นี่เตียง” หรือ เตียง แซ่เจ็ง ชาวจีนจากหมู่บ้านไหเค้า มณฑลไหหลำ ประเทศจีน เขาเคยอพยพมาประเทศไทยชั่วคราวครั้งหนึ่งเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ เนื่องจากลี้ภัยโจรสลัดที่เข้าปล้นหมู่บ้าน ก่อนจะกลับประเทศจีนหลังเหตุการณ์นั้นสงบลง

กระทั่งอพยพเข้ามาในประเทศไทยอย่างถาวรเมื่อประมาณ พ.ศ. 2470 พร้อมกับภรรยาคือ “หวาน” และบุตรชายคนโตคือ “สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์” (เกิด พ.ศ. 2468 เมื่อแรกเกิดชื่อ ฮกเส่ง ฮกแปลว่าลาภ เส่งแปลว่าสำเร็จ เป็นบุตรเพียงคนเดียวในจำนวนทั้งหมด 26 คนของเตียงที่เกิดในประเทศจีน)

ในหนังสือ “จิราธิวัฒน์สัมฤทธิ์” ระบุว่า เตียงมี “ความตั้งใจอยากจะมาตั้งถิ่นฐานในเมืองไทย… เนื่องจากเห็นว่าเมืองไทยนั้นมีความอุดมสมบูรณ์และมีชาวจีนอพยพมาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก” ครั้นเมื่อบิดาของเตียงเสียชีวิตและจัดการไว้ทุกข์ตามประเพณีเรียบร้อยแล้ว เตียงจึงพาครอบครัวอพยพสู่ประเทศไทยตามที่ตนตั้งใจ โดยมาอาศัยอยู่กับพ่อตาคือนายตงฮั้วและนางด่านตี๋ แซ่หง่าน ที่เดินทางล่วงหน้ามาก่อนแล้ว 2-3 ปี โดยเตียงได้ช่วยกิจการของพ่อตาในร้านขายข้าวสารชื่อ “อั้นฟงเหลา” บริเวณท่าช้าง วังหน้า

ต่อมาเตียงเริ่มประกอบธุรกิจของตัวเอง โดยยืมเงินพ่อตาจำนวน 300 บาท พาครอบครัวไปอาศัยที่บางมด เปิดร้านกาแฟและขายของเบ็ดเตล็ด ต่อมาย้ายไปอยู่บริเวณที่ว่าการอำเภอบางขุนเทียน ตรงข้ามสถานีรถไฟวัดจอมทอง (วัดราชโอรส) เปิดร้านในพื้นที่เล็ก ๆ เพียง 50 ตารางเมตร ขายกาแฟ อาหารเล็ก ๆ น้อย ๆ และของเบ็ดเตล็ด ส่วนชั้นบนให้ภรรยารับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้า

เขาตั้งชื่อร้านว่า “เข่งเส่งหลี” แปลเป็นไทยว่า “ไหหลำ สัมฤทธิ์ผล” แต่ชาวบ้านละแวกนั้นเรียก “ร้านสามเหลี่ยม” เพราะร้านตั้งบนที่ดินรูปทรงสามเหลี่ยม

สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ เตียง จิราธิวัฒน์
เตียง และสัมฤทธิ์ ถ่ายภาพที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ. 2493 (ภาพจากหนังสือ จิราธิวัฒน์สัมฤทธิ์)

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ครอบครัวต้องเผชิญความยากลำบาก มิหนำซ้ำหวานภรรยาของเตียงเสียชีวิตระหว่างสงครามอีก ทำให้สัมฤทธิ์ในฐานะบุตรชายคนโตในวัย 20 ปี จึงจำเป็นต้องแบกรับภาระเลี้ยงดูน้อง ๆ อีกแรงหนึ่ง

สัมฤทธิ์ใฝ่ฝันอยากเรียนด้านแพทยศาสตร์ แต่เตียงไม่เห็นด้วยเพราะต้องการให้ศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยด้านการค้าขายและภาษาอังกฤษ เพราะหวังจะให้มาช่วยธุรกิจของครอบครัวและจะได้ดูแลน้อง ๆ ไปด้วย

พ.ศ. 2493 ครอบครัวของเตียงได้ขอให้ผู้ใหญ่ที่ครอบครัวเคารพนับถือตั้งชื่อนามสกุลให้ ชื่อว่า “จิราธิวัฒน์” มีความหมายคือ จิระหมายถึงยืนนาน อธิหมายถึงยิ่งใหญ่ และวัฒน์หมายถึงวัฒนา

ต่อมาครอบครัวเริ่มขยายใหญ่มากขึ้น จำนวนสมาชิกในครอบครัวเกือบ 30 ชีวิตต้องย้ายที่พักบ่อยครั้ง เพื่อขยับขยายร้านค้าเล็ก ๆ ไปสู่ร้านใหญ่กว่า กระทั่งเตียงตัดสินใจซื้อที่ดินเพื่อสร้างบ้านพักอย่างถาวรที่ศาลาแดง พื้นที่ 3 ไร่ ใน พ.ศ. 2499

เตียงเสียชีวิตโดยไม่ได้ทำพินัยกรรม ใน พ.ศ. 2511 สัมฤทธิ์ในฐานะบุตรชายคนโตของครอบครัวและเป็นทายาทรุ่นที่ 2 รับหน้าที่ดูแลทรัพย์สินและมรดก และต้องทำหน้าที่ดูแลน้อง 25 คน “โดยน้อง ๆ จะให้ความเคารพยำเกรง… เพราะคุณสัมฤทธิ์เป็นคนเคร่งขรึม” น้องบางคนที่มีอายุห่างมากก็นับถือเขาเสมือนพ่อคนหนึ่งเลยทีเดียว และนับแต่นั้น สัมฤทธิ์ก็เป็น “หัวเรือใหญ่” ผู้ที่คอยเลี้ยงดูน้อง ๆ ทุกคน และสมาชิกในครอบครัวมาโดยตลอด

ตระกูล “จิราธิวัฒน์” รุ่นที่ 2 มีสัมฤทธิ์เป็นพี่ใหญ่ ประกอบด้วยน้องอีก 25 คน คือ น้องที่เกิดจากมารดาเดียวกัน 7 คน (ไม่รวมสัมฤทธิ์) น้องที่เกิดจาก “บุญศรี” ภรรยาคนที่สองของเตียง รวม 13 คน และน้องที่เกิดจาก “วิภา” ภรรยาคนที่สามของเตียง รวม 5 คน

“จิราธิวัฒน์” กับจุดเริ่มต้นธุรกิจห้างสรรพสินค้า

สัมฤทธิ์ช่วยบิดาค้าขายตั้งแต่เด็ก ๆ เมื่อตอนเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญคอมเมอร์ส แต่โรงเรียนต้องปิดชั่วคราวเนื่องจากภัยสงครามโลก เขาทำงานช่วยครอบครัวโดยการซื้อของจากกรุงเทพฯ ไปขายที่ภาคใต้และบางครั้งก็เลยไปถึงสิงคโปร์ กำไรบ้าง ขาดทุนบ้าง เสี่ยงชีวิตบ้าง แต่ก็มอบประสบการณ์ให้ไม่น้อย หลังสงครามยุติก็มาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ติดต่อศุลกากรนำภาพยนตร์ของบริษัทพาราเมาท์ พิกเจอร์ จำกัด มาฉายในประเทศไทย ถัดมาไปเป็นครูสอนภาษาไทยในโรงเรียนจีน “ยกหมิ่น” ที่ถนนสุรวงศ์

ต่อมาเพื่อนของสัมฤทธิ์ชวนไปขายหนังสือภาษาอังกฤษ โดยเขาทำหน้าที่เป็นพนักงานขาย (Salesman) นำหนังสือไปขายยังร้านใหญ่ ๆ ในกรุงเทพฯ ได้ผลตอบแทนเป็นเปอร์เซ็นต์ตามยอดขาย ภายหลังเพื่อนเลิกกิจการไป สัมฤทธิ์จึงคิดดำเนินธุรกิจนี้เองเพราะเห็นว่าได้กำไรมาก แต่เตียงไม่เห็นด้วยเพราะเกรงว่าหากไม่ประสบผลสำเร็จจะทำให้ครอบครัวลำบากไปด้วย

แต่ด้วยความมุ่งมั่น สัมฤทธิ์เดินหน้าประกอบธุรกิจนี้ตามที่ตนตั้งใจ โดยยืมเงินบิดา 2,000 บาท สร้องคอทองคำของภรรยา (ของขวัญงานแต่ง) และเงินออมส่วนตัวจำนวนหนึ่งนำมาลงทุนธุรกิจนี้ เขานำนิตยสารของประเทศสหรัฐอเมริกามาขาย ซึ่งเป็นนิตยสารเก่าแต่สภาพใหม่ ซึ่งไม่สามารถนำออกขายนอกประเทศสหรัฐอเมริกาได้เนื่องจากติดพันสงคราม

ธุรกิจนี้ประสบผลสำเร็จด้วยดี เนื่องจากมีต้นทุนต่ำ และมีข้อได้เปรียบเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา กล่าวคือ ในเวลานั้น อัตราแลกเปลี่ยนเงิน คือ 1 USD = 20 THB แต่ถ้าแลกเพื่อสั่งซื้อหนังสือจะได้สิทธิพิเศษ คือ 1 USD = 10 THB และยังไม่เสียภาษีนำเข้าอีกด้วย

สัมฤทธิ์จึงนำผลกำไรมาเสนอแก่บิดาและชักชวนให้มาร่วมทุนด้วย ซึ่งเตียงก็เข้าร่วมลงทุน “เพราะคุณเตียงเห็นผลงานของคุณสัมฤทธิ์ที่สามารถประกอบกิจการจนเป็นผลสำเร็จ” จากนั้นได้เซ้งห้องแถวที่ถนนเจริญกรุง ปากตรอกกัปตันบุช สี่พระยา เปิดเป็นร้านขายหนังสือ เมื่อราว พ.ศ. 2490 ใช้ชื่อร้านว่า “ห้างเซ็นทรัลเทรดดิ้ง” อันเป็นจุดกำเนิดของห้างเซ็นทรัลในปัจจุบัน

โฆษณาของห้างเซ็นทรัลเทรดดิ้ง เมื่อ พ.ศ. 2495 (ภาพจากหนังสือ จิราธิวัฒน์สัมฤทธิ์)

ทำไมต้อง “เซ็นทรัล”

เตียงเป็นผู้สนใจการเมืองมีความคิดเห็นว่า สมัยที่ประเทศจีนมีการตั้งรัฐบาลกลางขึ้นมาแก้ไขปัญหาความแตกแยกนั้น รัฐบาลกลางนี้ใช้ชื่อว่า “ตงเอียง” แปลว่า “กลาง” เตียงจึงอยากใช้ชื่อที่แปลว่า “กลาง” คือเป็นศูนย์กลางการค้า แต่สัมฤทธิ์เห็นว่า หากใช้คำว่า “กลาง” ฟังดูไม่ไพเราะ จึงเปลี่ยนมาใช้คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษแทน นั่นคือคำว่า “เซ็นทรัล” (Central) อันหมายถึง ที่เป็นใจกลาง ที่เป็นศูนย์กลาง เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของการค้าขายสินค้าและบริการ ซึ่งแนวคิดนี้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคหรือลูกค้ามากที่สุดอีกด้วย

ห้างเซ็นทรัลเทรดดิ้ง สาขาสี่พระยา คือห้างแห่งแรกของธุรกิจตระกูล “จิราธิวัฒน์” เป็นอาคาร 1 คูหา จำนวน 2 ชั้น ช่วงแรกเน้นขายหนังสือนำเข้าจากต่างประเทศ และสินค้าจากสำเพ็ง โดยสัมฤทธิ์จะขายสินค้าด้วยตนเอง ไม่ยอมจ้างลูกจ้างมาช่วยงาน เขาจะไปดำเนินการเสียภาษีและจัดการเรื่องศุลกากรด้วยตนเองที่โรงภาษี (ใกล้กับโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก)

จากนั้นมารับน้องชายสองคนคือ “วันชัย” และ “สุทธิพร” จากโรงเรียน แล้วให้มาช่วยกันแบกลังหนังสือกลับบ้าน ขณะที่น้องคนอื่น ๆ ที่ยังเด็ก มีหน้าที่แกะลัง นำหนังสือมาจัดเรียง ช่วยเหลือเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่พอจะช่วยได้ นอกจากนี้ พวกเขายังนำไม้และกระดาษห่อสินค้ามามัดให้เป็นระเบียบเพื่อจะนำไปขายต่ออีกด้วย

แต่เมื่อเกิดการแข่งขันกันสูงมากขึ้น สัมฤทธิ์จึงตัดสินใจนำสินค้า (ที่ลงโฆษณาในนิตยสารที่เขานำมาขาย) หลากหลายประเภทมาขายเพื่อดึงดูดลูกค้า เช่น ถุงเท้า เน็คไท เสื้อกล้าม กระโปรงพลีท ชุดชั้นในสตรี เป็นต้น เขาดำเนินการขยายร้านให้ใหญ่ขึ้น ขยายสินค้าประเภทใหม่ ๆ และใช้วิธี “ตัวแทนจำหน่าย” จากสินค้า “แบรนด์” ที่ได้รับความนิยมในขณะนั้น เช่น เครื่องสำอางเฮเลน่า รูบินสไตน์ (Helena Rubinsteim) น้ำมันใส่ผมแคร้ปเดอชีน (Crepe de Chine) และเสื้อเชิ้ตแมนฮัตตัน (Manhattan) เป็นต้น

สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์
สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ หัวเรือใหญ่ตระกูลจิราธิวัฒน์ รุ่นที่ 2 (ภาพจากหนังสือ จิราธิวัฒน์สัมฤทธิ์)

ต่อมาได้ย้ายร้านไปที่ย่านสุรวงศ์ ริมถนนเจริญกรุง มีขนาด 3 คูหาแต่ยังใช้ชื่อเดิมอยู่ กระทั่งได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ห้างเซ็นทรัล” และเปิดสาขาใหม่ที่วังบูรพา เมื่อ พ.ศ. 2499 ซึ่งเป็นครั้งแรกในประเทศที่นำเอาระบบติดป้ายราคาและไม่มีการต่อรองราคามาใช้

โดยสาขานี้ยึดหลักการว่า “สินค้าคุณภาพ ราคายุติธรรม” และยังนับเป็นห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในสมัยนั้นอีกด้วย จากนั้นได้เปิดสาขาใหม่ที่เยาวราชแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะเป็นย่านชาวจีนที่มีนิสัยประหยัด มัธยัสถ์ ไม่นิยมซื้อสินค้าจากร้านค้าขนาดใหญ่ และ พ.ศ. 2507 เปิดสาขาใหม่ที่ราชประสงค์ เป็นตึกแถวขนาด 5 คูหา

ใน พ.ศ. 2511 เปิดสาขาใหม่ที่สีลม เป็นอาคารสูง 9 ชั้น ตกแต่งอย่างหรูหรา ทันสมัย ทั้งยังเป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของเซ็นทรัลที่เปิดแผนกซูเปอร์มาเก็ต ในช่วงแรกไม่เป็นที่นิยมจนขาดทุนกว่า 2 ปี แต่ได้พยายามจัดแสดงสินค้า และทำการตลาดอย่างหนักจนประสบผลสำเร็จ

เข้าสู่ พ.ศ. 2516 เปิดสาขาใหม่ที่ชิดลม บนพื้นที่กว่า 7 ไร่ ด้วยเงินทุน 80 ล้านบาท มีแนวคิด “One Stop Shopping” มุ่งขายสินค้าและบริการแบบครบวงจรโดยไม่ต้องแวะซื้อสินค้าที่อื่นอีก ต่อมา พ.ศ. 2524 เปิดสาขาใหม่ที่ลาดหญ้า ฝั่งธนบุรี, พ.ศ. 2526 เปิดสาขาใหม่ที่ลาดพร้าว, พ.ศ. 2531 เปิดสาขาใหม่ที่หัวหมาก, พ.ศ. 2535 เปิดสาขาใหม่ที่กาดสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น

จนถึงปัจจุบันเซ็นทรัลได้ขยายสาขาทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงประกอบธุรกิจอื่น ๆ อีกจำนวนมาก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิก


อ้างอิง :

จิราธิวัฒน์สัมฤทธิ์. (2535). หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ เมรุวัดเทพศิริทราวาส 3 พฤศจิกายน 2535. ม.ป.ท. : ก. การพิมพ์.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 สิงหาคม 2562