การเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตก สู่จุดกำเนิดแนวคิด “การท่องเที่ยว” ในสยาม

หัวหิน สถานที่พักผ่อน ตากอากาศ การท่องเที่ยว
การขยายเส้นทางรถไฟมาถึงหัวหิน ทำให้การเดินทางสะดวกมากขึ้น หัวหินจึงเป็นสถานที่พักผ่อนตากอากาศอีกแห่งหนึ่ง นอกเหนือจากเขาสามมุข อ่างศิลา และเกาะสีชัง ชลบุรี

การเปิดรับ “วัฒนธรรมตะวันตก” จาก ชาวตะวันตก สู่จุดกำเนิดแนวคิด “การท่องเที่ยว” ที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในสยาม

ปัจจุบัน การท่องเที่ยว ถือเป็นกิจกรรมปกติอย่างหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนไทย แต่จริงๆ แล้ว การเดินทางเพื่อท่องเที่ยวตากอากาศ หาความสุขสำราญ การรักษาสุขภาพ และทัศนศึกษา เพื่อความรู้และเป็นประสบการณ์ใหม่ๆ หรือปรากฏการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมใหม่ๆ ของไทยนั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

รวมไปถึงจากการยอมรับวิทยาการตะวันตกของชนชั้นนำสยาม เพื่อนำมาปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยและเป็นที่ยอมรับของอารยประเทศต่างๆ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม จึงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้สังคมสยามรับแนวคิดและปฏิบัติตามตะวันตกในด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเห็นได้ชัดจากการที่ชาวสยาม โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นสูง ได้เลียนแบบวิถีชีวิตแบบตะวันตกในการท่องเที่ยว ก่อนที่จะแพร่หลายต่อไปสู่สามัญชน

และเห็นได้จากการพัฒนาประเทศสู่ความศิวิไลซ์และทันสมัย อาทิ สมัยรัชกาลที่ 5 โครงสร้างชนชั้นทางสังคมเปลี่ยนแปลงอย่างมาก จากการยกเลิกไพร่-ทาส ทำให้คนมีอิสระในกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการเดินทางท่องเที่ยว นอกจากนี้ การเกิดระบบราชการแบบใหม่ยังได้ทำให้สามัญชนมีโอกาสทำงานที่มีรายได้แน่นอนและมีวันหยุดสามารถไปท่องเที่ยวได้

ชาวตะวันตกกับแนวคิด “การท่องเที่ยว”

พ่อค้า นักการทูต และมิชชันนารีชาวตะวันตก ได้เริ่มเข้ามาในประเทศสยามอย่างเป็นทางการอีกครั้ง หลังจากความสัมพันธ์ระดับประเทศระหว่างสยามกับชาติตะวันตกสิ้นสุดลงในปลายสมัยอยุธยา จนกระทั่งในสมัยรัตนโกสินทร์ การติดต่อระหว่างไทยกับชาติตะวันตกอย่างเป็นทางการเริ่มด้วยความพยายามส่งทูตมาทำสนธิสัญญาทางการค้าระหว่างสยามกับอังกฤษใน พ.ศ. 2364 แต่ความพยายามนี้ไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะมีเหตุขัดข้องหลายประการ

จนมาถึง พ.ศ. 2369 สยามกับอังกฤษได้ทำสนธิสัญญาทางการค้าที่เรียกว่า สนธิสัญญาเบอร์นี แต่สนธิสัญญาฉบับนี้ก็มิได้อำนวยความสะดวกทางการค้าแก่อังกฤษและอเมริกา ที่ได้เข้ามาขอทำสนธิสัญญาเช่นเดียวกับอังกฤษใน พ.ศ. 2376

พ.ศ. 2398 สยามยอมทำสนธิสัญญาทางการค้ากับอังกฤษที่รู้จักกันดีว่า สนธิสัญญาเบาริง ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่สยามเสียเปรียบหลายประการ เช่น การให้มีศาลกงสุลหรือสิทธิสภาพนอกอาณาเขต การเก็บภาษีขาเข้าร้อยละ 3 เป็นต้น สนธิสัญญาเบาริงเกิดจากการขอแก้ไขสนธิสัญญาเบอร์นี ที่พ่อค้าและหอการค้าต่างๆ เรียกร้องให้มีขึ้น เพื่อดูแลผลประโยชน์และสวัสดิภาพของชาวอังกฤษ ตลอดจนคนในบังคับอังกฤษที่พำนักในประเทศสยามด้วย

นอกจากนี้ เหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดการเรียกร้องประการหนึ่ง คือ การที่พ่อค้าไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกจากกรุงเทพฯไปยังที่อื่นๆ แม้ว่าจะมีเหตุผลเกี่ยวกับสุขภาพก็ตามนั้น อนุมานได้ว่าก่อน พ.ศ. 2398 พ่อค้าอังกฤษและ ชาวตะวันตก อื่นๆ ไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปไหนนอกเขตกรุงเทพฯ ได้

ทำให้พวกเขาไม่อาจท่องเที่ยวได้ตามที่เคยปฏิบัติในวัฒนธรรมของตน ดังนั้นเมื่อมีการทำสนธิสัญญาเบาริง จึงได้เรียกร้องการมีอิสระในการเดินทางรวมเข้าไปด้วย

สนธิสัญญาเบาริงเป็นสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้าระหว่างสยามกับอังกฤษ ซึ่งมีข้อตกลงกันทั้งหมด 12 ข้อ และมีอยู่ 2 ข้อที่เกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยว คือ ข้อ 5 และข้อ 6

“ข้อ 5 ว่าคนในบังคับของอังกฤษที่เข้ามาอาไศรยอยู่ ณ กรุงเทพมหานคร ต้องไปบอกแก่กงสุลให้จดชื่อไว้ ถ้าคนเหล่านี้จะออกไปทะเล ฤาจะไปเที่ยวเกินกำหนดทาง 24 ชั่วโมงตามสัญญาไว้ ที่จะให้คนในบังคับอังกฤษอยู่กงสุลจะไปขอหนังสือเบิกล่องเจ้าพนักงานฝ่ายไทยให้ไป ถ้าคนบังคับอังกฤษจะออกไปกรุงเทพฯ ถ้าขุนนางเจ้าพนักงานไทยบอกแก่กงสุล ว่ามีเหตุควรจะห้ามมิให้ออกไป กงสุลก็จะมิให้ออกไป

ถ้าคนอยู่ในบังคับอังกฤษไปเที่ยวในระหว่างทาง 24 ชั่วโมง กงสุลจะเขียนเป็นหนังสือไทยให้ไป ว่าคนนั้นชื่ออย่างนั้นรูปร่างอย่างนั้นมีธุระอย่างนั้นและจะต้องให้พนักงานฝ่ายไทยประทับตราหนังสือให้ไปเป็นสำคัญด้วย…”

“ข้อ 6 ว่าคนซึ่งอยู่ในบังคับอังกฤษจะเข้ามาเที่ยว และจะเข้ามาอาไศรยอยู่ ณ กรุงเทพฯ จะถือสาศนนา คฤษติน ไทยก็ไม่ห้ามปราม…”

นอกจากพ่อค้าและนักการทูตที่เข้ามาอยู่ในสยามจะทำให้คนไทยรู้จักแนวคิดเพื่อการท่องเที่ยวจากการต้องการการท่องเที่ยวของพวกเขาเหล่านั้น จนมีการทำความตกลงกันในสนธิสัญญาเบาริงแล้ว มิชชันนารีหรือหมอสอนศาสนา ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่นำแนวคิดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวมาใช้และเผยแพร่ให้คนไทยรู้จัก โดยการให้คำแนะนำทางการแพทย์ที่ให้ผู้ป่วยเดินทางไปท่องเที่ยวตากอากาศ เพื่อฟื้นฟูรักษาสุขภาพจากโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งชาวตะวันตกมีความเชื่อว่าน้ำทะเลมีสรรพคุณในการรักษาโรค ดังนั้นแพทย์ตะวันตกจึงแนะนำให้ผู้ป่วยไปรับอากาศชายทะเลและอาบน้ำทะเลเพื่อรักษาโรค

ความเชื่อถือในวิทยาการตะวันตก โดยเฉพาะจากมิชชันนารีแพทย์ในระยะแรก ทำให้แพทย์ตะวันตกที่เข้ามาในระยะหลัง เมื่อตรวจรักษาโรคและแนะนำให้ไปตากอากาศยังที่อากาศดี เช่น ตามชายทะเลเพื่อฟื้นฟูรักษาสุขภาพเป็นที่นิยมกันตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 อันเป็นจุดเริ่มต้นของการไปท่องเที่ยวเพื่อตากอากาศรักษาสุขภาพในวัฒนธรรมไทยในปัจจุบัน

การปรับเปลี่ยนทางความคิดของชนชั้นนำสยาม ทำให้เกิดการเปิดรับ วัฒนธรรมตะวันตก ขนานใหญ่ ความรู้และวิทยาการแบบใหม่ได้หลั่งไหลเข้าสู่สยามและราชสำนัก เกิดการตอบรับต่อแนวคิดใหม่ๆ รวมทั้งแนวคิดการท่องเที่ยวที่ชาวตะวันตกนำเข้ามาและเรียกร้องให้รัฐสนับสนุน ซึ่งชาวต่างชาติได้ขอร้องให้รัฐสร้างถนนสำหรับขี่ม้าหรือรถม้าท่องเที่ยวตากอากาศ ดังปรากฏในประชุมกฎหมายประจำศก ความว่า

“การเข้ามาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ไม่มีถนนหนทางที่จะขี่รถม้าไปเที่ยว พากันเจ็บไข้เนืองๆ เมื่อในหลวงได้รับคำร้องแล้ว ทรงพระราชดำริเห็นว่าพวกยุโรปเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ มากขึ้นทุกๆ ปี ด้วยประเทศบ้านเมืองเขามีถนนหนทางก็ราบรื่นสะอาดไปทุกบ้านทุกเมือง จึงโปรดเกล้าฯ ให้ ฯพณฯ ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ที่สมุหพระกลาโหมเป็นแม่กอง ทำทางก่อถนนที่สะพานเหล็ก ริมวังเจ้าเขมรออกไป 2 สาย

สาย 1 ตัดตรงไปข้ามคลองผดุงกรุงเกษม ต่อถนนตรงต่อไปคลองพระโขนง สาย 1 แยกไปข้ามคลองข้างวัดแก้วฟ้า ตลอดลงไปทะลุออกแม่น้ำดาวคะนองสาย 1  อีกสาย 1 ตัดตรงหลังบ้านกงสุลฝรั่งเศส ตลอดมาถึงคลองถนนตรงริมศาลาเจ้าพระยารวิวงศมหาโกษาธิบดีสร้างไว้ (ศาลาแดง)”

ข้อเรียกร้องดังกล่าวที่ให้มีการพัฒนาบ้านเมืองและถนนหนทางต่างๆ ของชาวต่างชาติมีความสำคัญเป็นอันมากที่ทำให้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินการก่อสร้างตามข้อเรียกร้องดังกล่าว ทั้งนี้เนื่องจากว่าชนชั้นนำสยามได้ตระหนักถึงความเจริญของตะวันตกที่ก้าวหน้าล้ำสมัย อีกทั้งการพัฒนาปรับปรุงบ้านเมืองให้มีความเจริญแบบตะวันตก ยังได้ถูกนำมาเป็นมาตรฐานในการในการทำให้เกิดยอมรับประเทศสยามของนานาประเทศ ในฐานะสยามซึ่งเป็นชาติหนึ่งที่มีความศิวิไลซ์ทัดเทียมกับชาติตะวันตก

การรับแนวคิดการท่องเที่ยวแบบตะวันตกมาใช้ในสังคมไทยจากกลุ่มชาวตะวันตกที่เป็นพ่อค้า นักการทูต และมิชชันนารี รวมทั้งจากการศึกษาสมัยใหม่ และการส่งนักเรียนไทยไปศึกษาต่อยังประเทศต่างๆ ในยุโรป ทำให้สังคมสยามค่อยๆ เปลี่ยนแปลงความคิดเกี่ยวกับเรื่องการใช้เวลาต่างๆ ในชีวิต เช่น เวลาทำงาน เวลาว่างในการพักผ่อนและทำกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งการท่องเที่ยวเป็นกิจกรรมหนึ่งที่เกิดขึ้นในเวลาว่างที่สังคมตะวันตกถือว่าการได้ท่องเที่ยวจะทำให้สุขภาพกายและสุขภาพจิตดีขึ้น อาทิ การไปอาบน้ำแร่ การไปตากอากาศชายทะเล

และเมื่อสังคมไทยรับ “การท่องเที่ยว” แบบตะวันตกมาใช้จากการเลียนแบบชีวิต และการนำของแพทย์ สถานที่ท่องเที่ยวจึงนิยมไปยังที่ที่มีอากาศดีหรือมีโอโซนโดยเฉพาะบริเวณชายทะเล นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมสยามในขณะนั้นจากการพัฒนาประเทศสู่ความเจริญรุ่งเรืองและการเลียนแบบวิถีชีวิตการท่องเที่ยวแบบตะวันตก ทำให้ชนชั้นสูงรับการท่องเที่ยวแบบนี้มาปฏิบัติจนแพร่หลายสู่คนทั่วไปในเวลาต่อมา

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ปิ่นเพชร จำปา. (2545). วัฒนธรรมการท่องเที่ยวของคนไทย พ.ศ. 2394–2544. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). เจ้าพระยา. (2548). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กรกฎาคม 2565