ตามรอยเรือ “เอ็กซ์เพรส” จากภาพยนตร์ “บุพเพ ๒” เรือกลไฟลำแรกที่เข้าสู่สยาม

เรือกลไฟ “เอ็กซ์เพรส” (Express) (ภาพจาก Youtube GDH : ตัวอย่างอย่างเป็นทางการภาพยนตร์ ‘บุพเพสันนิวาส ๒’ | Official Trailer)

ในภาพยนตร์ “บุพเพสันนิวาส ๒” ซึ่งดำเนินเรื่องใน พ.ศ. 2387 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 มีการกล่าวถึงเรือกลไฟที่มีชื่อว่า “เอ็กซ์เพรส” เรือลำนี้มีประวัติความเป็นมาอย่างไร? มีความสำคัญในฐานะฉากหลังทางประวัติศาสตร์ในภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างไร?

[Spoiler Alert! : บทความนี้นำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นตามประวัติศาสตร์ ซึ่งเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนที่ถูกนำไปใช้เป็นแกนเรื่องหลักของภาพยนตร์ หากผู้อ่านสนใจศึกษาเรื่องราวที่เป็นปูมหลังของเรื่องโดยไม่กลัวถูก Spoil ผู้เขียนแนะนำให้อ่าน เพื่อเพิ่มอรรถรสในการรับชมภาพยนตร์ แต่หากผู้อ่านกลัวถูก Spoil ผู้เขียนแนะนำให้รับชมภาพยนตร์เสียก่อน แล้วกลับมาอ่านบทความนี้ เพื่อศึกษาเรื่องราวบนหน้าประวัติศาสตร์ว่ามีความเป็นมาอย่างไร]

“เรือกลไฟ” หรือ “เรือกำปั่นไฟ” เป็นเรือที่ใช้เครื่องจักรพลังไอน้ำในการขับเคลื่อน เรือกลไฟลำแรกที่เข้ามาแล่นอวดโฉมให้ชาวสยามตื่นตาตื่นใจ ซึ่งเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ขุนนางสยาม ถึงกับกล่าวว่า “เรือลำนี้เป็นฝีมือของทวยเทพ หาใช่มนุษย์ไม่” นั่นคือเรือกลไฟที่มีชื่อว่า “เอ็กซ์เพรส” (Express)

เรือเอ็กซ์เพรสแล่นออกจากเมืองท่าลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ ในวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ. 1843 (พ.ศ. 2386) มาถึงสิงคโปร์เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ในปีนั้น และเดินทางถึงบางกอกในเดือนมกราคม ค.ศ. 1844 (พ.ศ. 2387 – นับศักราชอย่างใหม่) แต่ไม่ทราบวันที่แน่ชัด ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3

เรือลำนี้เดินทางมาถึงสยาม ภายใต้การบัญชาการของกัปตัน “ปีเตอร์ บราวน์” (Peter Brown) โดยผู้ที่นำเรือเอ็กซ์เพรสเข้ามาคือ “โรเบิร์ต ฮันเตอร์” (Robert Hunter) หรือที่ชาวสยามเรียกว่า “นายหันแตร” พ่อค้าชาวอังกฤษเจ้าของห้างหันแตร ห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในสยามนั่นเอง

เรือกลไฟ “เอ็กซ์เพรส” (Express) (ภาพจาก Youtube GDH : ตัวอย่างอย่างเป็นทางการภาพยนตร์ ‘บุพเพสันนิวาส ๒’ | Official Trailer)

การเข้ามาของเรือกลไฟนี้ จากหลักฐานของฝ่ายไทยในพระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3  ระบุว่า “…ด้วยหันแตรอังกฤษ ซึ่งเป็นหลวงอาวุธวิเศษประเทศพาณิช เข้ามาตั้งค้าขายอยู่ที่กรุง เอากำปั่นไฟเข้ามาขายลำ 1 คิดราคา 2,000 ชั่ง เจ้าพนักงานไม่ซื้อ หันแตรพูดหยาบช้าว่าในหลวงรับสั่ง ถ้าเจ้าพนักงานไม่ซื้อ จะเอาเรือไปผูกไว้ที่หน้าตำหนักน้ำ ทรงทราบก็ขัดเคือง ให้ไล่หันแตรไปเสีย ไม่ให้อยู่ในบ้านเมือง…”

จากข้อความในพระราชพงศาวดารกล่าวไปในทำนองว่านายฮันเตอร์เป็นผู้นำเรือมาเสนอขายเอง ขุนนางสยามไม่รับซื้อ นายฮันเตอร์จึง “พูดหยาบช้าว่าในหลวงรับสั่ง” หมายความว่านายฮันเตอร์ยกเอารัชกาลที่ 3 มาอ้างว่าทรงสั่งซื้อเรือลำนี้ด้วยพระองค์เอง

เรื่องการที่สยามเป็นฝ่ายสั่งซื้อหรือไม่นั้น จากหลักฐานยังมีความคลุมเครืออยู่ โดยจากหลักฐานของชาวตะวันตก ในบันทึกของนางลูเซีย ฮันต์ เฮเมนเวย์ (Lucia Hunt Hemenway) ภรรยาของบาทหลวงอาสา เฮเมนเวย์ (Asa Hemenway) กล่าวว่า “เรือกลไฟลำหนึ่งจากอังกฤษมาถึงแล้ว เรือกลไฟลำนี้เข้ามาถึงแม่น้ำ เป็นลำแรกที่มาถึงที่นี่ เจ้าของคาดว่าพระเจ้าแผ่นดินจะซื้อไว้ แต่ก็ยังไม่แน่นอนนักว่าพระองค์จะทรงซื้อ”

บันทึกของนางลูเซียไม่ได้ชี้ชัดว่ารัชกาลที่ 3 ทรงสั่งซื้อเรือลำนี้ด้วยพระองค์เอง แต่จากประโยคที่กล่าวว่า “เจ้าของคาดว่าพระเจ้าแผ่นดินจะซื้อไว้” หมายถึงนายฮันเตอร์หวังว่ารัชกาลที่ 3 จะทรงรับซื้อ ซึ่งอาจอนุมานได้ว่านายฮันเตอร์นำเรือมาเสนอขายเอง บันทึกนี้สะท้อนให้เห็นว่าการซื้อขายเรือเอ็กซ์เพรสมีความไม่แน่นอน

หลักฐานของชาวตะวันตกอีกชิ้นหนึ่ง คือหนังสือ “Siam Then” (สยามแต่ปางก่อน) ของหมอบรัดเลย์ (Dan Beach Bradley, William L. Bradley) เล่าถึงเรือเอ็กซ์เพรสไว้ว่า

“…แต่ฮันเตอร์ไม่ใช่จะลักลอบค้าฝิ่นอย่างเดียวเท่านั้น เขายังแสวงหาผลประโยชน์จากการที่สยามกลัวเกรงการโจมตีของอังกฤษ หลังจากอังกฤษประสบชัยชนะในการปราบกบฏนักมวยในประเทศจีนอีกด้วย ครั้งแรกเขาหว่านล้อมรัฐบาลให้ซื้อสายโซ่ซึ่งแม้กระทั่งทุกวันนี้ก็ยังใช้ขึงขวางแม่น้ำเพื่อสกัดกั้นเรือที่บุกรุกเข้ามา และต่อมาเขาได้รับคำสั่งซื้อเรือกลไฟสำหรับรบลำหนึ่ง ปืน 200 กระบอก และปืนครกที่สยามจะใช้ในการทำสงครามกับโคชินไชนา…”

หมอบรัดเลย์กล่าวไว้ชัดเจนว่านายฮันเตอร์ได้รับคำสั่งซื้อจากรัฐบาลสยาม เพื่อที่จะนำไปใช้ในการทำศึกกับโคชินไชนา (เวียดนาม) สงครามนี้เป็นที่ทราบกันในอีกชื่อว่า “อานามสยามยุทธ” มูลเหตุจากการแย่งชิงความเป็นใหญ่เหนือดินแดนเขมร

หากวิเคราะห์แล้วนั้นเป็นไปไม่ได้ที่นายฮันเตอร์จะนำเรือเอ็กซ์เพรสมาเสนอขายโดยที่รัฐบาลสยามไม่รับรู้มาก่อน เพราะการนำเรือรบ (ที่บรรทุกปืนอีก 200 กระบอก) ล่องทวนน้ำขึ้นมาถึงเขตพระนครได้นั้นต้องผ่านระเบียบขั้นตอนและต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาลสยามเสียก่อน จึงเชื่อได้ว่านายฮันเตอร์อาจจะเสนอขายเรือกลไฟให้รัชกาลที่ 3 จริง แต่ในตอนแรกพระองค์อาจไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธทันที ครั้นเมื่อเรือเอ็กซ์เพรสมาถึง สถานการณ์หรือบริบทแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป นั่นจึงนำมาสู่ความขัดแย้งระหว่างนายฮันเตอร์กับรัฐบาลสยาม

หมอบรัดเลย์เล่าเหตุการณ์ต่อจากนั้นว่า

“…ทั้งเรือกลไฟและปืนมาถึงล่าช้า ในระหว่างนั้น ฮันเตอร์ได้ปืนใหญ่มา 100 กระบอกหรือกว่านั้น จึงขายให้แด่พระเจ้าอยู่หัว แล้วลงเรือออกเดินทางไปอังกฤษเพื่อซื้อเรือกลไฟ เขากลับถึงสยามก่อนหน้าเรือที่เขาสั่งซื้อจะมาถึง…เราก็ได้ข่าวว่าเรือกลไฟ ‘เอ๊กซเพรสส์’ มาถึงสันดอนปากน้ำแล้ว โดยมีกัปตันปีเตอร์ บราวน์ เป็นผู้ถือท้ายเรือ แม้ว่าจะยังล้มหมอนนอนเสื่ออยู่ แต่ฮันเตอร์ก็ออกไปปากน้ำเพื่อนำเรือเข้าเทียบท่า [หมอบรัดเลย์ระบุว่านายฮันเตอร์ป่วยเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังอย่างหนัก – ผู้เขียน]

เช้าวันรุ่งขึ้นเรือกลไฟก็แล่นลำขึ้นมาตามแม่น้ำ ก่อให้เกิดความตื่นเต้นยินดีเป็นอันมาก เพราะเป็นภาพที่ชาวเมืองนี้ไม่เคยเห็นมาก่อนเลย เรือจอดเทียบที่ท่าเรืออังกฤษห่างจากประตูบ้านข้าพเจ้ายี่สิบห้าถึงสามสิบหลา มีผู้คนมากมายมาชุมนุมกันเต็มท่าเรือและตลอดริมฝั่งแม่น้ำหน้าบ้านพักมิชชันนารี เพื่อดูสิ่งมหัศจรรย์นี้

ตอนนั้นเองที่เกิดเรื่องร้ายแรงขึ้นระหว่างพระเจ้าอยู่หัวกับมิสเตอร์ฮันเตอร์ เรือ ‘เอ็กซเพรสส์’ บรรทุกปืนมาด้วยรวมทั้งหมด 200 กระบอกตามที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสั่งซื้อไว้แต่เดิมจากฮันเตอร์ และฝ่ายฮันเตอร์ก็ยืนยันให้สยามจ่ายเงินค่าปืนจำนวนนี้ แม้ว่าสยามจะซื้อปืนเพิ่มไว้ 100 กระบอกหรือกว่านั้นไปแล้วจากตัวเขาก่อนหน้านั้นก็ตาม

นอกจากนั้น เมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดพระเนตรเห็นเรือที่ซื้อมาก็ไม่ต้องพระราชประสงค์ ทรงตรัสอย่างเปิดเผยว่าราคาที่ฮันเตอร์เรียกร้องไว้ถึงห้าหมื่นดอลลาร์แพงเกินไปสำหรับเรือเก่า ๆ ขึ้นสนิมเช่นนั้น ใช่แต่เท่านั้น วิกฤตการณ์ที่มีกับโคชินไชนาก็ผ่านพ้นไปแล้ว พระเจ้าอยู่หัวจึงไม่ทรงเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีเรือลำนั้น…”

เรือกลไฟ “เอ็กซ์เพรส” (Express) (ภาพจาก Youtube GDH : ตัวอย่างอย่างเป็นทางการภาพยนตร์ ‘บุพเพสันนิวาส ๒’ | Official Trailer)

เป็นเพราะความล่าช้ากว่าที่เรือเอ็กซ์เพรสจะเดินทางมาถึงบางกอก สงครามกับโคชินไชนาก็มีทีท่าคลี่คลายลงไปบ้างแล้ว มิหนำซ้ำราคาขายก็ไม่สมเหตุสมผลกับคุณภาพเรือ ซึ่งทรุดโทรมจนขึ้นสนิม เป็นเหตุให้รัชกาลที่ 3 ทรงปฏิเสธที่จะซื้อเรือลำนี้

นายฮันเตอร์คงรู้สึกโกรธเคืองอยู่ไม่น้อยจึงพยายามขู่บังคับรัฐบาลสยามหลายครั้ง รวมทั้งขู่ว่าจะยิงถล่มพระบรมมหาราชวังด้วย แต่ก็ไร้ผลว่ารัฐบาลสยามจะยอมจำนนต่อคำขู่ ไม่กี่วันถัดมา นายฮันเตอร์ก็ขออนุญาตยิงปืนใหญ่ (สลุต) เพื่อเฉลิมฉลองวันเกิดกัปตันบราวน์ แต่รัฐบาลสยามเกรงว่านายฮันเตอร์จะถือโอกาสนี้ยิงปืนใหญ่เข้าไปในพระบรมมหาราชวัง จึงไม่อนุญาต

จากนั้น รัฐบาลสยามออกอุบายให้เจ้านายพระองค์หนึ่งเชิญนายฮันเตอร์และกัปตันบราวน์เข้าไปในวังของพระองค์ โดยแสร้งทำทีว่ามีเรื่องบางอย่างต้องตกลงกัน เมื่อทั้งคู่ไปถึงก็ถูกจับกุมไว้ที่นั่น โดยตั้งเงื่อนไขจะปล่อยตัวก็ต่อเมื่อยอมส่งมอบดินปืนที่มีอยู่ในครอบครองทั้งหมดให้รัฐบาลสยาม ซึ่งการตั้งเงื่อนไขเช่นนี้เพื่อเป็นเครื่องป้องกันว่าหากฝ่ายนายฮันเตอร์ไม่มีดินปืนอยู่ในครอบครอง ก็จะไม่สามารถยิงปืนชนิดใดได้อีกต่อไป

ทั้งสองถูกกักขังตั้งแต่เจ็ดโมงเช้าจนถึงห้าโมงเย็น และเมื่อไม่เห็นหนทางที่จะได้รับการปล่อยตัว สุดท้ายก็ยอมมอบดินปืนให้ แล้วจึงถูกปล่อยตัวเป็นอิสระ

อย่างไรก็ตาม นายฮันเตอร์ไม่ยอมจบเรื่องนี้โดยง่าย เขาขู่รัฐบาลสยามต่อว่าจะขายเรือกลไฟให้แก่โคชินไชนา ถึงตอนนี้ทำให้รัชกาลที่ 3 ทรงขุ่นเคืองพระราชหฤทัยมากในพฤติกรรมของผู้ที่เคยเป็นพระสหายของพระองค์มาก่อน ซึ่งเคยทำความดีความชอบถึงกับได้รับการโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงอาวุธวิเศษประเทศพาณิช”

“ด้วยความยโสโอหังเช่นนี้ ฮันเตอร์จึงถูกขับไล่ออกไปจากราชอาณาจักร เขาหมดทางเลือกอื่นใด จำต้องมอบหมายธุรกิจให้อยู่ในความดูแลของผู้ช่วยของเขา คือ มิสเตอร์ ฮาร์วีย์ แล้วลงเรือ ‘เอ็กซเพรสส์’ จากไปสิงคโปร์”

เมื่อนายฮันเตอร์ถูกเนรเทศออกไปจากแผ่นดินแล้ว ในพระราชพงศาวดารระบุว่า “…หันแตรออกไปจึ่งพูดอวดว่า จะออกไปฟ้องต่อคอเวอนแมนต์ [Government (รัฐบาล) – ผู้เขียน] อังกฤษ จะให้กำปั่นรบเข้ามาชำระความ…” คือนายฮันเตอร์ขู่จะไปฟ้องรัฐบาลอังกฤษให้มาช่วยตัดสิน และจะนำเรือรบเข้ามาในสยามด้วย

รัฐบาลสยามเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อคำขู่นั้น รัชกาลที่ 3 จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายและขุนนางไปเสริม-สร้างป้อมปราการที่ตั้งอยู่สองฟากแม่น้ำเจ้าพระยาเรื่อยไปจนถึงเมืองปากน้ำ เพื่อป้องกันสงครามที่อาจเกิดขึ้น หากอังกฤษเข้ามาแทรกแซงช่วยเหลือนายฮันเตอร์ตามที่เขาขู่เอาไว้

แต่นายฮันเตอร์ไม่ได้ขู่ด้วยปากเท่านั้น ปรากฏว่าเขาขายเรือเอ็กซ์เพรส และปืนทั้งหมดให้แก่โคชินไชนาไปจริง ในราคาที่เขาเคยเรียกร้องจากรัชกาลที่ 3 และยังไปฟ้องร้องต่อรัฐบาลอังกฤษที่กัลกัตตา (อินเดีย) ให้มาช่วยเหลือ แต่ก็ไร้ผล

ต่อมา นายฮันเตอร์ได้รับอนุญาตให้กลับมาบางกอกอีกครั้ง เพื่อมาเก็บสัมภาระที่ตกค้างเมื่อตอนถูกเนรเทศไปอย่างกะทันหัน เขาเชื่อมั่นว่าผู้คนคงลืมเรื่องราวเหล่านั้นไปแล้ว และมีความหวังที่จะได้กลับมาอยู่บางกอกอีกครั้ง แต่พระคลังซึ่งเคยเป็นมิตรที่ดีต่อกันมาก่อน กลับต้อนรับเขาด้วยท่าทีเย็นชา และได้กล่าวเหน็บแนมนายฮันเตอร์ว่า “ฮันเตอร์ขายเรือกลไฟให้โคชินไชนา ดังนั้นจึงน่าจะไปอยู่ที่นั่นเสียด้วย และกล่าวต่อไปว่า สยามไม่เกรงกลัวโคชินไชนาแม้แต่น้อย และฮันเตอร์น่าจะหาเรือกลไฟอีกสักลำให้แก่โคชินไชนาด้วย” นัยว่าต่อให้เวียดนามมีเรือกลไฟอีกสักลำ สยามก็ไม่กลัว

“หลังจากนั้นฮันเตอร์ก็เลิกทำงานและดำรงชีวิตอย่างสุขสบายอยู่ในอังกฤษจนสิ้นชีวิต ณ ที่นั้น เมื่อ พ.ศ. 2391”

อ่านเพิ่มเติม :


อ้างอิง :

เจ้าพระยาทิพากรวงศ์. (2481). พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ 3 ฉะบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์, พิมพ์แจกเปนที่ระลึก ในงานพระราชทานเพลิงศพ ท่านผู้หญิงวงษานุประพัทธ์ (ตาด สนิทวงศ์ ณอยุธยา) วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2481 ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส, โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร

วิลเลียม แอล, บรัดเลย์. แปลโดย ศรีเทพ กุสุมา ณ อยุธยา และ ศรีลักษณ์ สง่าเมือง. (2547). สยามแต่ปางก่อน 35 ปีในบางกอกของหมอบรัดเลย์. พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน.

วิลาส นิรันดร์สุขศิริ. (กรกฎาคม, 2548). พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตกเป็นข่าว เรื่องเรือกลไฟลำแรกของสยาม. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 26 : ฉบับที่ 9.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กรกฎาคม 2565