ซางฮี้-ราชวิถี ประแจจีน-เพชรบุรี นามที่เปลี่ยนไปของ “ถนน” ยุคแรกในกรุงเทพฯ

แผนที่ กรุงเทพ ถนน แบบแปลน

“ถนน” กลายเป็นคมนาคมที่เริ่มมีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เพราะแต่เดิมคนในกรุงเทพฯ มักใช้การคมนาคมทางน้ำ-เรือเป็นหลัก แต่เมื่อวิถีชีวิตเปลี่ยนจากทางน้ำมาสู่ทางบกมากขึ้น จึงมีการตัดถนนในกรุงเทพฯ ขึ้นหลายสาย เช่น ถนนเจริญกรุง

ถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อมีการก่อสร้างวัง หรือพระราชวัง (เช่น พระราชวังดุสิต) ห่างออกจากบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ ทำให้ขอบเขตความเป็นเมืองของกรุงเทพฯ ขยายตัวตามไปด้วย จึงมีการตัดถนนเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก เช่น ถนนซางฮี้ ถนนประแจจีน ถนนเบญจมาศ ถนนใบพร ถนนดวงตะวัน ฯลฯ

ชื่อถนนที่ยกตัวอย่างนี้ คงไม่เป็นที่คุ้นหูของคนในปัจจุบัน เพราะได้ถูกเปลี่ยนชื่อไปหมดแล้ว ถนนเหล่านี้อยู่ที่ใด ปัจจุบันคือถนนอะไร? ปริญญา ตรีน้อยใส และรัชดา โชติพานิช เขียนอธิบายไว้ในบทความ “ถนนนี้อยู่หนใด” (ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2552) ดังนี้


 

…การถมอิฐถนน เข้าใจว่าเจ้าจะคิดถมถนนเบญจมาศก่อนนั้น เห็นจะป่วยการ เพราะถนนปลายบ๋วย ปลายใบพอน จะไม่แล้วได้โดยเร็ว สู้ถมถนนซ่มมือไม่ได้ เพราะถนนนั้น แล้วเสร็จตลอดจนถึงคลองผดุง…

ข้อความข้างต้น มาจากพระราชหัตถเลขาของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานเจ้าหมื่นเสมอใจราช เมื่อวันที่ 3 เมษายน ร.ศ. 118 (พ.ศ. 2442) เกี่ยวกับการก่อสร้างถนนหลายสายในสวนดุสิต

สำหรับคนที่สงสัย อยากรู้จัก ถนนเบญจมาศ ถนนปลายบ๋วย ถนนปลายใบพอน หรือถนนซ่มมือ คงจะไปหาดูในแผนที่ หรือจะสืบค้นจาก Google ไม่ได้หรือไม่พบแน่นอน แล้วถนนเหล่านี้อยู่หนใด

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสวนดุสิต ทางทิศเหนือของพระนคร เพื่อเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ และพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน งานก่อสร้างวังเริ่มตั้งแต่จัดหาซื้อที่ดินจากราษฎร ปักเขต วัดระยะ จนถึงก่อสร้างอาคาร และสวน รวมทั้งตัดถนนหลายสาย ทั้งภายในและภายนอกเขตพระราชฐาน

จากรายงานผลการศึกษาข้อมูล เอกสารประวัติศาสตร์ พระราชวังดุสิต ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า มีการตัดถนน ทั้งที่เป็นเส้นทางสัญจรภายในสวนดุสิต และเป็นเส้นทางขนส่งวัสดุก่อสร้างพระราชฐานต่าง ๆ ได้แก่ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระที่นั่งอัมพรสถาน พระที่นั่งวิมานเมฆ และพระที่นั่งอภิเษกดุสิต รวมทั้งพระตำหนักที่ประทับของพระมเหสีและเจ้าจอม ที่พักบรรดาข้าราชบริพาร และอาคารประกอบอื่น ๆ

นอกจากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนโดยรอบสวนดุสิต เพื่อแสดงขอบเขตพระราชฐาน ได้แก่ ถนนซางฮี้ ทางด้านทิศเหนือ ถนนซิ่ว ทางด้านทิศตะวันออก ถนนดวงตวันใน ทางด้านทิศใต้ โดยเชื่อมต่อกับถนนสามเสน ทางด้านทิศตะวันตก ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 นอกจากนี้ ยังมีถนนดวงดาวใต้ ถนนดวงดาวใน และถนนดวงดาวเหนือ แบ่งเขตระหว่างสวนดุสิตและสวนสุนันทา ที่เขตพระราชฐานชั้นใน

งานก่อสร้างถนนดังกล่าว เริ่มขึ้นราวปี พ.ศ. 2441 ดังปรากฏในพระราชกระแส ลงวันที่ 20 มีนาคม ร.ศ. 117 (พ.ศ. 2441) เกี่ยวกับการวัดพื้นที่ และปักหมายเขตสำหรับเป็นเกาะ ถนน วงเวียน ความว่า

1. ให้ปักเกาะเคียงคลองหลอดแก้วแล ถนนซ่มมือ ให้พระยาวิชิตณรงค์เสียให้เสร็จ

2. ให้ปักถนนขวางคือ ถนนบัว ตั้งแต่คลองหลอดแก้ว ไปถนนฮก ให้ได้กึ่งกลางทุ่ง คือคิดตั้งแต่ขอบ ถนนใบพร ไปจนถึงขอบ ถนนดวงตวัน เมื่อปีกถนนเป็นสี่กั๊กเช่นนี้แล้ว จึ่งให้ตีวงเวียนลายตัวปลาตรงสี่กั๊กนั้น…

3. ให้กรมหมื่นสรรพสาตร เจ้าหมื่นเสมอใจพร้อมกันวัดสอบ ตั้งแต่ขอบ ถนนดวงดาว เข้ามา 4 วา ถึงกำแพง ตั้งแต่กำแพงไปจนถึงขอบ ถนนพุดตานใน จะได้เนื้อที่เท่าใด ตั้งแต่ขอบ ถนนพุดตาล ไปจนถึง ถนนฮก จะได้เนื้อที่เท่าใด ให้วัดตาม ถนนซางฮี้ใน ซึ่งจะเอาเป็นแน่ได้… 

หรือในพระราชหัตถเลขาถึง เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ ลงวันที่ 26 เมษายน ร.ศ. 118 (พ.ศ. 2442) เกี่ยวกับความกว้างถนนและขอบทาง รวมทั้งพระราชทานนามถนน ดังนี้

…1. ได้ตัดถนน ตั้งแต่ ถนนสามเสน ออกไปจนถึง คลองเปรมประชากร ตอนหนึ่ง ยาวประมาณ 30 เส้นเสศ ให้ชื่อว่า ถนนราชวัตใน ตั้งแต่ คลองเปรมประชากร ไปถึง คลองขื่อน่า คือริมทางรถไฟประมาณ 20 เส้น ถ้าจะหย่อนเล็กน้อย ชื่อ ถนนราชวัตนอก

…ถนนนี้กว้าง 6 วา จะปูอิฐ 4 วา ขอบปูหญ้าปลูกต้นไม้ข้างละ 4 ศอก เพราะเห็นว่าไม่สู้เป็นทางคนไปมามากนัก จึงไม่ตัดให้เต็มขนาดที่กรมศุขาภิบาลเคยตัดในที่อื่น ๆ แต่ที่เป็นสำคัญของทางนี้คือจะเป็นทางให้คนไปยังสเตชัน รถไฟตำบลสามเสนได้สะดวกขึ้นสายหนึ่ง…

2. ได้ทำ ถนนริมคลอง ข้างทางรถไฟ ซึ่งเรียกว่า ขื่อน่า ตั้งแต่คลองสามเสนไปจนถึง ถนนดวงตวัน แลจะทำต่อไปอิกถึงถนนซึ่งจะออกชื่อต่อไปเป็นสายที่ 3 ถนนนี้ยาวประมาณ 30 เส้น กว้าง 6 วา เท่า ถนนราชวัต ให้ชื่อว่า ถนนซิ่ว…

ที่จริงยังมีถนนอีกหลายสายที่ไม่ได้กล่าวถึง ซึ่งถ้ารวมทั้งหมด น่าจะมีจำนวนมากกว่า 40 สาย ส่วนหนึ่งเป็นถนนสายสั้น ๆ แบ่งเป็นตอน ๆ โดยใช้คำ ว่า ใน นอก เหนือ หรือใต้ กำกับ ทั้งนี้ พระองค์จะพระราชทานนามถนนทุกสายสำหรับใช้เรียกขาน โดยชื่อส่วนใหญ่มาจากชื่อลายกระเบื้องของเหล่าเครื่องถ้วยกังไสจากประเทศจีน หนึ่งในพระราชนิยมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสนพระทัยและศึกษาอย่างลึกซึ้ง จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีพระราชนิพนธ์ ว่าด้วยลายจีนซึ่งเขียนเครื่องถ้วยกระเบื้องกังไส พระราชทานแด่พระบรมวงศานุวงศ์และบรรดาข้าราชบริพาร

ถนนต่าง ๆ ในพระราชวังดุสิตเมื่อแรกสร้าง ไม่ทราบชื่อถนนอะไรบ้าง (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ อ้างใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2552)

อย่างไรก็ตาม การเรียกขานชื่อถนนสายต่าง ๆ ที่ได้รับพระราชทานนั้น เปลี่ยนแปลงไปในเวลาต่อมา เช่น ถนนราชวัตน่า ที่ตัดผ่านตั้งแต่ถนนราชวัตร ถนนพระรามที่ 5 จนถึง ถนนสวรรคโลก ปัจจุบัน คือ ถนนสุคันธาราม โดยเรียกขานตามชื่อวัดสุคันธาราม แต่การเปลี่ยนแปลงชื่อถนนส่วนใหญ่ เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อกระทรวงนครบาลออกประกาศเปลี่ยนแปลงนามถนน 18 สาย ในพระนคร เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2462

ประกาศกระทรวงนครบาล

ด้วยมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามถนนบางสายแล บางตอนในจังหวัดพระนคร ดังต่อไปนี้

1. ถนนซางฮี้นอก 1 ถนนซางฮี้ใน 1 ถนนซางฮี้น่า 1 สามถนนนี้ ตั้งแต่แม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงถนนราชปรารภ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น ถนนราชวิถี

2. ถนนดวงตะวันนอกถนนดวงตะวันใน 1 และถนนดวงตะวันน่า 1 สามถนนนี้ตั้งแต่แม่น้ำเจ้าพระยา จนถึงถนนราชปรารภ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น ถนนศรีอยุธยา

3. ถนนเบญจมาศนอก ตั้งแต่สะพานมัฆวาฬรังสรรค์ถึงถนนพระลาน ให้เปลี่ยนชื่อเป็น ถนนราชดำเนินนอก

4. ถนนคอเสื้อ ตั้งแต่ถนนสามเสนถึงสะพานยมราช ให้เปลี่ยนชื่อเป็น ถนนพิษณุโลก

5. ถนนลก ตั้งแต่ถนนลูกหลวงถึงถนนเตชะวณิช ให้เปลี่ยนชื่อเป็น ถนนพระรามที่ 4

6. ถนนประแจจีน ตั้งแต่สะพานยมราชถึงสะพานเฉลิมโลก ให้เปลี่ยนชื่อเป็น ถนนเพชรบุรี

7. ถนนดวงดาวใต้ ตั้งแต่ถนนคอเสื้อถึงถนนใบพร ให้เปลี่ยนชื่อเป็น ถนนนครราชสีมาใต้ ถนนดวงดาวใน ให้ยกเลิก ถนนดวงดาวเหนือ ตั้งแต่ถนนซางฮี้ในถึงคลองสามเสน ให้เปลี่ยนชื่อเป็น ถนนนครราชสีมาเหนือ

8. ถนนดวงเดือนนอก ถนนดวงเดือนใน สองถนนนี้ ตั้งแต่แม่น้ำเจ้าพระยาถึงถนนสิ้ว ให้เปลี่ยนชื่อเป็น ถนนสุโขทัย

9. ถนนราชวัตร์ ตั้งแต่แม่น้ำเจ้าพระยาถึงถนนประทัดทอง ให้เปลี่ยนชื่อเป็น ถนนนครไชยศรี

10. ถนนสิ้ว ตั้งแต่สะพานยมราชถึงคลองสามเสน ให้เปลี่ยนชื่อเป็น ถนนสวรรคโลก

11. ถนนฮก ตั้งแต่ถนนลูกหลวงถึงถนนดวงตะวันใน ให้เปลี่ยนชื่อเป็น ถนนนครปฐม

12. ถนนสัมมือหนู ตั้งแต่ถนน ชางฮี้ในถึงคลองสามเสน ให้เปลี่ยนชื่อเป็น ถนนสุพรรณ

13. ถนนพุดตาลเหนือ ตั้งแต่ถนนชางฮี้ในถึงคลองสามเสน ให้เปลี่ยนชื่อเป็น ถนนพิชัย

14. ถนนประทัดทอง ตลอดทั้งสาย ให้เปลี่ยนชื่อเป็น ถนนพระรามที่ 6

15. ถนนใบพร ตั้งแต่ถนนสามเสนถึงถนนส้มมือใต้ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น ถนนอู่ทอง (นอก) ถนนปลายใบพร ตั้งแต่ถนนพระลานถึงถนนชางฮี้ใน ให้เปลี่ยนชื่อเป็น ถนนอู่ทอง (ใน)

16. ถนนประทุมวัน ตั้งแต่สะพานยศเสถึงถนนราชดำริ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น ถนนพระรามที่ 1

17. ถนนหัวลำโพง (นอก) ตั้งแต่ถนนเจริญกรุง ถนนหลวงสุนทรโกษา ให้เปลี่ยนชื่อเป็น ถนนพระรามที่ 4

18. ถนนตลาด ตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าลีลาศถึงถนนคอเสื้อ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น ถนนนครสวรรค์

ประกาศมา ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พระพุทธศักราช 2462

(ลงนาม) มหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงนครบาล

ด้านหน้าพระตำหนักพญาไท รถยนต์หลวงจอดบนถนนซังฮี้

ด้วยพระปรีชาสามารถและพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกทั้งสายพระเนตรอันยาวไกล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการสร้าง “ถนน” และพระราชทานนาม “ถนน” ที่นอกจากจะนำความเจริญรุ่งเรืองสู่พระนครแล้ว ปวงพสกนิกรต่างได้ใช้ประโยชน์ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 สิงหาคม 2565