ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2545 |
---|---|
ผู้เขียน | นพ. สมเกียรติ ธาตรีธร |
เผยแพร่ |
สาเก (Artocarpus altilis ในวงศ์ Moraceae)
สรรพคุณทางแผนปัจจุบัน
1. สาร Lectins ที่สกัดได้พบว่ามีฤทธิ์ป้องกันการติดเชื้อ HIV-1 (Antiviral Chemother. 1993, 4 (3), 145-53) (Eng). (ยังเป็นเพียงผลในห้องปฏิบัติการ)
2. สาร Triterpine ที่สกัดจากใบมีฤทธิ์เป็นยาฆ่าแมลง (Philipp, J. Sci. 1995, 124 (4), 345-57) (Eng).
3. สารสกัดจากดอกของพืชใน genus เดียวกัน (Arto-carpus communis) มีฤทธิต่อต้านเซลล์มะเร็งบางชนิดได้ (Institute of Physical and Chemical Research) Kokai Tokkyo koho JP (24 Nov. 1987, & 7 Mar. 1986)
4. สาร Tyrosinase inhibitor จาก Artocarpus incisus มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง melanin ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง (Jpn. Kokai Tokkyo Koho JP 22 Oct. 1996 & 5 Apr. 1995)
สรรพคุณทางยาไทย
1. รากที่ขุดจากด้านทิศตะวันออกเป็นสิ่งหนึ่งในหลายสิ่งใช้ต้มแก้ไข้เรื้อรัง
2. สาเกเชื่อมเป็นอาหารต้องห้ามของคนที่เป็นหนองใน เพราะทำให้มีหนองมากขึ้น ในวงสนทนาของผู้ชายไทยสมัยที่โรคเอดส์ยังไม่ระบาดจนสยบความซ่าในเรื่องการเที่ยวกลางคืนนั้น มีคำพูดล้อเลียนกันอยู่อย่างหนึ่งว่า “ไอ้นี่กินสาเกไม่ได้” เพราะตามตำราแพทย์แผนไทยโบราณเชื่อกันว่า คนที่เป็นโรคทางเพศสัมพันธ์โดยเฉพาะหนองใน ถ้ากินสาเกเชื่อมแล้วโรคจะกำเริบ มีหนองเพิ่มมากขึ้น ยังไม่เคยมีการพิสูจน์เชิงวิทยาศาสตร์อย่างชัดเจนว่าสาเกมีผลในทางใดกับโรคเพศสัมพันธ์ ซึ่งในสมัยโบราณที่พบบ่อยคือ หนองในและซิฟิลิส
สาเกเป็นผลไม้ทางตะวันออก ที่รู้จักกันทั่วไปมี 2 ชนิด ถ้าเป็นชนิดไม่มีเรียกสาเก ถ้ามีเมล็ดเรียกขนุนสำปะลอ เมื่อปอกเปลือกจะมีลักษณะเป็นเนื้อแน่นๆ มีสารแป้ง (carbohydrate) สูง
สาเกธรรมดาๆ นี่แหละเคยเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นอย่างหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศอังกฤษ เป็นการกบฏในเรือครั้งใหญ่ที่มีการจารึกและกล่าวขวัญถึงในด้านต่างๆ มาตลอดสองร้อยปีเศษ
ในช่วงศตวรรษที่ 18 อังกฤษส่งกองเรือออกจับคนผิวดำจำนวนมากมายในแอฟริกา แบบต้อนจับสัตว์เพื่อไปขายเป็นทาสแรงงานในอเมริกา คนผิวดำแม้จะด้อยพัฒนาแต่ก็ทำมาหากินและมีความสุขและทุกข์ไปตามประสาตนเอง ต้องถูกพรากพ่อ แม่ ลูก ผัว เมีย อย่างน่าอเนจอนาถ ต้องเห็นบุคคลที่ตนเองรักและรักตนเองถูกล่ามโซ่และถูกลากลงเรือหายลับไปในทะเล เป็นการจากชั่วกาลนานตลอดไป
ชาวอังกฤษผู้กระทำการนั้น เพื่อไม่ให้เหนื่อยเปล่าจึงจำเป็นต้องเลี้ยงคนผิวดำไว้ให้มีชีวิตจนถึงตลาดค้าทาสเพื่อทำเงิน แต่ขณะเดียวกันก็เสียดายขนมปังซึ่งต้องทำจากข้าวสาลีราคาแพง คนผิวดำซึ่งในสายตาคนอังกฤษเป็นเพียงสัตว์ที่ทำตามคำสั่งคนผิวขาวได้เท่านั้น ไม่ควรมีเกียรติได้กินอาหารดีราคาแพงเช่นนั้น จึงมีความพยายามแสวงหาพืชที่ให้แป้งมาก โตง่าย ราคาถูก มาให้สินค้าผิวดำเหล่านั้นกินกันตาย และเมื่อขายทาสได้แล้วก็จะได้ขายพืชที่ว่านั้นให้กับผู้ซื้อได้อีกด้วย
จากการค้นหาพืชชนิดดังกล่าวก็ได้ข้อสรุปว่าน่าจะเป็นผลจากพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งซึ่งอังกฤษไปพบว่ามีมากที่เกาะตาฮิติ (Tahiti) ในหมู่เกาะโซไซตี (Society) อังกฤษจึงส่งเรือลำหนึ่งชื่อเรือเบาน์ตี (BOUNTY) นำโดยกัปตันเรือชื่อวิลเลียม ไบล (William Bligh) ไปขนพืชที่พบนั้นมาเพื่อขยายพันธุ์ในเกาะจาเมกา (Jamaica) ซึ่งมีภูมิอากาศใกล้เคียงกับเกาะตาฮิติ พร้อมกับตั้งชื่อพืชซึ่งจะนำมาให้คนผิวดำกินแทนขนมปังของคนผิวขาวนั้นว่า “Bread fruit” หมายถึงผลไม้ที่ใช้กินแทนขนมปัง
พืชนั้นมีในเมืองไทยเช่นกัน เราเรียกมันว่า “สาเก”
กัปตันไบลเป็นคนเข้มงวด วินัยจัด ใช้วิธีก้าวร้าวและรุนแรงในการควบคุมลูกเรือ ความผิดไม่ว่าเล็กน้อยเพียงใดก็จะถูกลงโทษรุนแรงเสมอ ทำให้ลูกเรือเบาน์ตีตกอยู่ภายใต้ความกดดันตลอดเวลา
กัปตันไบลนำเรือเบาน์ตีออกเดินทางจากประเทศอังกฤษปลายปี 1788 แวะหาข้อมูลทางทะเลตามรายทางจนถึงเกาะตาฮิติในเดือนเมษายน 1789 ระหว่างการเดินทางก็มีการพบปะชาวพื้นเมืองตามเกาะต่างๆ หลายแห่งหลายรูปแบบซึ่งกัปตันมหาโหดในสายตาของลูกเรือก็ได้แสดงความโหดอย่างสม่ำเสมอตลอดทาง
เมื่อขนสาเกขึ้นเรือเต็มระวางแล้ว ในระหว่างเดินทางกลับความอดทนของลูกเรือจำนวนหนึ่งก็หมดลง อาจจะประกอบกับได้สัมผัสจนหลงเสน่ห์ความสวยงามน่าอยู่ของเกาะตาฮิติและสาวตาฮิติเข้าด้วยหรือเปล่าก็ไม่ทราบได้ ลูกเรือนำโดยกะลาสีคนหนึ่งชื่อเฟลทเชอร์ คริสเตียน (Fletcher Chris tian) ก็ก่อการกบฏขึ้น จับกัปตันกับลูกน้องที่ไม่ร่วมก่อการด้วยรวม 19 คน ให้อาหารและน้ำไปด้วยเล็กน้อยโดยเชื่อว่าคงต้องตายในทะเลแน่นอน
กัปตันไบลได้แสดงออกถึงความเป็นคนมีลายสมจริง เหมือนกับมาดที่แสดงให้ลูกน้องเห็น ด้วยเรือเล็กลำเดียวที่อัดกันตั้ง 19 คน เขาจัดเวรผลัดกันกรรเชียงเรือตลอด 24 ชั่วโมง แวะหาอาหารและน้ำตามเกาะแก่งที่เรือผ่านและปันส่วนการกินอย่างเข้มงวด ต้องผจญกับคนพื้นเมืองบางแห่งที่ดุๆ จนลูกน้องถูกฆ่าตายต่อหน้าไปหนึ่งคน บาดเจ็บหลายคน
จากความเชี่ยวชาญในการเดินเรือกับความมีวินัยที่เข้มแข็ง คน 18 คนที่เหลือสามารถนำเรือเล็กขนาดเพียง 7 เมตร เดินทางได้ถึงกว่า 3,600 ไมล์ (เกือบ 6,000 กิโลเมตร) ในเวลา 48 วัน จากนอกฝั่งตาฮิติมาจนถึงเกาะติมอร์ ใกล้กับอินโดนีเซียซึ่งขณะนั้นเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์อยู่ จากนั้นจึงอาศัยเรือชาวดัตช์เดินทางกลับอังกฤษ
รัฐบาลอังกฤษเมื่อทราบเรื่องจึงส่งเรือรบไปยังเกาะตาฮิติ เพื่อจับพวกกบฏนำตัวกลับมาขึ้นศาลในอังกฤษ พวกลูกเรือถูกจับประหารชีวิตโดยการแขวนคอ 3 คน นอกนั้นเข้าคุก
แต่ตัวหัวหน้ากบฏเฟลทเชอร์ คริสเตียน และลูกเรืออีก 8 คนหนีไปพร้อมกับผู้หญิงตาฮิติจำนวนหนึ่ง ทหารอังกฤษตามหาตัวไม่พบ และหายสาบสูญไปตั้งแต่บัดนั้น
เหตุการณ์กบฏครั้งนี้เป็นการกบฏบนเรือที่ลือลั่นในประวัติศาสตร์อังกฤษและประวัติศาสตร์โลก ทั้งในแง่ภารกิจที่ไปทำซึ่งเกี่ยวพันกับการกดขี่คนเป็นทาส ในแง่เหตุผลที่กบฏซึ่งเกี่ยวพันกับความขาดเมตตาของผู้นำ และในแง่ความทรหดอันน่ามหัศจรรย์ของกัปตันไบลและพวกที่นำตัวรอดมาได้ในระยะทางไกลอย่างไม่น่าเชื่อ ในเวลาที่น้อยอย่างไม่น่าเชื่อเช่นกัน บริษัทวอร์เนอร์ เคยนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง “Mutiny on the Bounty” นำแสดงโดยมาร์ลอน แบรนโด แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ขาดทุนไปหลายร้อยล้านดอลลาร์
หลังการกบฏครั้งนั้นทางการอังกฤษได้ทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างกัปตันเรือและลูกเรือใหม่ มีการกำหนดขอบเขตการปฏิบัติของกัปตัน การลงโทษ และรูปแบบความสัมพันธ์อื่นๆ ระหว่างการเดินเรือทั้งภายในและภายนอกลำเรือ เพื่อไม่ให้มีเหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นอีก…
ขอขอบคุณ คุณหมอประกิต สุมนกาญจน์ แพทย์แผนไทย คุณปารณัฐ สุขสุด แห่งศูนย์ข้อมูลข่าวสาร มหาวิทยาลัยมหิดล และคุณนูร์ไอนี นาวี แห่งบริติชเคาน์ซิล
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 สิงหาคม 2565