ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2546 |
---|---|
ผู้เขียน | เทอดพงศ์ คงจันทร์ |
เผยแพร่ |
สวนสุนันทา มิใช่ “วัง” แท้จริงแล้วเป็น “สวนในวัง”
เดินทางผ่านถนนราชสีมาในวันหนึ่ง บังเอิญได้เหลือบไปเห็นป้ายชื่อส่วนราชการแห่งหนึ่ง สลักไว้ว่า “กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย Department of Local Administration, Ministry of Interior (วังสวนสุนันทา)” โดยที่ตั้งของส่วนราชการแห่งนี้อยู่บริเวณติดกับสถาบันราชภัฏสวนดุสิต และสถาบันราชภัฏสวนสุนันทาในปัจจุบัน (ช่วงเวลาที่เผยแพร่บทความนี้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม คือ ธันวาคม 2546 -กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม)
เหตุที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกสะดุดกับป้ายชื่อส่วนราชการดังกล่าว ก็ตรงที่วงเล็บไว้ว่า “วังสวนสุนันทา” เพราะเท่าที่ทราบมาพื้นที่ดังกล่าวไม่น่าจะเป็น “วัง” แต่อย่างใด หากแต่เป็นเพียง “สวน” ในเขตพระราชวังเท่านั้น
จะเห็นได้จากประวัติการก่อสร้างที่ว่า เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงโปรดให้สร้าง “สวนดุสิต” ขึ้นในปี พ.ศ. 2442 ณ บริเวณทุ่งส้มป่อย ทางด้านทิศเหนือของกรุงเทพมหานคร เพื่อใช้เป็นพระราชอุทยานประทับแรมสำราญพระราชอิริยาบถ (ต่อมารัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้ยกขึ้นเป็น “วังสวนดุสิต” และ “พระราชวังสวนดุสิต” ตามลำดับ พอถึงในสมัยรัชกาลที่ 6 จึงได้ทรงโปรดให้เปลี่ยนชื่อเป็น “พระราชวังดุสิต” ในที่สุด)
พื้นที่ของวังสวนดุสิตขณะแรกเริ่มปลูกสร้าง จะกินอาณาบริเวณที่กว้างตั้งแต่คลองผดุงกรุงเกษม (ถนนพระราม 5 ในปัจจุบัน) ไปจนจดคลองสามเสน (ถนนสามเสนในปัจจุบัน) ซึ่งภายในวังจะประกอบไปด้วยพระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ อาทิ พระที่นั่งวิมานเมฆ พระที่นั่งอัมพรสถาน เป็นต้น นอกจากนั้นยังทรงให้ปลูกตำหนักพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ได้ใช้เป็นที่ประทับอีกหลายๆ พระองค์ด้วยกัน อาทิ พระตำหนักสวนกุหลาบของสมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ และตำหนักสวนบัวของพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ฯ เป็นต้น
ในส่วน “สวน” นั้น ได้ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะตกแต่งให้เป็นไปตามแบบอย่างของพระราชวังในประเทศตะวันตก จึงได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ช่างสวนชาวอังกฤษ ชื่อมิสเตอร์เยนกินส์ เข้ามารับราชการเป็นผู้ออกแบบ และควบคุมดูแลการดำเนินงาน โดยได้ทรงแบ่งที่ดินออกเป็นส่วนๆ และโปรดให้จัดทำเป็นสวนพระราชทานแก่เหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ เพื่อใช้เป็นที่พักผ่อนและสำราญพระราชหฤทัยเป็นการส่วนพระองค์ อาทิ “สวนสี่ฤดู” ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ “สวนฝรั่งกังไส” ของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี และ “สวนโป๊ยเซียน” ของเจ้าจอมมารดาโหมด เป็นต้น
สวนสุนันทาก็เป็นอีกสวนหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2451 ในเขตของ “วังสวนดุสิต” ซึ่งมีเนื้อที่ของสวนทั้งหมดจำนวน 112 ไร่ โดยมีอาณาเขตติดต่อกับถนนใหญ่ทั้งหมด 4 ด้าน คือทิศเหนือจดถนนราชวิถี ทิศใต้จดถนนอู่ทองนอก ทิศตะวันออกจดถนนราชสีมา และทิศตะวันตกจดถนนสามเสน โดยมีความเป็นมาของการก่อสร้างปรากฏตามที่ “จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์” ได้บันทึกไว้ ดังความที่ว่า
“เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จไปประทับอยู่ ณ พระราชวังดุสิตแล้ว ทรงมีพระราชดำริจะสร้างสถานที่รื่นรมย์ มีลักษณะเป็นสวนป่ากลายๆ คล้ายพระราชวังเบินสตอฟของประเทศเดนมาร์ก เพื่อทรงใช้เป็นที่สำราญพระราชหฤทัยและพระราชอิริยาบถขึ้นทางตะวันตกของพระราชวังดุสิต แทนการเสด็จประพาสหัวเมือง และจะได้ใช้เป็นที่ประทับสำหรับพระมเหสี พระราชธิดา และบาทบริจาริกา เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มการสร้างสวนนั้นเมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๑ และพระราชทานนามว่า “สวนสุนันทา” (นัยว่าเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระมเหสี) แต่การสร้างสวนสุนันทายังไม่ทันเสร็จสมบูรณ์ตามพระราชประสงค์ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน
ครั้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นผู้อำนวยการสร้างสวนสุนันทาเพิ่มเติมตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๕๔ สำเร็จในพุทธศักราช ๒๔๖๒ และจัดถวายเป็นที่ประทับของพระมเหสี พระราชธิดา และบาทบริจาริกา ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถให้สมดังที่ทรงตั้งพระราชปณิธานไว้
สวนสุนันทาในระหว่างพุทธศักราช ๒๔๖๒-๒๔๗๕ เป็นที่ประทับของพระราชวงศ์ฝ่ายในในรัชกาลที่ ๕ มีเนื้อที่ ๑๑๒ ไร่ มีพระตำหนักใหญ่น้อยซึ่งสร้างเป็นสถาปัตยกรรมแบบ Italian Renaissance รวม ๓๒ ตำหนัก เป็นสถานที่สวยงามน่ารื่นรมย์แห่งหนึ่ง ตอนกลางของบริเวณเป็นสระใหญ่ ประกอบด้วยคูคลองคดเคี้ยว มีเกาะแก่งและโขดหินเนินดินน้อยใหญ่ ร่มรื่นด้วยเงาพฤกษานานาชนิด พระตำหนักต่างๆ เรียงรายอยู่บนพื้นที่ราบบนโขดหิน เนินดิน และริมคูคลอง แต่ละตำหนักต่างก็ทำสวนปลูกไม้ดอกนานาชนิดอย่างงดงาม
ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในพุทธศักราช ๒๔๗๕ เจ้านายฝ่ายในและเจ้าจอมต่างก็เสด็จและออกไปสร้างที่ประทับและที่อยู่ภายนอก สวนสุนันทาจึงถูกทิ้งร้าง คงเหลือแต่โขลนจ่าเฝ้าอยู่เพียงเล็กน้อย ครั้นในพุทธศักราช ๒๔๘๐ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ได้มอบสวนสุนันทาให้แก่นายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของรัฐมนตรีและผู้แทนราษฎร แต่สภาผู้แทนราษฎรได้ชี้แจงว่าไม่พร้อมที่จะใช้สถานที่ คณะรัฐมนตรีจึงเห็นควรที่จะใช้สวนสุนันทาเป็นสถานศึกษาของชาติ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จึงมอบสวนสุนันทาให้กับกระทรวงธรรมการ เพื่อจัดเป็นสถานศึกษาของชาติสืบไป
ปัจจุบันภายในบริเวณสวนสุนันทาได้เป็นที่ตั้งของสถาบันการศึกษาและสถานที่ทำการของรัฐบาล คือวิทยาลัยครูสวนสุนันทา (มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาในปัจจุบัน-ผู้เขียน) วิทยาลัยครูสวนดุสิต (มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตในปัจจุบัน-ผู้เขียน) โรงเรียนอนุบาลลอออุทิศ ศูนย์การอบรมข้าราชการฝ่ายปกครอง (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นในปัจจุบัน-ผู้เขียน) ฯลฯ”
จากความข้างต้นจะเห็นได้ว่า “สวนสุนันทา” จึงเป็นเพียง “สวน” แห่งหนึ่งที่สร้างขึ้นในเขตพื้นที่ของ “พระราชวังดุสิต” โดยมีพระตำหนักของพระบรมวงศานุวงศ์ปลูกสร้างอยู่ภายในนั้นเพียงเท่านั้น หาใช่เป็น “วัง” แต่อย่างใดไม่
ประกอบกับเมื่อตรวจสอบทำเนียบรายชื่อของวังในสมัยรัตนโกสินทร์จากหนังสือต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่ “ตำนานวังเก่า” “นามานุกรมสถาปัตยกรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์” และ “จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์” ก็ไม่ปรากฏว่าได้มีการประกาศยก “สวนสุนันทา” ขึ้นเป็น “วัง” แต่อย่างใด
เพราะฉะนั้นผู้เขียนจึงเชื่อว่าการเรียกขานพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของ “กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย” ในปัจจุบันว่า “วังสวนสุนันทา” นั้น คงเป็นการเรียกกันเองอย่างติดปากต่อเนื่องกันมา กระทั่งเลยเถิดถึงขั้น “ขึ้นป้าย” กันอย่างที่เห็น และผิดเพี้ยนจากประวัติศาสตร์ดังที่ได้กล่าวมา
ดังนั้นหากส่วนราชการดังกล่าวจะได้แก้ไขป้ายชื่อของหน่วยงานตนเสียใหม่ให้ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนให้เหลือเพียง “(สวนสุนันทา)” เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ หรือจะลบออกเสียเลยก็ตามแต่ แม้นว่าจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมบ้าง แต่เมื่อคำนึงถึงผลดีในระยะยาวแล้ว ผู้เขียนคิดว่าจะช่วยได้มากในการลดจำนวนผู้คนที่สัญจรผ่านไปมา มิให้หลงเข้าใจผิดขยายวงไปมากกว่าที่เป็นอยู่
และถ้าจะให้ดีกว่านั้น หากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะได้จัดทำแผ่นอนุสรณ์บันทึกประวัติโดยสังเขปของ “สวนสุนันทา” จัดตั้งในบริเวณที่ตั้งของหน่วยงาน ที่ผู้คนผ่านไปมาสามารถสังเกตเห็นได้ชัด เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ในการช่วยบอกเล่าถึงความเป็นมาของสถานที่ดังกล่าวนี้ให้ผู้คนทั่วไปตลอดจนอนุชนรุ่นหลังได้ทราบถึง “ชื่อบ้าน นามเมือง” ของตนเองอย่างถูกต้อง
ผู้เขียนก็เห็นว่าจะเป็นการดีอย่างยิ่ง เพราะจะถือได้ว่าส่วนราชการนี้ได้มีส่วนในการแสดงความกตัญญูต่อ “สวนสุนันทา” ที่เป็น “มาตุภูมิ” ของตนเองได้อย่างน่าอนุโมทนายิ่งเลยทีเดียว
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2561