สวนสุนันทา : สวนป่านามพระราชทาน

สวนสุนันทา (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2552)

“—เราควรมีสวนข้างใน ซึ่งเที่ยวได้ตามลำพังยิ่งมาเห็นพวกเจ้าแผ่นดินฝรั่งถือลูกประแจสวนหลายคนเข้า ยิ่งคิดถึงสวนที่นึกไว้ว่าจะทำมากขึ้น—”

เป็นข้อความตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะเสด็จประพาสทวีปยุโรป ครั้งที่ 2 ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2450 ทรงมีมาถึงเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) แต่ครั้งยังเป็นพระยาสุขุมนัยวินิต เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ เป็นพระราชปรารภถึงพระราชประสงค์ในการที่จะมีสวนป่าไว้ใกล้ที่ประทับ อันเป็นต้นเหตุของการสร้าง “สวนสุนันทา”

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างพระราชวังดุสิตขึ้นนั้น มีพระราชประสงค์ให้เป็นสถานที่มีอากาศดีและมีความสงบ ต่อมาเมื่อโปรดให้สร้างพระตำหนักน้อยใหญ่ขึ้น ข้าราชบริพารซึ่งตามเสด็จพระมเหสีเทวี เจ้าจอมมารดา เจ้าจอม มาอยู่ด้วยมีจำนวนมากขึ้นทำลายความสงบตามพระราชประสงค์หมดสิ้น ดังที่มีพระราชปรารภว่า “—คือพระที่นั่งเดี๋ยวนี้ ไม่มีที่สงัดซึ่งจะเที่ยวเล่นแต่ลำพังได้—”

จึงมีพระราชดำริในพระทัยจะสร้างสวนป่าขึ้น ในอาณาบริเวณที่ต่อกับพระราชวังดุสิต สำหรับเป็นที่สงัดพักผ่อนพระอิริยาบถส่วนพระองค์ และเมื่อเสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่ 2 ทรงเห็นสวนป่าอันเป็นที่สงัดสำหรับพระเจ้าแผ่นดินของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปใช้เป็นที่พักผ่อนสำราญพระอิริยาบถเป็นการส่วนพระองค์โดยไม่ไกลจากวังที่ประทับ เช่น สวนป่าของวังเป็นสตอฟ ประเทศเดนมาร์ก ทำให้แนวพระราชดำริถึงสวนป่าที่ทรงมีมาแต่เดิมกระจ่างชัดขึ้นในพระทัย ดังที่ทรงบรรยายไว้ในพระราชหัตถเลขาว่า “—เป็นไอเดียสำหรับอินสตั้คชั่นในการเขียนแผนที่—” มีลักษณะโดยสรุปคือเป็นสวนป่ามีไม้ยืนต้นนานาชนิด มีคูน้ำคดเคี้ยวไปในระหว่างร่มไม้ที่ร่มครึ้ม มีพลับพลาและเรือนแพที่ประทับ

นอกจากสวนป่าแล้วยังมีพระราชประสงค์จำลองบรรยากาศชนบทคือ มีสวนปลูกผัก ดังที่ทรงบรรยายไว้ว่า “—อยากจะได้เป็นอย่างบ้านนอกในเมืองเรา แถมข้างดอน ๆ เมื่อเวลาไปเดินให้รู้สึกเหมือนเราไปเดินอยู่ตามบ้านนอกได้ทันที—” พระราชประสงค์สำคัญที่โปรดให้สร้างสิ่งต่าง ๆ ไว้นั้นก็เพื่อ “—เป็นข้อสำคัญของความประสงค์ที่จะหาความสงบระงับ และทั้งไม่เปลืองเงินด้วย—”

การสร้างสวนป่าตามพระราชดำรินี้ลงมือสร้างอย่างจริงจังในบริเวณทิศตะวันตกของพระราชวังดุสิต เมื่อ พ.ศ. 2450 ทรงเอาพระทัยใส่และแก้ปัญหาต่าง ๆ ในการก่อสร้างด้วยพระองค์เอง เช่น บริเวณวัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) นั้นก็พระราชทานแนวพระราชดำริแก้ปัญหาโดยไม่ต้องถมคูคลองของวัด ความว่า “—เราไม่ทำอะไรกับคลองคูวัดนั้นเลย ให้คงอยู่ตามเดิม เราจะขอเช่าฤาซื้อที่ฟากข้างใต้แนวตลอดจนท้ายคูวัดบังกุฏิบังเมรุได้หมด—”

โดยเฉพาะการเลือกพันธุ์ไม้ที่จะทรงปลูก ทรงพิถีพิถันเสาะหาพันธุ์ไม้พันธุ์ไทยขนาดใหญ่และหายาก เช่น ประดู่ ไทร กร่าง ปีบ โศกมาปลูกไว้ทั่ว ๆ ไปตามความเหมาะสมของแต่ละสถานที่ เมื่อแรกสร้างสวนป่านี้ทรงตั้งพระทัยว่า สร้างเสร็จแล้วจะรื้อกำแพงด้านหลังพระราชวังดุสิตออกรวมอาณาเขตสวนป่าเข้ามาอยู่ในพระราชวังดุสิต และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสวนป่านี้ไว้ว่า “สวนสุนันทา”

ชื่อสวนสุนันทานั้นเชื่อกันว่า พระราชทานเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงพระมเหสีที่ทรงรักและอาลัยมิรู้คลายคือ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ซึ่งสิ้นพระชนม์จากอุบัติเหตุเรือพระที่นั่งล่มที่ตำบลบางพูด จังหวัดนนทบุรี และชื่อนี้ยังมีความหมายเป็นอุทยานบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ซึ่งเป็นอุทยานที่มีความงดงามน่ารื่นรมย์สำหรับเหล่าเทพนารีในสรวงสวรรค์

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี

ต่อมามีพระราชดำริห่วงใยพระมเหสีเทวี พระราชธิดา เจ้าจอมมารดา และเจ้าจอม รวมทั้งพระราชวงศ์ฝ่ายในว่าเมื่อเปลี่ยนแผ่นดินจะได้รับความลำบากเรื่องที่อยู่อาศัย จึงโปรดให้สร้างตำหนักและเรือนพระราชทาน โดยโปรดให้สร้างเป็นเรือนไม้มีลักษณะกลมกลืนกับธรรมชาติสวนป่า แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า การสร้างสวนสุนันทาครั้งนั้นยังไม่ทันสำเร็จสมบูรณ์ตามที่มีพระราชประสงค์ ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน

สวนสุนันทาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงกลายเป็นเพียงสวนพฤกษชาตินานาชนิด และตำหนักน้อยใหญ่ของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในทั้งหมด 32 ตำหนัก แม้จะมิได้เป็นสวนป่าดังพระราชประสงค์ แต่สวนสุนันทาก็มีความงดงามสงบและร่มรื่นด้วยการตกแต่งในลักษณะโขดเขา คูคลองคดเคี้ยวมีสุมทุมพุ่มไม้น้อยใหญ่ กระจัดกระจายไปทั่วทั้งอาณาเขต 122 ไร่ ดังที่ คุณหญิงกรองทอง สุรัสวดี ผู้ซึ่งเคยพำนักอยู่ ณ สถานที่แห่งนี้เมื่อวัยเยาว์ ได้บรรยายบรรยากาศแห่งความสงบสุขสนุกสบายของสวนสุนันทาไว้ว่า

“—ข้าพเจ้าว่าสมเป็นสวนสวรรค์ สำหรับเหล่าสนมนางกำนัล มีสุมทุมพุ่มไม้ คลองเกาะ แอ่งน้ำใหญ่น้อย มีต้นไม้นานาชนิดทั้งไม้ดอกไม้ใบไม้เถาอย่างที่หาที่อื่นไม่มี เพราะมเหสีเจ้าจอมหม่อมห้ามล้วนเสาะแสวงหามาประดับประดา—ตอนเช้ามืดดอกไม้หอมรื่นไปทั่วทุกฤดู ดอกไม้บานสลับกันไปตลอดปี กรรณิการ์หล่นเกลื่อนตามพื้นดิน ยามรุ่งอรุณกลิ่นสายหยุด มณฑาโชยมาตามลม—”

แม้ว่าในปัจจุบัน สวนสุนันทาจะมิได้เป็นทั้งสวนป่าและที่ประทับของพระราชวงศ์ฝ่ายในตามพระราชประสงค์ขององค์ผู้มีพระราชดำริ แต่สถานที่แห่งนี้ก็ยังคงความสำคัญในฐานะเป็นสถานที่ให้การศึกษาแก่เยาวชนของชาติในนามมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

ประตูสี่แซ่ หรือประตูสุนันทาวาร (ภาพจาก “เจ้านายที่เคยประทับในวังสุนันทา”)

อ่านเพิ่มเติม :


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 สิงหาคม 2565